ช่วงเลือกตั้งแบบนี้ เราอาจเจอคนที่แสดงภาวะความเป็นผู้นำที่หลากหลาย ซึ่ง ‘ผู้นำ’ เองก็เป็นตัวแปรที่สำคัญอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะในกลุ่มสังคมใดๆ เขาจะต้องเป็นคนที่กลุ่มหรือองค์กร ไว้ใจในทักษะความสามารถ และสามารถโน้มนำให้คนในองค์กรเดียวกันมุ่งสู่เป้าหมายที่ระบุไว้
ซึ่งถ้ายกตัวอย่างแบบง่ายๆ ที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ ตามข่าว ก็คงจะเป็นตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้นำของคณะรัฐมนตรีและเป็นผู้นำของอำนาจฝ่ายบริหารของประเทศต่างๆ หรือถ้ามองไปยังสเกลขนาดเล็กสุดอย่างครอบครัว ก็ต้องมี ผู้นำ ที่ควบคุมว่าทิศทางของแต่ละบ้านนั้นควรจะทำตัวอย่างไร The MATTER เลยลองไปสำรวจในโลกการ์ตูนว่ามีผู้นำที่น่าสนใจแบบไหนบ้าง
ผู้นำสายพลังมิตรภาพ : เซย์ย่า จาก Saint Seiya
ผู้นำที่เราเห็นได้จากมังงะหรืออนิเมะต่างๆ ได้มากที่สุดก็คงไม่พ้น ‘ผู้นำสายมิตรภาพ’ โดยเฉพาะการ์ตูนที่มาจากนิตยสารโชเน็นจัมพ์มักจะมีตัวละครสายนี้อยู่มาก อาจจะเป็นเพราะว่าตัวละครกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้อย่างง่ายดายนั่นเอง กระนั้นถ้าเรามองลึกลงไปอีกหน่อย เราจะเห็นว่าตัวละครจากโชเน็นจัมพ์อาจจะมีข้อด้อยที่ว่า ตัวเอกแนวพลังมิตรภาพจะมีข้อเสียแบบแปลกๆ ตามมาบ้าง นับตั้งแต่ เป็นคนขี้เซาเกินไป เป็นคนที่ต้องกินเยอะตลอดเวลา หรือแม้แต่กรณีที่ไม่ได้เป็นผู้นำของทีม แต่ออกเป็นแนวคนที่ฝีมือดีที่สุดในกลุ่ม คนเหล่านี้ก็มักมีนิสัยแปลกๆ รวมอยู่ด้วย
แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้นำสายพลังมิตรภาพจะไม่มีคนที่น่าจดจำเสียเลยนะ เราขอยกตัวอย่างของ คิโดะ เซย์ย่า จากเรื่อง เซนต์เซย์ย่า ที่มาพร้อมกับพลังมิตรภาพอย่างชัดเจน ตัวละครถูกเปิดตัวมาแบบหัวขบถต้องการจะสู้เพียงเพื่อจะได้พบกับพี่สาวของตัวเองอีกครั้ง แถมตอนแรกยังไม่ยอมรับ คิโดะ ซาโอริ ในฐานะ เทพีอาธีน่า อีกต่างหาก แต่เมื่อผ่านเรื่องราวจนถึงจุดหนึ่ง เซย์ย่า ก็ยอมรับว่า ซาโอริ คือ เทพีอาธีน่า ตัวจริง แล้วกลายเป็นหัวหอกที่ชักชวนเพื่อนบรอนซ์เซนต์คนอื่นๆ ในการต่อสู้กับศัตรูมากมาย
หลายๆ ครั้ง เซย์ย่า กับพวกอาจจะพลาดท่า ไม่สามารถต่อสู้กับคู่ต่อสู้ได้ แต่พวกเขาก็จะระลึกได้ว่า ไม่ได้มีแค่ตัวเขาเพียงคนเดียว หลังจากนั้นก็ใช้พลังมิตรภาพในการพยายามลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้ง (อาจจะต้องยกเว้น ชุน ที่เน้นกดสูตร ‘พี่ครับ’ มากกว่าเรียกเพื่อน) จนสามารถเฝ่าฝันอุปสรรคไปได้โดยสำเร็จ แม้ว่า เซย์ย่า อาจจะไม่ได้เป็นนักวางแผนที่ลุ่มลึกนัก แต่ภาวะที่เขาเป็นศูนย์รวมใจของเพื่อนนั้นเป็นอะไรที่เห็นเด่นชัด ระดับที่ว่าในเนื้อเรื่องปัจจุบันที่เซย์ย่าอยู่ในสภาพผักไปแล้ว เพื่อนๆ และซาโอริ ก็ตัดสินใจย้อนเวลากลับไปในอดีตเพื่อช่วยผู้นำสายพลังมิตรภาพคนสำคัญคนนี้
ผู้นำสายผลักดัน : ฮิรุมะ โยอิจิ – Eyeshield 21
Eyeshield 21 เป็นผลงานการ์ตูนที่ไม่ได้บอกเล่าแค่เรื่องกีฬา ซึ่งเป็นม้านอกสายตาของใครหลายคน แต่ยังพูดถึงกลุ่มคนที่ดูไม่มีความหวังในการเล่นกีฬาชนิดนี้ อย่าง โคบายาคาวะ เซนะ นักกีฬาตัวเล็กและผอมบางแต่วิ่งได้อย่างคล่องแคล่ว ไรมอน ทาโร่ หรือ มอนตะ นักกีฬาที่มีดีแค่การรับลูกจนไม่สามารถไปเล่นเบสบอลที่เป็นกีฬาในฝันได้ ฯลฯ แต่สุดท้าย เหล่าคนที่เหมือนจะเป็นแค่ตัวสำรองในทีมอื่น กลับสามารถดึงจุดเด่นของตัวเองมาใช้เป็นอาวุธในสนามกีฬาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเราต้องยกเครดิตให้กับ ฮิรุมะ โยอิจิ ผู้เป็นควอเตอร์แบ็กและผู้นำตัวจริงของทีมเดมอน เดวิลแบ็ทส์
ในช่วงแรกของ Eyeshield 21 เราจะได้เห็น ฮิรุมะ โยอิจิ ใช้แผน(ชั่ว)ในการควบคุมคนรอบตัวให้ทำตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนกันเอง หรือกลุ่มคนอื่นๆ อย่างอาจารย์หรือบุคลากรนอกโรงเรียนก็ตามที แต่เมื่อเรื่องค่อยๆ ขยับเขยื้อนไป เราก็ได้เห็นว่าถึงตัวของ ฮิรุมะ จะใช้ลูกล่อลูกชนหรือเล่ห์กลมากมายในการทำให้เรื่องรอบตัวเป็นไปตามปรารถนา แต่จริงๆ มันมาจากการที่เจ้าตัวรู้จักว่า จุดอ่อนของแต่ละคนคืออะไร แล้วค่อยๆ คิดหาข้อดีชดเชยตามมาให้อีกครั้ง ไม่ใช่แค่จุดอ่อนของคนอื่นที่เขามองเห็นเท่านั้น เขายังรู้ว่าตัวเองมีจุดด้อยแบบไหน และพยายามแก้ไขให้มันดีขึ้น แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้เห็นผลบวกอย่างชัดแจ้งนัก แต่เขาก็ไม่ยอมหยุดอยู่นิ่งๆ
และถึงในเรื่องจะทำให้เห็นว่า ฮิรุมะ พยายามใช้กลเม็ดหลายอย่างในการดำเนินงานชมรมอเมริกันฟุตบอล แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องการความพัฒนาจากคนในทีม ฮิรุมะ กลับให้ตัวละครหลายตัว ‘เลือกด้วยตัวเอง’ ว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับข้อด้อยที่ประสบอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขายังมีความเชื่อมั่นในลูกทีมที่เขาเห็น จึงทำให้ทีมอเมริกันฟุตบอลที่ดูแล้วมีแต่คนแสบสันนี้สามารถสามัคคีในเชิงความคิดกันได้อย่างดี แบบที่องค์กรในโลกแห่งความจริงหลายๆ แห่งต้องอิจฉา
ผู้นำสายเปี่ยมไปด้วย Charisma : โทโมดาจิ – 20th Century Boys
การเป็นผู้นำในโลกแห่งความเป็นจริง บางคราวก็มาจากความเด็ดขาด บางคราวก็มาจากความฉลาด บางคราวก็อาจจะมาจากความตรงไปตรงมา กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าทักษะที่เรากล่าวไปนั้นจะถูกใจได้ทุกคนที่พบเจอ อย่างบางคนก็ค่อนข้างจะหวาดเกรงคนที่เด็ดขาดมากไป บางคนก็อาจจะไม่ชอบคนที่ฉลาดเพราะกลัวความแกมโกงจะตามมาด้วย เป็นอาทิ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าเป็นผู้นำที่มี Charisma ล่ะก็ ต่อให้คนไม่ปันใจมาชอบ แต่ก็ยากที่จะไม่เหลียวมอง
Charisma หรือที่พจนานุกรมหลายเล่มให้คำแปล ไว้ว่า ‘พรสวรรค์’ ‘เสน่ห์’ ‘คุณสมบัติพิเศษเฉพาะคน’ อาจจะเป็นนิยามที่นามธรรมไปสักนิด แต่เชื่อว่าทุกคนน่าจะพอจะเคยเจอคนที่ทำอะไรก็ดูดีไปหมด แม้ว่าเรื่องที่เขาทำจะธรรมดาสามัญ หรือเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีความจริงใดๆ อยู่เลยก็ตาม
ผู้นำในโลกการ์ตูนที่เปี่ยมไปด้วย Charisma เราคงต้องยกให้ ‘เพื่อน‘ จากเรื่อง 20th Century Boys บุคคลลึกลับที่ใส่หน้ากากพร้อมโลโก้แปลกตา ที่มาพร้อมกับการพูดที่แปลกหู พร้อมกับระบุว่าตัวของเขามี ‘คำทำนาย’ ที่บอกเล่าเรื่องการสิ้นสุดของโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีหนทางที่จะกอบกู้โลกได้ รายละเอียดของคำทำนายนั้น จริงๆ แล้วเป็นแค่เรื่องแต่งที่เด็กกลุ่มหนึ่งแต่งเอาไว้แบบไม่สนใจความสมจริงใดๆ แต่ ‘เพื่อน’ ก็เอาเรื่องนี้ไปนำเสนอกับผู้ใหญ่หลายๆ คน จนหลอกล่อให้เกิดการผลิตวัตถุหลายอย่างตามคำทำนายนั้น เช่น เชื้อโรคที่ฆ่าคนได้ หุ่นยนต์ยักษ์ที่ออกมาทำลายล้างโลก ไปจนถึงเรื่องราวของการคืนชีพของตัวเอง
กระนั้นจุดที่เราคิดว่าสิ่งที่แสดงให้เห็น Charisma ของ ‘เพื่อน’ ได้ดีที่สุดก็คือเรื่องง่ายๆที่ เพื่อน ออกมาแสดงทักษะให้เห็นว่าตัวเองสามารถ ‘ลอย’ จากพื้นได้ โดยที่จริงๆ ก็ใช้ทริคมายากลง่ายๆ เท่านั้น แต่ด้วยความเชื่อมั่นของเจ้าตัว ลักษณะคำพูดที่ใช้ และความมั่นใจหลังจากดำเนินทริกจนตัวลอยได้แล้ว เมื่อเจ้าตัวแสดงออกถึงความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า จึงทำให้คนรอบตัว แม้แต่คนที่ช่วยให้ เพื่อน ลอยตัวได้ด้วยมือตัวเอง ยังศรัทธาในสิ่งที่เพื่อนกระทำ ต่อให้มันจะผิดศีลธรรมจรรยาใดๆ ก็ตามที เราก็ไม่รู้ว่าผู้นำในโลกจริงๆ จะมีใครมี Charisma ระดับนี้บ้างไหม และเราก็อาจจะโชคดีก็ได้ที่ยังไม่เจอคนแบบนั้น
ผู้นำสายมองผลลัพธ์มากกว่าหลักมนุษยธรรม : ซีบิล ซิสเต็ม – Psycho-Pass
ดิสโทเปีย หรือแนวคิดของเรื่องแต่งที่บอกเล่า โลกที่วุ่นวายโกหาหล หรือติดอยู่ในกรอบอะไรบางอย่างที่เป็นน่ากลัวกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน หรือถ้าพูดว่าเป็นเรื่องแต่งที่เกิดขึ้นจากความกลัวการก้าวหน้าของมนุษยชาติเอง
เรื่องราวแนวนี้ไม่ได้มีให้เห็นเฉพาะในวรรณกรรมหรือภาพยนตร์เท่านั้น การ์ตูน กับ อนิเมะ เองก็บอกเล่าถึงโลกนี้บ่อยเช่นกัน อย่างเช่น อนิเมะเรื่อง Psycho-Pass ที่เล่าเรื่องของประเทศญี่ปุ่นในอนาคตหลังจากผ่านยุคที่ทั่วโลกต่างล้มเหลวทางเศรษฐกิจไปแล้ว ชาวญี่ปุ่นยินดีให้ระบบล้ำสมัยช่วยกำหนดเส้นทางชีวิตของประชาชน นอกจากนั้นยังทำการแสกนสมองของประชาชนที่มีความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรม จนสามารถป้องกันเหตุก่อนภัยจะเกิดขึ้นจริงได้หลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าสังคมจะดูสงบสุขมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว โลกที่ Psycho-Pass นำเสนอนั้น กลับมีความอึมครึมในลักษณะที่เหมือนนำเอานิยายเรื่อง 1984 ของ จอร์จ เออร์เวล มาทาสีสันให้ทันสมัยมากกว่า
และผู้นำของโลกในเรื่อง Psycho-Pass ก็คือระบบที่ถูกเรียกขานว่า ซิบิล ซิสเต็ม (Sibyl System) ที่ยกชื่ออ้างอิงมาจากนักทำนายที่ปรากฎอยู่ในเทพปกรณัมของกรีก ในฉากหน้าแล้ว ระบบนี้ถูกระบุว่าเป็นคอมพิวเตอร์ระดับล้ำสมัย แต่ความเป็นจริง ซิบิล ซิสเต็ม เป็นการนำเอา ‘สมอง’ ของผู้ที่ระบบไม่สามารถประเมินค่าความอันตรายในการก่ออาชญากรรม และตัดสินการกระทำของมนุษย์โดยสนใจต่อผลลัพธ์มากกว่าสนใจหลักมนุษยธรรมมาใช้ จนกลายเป็นสมาชิกราวๆ 200 กว่าคน ที่สามารถตัดสินความเป็นตายของคนทั้งประเทศได้
กลายเป็นว่า โลกที่ดูดีในฉากหน้าของญี่ปุ่นตามท้องเรื่อง เกิดขึ้นจากการ ‘เผลอ’ มอบอำนาจตัดสินใจของตัวเองให้กับคนกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่กลุ่ม มิหนำซ้ำตามท้องเรื่องก็ยังมีการระบุด้วยว่า แม้ตัว ซิบิล ซิสเต็ม อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่ประเทศก็พึ่งพามันมานานเกินกว่าที่จะยกเลิกทั้งระบบทิ้งได้ ก็อาจจะต้องติดตามต่อไปว่าในผู้คนโลกของ Psycho-Pass ที่กำลังจะมีภาค 3 ให้รับชม จะสามารถกลับมามี เจตจำนงเสรี ได้อีกครั้งหรือไม่
ผู้นำสายกล้าได้กล้าเสีย : โอลิเวียร์ มิร่า อาร์มสตรอง – Full Metal Alchemist
ถ้าดูฉากหน้า Full Metal Alchemist แขนกลคนแปรธาตุ อาจจะเน้นเล่าเรื่องของการแปรธาตุเป็นหลัก แต่ฉากหลังของเรื่องนั้นอยู่ในประเทศอเมทริส ที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร เราเลยมีโอกาสได้เห็นผู้นำที่คุมกำลังพลหลายๆ ขนาด นับตั้งแต่ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำกองกำลังย่อย ผู้นำระดับนายพล ที่ต้องคุมกองกำลังระดับภูมิภาค และ ผู้บัญชาการสูงสุดที่ดูแลทั้งประเทศ
พอดีว่า ผู้บัญชาการสูงสุดของเรื่องเป็นเพียงแค่หุ่นเชิดสำหรับผู้นำตัวจริงที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้ผู้นำที่มีบทโดดเด่นและแสดงให้เห็นความเป็น ‘หัวหน้า’ ที่ตัวละครอื่นยอมรับชัดเจนตกไปอยู่ในกลุ่ม ผู้นำระดับนายพลแทน หนึ่งในนายพลที่โดดเด่นของเรื่องนี้ก็คงไม่พ้น โอลิเวียร์ มิร่า อาร์มสตรอง พลตรีผู้ดูแลป้อมปราการทางแดนเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่หนาวเหน็บ อุดมไปด้วยทุ่งหิมะอันกว้างใหญ่ มีภยันอันตรายทั้งจากสัตว์ป่า และประเทศติดกันที่หมายมั่นว่าจะบุกเข้าโจมตี
ด้วยความโหดร้ายของดินแดนแถบนี้ ทำให้พลตรีหญิงคนนี้จัดการทหารภายในป้อมด้วยการใช้คำสั่งอย่างชัดเจน ชัดแจ้ง แล้วถ้าตัวเองสามารถเคลียร์ปัญหานั้นได้ เธอก็พร้อมจะเผชิญหน้าฝ่าฟันมันด้วยตนเอง
และถึงจะเป็นทหารใต้การบังคับบัญชาของกองทัพ พลตรีจากตระกูลอาร์มสตรอง ก็ไม่ได้พึงพอใจกับแผนการของผู้บัญชาการสูงสุดที่หมายจะก่อความวุ่นวายไปทั่วประเทศเพื่อสร้างและตัดสินใจเดินหมากเสี่ยงตายด้วยการโยนตัวเองเข้าไปคลุกคลีกับระดับเบื้องบนในกองทัพคนอื่นๆ ที่ไม่คิดจะปกป้องประชาชน แต่แสวงหาผลประโยชน์ของตัวเอง จนสุดท้ายตัวพลตรีโอลิเวียร์ ก็ได้นำกองกำลังภายใต้การบังคับบัญชาของตัวเองมาร่วมศึกปฏิวัติประเทศ จนทำให้สุดท้ายประเทศอเมทริสไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับแผนการแปรธาตุระดับชาติอีกต่อไป
แล้วถ้ามาดูผลลัพธ์ในตอนท้ายเรื่อง แม้ว่า พลตรีหญิงคนนี้จะสร้างผลงานได้อย่างมากมาย แต่สุดท้ายเธอก็ไม่คิดจะรับตำแหน่งผู้นำของประเทศคนใหม่ น่าเสียดายที่ไม่เคยมีการบอกเหตุผลชัดๆ ว่าทำไม เธอถึงไม่ขึ้นรับตำแหน่ง แต่ถ้าดูองค์ประกอบโดยรอบจะเห็นว่าเธอพึงพอใจกับการขึ้นเป็นผู้นำที่ผู้ใต้บังคับบัญชาพึงพอใจ และควรให้คนที่ถนัดงานบริหารไปอยู่ในตำแหน่งที่จำเป็นมากกว่า
ผู้นำสายสละสิ้นทุกสิ่งอย่าง : โรสเรด สเตราส์ – ล่าล้างกางเขนเลือด
ผู้นำแบบหนึ่งที่อยู่ในจินตนาการของหลายๆ คน ก็คือผู้นำที่มีทักษะความสามารถ แต่ก็ยินยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความสงบสุขของคนหมู่มาก แต่หลายคนอาจจะไม่ได้คิดเลยต่อไปอีกสักหน่อยว่า ‘เสียสละ’ ที่ว่าจะต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง ตอนแรกเราก็นึกภาพของ ลูลูช วี บริทาเนีย จากเรื่อง Code Geass ที่ยอมสละอะไรหลายอย่างเพื่อให้น้องสาวอยู่อย่างสงบ กระนั้นเมื่อเราลองย้อนค้นไปอีกนิด เราก็เจอการ์ตูนที่เก่าสักหน่อยอีกเรื่องที่ตัวเอกเสียสละแทบจะทุกสิ่งของชีวิต แถมยังฉาบด้วยคำลวงเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางความสงบสุขแบบหนึ่ง
ตัวละครสายผู้นำตัวนั้นก็คือ โรสเรด สเตราส์ ตัวละครเอกของเรื่อง ‘ล่าล้างกางเขนเลือด’ เขาคือแวมไพร์ที่มีทักษะความสามารถทั้งบู๊และบุ๋นอยู่ในระดับสูง แถมยังมีพลังพิเศษที่แข็งแกร่งกว่าแวมไพร์ตนอื่นๆ จนได้ฉายาว่า ‘แวมไพร์กุหลาบแดง’ ทั้งยังได้ขึ้นครองราชเป็นราชาของอาณาจักรรัตติกาล และมีความสามารถจะยึดครองโลกใบนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาก็ได้ตัดสินใจละทิ้งอาณาจักรที่เกิดเหตุล่มสลายกะทันหัน มิหนำซ้ำราชินีของอาณาจักรก็หายตัวไป ทำให้ทั้งแวมไพร์ แดมพีล (ลูกครึ่งแวมไพร์) และมนุษย์เชื่อว่า แวมไพร์กุหลาบแดง ตนนี้ คลั่งรักราชินีจนยอมทิ้งทุกอย่าง ส่งผลให้ฝั่งแดมพีลตัดสินใจไล่ล่าผู้ทรยศเผ่าพันธุ์ และมนุษย์ที่มีความสามารถเชิงเวทตัดสินใจสร้าง แบล็กสวอน หงส์ทมิฬที่จะเข้าสิงมนุษย์ที่เหมาะสม มิหนำซ้ำแบล็กสวอนจะแกร่งขึ้นทุกรุ่นจนสุดท้ายก็จะสามารถสังหารราชาแวมไพร์ได้สำเร็จ ดังนั้นหนทางของราชาคนดังกล่าวย่อมต้องลงเอยด้วยความตายและความสงบสุขของโลกอย่างน่อนอน
เหตุผลข้างต้นนั้นเป็นเพียงเรื่องราวฉากหน้า แต่ในเรื่องราวจริงๆ กลับไม่เป็นเช่นนั้น เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องค่อยๆ เปิดเผยว่า ที่อาณาจักรล่มสลายนั้นไม่ใช่ความผิดจากตัวโรสเรดเลย เรื่องมันเกิดจากการที่เจ้าตัวหมายสละชีวิตตัวเอง เมื่อพบว่าตนเป็นแวมไพร์ที่ไม่แพ้แสงอาทิตย์ จนทำให้เกิดความเกรงกลัวในความไร้เทียมทานนั้น และในช่วงเวลาที่จะถูกเอาชีวิตนี้ ราชินีของเขากลับปล่อยพลังออกมาทำลายอาณาจักรจนหมด โชคดีเล็กน้อยที่กองกำลัง แดมพีล กับ มนุษย์ ที่ยังเหลืออยู่สามารถรวมพลังเพื่อสะกดราชินีได้สำเร็จ ราชาแวมไพร์ที่รอดตายอย่างหวุดหวิดจึงเห็นว่า การมีตัวตนของเขาเองกลายเป็นเรื่องดีสำหรับโลก เพราะจะทำให้ มนุษย์ กับ แดมพีล ร่วมมือร่วมใจกัน และจะสร้างสันติภาพระยะยาวได้ดีกว่า
ส่วน แบล็กสวอน ที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตของราชาแวมไพร์ ภายหลังก็มีการเปิดเผยความจริงว่า แท้จริงเป็นการสร้างคำสาปจาก คนรักตัวจริงและลูกสาวของราชาแวมไพร์ (ราชินีแวมไพร์นั้นเป็นการแต่งงานทางการเมือง) จึงกลายเป็นเหตุที่ว่าทำไมหงส์ทมิฬตนนี้จะมีตัวตนอยู่จนกว่าราชาแวมไพร์จะตายจากไป และนั่นหมายความว่า โรสเรด ต้องต่อสู้กับ วิญญาณของผู้เป็นที่รักมากที่สุดมาตลอดในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่
และเมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไปว่าโลกถูกมนุษย์ต่างดาวบุกเข้าโจมตีโลก ราชาแวมไพร์ก็เข้าใจดีว่าพลังของเขากับราชินีที่ถูกผนึกนั้นยิ่งใหญ่มากพอที่ขจัดยานอวกาศต่างดาว สุดท้าย โรสเรด สเตราส์ และราชินีแวมไพร์ก็เดินทางออกไปยังห้วงอวกาศแล้วสละสิ้นแม้แต่ชีวิตตัวเองเพื่อปกป้องดวงดาวสีฟ้าท่ามกลางทะเลดาราอันมืดมิดที่เขารักนั่นเอง
ผู้นำสายเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว : ยูน่า โรม่า เซย์รัน – Gundam SEED Destiny
กันดั้ม เป็นการ์ตูนที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นหลายภาค พร้อมกับจำนวนจักรวาลอีกหลายแขนง ทั้ง Universal Century, Future Century, After Colony, Advanced Generation, Anno Domini หรือแม้แต่ Cosmic Era และในแต่ละยุคสมัยก็มีผู้นำปรากฎตัวอยู่จำนวนมาก อาทิ ชาร์ อัสนาเบิล ผู้ที่ตั้งใจจะปลดปล่อยมนุษยชาติให้เดินทางสู่อวกาศด้วยการทิ้งดิ่งโคโลนี่ลงบนโลก หรือ อิโอเลีย เชนเบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Celestial Being องค์กรทหารเอกชน ที่วางแผนสร้างกันดั้มขึ้นมาเพื่อให้โลกมีศัตรูร่วมกัน กระนั้นผู้นำแต่ละคนของแต่ละองค์กรในกันดั้ม ต่างก็ไม่มีใครถูกหรือใครผิดอย่าง 100% ทุกคนมีจุดยืนอยู่ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นก็เท่านั่น และเราก็คิดว่าคงไม่มีใครที่ดีพร้อมหรือด้อยโดยสมบูรณ์
อาจจะยกเว้นก็เพียงแค่…ผู้นำคนหนึ่งที่อยู่ในจักรวาล Cosmic Era หรือถ้าระบุเป็นชื่อภาคก็คือในภาค Gundam SEED Destiny ที่ถูกเซ็ตบทบาทมาให้เป็นผู้นำระดับแย่เกือบสุดในการ์ตูนที่เต็มไปด้วยผู้นำหลากหลายนี้
ก่อนอื่นต้องขอปูพื้นก่อนว่า ในจักรวาล Cosmic Era มีขั้วอำนาจใหญ่ๆ อยู่สามขั้วก็คือ สหพันธ์โลก ที่เชื่อมั่นในมนุษย์ดั้งเดิม ZAFT หน่วยงานการเมืองของฝั่งโคโลนีในอวกาศที่มีมนุษย์ดัดแปลงหรือ โคออดิเนเตอร์ เป็นผู้ดำเนิการ และ ORB มหาอำนาจที่วางตัวเป็นกลาง ประชากรมีทั้งคนธรรมดาและโคออดิเนเตอร์อาศัยอยู่ร่วมกัน แต่มีความสามารถทางเทคโนโลยีที่สูง
ด้วยความที่ ORB นั้นใช้ระบบการปกครองลูกผสมระหว่างขุนนางกับการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ทำให้ ยูน่า โรม่า เซย์รัน ที่เป็นลูกชายของนายกรัฐมนตรีของ ORB และเป็นคู่หมั้นทางการเมืองกับผู้นำตัวจริง กลายเป็นผู้มีอำนาจบริหารอยู่ในระดับสูงไปโดยปริยาย แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่ได้มีตำแหน่งแบบเป็นชิ้นเป็นอัน และเมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปถึงจุดที่ ORB จำเป็นจะต้องเข้าร่วมสงครามเพื่อป้องกันประเทศของตนเองถูกโจมตี ยูน่า ก็ใช้ตำแหน่งของคู่หมั้นผู้นำตัวจริง ในการต่อรองให้ตัวเองกลายเป็นผู้บัญชาการสูงสุดไปชั่วระยะหนึ่ง
เพราะอยู่ในพลังอำนาจที่ได้มาอย่างง่ายดาย ในเรื่องจึงแสดงให้เห็นอยู่หลายต่อหลายครั้งว่า ยูน่า ตัดสินใจเดินหน้าประเทศเข้าหาผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขาเอง ไม่ได้มีจุดยืนใดๆ เป็นพิเศษ ไม่ได้ดิ้นรนเพื่อประโยชน์สำหรับประชาชน หรือ กองทัพ และการตัดสินใจแบบคิดเองเออเองว่าผ่านการคำนวณมาอย่างดีแล้วก็ส่งผลเสียต่อผู้ที่อยู่ใต้ปกครองหลายต่อหลายครั้ง (จนแทบจะเป็นแก๊กประจำเรื่องอยู่ช่วงหนึ่งเสียด้วยซ้ำ)
สุดท้าย ยูน่า ก็เสียชีวิตจากการตัดสินใจแบบผิดพลาด ด้วยการพยายามหลบหนีจากคนที่จะมาจับกุม แต่ดันวิ่งไปในพื้นที่ที่มีการสู้รบและประสบอุบัติเหตุต่ออีกทีหนึ่ง ซึ่งเรื่องแบบนี้คงเกิดได้ง่ายกับเรื่องแต่งอย่างการ์ตูน แตกต่างจากชีวิตจริงที่อาจจะต้องรอกันนานเสียหน่อยกว่าจะได้เห็นว่าคนกระทำความผิดจะรับผลอะไรจากเรื่องแย่ๆ ที่ตัวเองทำไว้
ผู้นำ…แน่นะ ? : ผู้นำองค์กรชายชุดดำ – ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน
องค์กรใหญ่ระดับนานาชาติ มีสมาชิกมากมายจากหลายประเทศ ก่ออาชญากรอันร้ายแรงก็ไม่น้อย ดังนั้น องค์กรชายชุดนำ น่าจะมีผู้นำที่เข้มแข็งอยู่ไม่เบาทีเดียว … หรือบางทีอาจจะไม่ใช่ ?
นับตั้งแต่ที่การ์ตูนเรื่องนี้ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1994 เราไม่ค่อยเห็นเนื้องานที่ชัดเจนขององค์กรนี้เท่าไหร่นัก นอกจากการที่ถูกระบุว่าเป็นองค์กรอาชญากรรม ที่มีการค้าอาวุธ ทดลองยาต่างๆ มีสายงานแยกย่อยอยู่หลายอย่าง ทั้งฝ่ายพัฒนายา ฝ่ายสืบข่าว ฝ่ายสังหาร ฝ่ายหาเงินทุน แต่โดยหลักแล้วพวกเขาก็บอกว่าตั้งใจดำเนินงานอยู่ในเบื้องหลังอย่างเงียบเชียบมิดชิด แต่ดันพลาดท่าให้ คุโด้ ชินอิจิ เห็นว่ามีการมาขายอะไรสักอย่างในสวนสนุกระหว่างที่ขึ้นรถไฟเหาะตีลังกาเนี่ยอะนะ?
แล้วสเกลองค์กรที่ดูยิ่งใหญ่อลังการมาก จนต้องกระจายการบริหารให้ ยีน กับ วอดก้า ช่วยดูแลเพิ่มเติม แต่พอคิดว่าในองค์กรแห่งนี้ มีสายลับอยู่เพียบ ทั้ง CIA FBI ตำรวจลับจากญี่ปุ่น (และมีหน่วยงานอื่นๆ อีก หากอ้างอิงจากฉบับอนิเมะ ที่ไม่ถือว่าเป็นเนื้อเรื่องหลัก) และถึงจะรู้ว่ามีสปายซุกอยู่ในองค์กรเยอะขนาดนี้แต่ก็ไม่ค่อยปรับแผนการในการดูแลด้านความปลอดภัยภายในเท่าไหร … ชวนให้สงสัยมากขึ้นว่าผู้นำอย่าง คาราสุมะ เร็นยะ จะเป็นผู้นำที่ดีจนองค์กรชายชุดดำมันยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้จริงๆ เหรอ
จุดที่ชัดเจนที่สุดของผู้นำองค์กรนี้ก็คงมีแค่รสนิยมด้านเสื้อผ้าที่ชอบสีดำ น่าจะเอนจอยสุราเพราะใช้ตั้งชื่อลูกน้อง กับความชอบเพลงสำหรับเด็กที่เอามาตั้งเป็นเบอร์มือถือส่วนตัวละมั้ง หรือไม่เช่นนั้นเราคงต้องรอจนกว่าอาจารย์อาโอยาม่า โกโซ จะเขียนการ์ตูนเรื่องนี้จบล่ะ