พูดถึง ‘เกม’ หรือ ‘การ์ตูน’ ทีไร ผู้ใหญ่ก็พร้อมจะแปะป้ายว่าเป็นเรื่องสำหรับเด็กแล้วก็ไร้สาระทั้งนั้น เราขอยืนยันเป็นรอบที่ 843 ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เคยเป็นเรื่องของเด็กเลย ที่สำคัญ การ์ตูนและเกมไปไกลกว่านั้นมาก
หลายมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและต่างประเทศ มีการเปิดสอนวิชาเกี่ยวกับการออกแบบเกม การเขียนการ์ตูนและทำงานอนิเมชั่นกันแล้ว อีกหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลกเช่นกัน ที่มีวิชาเกมและการ์ตูนศึกษากันแบบจริงจังเว่อร์
คลาสสาวน้อยเวทมนตร์ ‘Mahou Shoujo’ ที่ University of South Carolina
สาวน้อยเวทมนตร์ หรือ Mahou Shoujo (魔法少女) หมายถึงการ์ตูนที่มีแนวเรื่องเกี่ยวกับสาวน้อยที่มีความสามารถแปลงร่างในเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อต่อสู้กับเหล่าร้าย หลายคนที่ติดตามการ์ตูนแนวนี้คงรู้อยู่แล้วว่าเป็นการ์ตูนที่เล่าปัญหาสังคมแต่ฉาบหน้าด้วยสีลูกกวาดขั้นสุดเท่านั้น และเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง มีนักศึกษาคนหนึ่งจาก University of South Carolina บอกเล่าว่าคลาสเรียนวิชาภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยของเขา มีการสอนหัวข้อเฉพาะเกี่ยวกับสาวน้อยเวทมนตร์ ทั้งความเข้าใจพื้นฐาน, ความเป็นเฟมินิสต์ในการ์ตูน, รวมถึงเรื่องการเมืองที่แฝงอยู่ในการ์ตูนแนวนี้ โดยนักศึกษาจะต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามหลักภาษาอังกฤษ (อันเป็นวิชาพื้นฐานของวิชานี้) ด้วย
วิชา Intro to Starcraf ที่ New York University
งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการเล่นเกม Stacraft จะช่วยให้ประสาทสัมผัสของแต่ละบุคคลดียิ่งขึ้น และนักเล่นเกมชาวเกาหลีใต้ก็ทำให้เห็นว่าเกมนี้สามารถเล่นเป็นอาชีพได้ New York University จึงเปิดสอนวิชา ‘Intro to Starcraft’ เป็นวิชาที่จะสั่งสอนให้ผู้เข้าเรียนได้เข้าใจถึงโลกในเกม Stacraft ได้มากขึ้น ทั้งวิธีการเล่นพื้นฐาน ยาวไปจนถึงเคล็ดการเดินทัพแบบละเอียดยิบระดับมืออาชีพ ในวิชายังสอนให้เข้าใจการคิดวิเคราะห์แบบละเอียด ว่าผู้เล่นควรใช้วิธีการคิดแบบใดในสถานการณ์ในเกม ที่มหาวิทยาลัยสอนลงลึกกันขนาดนี้เพราะเขาต้องการให้คุณเข้าใจโลกของ eSports ว่าทำไมผู้เล่น Starcraft ถึงดูมีความชำนาญการที่หาไม่ได้จากอาชีพอื่นๆ
วิชา Zombies in Popular Media ที่ Columbia College Chicago และ University of Baltimore
หนังก็มี ซีรีส์ก็มา การ์ตูนก็แยะ เกมก็มีเยอะ ผีดิบไร้สติไล่กินสมองคน กลายเป็นเรื่องป็อปๆ ไม่ว่าจะโลกฝั่งตะวันตกหรือฝั่งเอเซียก็ตาม ที่มหาวิทยาลัยในอเมริกาถึงสองสถาบันอย่าง Columbia College Chicago และ University of Baltimore จึงเปิดสอนวิชา Zombies in Popular Media วิชาย่อยในสาขาวิชาภาษาอังกฤษที่พร้อมสอนให้ผู้ศึกษาเข้าใจมากขึ้นว่า ซอมบี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมมันถึงฮิต อย่างเกมดัง Left 4 Dead, Doom, Dead Rising หรือ Resident Evil ก็ฮิตจนใครๆ ก็รู้จัก วิชานี้เลยมาคุยกันต่อว่าเกมไหนที่เล่าเรื่องนี้สนุก หนังเรื่องนี้เล่าสมจริง แต่ เฮ้ เราไม่ได้เรียนกันแค่วิธีการฟาดซอมบี้ให้ตาย อาจารย์ของคลาสนี้ยังสอนถึงมุมมองเชิงประวัติศาสตร์และเชิงปรัชญา ว่าทำไมโลกถึงรักซอมบี้และซอมบี้สอนความเป็นมนุษยธรรมให้กับผู้ชมอย่างไรบ้าง
คลาสที่ต้องดูอนิเมชั่นสัปดาห์ละ 20 ตอน ที่ Kindai University
วัฒนธรรมโอตาคุ เป็นสินค้าที่สำคัญมากๆ อย่างหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว มหาวิทยาลัยคินได (Kindai University) น่าจะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงมีการเปลี่ยนคลาสเรียนทฤษฎีมัลติมิเดียเบื้องต้นตัวหนึ่งที่ระบุละเอียดยิบๆ ว่าคลาสเรียนนี้จะสอนให้คุณรู้เข้าใจและวิเคราะห์อนิเมชั่นทั้งยุคเก่าแบบกันดั้ม จนถึงยุคใหม่แแบบ Psycho-Pass ทั้งยังลงรายละเอียดไว้ว่าผู้เข้าเรียนควรจะเข้าใจคำศัพท์ที่โอตาคุและฟุโจชิใช้งานกัน และต้องดูอนิเมชั่นสัปดาห์ละ 20 ตอน อ่านการ์ตูนหรือหนังสือสายนี้เดือนละ 10 เล่ม เป็นอย่างน้อย ฟังดูเหมือนเป็นฝันดีของเด็กติดการ์ตูนอยู่ไม่น้อย แต่ว่าวิชานี้ แบ่งสัดส่วนคะแนนเป็นรายงาน 50% กับการสอบ 50% ซึ่งคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านด่านวิชานี้ไป
วิชา Pokemon GO ที่ Salford University
อีกหนึ่งเกมที่เป็นปรากฏการณ์ไปทั่วทั้งโลกมาแล้ว และหลายมหาวิทยาลัยในโลกก็สอนเกี่ยวกับวิชานี้ อย่างปีก่อน Salford University ที่อังกฤษก็บอกว่าพวกเขามีวิชา Pokemon GO มาสอน ไม่ใช่ว่าเล่นเกมไปเดินเรียนไปนะ ทางมหาวิทยาลัยระบุไว้ว่าเป็นการสอนเรื่องจริยธรรม การทำงานเป็นทีม การเข้าสังคม จากการเล่นเกมนี้ ทั้งนี้นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีวิชาเกี่ยวกับโปเกมอน ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนในโครงการ DeCal ของ University of California ที่เปิดให้นักศึกษาเสนอวิชาขึ้นมาเองได้ ก็เคยเปิดคอร์สวิชาโปเกมอนที่เจาะลึกจักรวาลโปเกมอน ทั้งมิติวิทยาศาสตร์ และฝั่งแฟนๆ ว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ติดใจเกมนี้ น่าสนใจนะ
วิชาปรัชญากับการ์ตูน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
คุยเรื่องเมืองนอกเมืองนากันมาเยอะ ในไทยเองก็มีวิชาที่หยิบเอาการ์ตูนมาสอนเหมือนกันนะ อย่าง วิชา ปรัชญากับการ์ตูน ของ ‘อาจารย์บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์’ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์มองเห็นว่าการ์ตูนนั้นอยู่ใกล้ตัวนักศึกษามากกว่าหนังสือเล่มอื่นๆ และการ์ตูนเองก็เป็นวรรณกรรมที่จำลองสถานการณ์สังคม หรือสร้างสังคมสมมติได้ง่ายดายกว่า อาจารย์ไม่ได้หยิบแค่เรื่องคลาสสิคอย่าง ‘ฮิโนะโทริ’ หรือ ‘แบล็คแจ็ค’ มาสอนเท่านั้น การ์ตูนใหม่ๆ อย่าง ‘กินทามะ’ หรือ ‘สาวน้อยเวทมนตร์มาโดกะ’ (กินทามะจะคุยเรื่องปรัชญาของชาวญี่ปุ่นในยุคเมจิที่ต่างจากปัจจุบัน ส่วนสาวน้อยเวทมนตร์มาโดกะเป็นการบิดมุมมองของสาวน้อยเวทมนตร์ เป็นอาทิ) หรือแม้แต่การ์ตูนฝั่งตะวันตกอาจารย์ก็หยิบยกมาให้นักศึกษาถกกัน แถมอาจารย์ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาเสนอหัวข้อและการ์ตูนที่อยากให้นำมาสอนในวิชานี้อีกด้วย
นอกจากวิชาทั้ง 6 ที่เราหยิบยกมา ก็ยังมีวิชาอื่นๆ อีกมากที่หยิบเอาวัฒนธรรมป๊อปมาศึกษาเจาะลึก ในไทยเอง แต่ละปีก็มีวิทยานิพนธ์และงานวิจัยที่หยิกเอาสื่อบันเทิงมาศึกษาอยู่มาก
ดังนั้น การที่เราจะบอกว่าสิ่งใด ‘ไร้สาระ’ นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถหยิบเอา ‘สาระ’ จากสื่อนั้นๆ ออกมาได้ขนาดไหนต่างหาก
อ้างอิงข้อมูลจาก
New York University
IT Media
ศิลป์สโมสร : ห้องเรียนวิชาปรัชญาจากการ์ตูน (2 ก.ย. 58)