ฮอบบิทนี่ผิวดำได้ไหม?
ตั้งแต่เริ่มต้นการทำการตลาดจนวันออกฉายของ The Rings of Power ซีรีส์ภาคต้นก่อนไตรภาค The Lord of the Rings ที่สร้างจากนิยายชุดโดย เจ อาร์ อาร์ โทลคีน (J.R.R. Tolkien) คำถามเกี่ยวกับสีผิวของนักแสดงฮอบบิท คนแคระ เอลฟ์ ฯลฯ ถูกยกขึ้นมาเพื่อโจมตีซีรีส์โดยตลอด ทำไมในโลกที่มีมังกร ภูตผี เผ่าพันธุ์เหนือมนุษย์ พ่อมด เวทมนต์ ฯลฯ สิ่งที่เป็นคำถามมากที่สุดยังคงเป็น ‘แล้วเผ่าพันธุ์นี้มีผิวสีอื่นนอกจากสีขาวได้หรือไม่?’
ก่อนจะไปกันต่อ คำตอบของคำถามข้างต้นคือได้ คำอธิบายในหนังสือเล่มแรก The Fellowship of the Ring เกี่ยวกับลักษณะของ ‘ฮาร์ฟุต (Harfoots)’ หนึ่งในพันธุ์หนึ่งของฮอบบิทเล่าว่า ฮาร์ฟุตนั้นมีผิว ‘สีน้ำตาล’ และใน A Tolkien Bestiary หนังสือรวมเผ่าพันธุ์และสัตว์ในตำนานของจักรวาลของโทลคีน ก็เขียนเกี่ยวกับฮาร์ฟุตว่า ‘ฮาร์ฟุตนั้นเป็นสายพันธุ์ของฮอบบิทที่มีจำนวนมากที่สุด และพวกเขาก็ยังตัวเล็กที่สุด พวกเขามีผิวและผมเป็นสีน้ำตาลถั่ว (nut-brown)’
น่าแปลกใจ แม้ในเรื่องที่มีการกำหนดและอธิบายรูปลักษณ์และสีผิวของเผ่าพันธุ์นั้นๆ อย่างชัดเจนตั้งแต่หน้าที่ 3 ของหนังสือเล่มแรก กลุ่มคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของหนังสือที่รักในเรื่องราวนี้มากพอที่จะไปต่อสู้เกี่ยวกับความถูกต้องของซีรีส์ต่อหนังสือโดยสามารถมองข้ามคำอธิบายนั้นๆ ไปได้ และทำไมเราถึงมองประเด็นนี้เฉพาะเมื่อพูดถึงสีผิวสีอื่นนอกจากสีขาว? สิ่งที่อาจช่วยเราได้คือการลองอ่านแนวคิดการวิเคราะห์และวิพากษ์เกี่ยวกับประเด็นสีผิวและเชื้อชาติในมุมมองโครงสร้างสังคมที่มีชื่อเรียกว่าทฤษฎีเชื้อชาติเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Race Theory (CRT)
ตามความหมายของ Encyclopedia Britannica ทฤษฎีเชื้อชาติเชิงวิพากษ์คือ ‘การเคลื่อนไหวทางวิชาการ สังคม และเค้าโครงหลวมๆ ของการวิเคราะห์กฎหมายที่มีฐานมาจากความเชื่อว่าความเป็นชาติพันธุ์นั้นไม่ใช่การแบ่งแยกกลุ่มย่อยของมนุษย์โดยหลักธรรมชาติและชีววิทยา แต่เป็นการแยกย่อยกลุ่มที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคม (สร้างขึ้นจากวัฒนธรรม) ที่นำไปสู่การกดทับและเอารัดเอาเปรียบคนผิวสี’
ในขณะที่ CRT พูดถึงหลายอย่าง หนึ่งในเรื่องที่พูดถึงคือ Whiteness Theory ทฤษฎีที่พินิจความขาวในมุมมองว่ามันก็เป็นโครงสร้างทางสังคมไม่ต่างกับทุกสีผิว และมันมองว่าความพิเศษคนขาวนั้นขึ้นอยู่กับการสร้างข้อเปรียบเทียบวัฒนธรรมอื่นโดยใช้วัฒนธรรมของคนขาวเป็นตัวตั้งและมาตรฐาน
ส่วนที่น่าสนใจของทฤษฎีนี้คือมุมมองของมันต่อความขาว ในบทความ Summary of Whiteness Theory โดย ออเดรย์ ธอมป์สัน (Audrey Thompson) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยยูทาห์กล่าวว่า ‘ความพิเศษของคนขาวนั้นมีกลไกที่ขัดแย้งตัวของมันเอง ในแง่หนึ่งความขาวคือความธรรมดา มันจึงไม่ถูกสนใจและกลายเป็นสิ่งล่องหน แต่ในอีกแง่ความขาวก็ถูกมองว่าเป็นที่ต้องการหากเทียบกับอย่างอื่น’
เธอยกตัวอย่างความธรรมดาและเป็นที่ต้องการด้วยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าหากเป็นผู้ชาย cis-gender ผิวขาวมักเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อความเป็นไปได้ที่คนเป็นผู้หญิง เกย์ ผิวดำ ฯลฯ ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งนั้นจะมีการพูดถึงโดยทันที แสดงถึงความเป็นที่ต้องการของประธานาธิบดีชายผิวขาว ‘ขณะที่ความขาวไม่เคยถูกพูดถึงในมุมว่ามันเป็นชาติพันธุ์ มันล่องหน ความผิวดำและผิวน้ำตาลนั้นถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ และมันอยู่นอกชาติพันธุ์ ‘ปกติ’
ความล่องหนของความขาวนี้สามารถอยู่ได้ในทุกส่วนของสังคมและวัฒนธรรม ตั้งแต่การเมือง สังคม ไปจนถึงสื่อบันเทิงและวรรณกรรม ลองนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เราเจอในชีวิตประจำวัน ‘สีเนื้อ’ ในกล่องสีไม่ใช่สีเนื้อของคนทุกสีผิว หรือหากในหนังสือที่นักเขียนไม่ได้เขียนอธิบายตรงๆ ว่าตัวละครผิวสีอะไร หากตัวละครนั้นๆ เป็นคนตะวันตกเราจะนึกถึงคนขาวก่อนเป็นอย่างแรก และนั่นอาจนำไปสู่ผลกระทบแง่ลบที่เลยเถิดออกมาจากเพียงวรรณกรรม แต่ไปถึงเมื่อวรรณกรรมนั้นๆ ถูกนำไปทำเป็นเวอร์ชั่นคนแสดงได้
ตัวอย่างของผลกระทบนั้นๆ เช่นเมื่อ The Hunger Games นิยายชุดดิสโทเปียถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ และผู้สร้างแคสต์นักแสดง อแมนดลา สเตนเบิร์ก (Amandla Stenberg) นักแสดงผิวผสมเป็นตัวละคร ‘รู (Rue)’ เด็กอายุ 12 ปีจากเขต 11 และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นดราม่าที่สะเทือนด้อม The Hunger Game ด้วยคำถามว่าทำไมรูถึงกลายเป็นคนดำ
ในความเป็นจริงแล้วในหนังสือมีการเขียนอธิบายคู่ตัวแทนจากเขต 11 ทั้งสองว่า ‘เด็กชายจากเขต 11 เธรชมีผิวดำเช่นเดียวกันกับรู’ หากจะพูดถึงเรื่องสีผิวจริงๆ แล้วแคสต์ของรูนั้นก็ยังเป็นคนผิวผสมอยู่ ไม่ใช่ผิวดำ แต่ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงส่วนมากของ ‘แฟนๆ’ คือทำไมถึงเอาคนดำมาเล่นรู ‘เรียกฉันว่าเหยียดผิวก็ได้ แต่พอรู้ว่ารูผิวดำฉันก็ไม่รู้สึกว่าตอนเธอตายมันเศร้าเท่าในหนังสือ’ หนึ่งในเสียงคัดค้านเขียนในทวิตเตอร์
และเรื่องประเภทนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในสื่อตะวันตก บ่อยครั้งเมื่อเราเห็นนักคอสเพลย์ผิวดำแต่งตัวเป็นตัวละครที่เขาชอบ แฟนๆ อนิเมะหลายรายบอกพวกเขาว่า ตัวละครตัวนี้ไม่ได้ผิวดำ ‘แฟนอนิเมะผิวขาวที่ชอบบอกนักคอสเพลย์ผิวดำว่าพวกเขาไม่ชอบเวลาแฟนๆ ผิวดำ ‘เปลี่ยนสัญชาติ’ ตัวละครเหล่านั้นเองก็ไม่เคยหยุดมองว่าตัวละครญี่ปุ่นพวกนี้เป็นคนขาวเลย’ F.D Signifier นักวิชาการและวิดีโอครีเอเตอร์เกี่ยวกับคนผิวดำพูดในวิดีโอของเขาในประเด็นทฤษฎีความขาว
และไม่ใช่ทุกคนที่จะไหลตามความธรรมดานี้ นักเขียนอย่าง เซดี้ สมิธ (Zadie Smith) เขียนนิยายของเธอโดยไม่อธิบายสีผิวของตัวละครเลยนอกจากตัวละครนั้นๆ จะเป็นคนผิวขาว ‘ฉันโตขึ้นมาด้วยการอ่านวรรณกรรมอเมริกันและอังกฤษ…ทุกคนเป็นธรรมดาหมดยกเว้นถ้าพวกเขาเป็นคนดำ เราจะรู้เลย นั่นชายผิวดำ หญิงผิวดำ คนดำ แน่นอนถ้าคุณผิวดำโลกไม่ได้หน้าตาแบบนั้นสำหรับคุณ ฉันเลยอยากลองเขียนสร้างความรู้สึกเป็นอื่นให้กับคนคนนั้นบ้าง นักอ่านผิวขาว เพื่อเตือนใจพวกเขาว่าเขาเองก็ไม่ได้ธรรมดาสำหรับทุกคน’ เธอพูดเกี่ยวกับหนังสือของเธอ
อาจดูเป็นเรื่องห่างไกลตัวเรา แต่เรื่องรูปแบบนี้สามารถลามออกมาจากสหรัฐฯ ได้อย่างง่ายดายผ่านโซเชียลมีเดีย ความธรรมดาและความล่องหนของความขาวนั้นโผล่ออกมาในตัวของคนนอกสหรัฐฯ อยู่เสมอเมื่อมีข่าวแคสต์คนผิวดำในบทใดๆ และมันสามารถปรับมุมมองของเราในฐานะกลุ่มคนที่มีโอกาสเจอกับคนผิวดำในชีวิตจริงน้อยกว่าคนตะวันตก
ฉะนั้นการทำให้ความขาวที่ล่องหนนี้มีรูปร่างขึ้นมาอาจสำคัญกว่าที่เราคิด
อ้างอิงข้อมูลจาก