ในช่วงเวลานี้มีอีเวนต์ที่น่าสนใจที่เรียกว่าพลาดไม่ได้ของมิตรรักแฟนศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะภาพถ่าย กับนิทรรศการแสดงผลงานของช่างภาพระดับโลกผู้ล่วงลับที่หาโอกาสชมได้ยากยิ่ง นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า Germaine Krull: Return of the Avant-Gardist (แกร์ไมเนอ ครูลล์ การกลับมาของศิลปินอาวองต์การ์ด) ที่จัดแสดงผลงานภาพถ่ายคัดสรรของ แกร์ไมเนอ ครูลล์ (Germaine Krull) ศิลปินช่างภาพ นักข่าวสงครามและนักปฏิวัติ ผู้ใช้ชีวิตอย่างอิสรเสรีในฐานะพลเมืองของโลก แกร์ไมเนอเป็นศิลปินภาพถ่ายหญิงระดับตำนาน เธอเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานการถ่ายภาพสมัยใหม่ในโลกตะวันตก ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ช่างภาพผู้มาก่อนกาล (Avant-garde Photographer)’
แกร์ไมเนอ ครูลล์ เกิดในปี ค.ศ.1897 ที่เมืองโพเซ่น ประเทศเยอรมนี ช่วงวัยเด็กแกร์ไมเนอไม่ได้เข้าเรียนในระบบการศึกษาตามปกติ แต่เรียนโฮมสคูลที่บ้านกับพ่อของเธอ ผู้เป็นวิศวกรและนักคิดนอกกรอบ เขามักจะแต่งตัวให้เธอเป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติเกี่ยวกับบทบาททางเพศของเธอในภายหลัง ด้วยความที่ไม่มีประกาศนียบัตรมัธยมปลาย ทำให้แกร์ไมเนอไม่สามารถเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีได้ เธอจึงเข้าเรียนสายวิชาชีพช่างภาพที่สถาบันภาพถ่ายแห่งชาติที่เมืองมิวนิก ในปี ค.ศ.1915 และเธอเปิดสตูดิโอถ่ายภาพของตัวเองขึ้นในเมืองมิวนิกในปี ค.ศ.1918 ก่อนที่ในปีเดียวกันนี้เธอจะเข้าร่วมการปฏิวัติทางการเมืองด้วยวัยเพียงยี่สิบปี
หลังจากนั้นเธอไปใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ ที่รัสเซีย, เบอร์ลิน และท้ายสุด ปารีส ที่นี่เองที่เธอค้นพบตัวตนและความสามารถของเธอ จากความหลงใหลในอุปกรณ์ถ่ายภาพที่เธอเรียกว่า ‘เจ้าแก่สีดำ’ (Old black thing) ที่เธอใช้เก็บภาพหอไอเฟลด้วยมุมกล้องสุดแหวกแนวจากด้านล่างอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน จนกลายเป็นภาพหอไอเฟลที่ดูบิดเบี้ยวพิสดาร แสงเงาจัดจ้านของโครงสร้างเหล็กซับซ้อนมหึมาในสไตล์เอ็กซเพรสชั่นนิส และตีพิมพ์ออกมาเป็นอัลบั้มภาพถ่ายชื่อ Métal ที่ส่งให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังเจิดจ้าในชั่วข้ามคืน ในปี ค.ศ.1928 ครูลล์ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในช่างภาพที่ดีที่สุดในปารีสเคียงบ่าเคียงไหล่ช่างภาพระดับตำนานอย่าง อังเดร เคอร์เตส (Andre Kertész) หรือ แมน เรย์ (Man Ray) เลยทีเดียว
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แกร์ไมเนอ ครูลล์เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านชาวฝรั่งเศสที่ต่อสู้กับรัฐบาลฝรั่งเศสที่ร่วมมือกับนาซีเยอรมนี ในแอฟริกา, บราซิล และถ่ายภาพเมืองต่างๆ ในประเทศเหล่านั้นมากมาย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเดินทางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะนักข่าวสงคราม ก่อนที่เธอในวัย 50 จะกลายเป็นผู้บริหารโรงแรมโอเรียนเต็ล ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ร่วมกับ จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) ราชาผ้าไหมไทยชาวอเมริกัน และในช่วงเวลานั้นเองเธอได้ออกหนังสือภาพถ่ายเชิงสารคดีในประเทศไทยถึงสองเล่ม อย่าง Tales from Siam และ Bangkok: Siam’s City of Angels
โดยหลังจากใช้เวลายี่สิบปีในประเทศไทย แกร์ไมเนอ ครูลล์ในวัย 70 ปี ก็เดินทางไปยังอินเดีย เข้าไปร่วมช่วยเหลือดูแลผู้ลี้ภัยในทิเบตในความคุ้มครองขององค์ทะไล ลามะ และกลายเป็นพุทธศาสนิกชน ก่อนที่จะตีพิมพ์หนังสือภาพถ่ายเล่มสุดท้ายอย่าง Tibetans in India ที่มีภาพถ่ายของทะไล ลามะอยู่ด้วย ในปี ค.ศ.1968 หลังจากเผชิญอาการป่วยหนัก แกร์ไมเนอย้ายกลับไปอาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราในเมืองเวทซลาร์ เยอรมนี ที่ซึ่งเธอเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1985
นิทรรศการครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผลงานภาพถ่ายของแกร์ไมเนอ ครูลล์ ถูกจัดแสดงในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ เมืองที่เธอเคยใช้ชีวิตอยู่นานถึงสองทศวรรษ และทิ้งร่องรอยไว้อย่างน่าประทับใจ โดยนำเสนอภาพถ่ายของครูลล์ที่ถูกคัดสรรจากผลงานสะสมของเธอใน พิพิธภัณฑ์โฟลค์วัง (Museum Folkwang) แห่งเมืองเอ็สเซิน เยอรมนี นอกจากผลงานภาพถ่ายแล้วนิทรรศการยังนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลงานเชิงทดลองอันแหวกแนวและชีวิตอันน่าทึ่งของช่างภาพหญิงผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ รวมถึงสิ่งพิมพ์ หนังสือ และหลักฐานะเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมในยุคสมัยที่เธอยังมีชีวิตอยู่อย่างละเอียดละออ
แอนนา–แคทารีน่า เกบเบอร์ส (Anna-Catharina Gebbers) ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยฮัมบวร์กเกอร์ บาห์นฮอฟ (Hamburger Bahnhof) เบอร์ลิน ผู้ร่วมคัดสรรผลงานกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“นิทรรศการนี้เริ่มต้นจากการค้นหาต้นฉบับภาพถ่ายของ แกร์ไมเนอ ครูลล์ ที่มีเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในเยอรมนี แห่งแรกคือที่เมืองมิวนิค อีกแห่งคือในพิพิธภัณฑ์โฟลค์วัง ที่เก็บต้นฉบับผลงานภาพถ่ายของเธอเอาไว้ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์มีความกรุณาให้เราเข้าถึงต้นฉบับของเธอ และยังอนุญาตให้ทำสำเนาภาพของเธอออกมาใหม่เพื่อจัดแสดงได้ นอกจากการเข้าถึงภาพต้นฉบับของจริงแล้ว ฉันยังมีโอกาสได้เข้าไปดูในคลังข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ เพื่อตรวจสอบปีและสถานที่ที่ถ่ายภาพ หรือชื่อของผู้คนที่อยู่ในภาพถ่ายของเธอได้ ทำให้ฉันสามารถคัดสรรภาพถ่ายในนิทรรศการนี้โดยสาวกลับไปได้ถึงต้นตอของมัน”
ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ผลงานภาพถ่ายของแกร์ไมเนอ ครูลล์ ที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้ ถึงแม้เป็นสำเนาของภาพถ่ายต้นฉบับที่พิมพ์ใหม่ด้วยระบบอิงค์เจ็ตทั้งหมด แต่คุณภาพของรายละเอียด น้ำหนัก และแสงเงา ก็มีความชัดเจน หนักแน่น แทบไม่ต่างไปจากภาพถ่ายต้นฉบับเลยก็ว่าได้
“ภาพถ่ายเหล่านี้ถูกทำสำเนาขึ้นใหม่จากภาพถ่ายต้นฉบับเดิม ด้วยความที่ในอนาคต ทางพิพิธภัณฑ์วางแผนจะทำห้องสมุดภาพถ่ายที่รวบรวมภาพถ่ายทั้งหมดของเธอที่คัดเลือกเอาไว้จำนวน 500 ภาพ ที่คุณสามารถยืม (สำเนา) ภาพไปใช้ได้ เพราะภาพต้นฉบับมีความบอบบางมากจนไม่สามารถนำออกไปเจอสภาพอากาศที่มีความชื้นหรือแสงสว่างจ้าๆ ได้ ฉันคิดว่าเป็นโอกาสอันดีมากๆ ที่เราสามารถการทำสำเนาภาพขึ้นใหม่ เราจึงไม่จำเป็นต้องขนส่งภาพต้นฉบับผ่านระบบควบคุมอุณหภูมิ ทำให้สามารถขนส่งได้ในราคาไม่แพงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า อีกทั้งภาพถ่ายที่ถูกทำสำเนามาก็มีคุณภาพที่ดีเยี่ยมไม่แพ้ต้นฉบับ เพราะทางพิพิธภัณฑ์เป็นผู้ทำขึ้นโดยนักอนุรักษ์และเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์
ซึ่งมีความละเอียดลออในการตรวจสอบคุณภาพของภาพที่ทำสำเนาให้มีความเที่ยงตรงกับต้นฉบับ 100% ซึ่งทำออกมาได้ยอดเยี่ยมมาก ทั้งๆ ที่พิมพ์ด้วยระบบอิงค์เจ็ต และด้วยความที่เป็นภาพพิมพ์อิงค์เจ็ตทำให้ภาพมีความทนทานอยู่ได้ยาวนานมากกว่าภาพถ่ายแบบดั้งเดิม เพราะสภาพอากาศของไทยมีความชื้นสูงกว่าที่เยอรมันมาก จนไม่สามารถนำภาพต้นฉบับของจริงมาจัดแสดงได้ ฉันรู้สึกยินดีมากที่ทางพิพิธภัณฑ์ทำสำเนาภาพถ่ายคุณภาพสูงที่สามารถจัดแสดงในนิทรรศการในประเทศไทยได้มาให้เรา ฉันคิดว่าเป็นโอกาสดีมากที่เราสามารถแสดงผลงานที่ถูกคัดเลือกมาชุดนี้ จนทำให้คนไทยสามารถดูผลงานของเธอได้อย่างใกล้ชิด”
แคทารีน่า เกบเบอร์สภัณฑารักษ์ของนิทรรศการตอกย้ำให้เราฟังถึงบทบาทของแกร์ไมเนอ ครูลล์ ในฐานะศิลปินว่า
“แกร์ไมเนอ ครูลล์ เป็นบุคคลสำคัญมากในประวัติศาสตร์ภาพถ่าย แต่ฉันคิดว่าในปัจจุบันมีไม่กี่คนที่รู้จักเธอ หรือแม้แต่รู้ว่าเธอเป็นคนถ่ายภาพสำคัญๆ ในประเทศไทย อย่างพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ที่เธอได้รับเกียรติอย่างมากให้เข้าไปถ่ายภาพ นอกจากภาพถ่ายข่าวหรือสารคดีแล้ว ผลงานภาพถ่ายในเชิงทดลองของเธอก็มีความโดดเด่นอย่างมาก และมีคุณค่าในเชิงศิลปะมากกว่าจะเป็นภาพถ่ายข่าวหรือสารคดีธรรมดาๆ”
นอกจากบทบาทในฐานะศิลปะแกร์ไมเนอ ครูลล์ ยังมีบทบาทอันโดดเด่นในฐานะนักปฏิวัติหญิงที่ลุกขึ้นต่อสู้กับเผด็จการร่วมชาติในยุคสมัยของเธออีกด้วย
แกร์ไมเนอเป็นผู้หญิงที่มีความเป็นอิสระในตัวเองสูง เธอหนีจากเยอรมันเมื่อนาซีขึ้นสู่อำนาจ ในช่วงนั้นเธออยู่ในฝรั่งเศส ซึ่งเธอเริ่มต้นวิชาชีพของตัวเองในฐานะศิลปินในช่วงเวลานั้น หลังจากนั้นเธอก็ย้ายไปยังปารีสและกลายเป็นนักปฏิวัติ เพราะเธอเชื่อมั่นในเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นเอกราช ในช่วงนั้นเธอติดตาม ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) รัฐบุรุษผู้นำฝรั่งเศสต่อสู้กับนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง และเปลี่ยนสัญชาติเป็นฝรั่งเศส เพราะเธอคิดว่าเธอต้องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเป็นอิสระจากการปกครองของนาซี
หลังจากนั้นเธอก็เดินทางไปทั่วโลก ทั้ง บราซิล แอฟริกา ลาว และกัมพูชา จนกระทั่งมาถึงกรุงเทพฯ ประเทศไทย ในปี ค.ศ.1947 และออกหนังสือภาพถ่ายเชิงสารคดีในประเทศไทยสองเล่มคือ Tales from Siam และ Bangkok: Siam’s City of Angels ซึ่งเธอพยายามอธิบายเกี่ยวกับประเทศไทยและสิ่งที่เธอสนใจเกี่ยวกับประเทศไทย ก่อนที่จะเดินทางไปอินเดียและทำผลงานในช่วงท้ายที่นั่น เธอเป็นผู้หญิงที่ใช้ชีวิตอย่างเสรีและคุ้มค่ามาก จนเราสามารถสังเกตเห็นร่องรอยแห่งแรงขับเคลื่อนเหล่านี้จากผลงานภาพถ่ายและงานศิลปะของเธอ ที่แสดงออกถึงความเป็นอิสรเสรีที่ปรากฏผ่านภาพของผู้คน หรือแม้แต่ภาพของสถาปัตยกรรม จากมุมมองทางสายตาอันโดดเด่นของเธอ”
นอกจากความโดดเด่นในฐานะศิลปินและนักปฏิวัติทางการเมืองแล้ว แกร์ไมเนอ ครูลล์ยังมีความโดดเด่นในฐานะต้นแบบของการปฏิวัติบทบาททางเพศของผู้หญิงในยุคสมัยของเธอเช่นกัน
“แกร์ไมเนอ ครูลล์ เป็นแบบอย่างของผู้หญิงที่ถูกเรียกขานว่า Neue Frau (New Woman หรือ ‘สตรียุคใหม่’) ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ผู้หญิงเหล่านี้ตัดผมสั้น แต่งกายในเครื่องแต่งกายแบบผู้ชาย ทำงานของผู้ชาย มีความมั่นใจสูง และทำในสิ่งที่พวกเธอต้องการโดยไม่แคร์สายตาใคร ในยุคนั้นยังมีนักข่าวสงครามหญิงอยู่มากมายที่หลายคนอาจจะไม่รู้จัก ผู้หญิงเหล่านี้ต่างกล้าหาญและน่าสนใจอย่างมาก แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง กลับไม่ค่อยปรากฏนักข่าวสงครามหญิง หรือผู้หญิงที่ขึ้นมามีบทบาทในสังคมเท่าไหร่นัก ซึ่งนี่คือตัวอย่างความเป็นสตรียุคใหม่ของแกร์ไมเนอ ครูลล์ ในยุค ค.ศ.1940 เธอทำงานถ่ายภาพโฆษณาให้กับบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งในฝรั่งเศส แทนที่จะรับเงินค่าจ้าง เธอกลับขอเป็นรถยนต์แทน และใช้รถยนต์นี้ขับท่องเที่ยวคนเดียวไปทั่ว เธอทำแบบนี้จวบจนกระทั่งอายุ 70 ปี”
นอกจากผลงานภาพถ่ายสารคดี และภาพถ่ายศิลปะเชิงทดลองสุดล้ำยุคล้ำสมัยแล้ว ครูลล์ยังเป็นที่รู้จักในฐานะช่างภาพนู้ดมือฉกาจ ที่เล่นกับแสงเงาบนเรือนร่างเปลือยเปล่าของมนุษย์ได้อย่างโดดเด่นเธอยังหาญกล้านำเสนอประเด็นสุดอื้อฉาวเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในยุคนั้น อย่างภาพนู้ดที่แสดงความอีโรติกเย้ายวนของ Queer หรือหญิงรักหญิง ที่เปิดเผยรสนิยมทางเพศของเธออย่างอย่างเปิดเผยจะแจ้ง
“ผลงานที่เลือกมาจัดแสดงเป็นแค่ส่วนน้อยของเธอเท่านั้น ด้วยความที่เรามีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ฉันจึงต้องคัดเลือกผลงานในช่วงที่เธอทำงานภาพถ่ายเชิงทดลอง หรือภาพถ่ายเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเชียงใต้ของเธอเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความจริงเธอทำงานภาพถ่ายหลากหลายแนวทางมาก รวมถึงภาพถ่ายนู้ด ที่น่าสนใจมาก แต่น่าเสียดายที่เราคัดเลือกมาแสดงไม่ได้”
“สิ่งที่น่าสนใจในนิทรรศการนี้ คือเราต้องการรวบรวมสถานที่ที่แกร์ไมเนอ ครูลล์ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ ทั้งมิวนิค, บาวาเรีย, มอนติคาร์โล, ริโอ, เดอจาเนโร, นอร์มังดี, กัมพูชา, ประเทศไทย และธิเบต อันเป็นส่วนผสมอันน่าสนใจของสถานที่ ที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ การจัดแสดงผลงานในนิทรรศการนี้เป็นเหมือนการแสดงเส้นทางชีวิตของเธอตั้งแต่ตอนเธอยังเป็นสาวน้อยในปี ค.ศ.1916 ไปจนถึงผลงานหนังสือชิ้นสุดท้ายที่เธอทำในปี ค.ศ.1981-1982 เป็นการปิดท้าย”
นอกจากนิทรรศการสำรวจภาพชีวิตและผลงานของ แกร์ไมเนอ ครูลล์ แล้ว พื้นที่ข้างๆ ยังมีอีกนิทรรศการที่น่าสนใจไม่แพ้กันอย่าง New From Yesteryear: An Insight into the James H.W. Thompson Foundation’s Archive ที่แสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจิม ทอมป์สัน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับครูลล์ ผ่านภาพถ่ายและจดหมายเหตุในคลังเอกสารสำคัญของมูลนิธิเจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน ที่คัดสรรโดย บรูโน่ เลอแมซิเยร์ (Bruno Lemercier) นักอนุรักษ์อาวุโสของมูลนิธิเจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน อีกด้วย
นิทรรศการ Germaine Krull: The Return of the Avant-Gardist ร่วมคัดสรรโดย แอนนา-แคทารีน่า เกบเบอร์ส และ มาเร็น นีไมเออร์ (Maren Niemeyer) ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย, จัดแสดงที่ Jim Thompson Art Center กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน – 2 ตุลาคม พ.ศ.2565 เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. ค่าเข้าชม 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และสมาชิก เข้าชมฟรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร: 02-0015470, อีเมล์: artcenter@jimthompsonhouse.com, เว็บไซต์:www.jimthompsonartcenter.org
อ้างอิงข้อมูลจาก
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Jim Thompson Art Center