เดือนกุมภาพันธ์ นอกจากจะเป็นเดือนแห่งความรักแล้ว ในประเทศแถบตะวันตก ดินแดนที่เคยมีการค้าทาสและการเหยียดผิว ยังนับให้เดือนนี้เป็นเดือนแห่งประวัติศาสตร์คนผิวสีด้วย
ด้วยความที่ประวัติศาสตร์คนผิวดำเกี่ยวข้องกับการกดขี่และการค้าทาสจากลัทธิอาณานิคม ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเราอาจจะไม่ได้มีการค้าทาสอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว แต่กลิ่นอายของเรื่องการเหยียดและการแบ่งแยกชาติพันธุ์ก็ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง นอกจากกดขี่ในเชิงกายภาพแล้ว ลัทธิอาณานิคมยังทำงานในระดับความคิด มากการกดทับเสียงและเรื่องเล่าของคนผิวสี ภาพแทนและเรื่องเล่าของคนผิวดำมักไม่ปรากฏอยู่ หรือถ้าถูกเล่าก็มักมีอคติประกอบอยู่เสมอ
ประวัติศาสตร์ของคนผิวดำจึงเป็นอีกหนึ่งชุดเรื่องเล่าที่โลกกลับมาให้ความสำคัญ นอกจากจะเป็นการเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ของการกดขี่ จดจำและแก้ไขการกระทำที่มนุษย์กระทำต่อกันแล้ว ในแง่ความเป็นวรรณกรรมและเทคนิกการประพันธ์ ด้วยจิตวิญญาณของการต่อสู้ทำให้งานเขียนของเรื่องราวของคนผิวดำเองเต็มไปด้วยเสน่ห์ ในงานเขียนบางชิ้นถึงขนาดสร้างวิธีการเล่าเรื่องเฉพาะ เช่น Beloved ของโทนี่ มอริสัน (Toni Morrison) ที่กล่าวขานกันว่าเป็นวรรณกรรมที่เป็นเหมือนเสียงและบันทึกประวัติศาสตร์คนผิวดำในรูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์
Incidents in the Life of a Slave Girl, Harriet Jacobs
เริ่มด้วยงานคลาสสิกเวลาพูดถึงงานเชิงประวัติศาสตร์ Incidents in the Life of a Slave Girl เป็นงานเขียนแนวอัตชีวประวัติของ แฮร์เรียต จาคอบส์ (Harriet Jacobs) ทาสหญิงที่เกิดมาเป็นทาสและถูกทารุณก่อนจะหนีขึ้นเหนือและกลายเป็นนักเขียน นักการศึกษาคนสำคัญของสหรัฐฯ ตัวอัตชีวประวัติเล่าโดยใช้เสียงผู้เล่าเรื่องที่เป็นเหมือนอีกตัวตนของเธอ เล่าถึงเรื่องเลวร้ายที่เธอเผชิญจากการเป็นทาสเด็กหญิง ที่อยู่ใต้การปกครองของคนผิวขาว ชายคริสเตียนที่แสนจะเคร่งศาสนา แต่กลับทั้งทุบตี ใช้แรงงาน ข่มขืนและขายลูกของเธอ
I Know Why the Caged Bird Sings, Maya Angelou
มายา แองเจลลู (Maya Angelou) เป็นกวีหญิงผิวดำ ที่ทรงพลัง ลึกล้ำ และเข้าใจโลก งานเขียนไม่ว่าจะวรรณกรรมหรือความเรียงล้วนเข้มแข็งและทำให้เรามองเห็นความเป็นไปของมนุษย์ได้อย่างงดงาม I Know Why the Caged Bird Sings เป็นนวนิยายกึ่งอัตชีวิประวัติที่เล่าเรื่องราวช่วงต้นชีวิตของเธอ ตัวเรื่องแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับการเหยียดผิว การข่มขืนและบาดแผลจากการเติบโตขึ้นในฐานะเด็กหญิงผิวดำในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ตัวเรื่องพูดถึงการเติบโตของเธอว่ามายาได้ใช้วรรณกรรม การอ่านเขียนเพื่อก่อร่างสร้างตัวตนและรับมือการเหยียดหยันและบาดแผลในชีวิตของเธอได้อย่างไร
Beloved, Toni Morrison
พูดถึงประวัติศาสตร์และตัวตนของคนผิวดำจะขาดเรื่องนี้ไปไม่ได้ Beloved เป็นนวนิยายสำคัญที่เล่าเรื่องราวการถูกกดขี่ของคนผิวดำผ่านประวัติศาสตร์เรื่องเล่าในครัวเรือน ความเท่ของงานชิ้นนี้ แม้ว่าเราจะพูดว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หรือเสียงของคนผิวดำ แต่ตัวเรื่องไม่ได้เขียน ‘อย่างประวัติศาสตร์’ หรือกระทั่งไม่ได้เขียนแบบคนผิวขาว ในวิธีการเล่าเรื่องของเธอที่ปัจจุบันอาจนิยามคร่าวๆ ได้ว่าเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์ คือเล่าโดยมีเรื่องราวประหลาดเกิดปนเปกับเหตุการณ์ธรรมดา โดยความแปลกประหลาดนั้นมีนัยสำคัญเช่นการต่อต้าน หรือซุกซ่อนบาดแผลของเรื่องราวไว้ โดย โทนี่ มอริสัน (Toni Morrison) เป็นนักเขียนหญิง ผิวสีคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
The Color Purple, Alice Walker
The Color Purple เป็นอีกหนึ่งนวนิยายอันเป็นที่รักยิ่ง ตัวเรื่องเป็นกึ่งจดหมายที่ตัวเอง—หญิงสาวทาสที่เขียนถึงพระเจ้า ตัวเรื่องเล่าถึงการถูกทำร้าย ถูกข่มขืนและความยากลำบากจนสามารถมีชีวิตที่ดีได้ งานชิ้นนี้ทั้งหม่นเศร้า ไร้เดียงสาและให้ความหวังไปพร้อมๆ กัน ตัวนวนิยายชนะรางวัลพูลิตเซอร์พร้อมกับ National Book Award ในปี ค.ศ.1983 หลังจากนั้นก็กลายเป็นฉบับภาพยนตร์ เป็นหนึ่งในหนังแนวดราม่าไม่กี่เรื่องของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) แถมนำแสดงโดย วูปปี โกลด์เบิร์ก (Whoopi Goldberg) และ โอปรา วินฟรี่ (Oprah Winfrey)
Go Tell It on the Mountain, James Baldwin
มาที่เสียงเล่าและเรื่องราวของการเติบโตขึ้นฐานะเด็กชายผิวดำบ้าง Go Tell It on the Mountain เป็นนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของ เจมส์ บัลด์วิน (James Baldwin) นักคิดนักเขียนผิวดำคนสำคัญ งานเขียนชิ้นนี้ให้ภาพของคนผิวดำที่เราคุ้นๆ ที่ว่าด้วยชีวิตที่มีโบสถ์และศาสนาในย่านฮาเร็มเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในเรื่องราวเองก็เล่าถึงปัญหาสารพัด ความรุนแรงภายในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อ พ่อเลี้ยงกับลูกชาย การคลั่งศาสนา ไปจนถึงประเด็นเรื่องเพศที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งต้องเผชิญในการเติบโตขึ้น ชื่อเรื่องเองก็สะท้อนถึงการอ้างอิงพระคัมภีร์ อันเป็นเรื่องราวของลูกชายของโนอาที่ถูกสาป
Invisible Man, Ralph Ellison
Invisible Man เป็นนวนิยายที่มีฉากหลังเป็นเรื่องราวของปัญญาชนคนผิวสีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นวนิยายเรื่องนี้พาเราไปเห็นประวัติศาสตร์อันใกล้ของความเคลื่อนไหวและกระแสของคนผิวดำที่มีการศึกษา มีการรับแนวคิดต่างๆ เช่นมาร์กซิส และนำไปสู่ความเคลื่อนไหลสำคัญๆ ที่กลายเป็นรากฐานความสำเร็จของคนผิวดำยุคใหม่
The New Jim Crow: Mass Incarceration in an Age of Colorblindness, Michelle Alexander
เราอยู่ในยุคที่สีผิว เชื้อชาติไม่ใช่ปัญหา เป็นยุคอุดมคติที่โอบาม่านิยามว่าเป็นยุคของการตาบอดสี เป็นยุคที่อคติการเหยียดหยันหมดสิ้นลงแล้วจริงหรือ? คำตอบคือไม่จริง รากของอาณานิคมและอคติทางชาติพันธุ์ยังคงฝังลึก The New Jim Crow เป็นงานเขียนสารคดีโดยนักกฏหมายที่พาเราไปเห็นอิทธิพลและปรากฏการณ์การจับกุมและดำเนินคดีชายผิวดำในสหรัฐที่มีอคติทางชาติพันธุ์เป็นตัวขับเคลื่อน
The Underground Railroad, Colson Whitehead
ขยับมาที่นวนิยายยุคหลังกันบ้างกับ The Underground Railroad นวนิยายผลงานลำดับที่ 6 ของ โคลสัน ไวท์เฮด (Colson Whitehead) นี้ถือเป็นอีกหนึ่งงานเขียนที่เป็นปรากฏการณ์ เพราะนอกจากจะขายดีแล้ว ยังกวาดรางวัลวรรณกรรมสำคัญทั้ง National Book Award ในปี ค.ศ.2016 และพูลิตเซอร์ ในปี ค.ศ.2017 ตามลำดับ ตัวเรื่องจินตนาการถึงเรื่องราวทาสผิวสีในศตวรรษที่ 19 ที่บังเอิญไปเจอทางรถไฟใต้ดิน เส้นทางสำคัญที่ทาสผิวดำใช้เพื่อหลบหนีขึ้นเหนือ ในเรื่องเล่าถึงการผจญภัยและการตัดสินใจของทาสสองคนที่จะต้องแลกไปสู่หนทางแห่งอิสรภาพ
Frederick Douglass, David W. Blight
ส่งท้ายด้วยงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ เป็นชีวประวัติของ เฟร์ดเดอริก ดักลาส (Frederick Douglass) ไอคอนของคนผิวดำที่กลายเป็นนักการศึกษาและผู้สร้างแรงบันดาลใจให้สานุชนคนรุ่นหลัง ชีวประวัติฉบับนี้เขียนขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ในยุคหลัง และเพิ่งได้รับรางวัลพูลิเซอร์สาขาประวัติศาสตร์ไปเมื่อปี ค.ศ.2018 งานเขียนชิ้นนี้ได้รับการชื่นชมนอกจากการค้นคว้านำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างถี่ถ้วนแล้ว ยังมีสำนวนการเล่าเรื่องจัดจ้านดุจภาพยนตร์ การอ่านประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นจากการค้นคว้าและจากมุมมองของคนยุคหลังก็อาจทำให้เรารับรู้เข้าใจ ‘ประวัติศาสตร์’ และบุคคลในมุมที่ต่างออกไป