ช่วงนี้วงการถ่ายภาพสตรีทกำลังคึกคัก เพราะนอกจากจะมีคนหันมาสนใจการถ่ายภาพรูปแบบนี้เยอะมากขึ้นแล้ว เรายังมีช่างภาพชาวไทยที่ได้รับรางวัลในเวทีระดับโลกอย่างงาน StreetFoto San Francisco หนึ่งในนั้นคือ ทวีพงษ์ ปทุมวงศ์ ที่ได้รับรางวัลที่ 3 ในหมวด Best mobile street photo
ภาพที่ได้รางวัลนั้น เป็นภาพผู้คนบนชายหาดที่ต่างก็กำลังถ่ายรูปซึ่งกันและกัน เบื้องหลังเป็นทะเลและท้องฟ้าที่มีเครื่องบินบินผ่านมา จากขนาดของมันให้ความรู้สึกเหมือนใกล้เพียงเฉียดหัวไปนิดเดียว เรื่องราวหรือความหมายของภาพที่ไม่ได้มีการจัดวางหรือวางแผนมาก่อน ยิ่งทำให้รู้สึกว่าการจะได้มาซึ่งภาพแบบนี้สักภาพหนึ่ง แม้จะพูดได้ว่าต้องอาศัยโชคหรือจังหวะอยู่บ้าง แต่การจะหยิบกล้องขึ้นมาจับภาพในจังหวะที่ถูกต้องก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
The MATTER ชวนเขามาพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองของเขาเกี่ยวกับการถ่ายภาพสตรีท และที่มาที่ไปของภาพที่ได้รับรางวัล อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการถ่ายภาพสตรีทและการถ่ายภาพแบบอื่นๆ และอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการถ่ายภาพสตรีทและการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
The MATTER : ในความเห็นของคุณ อะไรคือเป็นเส้นแบ่งระหว่างการถ่ายรูปสตรีทกับการถ่ายรูปที่ไม่ใช่สตรีท
ทวีพงษ์ : สำหรับเรา เส้นแบ่งที่ชัดเจนที่สุดระหว่างสตรีทกับไม่สตรีทคือกระบวนการที่ได้รูปมาซึ่งก็คือ ‘สตรีทต้องไม่จัดฉาก’ นะ ส่วนว่ามันจะเป็นรูปสตรีทที่ดีหรือไม่ เป็นสตรีทในแนวทางใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องลงในรายละเอียดแยกย่อยไปอีกที
The MATTER : รูปสตรีทที่ดีในความคิดของคุณคืออะไร
ทวีพงษ์ : เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บ 121click ในคำถามเดียวกัน ตอนนั้นคำตอบเราคือ “Good street photographs for each person are different. For me it’s combine between good story, composition, innovative and touch the hearth of the audience” (รูปสตรีทสำหรับแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน สำหรับผม มันคือการผสมกันระหว่างเรื่องราวที่ดี คอมโพสิชัน ความสร้างสรรค์ และการทัชกับคนดูให้ได้” ก็ยังคงคำตอบเดิมนะ แต่อาจจะเพิ่มเติมคือมันควรมีความเป็นตัวตนของช่างภาพอยู่ในนั้น
The MATTER : สถานการณ์วงการถ่ายภาพสตรีทในประเทศไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร
ทวีพงษ์ : ปัจจุบันวงการถ่ายภาพสตรีทในบ้านเราคึกคักมากนะ ถึงขนาดที่มี spot โฆษณาเครื่องดื่มยี่ห้อนึงทางวิทยุ ใช้ก๊อปปี้ว่า “ออกไปถ่าย Street Photo อย่าลืมติดน้ำไปด้วย” นี่เป็นอะไรที่เซอร์เรียลมากสำหรับเรา เทียบกับ 3-4 ปีก่อนที่คนยังไม่นิยมการถ่ายภาพแนวสตรีทกับตอนนี้ที่มีน้องๆ รุ่นใหม่หลายคนสนใจและถ่ายภาพแนวนี้กันเยอะ ที่สำคัญหลายๆ คนขยันและฝีมือพัฒนาดีวันดีคืน ทำผลงานได้ดีในหลายๆ เวทีประกวด เป็นบรรยากาศที่คึกครึ้นมาก
The MATTER : ช่วยเล่าที่มาของภาพที่ได้รับรางวัลที่ 3 หมวด Best mobile street photo ที่งาน StreetFoto San Francisco หน่อยว่ามีที่มาอย่างไร
เป็นภาพที่ได้ตอนไปเที่ยวกับครอบครัวที่ภูเก็ต ทริปนั้นภรรยาจองโรงแรมไว้ใกล้ๆ กับหาดไม้ขาว ประกอบกับช่วงนั้นทำโปรเจ็กต์กับมือถือยี่ห้อหนึ่งอยู่ เลยถือโอกาสไปลองถ่ายดู ก็ถ่ายทั้งมือถือและกล้องถ่ายรูปนะครับ แต่รูปที่ชอบดันเป็นรูปจากมือถือซะงั้น
The MATTER : ในความคิดของคุณ การถ่ายภาพสตรีทสามารถประกอบเป็นอาชีพได้ไหม
ทวีพงษ์ : เราคิดว่าการถ่ายภาพสตรีทอาจจะไม่สามารถทำเป็นอาชีพหลักเสียทีเดียวแต่ก็สามารถหารายได้จากตรงนี้ได้ ทั่วๆ ไปที่เห็นก็คือการเปิด workshop ทำ Photo book หรือทำงานเป็นโปรเจ็กต์ไปร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เอาจริงๆ ถ้าสามารถบริหารจัดการดีๆ ก็เป็นอาชีพหลักได้เลยนะ แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่ ช่างภาพสตรีทหลายๆ คนจึงต้องรักษาการงานประจำที่ทำเอาไว้ด้วย
The MATTER : จากกรณีที่มีการฟ้องร้องกันในต่างประเทศ อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการถ่ายภาพสตรีทกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ทวีพงษ์ : สำหรับเรา เส้นแบ่งระหว่างการถ่ายภาพสตรีทกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลคือภาพของเรามันไม่ควรจะไปทำให้คนที่อยู่ในภาพเค้าเสียหาย ซึ่งจริงๆ กฎหมายหลายๆ ประเทศก็คุ้มครองทั้งช่างภาพเองและก็คนที่ถูกถ่าย อย่างคดีที่ช่างภาพ Magnum : Thomas Hoepker ถูกฟ้องเพราะไปถ่ายรูปกลุ่มวัยรุ่นที่นั่งชิลกันอยู่แล้วฉากหลังเป็น เหตุการณ์ 911 ภาพนั้นจริงๆ แล้วคนที่อยู่ในรูปเสียหายพอดูเลยนะ ศาลยังตัดสินว่าช่างภาพไม่ผิด แต่นั่นคือเพราะ Thomas Hoepker เป็นช่างภาพข่าว เขาทำงานตามหน้าที่ของเขา
ถ้าเป็นช่างภาพสตรีทอย่างเราๆ เป็นไปได้ก็อยากให้คำนึงถึงใจเขาใจเรา ลองเอาตัวเราไปแทนคนในรูปดูว่าถ้าเป็นเรา เราโอเคไหม อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เหมือนหลายๆ อาชีพคือต้องมีจรรยาบรรณด้วย
The MATTER : บางคนบอกว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษ เช่น ความแปลกประหลาดหรือความไม่เข้ากันบางอย่าง ลักษณะพิเศษของบ้านเรานี้ทําให้การถ่ายสตรีทมีความโดดเด่นขึ้นหรือแตกต่างจากต่างประเทศ คุณคิดยังไงเกี่ยวกับหัวข้อนี้บ้าง
ทวีพงษ์ : พวกความประหลาดหรือความไม่เข้ากันบางอย่างนี่เรามองว่าเป็นเรื่องของดีเทลนะ เวลาคนพูดถึงว่าบ้านเรากับต่างประเทศต่างกันยังไง เรามักจะอธิบายเป็นกว้างๆ ซึ่งทั้งหมดนี่น่าจะมาจากสภาพอากาศของแต่ละประเทศซึ่งส่งผลมากกับการใช้ชีวิตคนในที่สาธารณะ อย่างประเทศยุโรปหรือฝั่งอเมริกา อากาศไม่ร้อน คนก็มักจะมีกิจกรรมในที่สาธารณะ ซึ่งมันก็เอื้อมากต่อการได้ภาพดีๆ และแสงดีๆ แต่ความยากของประเทศเหล่านั้นก็คือ ผู้คนเค้าค่อนข้าง sensitive กับถ่ายถูกถ่ายภาพ
ซึ่งอันนี้จะตรงกันข้ามกับบ้านเรา บ้านเราอากาศร้อนมาก มีแสงนะแต่คุณภาพแสงเป็นคนละแบบกับประเทศฝั่งยุโรป บ้านเรามันจะเป็นแสงแรงๆ กระจายๆ และที่สำคัญพออากาศร้อนมากเนี่ย คนส่วนมากก็จะใช้ชีวิตอยู่ในร่ม ลองสังเกตดูกิจกรรมหรืออีเวนต์ต่างๆ ในบ้านเราก็ได้ ส่วนใหญ่มักจะจัดในร่มหรือถ้าเป็นกลางแจ้งก็จะมีเต๊นท์กาง ซึ่งทำลายความงามของเฟรมมิ่งเป็นอันมาก แต่ความน่ารักของประเทศเราคือคนของบ้านเรานี่ละ ถ้าเข้าไปถ่ายอย่างถูกวิธี โอกาสโดนโวยวายจะน้อยมากถ้าเทียบกับฝั่งยุโรปหรืออเมริกา