ครั้งก่อนเราได้พูดถึงผลงานของอาจารย์เทะสึกะ โอซามุไปแล้ว ในครั้งนี้เราก็อยากจะพูดถึงนักเขียนการ์ตูนอีกท่านหนึ่งที่สร้างผลงานที่หลายคนจดจำได้ ถึงขนาดที่ตอนนี้หนึ่งในตัวละครของนักเขียนท่านนี้ได้กลายเป็นมาสคอตของงาน โตเกียว โอลิมปิก ปี 2020
เรากำลังพูดถึง ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ หรือ อาจารย์ฟุจิโมโต้ ฮิโรชิ ผู้สร้างผลงานการ์ตูนดังอย่าง โดราเอมอน และยังมีผลงานการ์ตูนสำหรับเด็กเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องเช่น ผีน้อยคิวทาโร่, ปาร์แมน, คิเทเรสึ เจ้าหนูนักประดิษฐ์, โมจาโกะ เจ้าชายต่างดาว, โปโกะ แมวเจ้าปัญญา, จิมปุย เพื่อนรักจากต่างดาว ฯลฯ (ใช่ครับ ลิสต์เกือบทั้งหมดเป็นการ์ตูนฉายทางช่องเก้าบ้าง ช่องห้าบ้าง ทรูวิชั่นบ้าง)
ก่อนที่อาจารย์ฟุจิโมโต้ จะมาเขียนงานเดี่ยวนั้น เดิมทีอาจารย์ทำงานร่วมเพื่้อนสนิทที่คบหากันมาตั้งแต่เด็กอย่าง อาจารย์อาบิโกะ โมโตโอะ และใช้นามปากกา ‘ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ’ ร่วมกันในช่วงที่การ์ตูนญี่ปุ่นกำลังกลับมาบูมในยุค 1950 ซึ่งอาจารย์ทั้งสองก็ได้ไปอาศัยอยู่ในหอพักโทกิวะ ซึ่งเป็นสถานที่รวมพลนักเขียนการ์ตูนชั้นเซียนในยุคนั้น
ทั้งสองคนทำงานร่วมกัน จนก่อนที่ทั้งสองคนจะแยกนามปากกากันทำงานในช่วงประมาณปี 1987 โดยอาจารย์ฟุจิโมโต้ใช้ชื่อ ‘ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ’ ส่วนอาจารย์อาบิโกะใช้นามปากกาว่า ‘ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ เอ’ แต่ ยังทำงานภายใต้บริษัทเดียวกัน และมีการแบ่งสัดส่วนของผลงานกันออกอย่างชัดเจน ส่งผลให้ผลงานส่วนที่เขียนร่วมกันอย่าง นินจาฮาโตริ หรือไคบุทสึคุง อยู่ภายใต้สิทธิ์ของอาจารย์อาบิโกะ (ซึ่งตัวอาจารย์อาบิโกะก็ยังทำงานอยู่จนถึงปัจจุบัน) ส่วนผลงานร่วมกันที่เหลือ อย่าง ผีน้อยคิวทาโร่, ปาร์แมน กับ โดราเอมอน เป็นอยู่ภายใต้สิทธิ์ของ ‘ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ’ ไป (เรื่องนี้ส่งผลให้การสร้างหนังคนแสดงบางเรื่องเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าบางเรื่องไปโดยปริยาย)
แต่นอกจากผลงานที่คุ้นเคยกันในวัยเด็ก กับผลงานที่อาจารย์ดัดแปลงมาจากเรื่องเล่าดังๆ และยังมีการฉายอยู่จนถึงทุกวันนี้่ไม่ว่าจะเป็นการฉายย้อนหลังหรือรีเมคก็ตาม ก็ยังมีผลงานอีกส่วนหนึ่งที่ The MATTER อยากจะพูดถึงและอยากให้ทุกคนไปลองหามาอ่านกัน รวมถึงเป็นงานที่จะทำให้เราได้เห็นว่า ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ มีพรสวรรค์ในการเล่าเรื่องขนาดไหน
Tenshi no Tama-chan
ผลงานชิ้นแรกในฐานะมืออาชีพ (ได้รับค่าจ้าง) ของ ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ ตัวงานเป็นการเขียนตามรอยผลงานของ เทะสึกะ โอซามุ เรื่อง Maachan no Nikkicho ผลงานการ์ตูนสี่ช่อง ที่ถือว่าเป็นงานแรกของเทะสึกะ โอซามุ (แต่ถูกรวมเล่มภายหลัง) เนื้อหาฝั่ง Tenshi no Tama-chan จะเดินเรื่องด้วยความวุ่นวายกับภารกิจบนสวรรค์ของเทวดาชื่อทามะจัง
ความตลกเล็กน้อยของเรื่องนี้คือการ์ตูนเรื่องนี้่โดนตีพิมพ์และเลิกตีพิมพ์อย่างกะทันหัน ซึ่งกว่าจะได้รวมเล่มให้คนที่เกิดไม่ทันผลงานได้อ่านก็เป็นการรวมเล่มคู่กับเรื่อง Utopia Saigo No Sekai Taisen เมื่อปี 2012 นี้เอง
Fujiko F Fujio SF Tanben Perfect Ban หรือ Path Of Fujiko F. Fujio
ท่านที่อ่านผลงานเรื่องใดใด ของ อาจารย์ ฟุจิโมโตะ น่าจะสังเกตได้ว่างานแทบทุกชิ้นนั้นจะมีกลิ่นอายของแนว ‘ไซไฟ’ แฝงอยู่เป็นเสมอๆ ก็หาโอกาสเขียนผลงานสไตล์นั้นในฐานะเรื่องสั้นเป็นประจำ จากปากคำของลูกสาวคนโตของอาจารย์ก็ได้กล่าวว่า ผลงานแนวไซไฟนั้น เป็นงานที่อาจารย์ตั้งใจเก็บข้อมูลถึงระดับที่ว่า ต่อให้เป็นข้อมูลเล็กน้อยที่สอดคล้องกับเรื่องที่อยากวาดอาจารย์ก็จะออกเดินทางไปสถานที่จริงเพื่อเก็บข้อมูลทันที
แม้ว่าแนวไซไฟจะไม่ได้รับความนิยมในการตีพิมพ์ครั้งแรก แต่สุดท้ายงานเหล่านี้ก็กลับมาถูกเห็นค่าอีกครั้งหลังจากที่อาจารย์เสียชีวิตลงไป เพราะงานเซตนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันยอดเยี่ยมในการเล่าเรื่องของอาจารย์ฟุจิโมโตะ อย่างใน ‘จานมิโรทาวรอส’ ที่มนุษย์ในดาวแห่งหนึ่งยินดีพลีชีพให้สิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนั้นได้กิน หรือบางครั้งก็ใส่แนวมุมกลับอย่าง ‘เกาะสูญพันธ์’ ที่เดินเรื่องเป็นหนังสยองขวัญก่อนจะเฉลยจุดหักมุมแรงๆ ในตอนท้าย บางเรื่องก็ดูคิดแบบล้ำหน้าจนตกใจว่านี่เป็นงานก่อนปี 1990 เสียด้วย
ทั้งนี้คำว่า SF ที่ใช้ในหนังสือทางกองบรรณาธิการของญี่ปุ่นกล่าวว่าไม่ได้หมายถึง Sci-Fi แต่หมายถึง Sugoshi Fushigi ที่แปลว่า ‘แปลกอยู่เล็กน้อย’ มากกว่า
21 Emon
21 เอมอน (ควรอ่านว่า นิจูอิจิเอมอน แต่เราเชื่อว่าหลายท่านติดอ่านเป็น ยี่สิบเอ็ดเอมอน) เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ’21 เอมอน’ ทายาทรุ่นที่ 21 ของโรงแรมสึสึเรยะที่เปิดมาแล้วกว่า 450 ปี เขาอยู่ในโลกปี 2018 ที่มนุษย์ต่างดาวเข้ามาท่องเที่ยวบนโลกมนุษย์ (อ้าว! ปีหน้าเหรอ) และต้องพยายามรับมือลูกค้าแปลกๆ จากทั่วจักรวาล เพื่อไม่ให้โรงแรมเจ๊งในรุ่นของเขา การ์ตูนแนวตลกที่มีกลิ่นอายไซไฟอ่อนๆ และมีความเป็นการ์ตูนแก๊กสำหรับเด็กคล้ายๆ โดราเอมอนก็จริง แต่ก็มีกลิ่นอายของการสอนให้เด็กรู้จักการทำงานด้วย (…แต่ก็ไม่เหมาะให้ใช้สอนจริงจังนะเพราะผลลัพธ์ในเรื่องค่อนข้างป่วนทีเดียว)
21 เอมอน ได้ถูกสร้างเป็นอนิเมชั่นทางทีวีอยู่ไม่นานนัก และยังถูกดัดแปลงภาพยนตร์อนิเมชั่นอีกสองครั้ง ซึ่งในฉบับอนิเมชั่นมีการรีดีไซน์ตัวละครไปพอสมควร และตัวละครในเรื่องหลายตัวของ 21 เอมอน ถูกนำไปเป็นดารารับเชิญในการ์ตูนเรื่องอื่นอีกด้วย
Bakeru Kun
เราคิดเองเออเองว่า จุดเริ่มต้นของการ์ตูนเรื่องนี้มาจากตัว หุ่นก้อปปี้ที่ปรากฎตัวในเรื่องปาร์แมน ก่อนจะถูกขยายเป็นพล็อตในเรื่องนี้ ที่ตัวละครเอกอย่าง คาวารุ เจอคนในคฤหาสน์ร้างที่จริงๆ แล้ว เป็นบ้านของมนุษย์ต่างดาวที่ใช้วิธีสิงร่างของตุ๊กตา ก่อนที่มนุษย์ต่างดาวจะออกเดินทางกลับบ้านและทิ้งตุ๊กตาจำนวนมากให้ บาเครุ ใช้แก้ป้ญหาประจำวัน ซึ่งตัวที่โดนใช้งานประจำก็คือ บาเครุ นั่นเอง
การ์ตูนเรื่องนี้ถึงจะมีปัจจัยที่น่าจะเป็นเรื่องดังจนถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์คนแสดง (ที่ดัดแปลงไปไกลพอตัว) แถมยังมีตอนหนึ่งที่ไปแจมกับโดราเอมอน แต่อาจจะเพราะการเขียนตีพิมพ์ถูกแยกลงในนิตยสารหลายเล่มทำให้สุดท้ายเนื้อเรื่องจบแบบปาหมอนไปพอสมควร กระนั้นเด็กไทยที่โตมาในยุค 90 ก็คุ้นเคยกับการ์ตูนเรื่องนี้อยู่พอสมควร
TP Bon
ตัวละครสมทบที่มาปรากฎอยู่ในโดราเอมอนอยู่บ่อยๆ ก็คือตำรวจกาลเวลา หรือ Time Patrol กลุ่มคนที่คอยจับกุมผู้กระทำความผิดทางกาลเวลาตามชื่อ และมักจะออกมาช่วยกลุ่มตัวเอกอย่างโดราเอมอนอยู่เสมอ (…ทำไมมีความเป็นตำรวจในละครไทย)
แต่ใน TP Bon จะโยกการเล่าเรื่องไปยังตัวละคร นามิฮาระ บง ที่ได้ไปเจอกับ รีม ตำรวจกาลเวลาที่พยายามรักษาสเถียรภาพของประวัติศาตร์และพบว่าเธอไม่สามารถลบความจำของ บง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์มากมาย บง จึงต้องกลายเป็นตำรวจกาลเวลาคนใหม่โดยปริยาย
ตัวงานถูกเขียนในช่วงปี 1978 – 1986 แบบไม่ต่อเนื่องกัน โดยหลักแล้วเนื้อเรื่องจะเป็นการบอกเล่าประวัติหรือตำนานที่โด่งดังในโลกแบบใหม่ โดยให้ตัวเอกมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านั้น หรือถ้าจะพูดว่าเป็นหนังสือการ์ตูนความรู้ผสมกับการวิพากย์เรื่องราวในประวัติศาสตร์ต่างๆ ก็ไม่น่าจะผิดนัก
Esper Mami
สาวน้อยพลังจิต มามิ ถ้ามองเผินๆ แล้วก็เหมือนเป็นแค่การ์ตูนที่ผู้เขียนย้ายไปเขียนเรื่องพลังเหนือมนุษย์แทนที่แนวไซไฟ แต่ลึกลงไปงานชิ้นนี้ที่ค่อยๆ เล่าชีวิตประจำวันของ มามิ เด็กสาวที่ค่อยๆ มีพลังจิต และใช้พลังนั้นเพื่อช่วยเหลือผู้คนในเรื่อง กลับเดินเรื่องเอาใจวัยรุ่นมากขึ้่น และมีมุมมองให้เชิงสนับสนุนสิทธิสตรีมากขึ้น (จิมปุย ที่ถูกเขียนทีหลังนั้นตั้งใจขายเด็กกว่ามาก) นางเอกอย่าง มามิ เป็นสาวแอคทีฟ ช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้น ส่วนตัวพระเอกกลายเป็นผู้สนับสนุนและรับบทพ่อบ้านไปโดยปริยาย
ผลงานเรื่องนี้จึงมีความก้ำกึ่งระหว่างละครวัยรุ่นกับการ์ตูนแนวสาวน้อยเวทมนตร์ และถูกดัดแปลงเป็นอนิเมชั่นกับซีรีส์คนแสดงตามรอยผลงานดังๆ เรื่องอื่นของ ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ
Mirai No Omoide
เรื่องเกี่ยวกับนักเขียนการ์ตูนชื่อดังแต่เกิดอาการฝืด ก่อนจะย้อนนึกว่าชีวิตตัวเองมีอะไรขาดหาย ตัวเอกได้ย้อนเวลาไปสมัยที่อยู่หอพักโทกิวะโซแล้วเริ่มคิดงานที่คิดว่าฮิตแน่ในอนาคต ก่อนจะได้พบกับสาวสวย แต่โชคชะตาก็ทำให้เขาไม่ได้คู่กับเธอ และยุคสมัยก็นำพาไปจนทำให้เขาได้ย้อนเวลาอีกครั้ง แต่เขาจะได้คู่กับเธอหรือเปล่า?
นักอ่านชาวไทยอาจจะคุ้นเคยกับภาพความเป็นคนเขียน ‘การ์ตูนเด็ก’ ของ ฟูจุโกะ เอฟ ฟูจิโอะ แต่เรื่องนี้เป็นแนวโรแมนติกปนไซไฟ เจือจางด้วยประสบการณ์ตรงของอาจารย์เล็กๆ สมัยที่ยังเป็นนักเขียนหน้าใหม่ แม้ลายเส้นจะคุ้นตา แต่การนำเสนอที่แปลกไปทำให้ผลงานเรื่องนี้โดดเด่นแถมยังถูกดัดแปลงไปสร้างเป็นหนังคนแสดงในปี 1992 อีกต่างหาก
7 เรื่องนี้คือผลงานของ ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ ที่เราอยากให้ทุกท่านลองไปหาโอกาสอ่านดู ซึ่งเราก็รู้สึกเสียดายอยู่ไม่น้อยที่อาจารย์ได้จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน ปี 1996 ด้วยวัย 62 ปี จากอาการมะเร็งตับ เหลือไว้เพียงผลงานที่โด่งดังไปทั่วในทวีปเอเซียและโลกตะวันตก และเราเชื่อว่าโลกจะได้รู้จักผลงานของ ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ มากยิ่งขึ้นไปจากที่ โดราเอมอน ได้กลายเป็นฑูตของงานโอลิมปิกปี 2020 ไปแล้ว