สัปดาห์ที่แล้ว ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ได้มีมติ เห็นชอบประกาศให้ eSports เป็นกีฬาและสามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตราที่ 68
ซึ่งการตั้งสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า ‘แห่งประเทศไทย’ ได้นี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน หรือจัดหรือร่วมในการจัดให้มีการแข่งขันกีฬาในนามของชาติหรือประเทศไทยแบบเป็นทางการได้ในอนาคต
ถึงพจนานุกรรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 จะระบุความหมายของ กีฬา ว่าเป็น “กิจกรรมหรือการเล่นที่มีกฎกติการกำหนด เพื่อความสนุกเพลิดเพลินผ่อนคลายความเครียด หรือเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และอาจใช้เป็นการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ หมากรุก ปีนเขา ล่าสัตว์” แต่ก็มีหลายๆ ท่านก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่า eSports จะสามารถเป็นเกมได้หรือไม่ เพราะดูแล้วเป็นการแข่งขันที่ไม่ได้เสียเหงื่อแต่อย่างไร
กระนั้นก็ยังมีกีฬากลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่ได้เสียเหงื่อเท่ากับประเภทกีฬาทั่วไปที่หลายคนคุ้นเคย ซึ่งกีฬาเหล่านั้นถูกเรียกว่า Mind sport หรือกีฬาที่เน้นการฝึกควบคุมด้านการใช้สมาธิหรือจิตใจมากกว่าทักษะด้านกายภาพ และอาจช่วยส่งเสริมทักษะความรู้และการคำนวณ รวมถึงมีการแข่งขันในระดับนานาชาติ ทั้งในแบบที่ร่วมกับการแข่งขันกีฬานานาชาติแบบปกติ อย่างใน เอเชียนเกมส์, เอเชียนอินดอร์-มาร์เชียลอาร์ตสเกมส์ เป็นต้น หรือเป็นงานเฉพาะของตนเองอย่าง World Mind Sports Games
ถึง Mind sport จะเป็นนิยามที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1970 และการได้เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติจริงๆ ก็เพิ่งมีในช่วงกลางยุค 1990 แต่กีฬาหลายประเภทที่ดูแล้วไม่น่าจะเสียเหงื่อมากเท่าไหร่ก็มีมานานหลายสิบจนถึงหลายร้อยปีแล้ว
The MATTER ได้คัดสรร 7 กีฬา ที่ถ้าคุณเล่นแล้วก็ไม่ค่อยจะเสียเหงื่อสักเท่าไหร่ แต่มีรูปแบบกติกาที่น่าสนใจ และในบ้านเราก็มีสมาคมกีฬาหรือมีกลุ่มคนที่เล่นกีฬาเหล่านี้อย่างจริงจังกันอยู่แล้ว ที่ถ้าคุณได้รู้จักแล้วก็คงอยากจะหามาลองเล่นดูสักครั้ง
บริดจ์ (Bridge)
กีฬาบริดจ์ (Contract bridge) เป็นเกมที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นการแข่งขันที่ต้องมีผู้เล่น 4 คน แบ่งเป็น 2 ทีม จากนั้นก็ต้องทำการประมูล (bidding) เพื่อเป็นการสร้างสัญญาในการเล่นเพื่อให้ผู้เล่นทีมเดียวกันสามารถรวบรวมตองกินได้เท่ากับหรือมากกว่าที่สัญญาเอาไว้ แต่หากทำไม่ได้ตามที่สัญญาเอาไว้ แต้มจะตกเป็นทีมคู่แข่งทันที และในการเล่นก็จะมีการแบ่งแย่งศักดิ์ไพ่ (หรือแต้ม) ตามโพของไพ่ และยังมีกติการปลีกย่อยเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่นอื่นๆ อีกหลายประเภท
ถึงจะใช้ไพ่ในการเล่นกีฬาประเภทนี้ แต่ถ้าเล่นแบบปกติ บริดจ์ เป็นกีฬาที่พึ่งพาการคำนวณและการจดจำมากกว่าการพึ่งพาดวง ซึ่งการที่ต้องใช้สมาธิกับสมองอย่างมากนี้ทำให้มีศึกษาและค้นพบว่าผู้เล่นกีฬาบริดจ์สูงวัยจะมีความทรงจำที่ดีกว่า รวมถึงว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นอัลไซเมอร์น้อยกว่า ทั้งยังเป็นกีฬาที่สนับสนุนให้ผู้สูงอายุเข้าสังคมใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ด้วยความที่เล่นง่ายแต่การจะเล่นให้เก่งนั้นยาก เหมือนกับ Mind sport อีกหลายประเภท แถมยังมีผู้เล่นกีฬาประเภทนี้อยู่ทั่วโลก เมื่อปี 1998 ประธานสมาพันธ์กีฬาบริดจ์โลก จึงยื่นเสนอไปทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee – IOC) ยอมรับว่า บริดจ์ เป็นกีฬาประเภทหนึ่ง
ในประเทศไทยกีฬาประเภทนี้ ถือว่าถูกกฎหมายเพราะมีการออก กฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ข้อ 13 ที่กล่าวไว้ว่า “ไพ่บริดจ์ ซึ่งเล่นในสมาคมระหว่างสมาชิกหรือบุคคลที่สมาคมอนุญาต หรือเล่นในบ้านระหว่างญาติมิตร โดยสมาคมผู้จัดให้มีการเล่นหรือเจ้าบ้าน แล้วแต่กรณี มิได้เรียกเก็บ หรือรับผลประโยชน์ในทางตรงหรือทางอ้อมจากการเล่นนั้น” และไพ่ที่ใช้เล่นบริดจ์นั้นจะต้องเป็นไพ่เฉพาะซึ่งมีขนาดเล็กกว่าไพ่ทั่วไปและมีบอร์ดสำหรับเก็บไพ่เฉพาะ
นอกจากนั้นบ้านเรายังมี สมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทย คอยจัดงานกิจกรรมแข่งขันอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งสำหรับรุ่นเยาวชน, รุ่นมหาวิทยาลัย, หรือรุ่นอาวุโส ทั้งยังส่งนักกีฬาบริดจ์เข้าแข่งขันใน ซีเกมส์ รวมถึง เอเชียนเกมส์ ครั้งต่อไปที่จะมีการชิงเหรียญรางวัลมากถึง 6 เหรียญ
หมากรุกสากล (Chess)
กีฬา Mind sport หรือ กีฬาหมากกระดาน ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี กับการแบ่งฝั่งเป็นฝ่ายสีขาวกับฝ่ายสีดำ ทำการเดินหมากบนกระดานที่แต่ละตัวนั้นจะมีทักษะความสามารถที่แตกต่าง มีการเรียนการสอนเล่นหมากรุกอย่างจริงจังเพราะมีการแข่งขันกันตั้งแต่ระดับนักเรียน ยาวไปจนถึงระดับนานาชาติ ที่เราจะได้เห็นข่าวกันบ้างที่มีนักหมากรุกสากลมืออาชีพทำการท้าสู้กับเหล่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์
หมากรุกสากล ถือว่าเป็นกีฬาอีกประเภทที่ IOC ยอมรับว่าเป็นกีฬาแข่งขันและมีการแข่งขันกันในงานกีฬานานาชาติหลายๆ งาน อย่างใน เอเชียนอินดอร์-มาร์เชียลอาร์ตสเกมส์ 2017 ที่กำลังจะจัดแข่งขันในเดือนกันยายนนี้ ก็มีเปิดแข่งขันถึง 6 รายการ ซึ่งในงานนี้ไม่ได้จัดแข่งแค่รูปแบบการเล่นปกติทั่วไปแต่ยังมีการแข่งเกมเร็วแบบ blitz และ rapid ให้เข้าชิงเหรียญกันด้วย
สมาคมหมากรุกสากลแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแลการจัดแข่งขันหลายๆ งานในประเทศไทย รวมถึงทำการนัดคัดตัว-เก็บตัวนักกีฬาทีมชาติ อย่างนักกีฬาทีมชาติที่จะไปแข่งงาน เอเชียนอินดอร์เกมส์ ที่เรากล่าวถึงเมื่อย่อหน้าก่อนหน้านี้ ทางสมาคมก็เพิ่งทำการคัดตัวครั้งสุดท้ายเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง
หมากรุกเซี่ยงฉี / หมากรุกจีน
ชื่อแรกอาจจะไม่คุ้นหูกัน แต่ถ้าบอกว่าเป็นหมากรุกจีนที่เป็นหมากตัวไม้ ที่มีอักษรจีนสีแดงกับสีดำระบุบทบาทของตัวหมาก และกระดานหมากนั้นจะมีเส้นขีดแบ่งเขตของพระราชวัง และ แม่น้ำ ที่จะมีตัวหมากบางประเภทไม่สามารถข้ามเส้นกั้นนั้นได้ และการเดินของตัวหมากก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปหากข้ามเส้นแม่น้ำไปได้ หลายคนก็คงจะรู้จักกันดี
ด้วยความหลากหลายของตัวหมากที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกตินี้ทำให้ Mind sport ประเภทนี้อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกของใครหลายๆ คน แต่ถ้าสามารถเข้าใจการเล่นได้แล้วล่ะก็ หมากรุกจีน ถือว่าเป็นเกมที่ใช้กลยุทธ์สูง เพราะมีเทคนิคในการเอาชนะ หรือการขัดขวางเกมการเดินของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างหลากหลาย
สมาคมหมากรุกเซี่ยงฉีแห่งประเทศไทย อาจจะมีบทบาทเด่นในเชิงการทูตมากกว่าด้านการแข่งขันการกีฬา และในการแข่งขันระดับนานาชาติ หมากรุกจีนก็เพิ่งถูกบรรจุชิงเหรียญรางวัลไม่กี่ครั้ง ที่โดดเด่นก็คงเมื่อ ปี 2010 ในเอเชียนเกมส์ที่ทางจีนเป็นเจ้าภาพ
ถึงจะเป็นเกมที่เร้าใจแต่เราก็คงต้องรอสักพักกว่ากีฬาประเภทนี้จะมีโอกาสแข่งชิงเหรียญรางวัลอีกครั้ง
หมากล้อม / โกะ
ในไทยเคยพีคสุดๆ ช่วงปี 2000 ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณการ์ตูนเรื่อง ฮิคารุเซียนโกะ รวมถึงการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนหลายๆ เจ้าในช่วงนั้น ก่อนที่จะทรงตัวและเหลือเพียงนักกีฬาที่จริงจังกับการเดินไปบนเส้นทางหัตถ์เทวะที่ยังคงฝึกปรือตนเองต่อไปบนกระดานหมาก
ก่อนที่เราจะหลุดไปคุยเรื่องการ์ตูนมากกว่านี้ เราขอพูดถึงกิจกรรมของ สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย ที่ไม่ได้แค่ทำการบริหารจัดการเรื่องการแข่งขันตามเวทีต่างๆ เท่านั้น ทางสมาคมยังเป็นผู้ดูแลการสอบวัดดั้งของนักกีฬาหมากล้อมในไทยอีกด้วย แต่ยังไม่พบว่านักกีฬาในไทยจะสามารถผันตนไปจนถึงระดับที่แข่งขันกับมืออาชีพของทางประเทศจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่นได้หรือไม่
หมากล้อม มีการแข่งขันในมหกรรมกีฬาไม่กี่งาน (ล่าสุดที่พอจะคุ้นตากันก็จะเป็น เอเชียนเกมส์ ปี 2010) เหตุผลของเรื่องนี้อาจจะคล้ายๆ กับฝั่งหมากรุกสากล หรือ บริดจ์ ที่มีการแข่งขันของสมาพันธ์กีฬาของพวกเขาเองบ่อยครั้งอยู่แล้ว
สแต็ก (Sport stacking – เรียงแก้ว)
ในกลุ่มกีฬาที่เราเอามาแนะนำนี้ กีฬาเรียงแก้ว หรือ สแต็ก น่าจะเป็นกีฬาที่ใช้แรงมากที่สุดในระยะเวลาการเล่นครั้งหนึ่ง วิธีการเล่นกีฬาประเภทนี้ไม่ยาก นั่นก็คือการเรียงแก้วพลาสติกซ้อนกันเป็นรูปทรงพีรามิด ก่อนที่จะต้องเก็บกองแก้วที่เรียงเอาไว้แล้ว ตามรูปแบบที่จะแยกตามการเล่นเป็นแบบ 3-3-3, 3-6-3, และแบบไซเคิล (cycle) และกีฬาเรียงแก้วนี้ยังสามารถเล่นเป็น แบบเป็นคู่ หรือ แบบเป็นทีม 4-5 คนด้วย
กีฬาเรียงแก้วเพิ่งกล่าวกันว่าเกิดขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี 1981 ก่อนที่จะมีการแข่งขันกันจริงจังในช่วงปี 1997 ก่อนจะได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงที่ Youtube เข้าถึงได้ง่ายขึ้น จนหลายๆ คนสามารถนำคลิปการเล่นของตัวเองมาอวดกันได้ง่ายๆ
กีฬาประเภทนี้ยังไม่ถูกการกีฬาแห่งประเทศไทยเห็นชอบให้จดทะเบียนตั้งสมาคม ‘แห่งประเทศไทย’ ได้ แต่ก็มีสมาคมกีฬาสแต็ก คอยจัดการแข่งขันอยู่เป็นประจำทั้งยังส่งนักกีฬาไปแข่งขันงานแข่งของต่างประเทศอยู่เป็นประจำ อย่างในปีนี้ นักกีฬาของไทยก็เพิ่งสามารถคว้าแชมป์จาก WSSA 2017 World Sport Stacking Championships ในประเภททีมนานาชาติ และรางวัลคะแนนรวม ประเภทบุคคลชาย
อาจจะดูเป็นกีฬาที่เล่นไม่ยาก แต่ก็เป็นกีฬาที่ใช้สติกับสมาธิในการเล่นอยู่ไม่น้อย
Speedcubing
ลูกบาศก์กรูบิกเป็นของเล่นเชิงลับสมองที่ถูกประดิษฐ์มาตั้งแต่ปี 1974 โดยสถาปนิกชาวฮังการี แอร์เนอ รูบิก (Ernő Rubik) หลักการในการเล่นนั้นไม่ยาก แค่เรียงรูบิกที่แต่ละหน้าจะคละสีให้เรียงเป็นสีเหมือนกันหมดทั้งเก้าด้านเท่านี้ก็ถือว่าเสร็จสิ้นแล้ว แต่ถ้าแค่เล่นแบบนี้มันจะท้าทายและเป็นกีฬาที่ต้องมีการฝึกฝนกับการแข่งขันได้อย่างไร Speedcubing จึงได้ถึอกำเนิดตามมา
การแข่งขันชิงแชมป์โลกแบบเป็นทางการเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกใน วันที่ 5 กรกฎาคม ปี 1982 ประเทศฮังการี และผู้ชนะในครั้งแรกนั้นสามารถแก้รูบิกด้วยเวลา 22.95 วินาที และในกลุ่มผู้แข่งขันนั้นก็มี เจสสิกา ฟริดดิช (Jessica Fridrich) กับ ลาร์ส พีทรุส (Lars Petrus) ที่ได้คิดระบบการคำนวณในการแก้ไขปริศนารูบิกขึ้นมา ทำให้มีคนอื่นๆ สามารถมาตามรอยและท้าทายการแข่งขันกีฬาประเภทนี้มากขึ้น จนมีการเพิ่มลูกเล่นในการแข่งขันมากขึ้น อาทิ ขนาดของรูบิกที่หลากหลาย, การปิดตาแก้รูบิก, การแก้รูบิกมือเดียว, การแก้รูบิด้วยเท้า ฯลฯ
รูบิก มีของสองสิ่งเหมือนกับกีฬาเรียงแก้ว อย่างแรกคือความดังของกีฬาประเภทนี้มีเพิ่มขึ้นหลังจากการถือกำเนิดของ Youtube อีกอย่างก็คือ แผ่นรองเล่นของ รูบิก กับ สแต็ก นั้นใช้ Stackmat (แผ่นรองเล่นที่มีนาฬิกาจับเวลาบนตัวแผ่นรอง) ในการเล่นเหมือนกัน
สำหรับประเทศไทยมี ชมรมรูบิกไทย ที่ทำการจัดการแข่งขันตามกฎกติการมารยาทของ สมาพันธ์ลูกบาศก์โลก (World Cube Association) และเคยจัดการแข่งขันระดับชิงแชมป์โลกไปเมื่อปี 2010 และล่าสุด ชมรมรูบิคไทย ก็เพิ่งจัดการแข่งขันชิงแชมป์รูบิกประเทศไทยไปเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ถึงทาง สมาพันธ์ลูกบาศก์โลก จะไม่มีแนวโน้มส่งเรื่องให้กีฬาประเภทนี้ให้แข่งขันในงานมหกรรมกีฬา แต่ก็มีการแข่งขันทำลายการสถิติโลกอยู่เสมอ สถิติล่าสุดของการแก้รูบิกขนาด 3 x 3 อยู่ 5.97 วินาที เท่านั้น… ซึ่งถ้ามีการแข่งระดับโอลิมปิกเกิดขึ้นมาจริงเราอาจจะได้เห็นความเร็วต่ำกว่า 5 วินาที กันบ่อยๆ ก็ได้นะ
ดาร์ต / ปาเป้า
กีฬาอีกประเภทที่จัดเตรียมเล่นได้ง่ายๆ ของเพียงแค่มีกระดานปาเป้ากับลูกดอกซึ่งมีการแบ่งฝ่ายแบ่งสีก็สามารถเล่นได้เลย แต่การเล่นที่ดูง่ายๆ นี้แหละที่ลุ่มลึกอยู่ไม่น้อย เพราะถ้าเอาตามความเข้าใจของคนทั่วไปก็จะคิดว่าการปาเป้าให้โดนตรงกลางกระดานนั้นก็จะได้แต้มมากที่สุด
แต่ในกติกาของกีฬาปาเป้าแบบเป็นทางการนั้น ผู้เล่นจะมีแต้มเริ่มต้น (แล้วแต่ประเภทของการแข่งขัน) ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำการปาให้เข้าเป้าเพื่อหักลบแต้มตัวเองไปเรื่อยๆ แต่ในแต้มปิดเกมจะต้องปาเป้าให้ได้บริเวณช่องดับเบิ้ล (Double Ring) ซึ่งเป็นช่องนอกสุดของกระดานปาเป้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นการปาเป้าแบบนี้จึงต้องอาศัยการคำนวณที่ต้องแม่นยำพอๆ กับการปาเข้าเป้าด้วย
ตามที่สืบหาข้อมูลมาได้ปัจจุบันไม่มีชมรมหรือสมาคมที่ดูแลการแข่งขันกีฬาชนิดนี้ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และสมาพันธ์ปาเป้าโลก (World Darts Federation) ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของหน่วยงานกีฬานานาชาติใดนอกจาก SportAccord จึงทำให้กีฬาประเภทนี้ยังไม่ค่อยแข่งขันในเวทีมหกรรมกีฬาเท่าใดนัก แต่สำหรับเวทีโลกแล้ว สมาพันธ์ปาเป้าเองก็ถือว่าเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันคึกคักมากประเภทหนึ่งเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่ากีฬาที่แทบทุกชนิดที่เรายกตัวอย่างมานี้ ดูเกี่ยวข้องกับการเสียเงินให้กับสินค้าข้างเคียง ซึ่งก็คงไม่แตกต่างอะไรกับกีฬาอื่นๆ ที่ต้องใช้อุปกรณ์ในการเล่นเช่นกัน และกีฬาไม่ว่าชนิดใดก็ตามก็ต้องใช้วินัย และเวลาในการฝึกฝนเพื่อสร้างความชำนาญในการแข่งขัน
แน่นอนว่าคนเราอาจจะไม่ได้นิยมกีฬาทุกชนิด แต่อยากให้เปิดใจและโอกาสกับกีฬาชนิดใหม่ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันระดับนานาชาติบ้างน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustrtion by Kodchakorn Thammachart