ตามอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ แต่ เอ๊ะ ทำไมตอนแรกๆ ลายเส้นไม่เห็นเป็นแบบนี้เลย
ทำไมการ์ตูนแต่ละเรื่องลายเส้นถึงได้เปลี่ยนไปแบบไม่น่าเชื่อ บ้างก็ว่าเพราะคนเขียนอู้งาน ไม่ก็ตั้งใจสไตรค์สำนักพิมพ์ หรือบางทีก็ลือสั้นๆ ด้วยคำว่า ‘ติสท์’ ไปเลย
อย่างหนึ่งที่เราแน่ใจก็คือลายเส้นของการวาดการ์ตูนส่วนใหญ่มีการปรับไปตามยุคสมัยอยู่แล้ว แล้วเหตุผลอื่นๆ ล่ะ มีอะไรบ้างที่ทำให้ลายเส้นของการ์ตูนแต่ละเรื่องเปลี่ยนแปลงไป
เมื่อคล่องมือ ลายเส้นจึงเปลี่ยนไป
ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ และการ์ตูนแทบจะทุกเรื่อง
นักวาดการ์ตูนแทบทุกคน ตอนแรกๆ ที่เขียนงานอาจเป็นเด็กน้อยอ่อนโลก หรือบางทีก็พยายามเข็นงานให้ขายได้ก่อน ไม่ก็ยังเซ็ตเรื่องไม่เข้าที่ ทำให้กว่าลายเส้นจะเข้าที่เข้าทางก็ต้องใช้เวลาเขียนไปสักระยะก่อน พอคล่องมือ นักวาดส่วนใหญ่ก็จะรู้แล้วว่าทิศทางของเรื่องเป็นอย่างไร ภาพแบบไหนจะเข้ากับงาน และไม่เหนื่อยเกินไปนัก ดังนั้นอย่าได้แปลกใจไปที่ลายเส้นช่วงแรกๆ และช่วงท้ายของเรื่องของการ์ตูนเกือบทุกเรื่องนี่เหมือนคนละเรื่องกันเลยทีเดียวเชียว
เปลี่ยนคนวาด ลายเส้นจึงเปลี่ยนไป
เครยอนชินจัง และ โดราเอมอน
ชัดเจนอยู่แล้วว่าคนเขียนเปลี่ยน ลายเส้นก็ต้องเปลี่ยนสิ แต่มันก็มีเหตุแยกย่อยออกไปหลายอย่างอยู่ดี อย่างคอมมิคฝรั่งมาก็ค่อนข้างชัดเจน เฟรนไชส์ใหญ่แบบ Marvel และ DC ทำการ์ตูนหลายเรื่อง หลายหัว จึงใช้งานผู้แต่งเรื่องจำนวนหนึ่งทำงานร่วมกับนักวาดและนักลงสีจำนวนมาก ซึ่งทางฮ่องกงก็ดึงวิธีการทำงานนี้ไปใช้กับการ์ตูนหลายเรื่องเช่นกัน ส่วนการ์ตูนช่องอย่าง Archie Blondie ฯลฯ ที่เขียนกันยาวนานก็มีการเปลี่ยนทีมนักวาดไปเพราะผู้เขียนดั้งเดิมจากโลกนี้ไปนานมากแล้ว
ส่วนการ์ตูนญี่ปุ่นที่เรายกตัวอย่างมานั้น ผู้เขียนก็เสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน แต่ยังมีกลุ่มผู้ช่วยหรือคนใกล้ตัวที่พยายามทำงานเหล่านี้ออกมาให้ใกล้เคียงต้นฉบับที่สุด อย่างกรณีของ โดราเอมอน กับ เครยอนชินจัง แต่เรา ในฐานะคนอ่านก็พอจะจับได้ว่าสไตล์การเขียน การลงเส้น การเลือกมุมภาพ หรือแม้แต่แนวคิดในการแต่งเรื่องก็เปลี่ยนไป
อายุมากขึ้น ลายเส้นจึงเปลี่ยนไป
Berserk
กาลเวลา บางครั้งเป็นเรื่องดี บางทีก็เป็นเรื่องโหดร้าย โดยเฉพาะในฟากฝั่งของการพัดพาอายุให้เลยผ่านไป ทำให้ศักยภาพที่เคยทำได้ในอดีตนั้นกลายเป็นเรื่องยากไปเสีย การวาดการ์ตูนเองก็เช่นกัน ถึงจะมีคนมองว่าก็แค่นั่งปาดๆ ไป เดี๋ยวก็เสร็จแล้ว ซึ่งในความจริงงานการ์ตูนไม่ได้จบแค่การเขียนภาพเท่าน้ัน ยังมีการคิดเรื่องราว แถมยังมีเดดไลน์ที่ชัดเจน งานสายนี้จึงกินพลังงานแบบไม่น่าเชื่อนั่นเอง
ดังนั้นอายุที่เพิ่มขึ้นของคนวาดจึงทำให้การ์ตูนเปลี่ยนไป ที่เห็นได้ชัดคือเรื่อง Berserk ที่แม้ว่าภาพไม่ได้ดูด้อยลงกว่าสมัยก่อน แต่การเก็บงานที่อลังการขนาดนั้นก็ทำให้ อาจารย์มิอุระ เค็นทาโร่ หยุดงานบ่อยขึ้นและปล่อยให้ผู้ช่วยทำหน้าที่ในส่วนรายละเอียดปลีกย่อยมากขึ้น (ส่วนนี้เดิมที อ.มิอุระ ทำเอง และเหมือนจะปล่อยงานมากขึ้นหลังจากได้รับคำแนะนำจาก อ.ฮาร่า เท็ตสึโอะ ผู้เขียนฤทธิ์หมัดดาวเหนือ)
อุปกรณ์เปลี่ยน ลายเส้นจึงเปลี่ยนไป
เซนต์เซย่า
ดูเป็นเรื่องชวนขำ แต่ก็มีกรณีนี้เกิดขึ้นจริงอยู่ อย่างเซนต์เซย่าที่อาจารย์คุรุมาดะ มาซามิ เพิ่งเริ่มใช้งานวาดภาพจากคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ในการเขียนการ์ตูน หลังจากสร้างผลงานดังไปแล้ว 3-4 เรื่อง ผลก็คืองานภาพของเซนต์เซย่าภาคล่าสุดที่อาจารย์เป็นผู้เขียนเองอย่าง Saint Seiya : The Next Dimension มีสภาพเส้นที่เปลี่ยนไปจากเดิมพอสมควร ถึงเราจะยังอ่านมันได้อย่างสนุกสนานตามท้องเรื่อง แต่ก็อดคิดถึงการตัดเส้นแบบเดิมอย่างที่อาจารย์เคยทำเมื่อครั้งอดีตไม่ได้
ป่วยไข้ ลายเส้นจึงเปลี่ยนไป
Hunter X Hunter และ D-Gray Man
เห็นการ์ตูนเรื่องแล้วหลายคนอาจจะบอกว่า “ไม่จริงม้าง ‘จารย์แกหยุดไปเล่นเกมมากกว่า” แต่บทสัมภาษณ์ในช่วงหลัง รวมถึง Sensei Hakusho การ์ตูนที่อดีตผู้ช่วยของ อ.โทงาชิ โยชิฮิโระ บอกเล่าไว้ว่าจริงๆ อาจารย์แกมีปัญหาปวดหลังระดับที่เคยนอนเขียนการ์ตูนมาแล้ว และด้วยไลฟ์สไตล์ของคนเขียนรายสัปดาห์ทำให้ต้องเข็นงานออกไปจนเคยมีงานเผาขั้นสุดตอนหนึ่ง (ยังจำตอนที่ ฮิโซกะ สู้กับ คาสโทโร่ ได้ไหมครับ) แต่เหมือนหลังๆ ทางต้นสังกัดยอมให้อาจารย์ทำงานให้เต็มที่ก่อนตีพิมพ์ งานของอาจารย์จึงไม่ดรอปฮวบฮาบเหมือนแต่ก่อน แถมยังแก้งานที่เผาในฉบับรวมเล่มใหม่ทุกครั้งด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่อาการป่วยไข้กระทบกับสไตล์เขียนงานก็คือ D-Gray Man ที่อาจารย์คัทสึระ โฮชิโนะ ต้องหยุดเขียนแบบรายสัปดาห์ ย้ายไปเขียนรายเดือนก่อนจะหยุดเขียนงานระยะหนึ่ง และกลับมาอีกครั้งหลังจากมีปัญหาเรื่องข้อมือ ช่วงที่อาการของอาจารย์ยังไม่ดีนักก็เห็นได้ชัดว่าลายเส้นเปลี่ยน และหลังจากกลับมาเขียนระยะยาวก็พอจะเห็นว่ามีการปรับสไตล์เขียนไปบ้างแล้ว
จริงอยู่ว่าอาการป่วยไข้อาจรักษาให้หายได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสไตล์ของนักเขียนบางคนจะกลับมาเหมือนเดิม
แนวเรื่องเปลี่ยน ลายเส้นจึงเปลี่ยนไป
โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ และ งานของ Clamp
มีหลายเรื่องที่ลายเส้นเปลี่ยนเพราะแนวเรื่อง ที่เห็นชัดๆ ก็มี โจโจ้ฯ ของอาจารย์ฮิโรฮิโกะ อารากิ อาจารย์ยังตั้งใจเปลี่ยนสไตล์ภาพตัวเองไปในการเขียนแต่ละภาค อย่างภาค 3 ที่เป็นการผจญภัยในหลายประเทศ อาจารย์ก็ปรับการเขียนให้สดใสขึ้นกว่าสองภาคก่อนหน้า ที่ลงสกรีนโทนหนัก ลงหมึกเข้ม หรือ ภาค 4 และ ภาค 8 ที่เดินเรื่องในลักษณะซีรีส์อเมริกา วาดเส้นแบบลดทอนรายละเอียดลงไป และจัดช่องใหม่ให้เหมือนดูผ่านหน้าจอทีวีมากขึ้น
หรือการ์ตูนของ Clamp ที่คนอ่านอาจคิดว่าทุกเรื่องก็มีสไตล์ใกล้ๆ กัน แต่แทบทุกครั้งจะเห็นว่าทีมนักวาดหญิงกลุ่มนี้พยายามปรับเส้นให้สอดคล้องกับเรื่องที่นำเสนออยู่ เช่น การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ที่ใช้เส้นสายสบายตาเผื่อให้เด็กอ่านแบบง่ายๆ พอเป็น xxxHolic จึงมีการตัดเส้นแรง ใส่สีหนักสกรีนโทนแน่นรวมถึงการวาดกรอบให้มีความลึกลับอึมครึมแฝงอยู่ เป็นต้น
ทีมงานเปลี่ยน ลายเส้นจึงเปลี่ยนไป
อนิเมชั่นหลายๆ เรื่อง
หนังสือการ์ตูนอาจจะเห็นผลบ้างเล็กน้อย เพราะมังงะญี่ปุ่นมีการหมุนเวียนกลุ่มผู้ช่วยนักเขียน ที่มีโอกาสจะได้ผู้ช่วยหน้าใหม่ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และช่วยเหลือนักเขียนหลักในการเก็บรายละเอียดบางอย่าง ที่หลายครั้งผู้เสพปลายทางอาจจะไม่คิดอะไรมาก
แต่ถ้าเป็นอนิเมชั่น การเปลี่ยนทีมงานนี้จะเห็นผลกระทบชัดเจนเยอะกว่า อย่าง Powerpuff Girls ตัวรีบูทล่าสุดนั้นพยายามเอาสไตล์ดั้งเดิมของอนิเมชั่นต้นฉบับมาใช้งานก็จริง แต่การที่ทีมงานดั้งเดิมแทบจะไม่กลับมาเลย (อย่าง Craig McCracken ผู้สร้างเดิม ปัจจุบันทำงานที่ Disney ส่วนนักพากย์ของสามตัวละครหลักก็ถูกเปลี่ยนหมด จนนักพากย์เดิมยังเคยทวิตประท้วงมาแล้ว) ผลก็คืองานภาครีบูท มีเส้นที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย แต่การเก็บงานหลายจุดเปลี่ยนไปมาก อย่างฉากต่อสู้ที่ดูเปลี่ยนสไตล์ไป เนื้อหาบางอย่างที่ฉบับเก่าไม่เคยขยี้ ฯลฯ
อนิเมชั่นญี่ปุ่นก็พอจะมีบ้างเช่นกัน อย่าง Log Horizon ซีซั่นสอง ที่แม้ว่าทีมงานหลักเป็นทีมเดิมจากซีซั่นแรก แต่ก็มีการเปลี่ยนบริษัทผู้ผลิตอนิเมชั่นไป ทำให้ตัวงานมีเส้นสายที่ดูเปลี่ยนจากซีซั่นแรกได้ชัดแจ้ง
ส่วนอนิเมชั่นที่ฉายกันยาวๆ เป็นหลักหลายปีนั้นก็มีการปรับเส้นบ้างเหมือนกัน แต่หลายครั้งเป็นการปรับให้เข้ากับสินค้าที่จะขายพ่วงกับอนิเมชั่น หรือถ้าว่าให้ง่ายเข้าก็คือ การเปลี่ยนแปลงเส้นของอนิเมชั่นซีรีส์ยาวๆ ไม่ค่อยส่งผลต่อคนดูมากนัก หากไม่มีการกระทบการเปลี่ยนแปลงด้านเนื้อเรื่อง
ประสบการณ์ชีวิตเปลี่ยน ลายเส้นจึงเปลี่ยนไป
ศิลปินทุกคน
ศิลปินทุกคน ทุกสาขา มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับ บางคนเปลี่ยนแปลงมาก บางคนเปลี่ยนแปลงน้อย แต่ทุกๆ คนล้วนแล้วแต่แสวงหาและพัฒนาตัวเองต่อไปในภายภาคหน้า
ตัวอย่างที่เราพอจะยกให้เห็นได้ชัดๆ โดยเฉพาะด้านงานวาดภาพคงไมพ้น ปาโบล ปิกัสโซ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นสายสไตล์วาดไปอย่างมากมายตามช่วงอายุแต่ละช่วง ที่แบ่งเป็น ยุคสีน้ำเงิน (Blure Period), ยุคสีชมพู (Rose Period), ยุคอิทธิพลแอฟริกา (African-Influenced), ยุคบาศกนิยม (Cubism), ยุคคลาสสิกและเหนือจริง (Classicism and surrealism) และ ยุคสุดท้าย ซึ่งงานแต่ละยุคนั้น ก็มีผลงานโดดเด่นของตัวเอง
เราเชื่อว่าคนทำงานสายศิลป์ทุกคน พยายามทำงานทุกวัน ไม่ใช่เพื่อหารายได้เพียงอย่างเดียว แต่เพื่อที่จะสร้างงานที่เป็นปัจเจกออกมาให้ทั้งตัวผู้สร้างและคนที่รับสื่อต่างพึงพอใจงานในงานศิลปะเหล่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก