ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารายการโทรทัศน์แนวทำอาหารบุกเข้ามาตีตลาดไทยอยู่มากมายทีเดียว ทั้งรายการแข่งขันหาเชฟแบบจริงจังอย่าง มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ที่มีกระแสดีจากความเข้มข้นในการเฟ้นหาเชฟหน้าใหม่ หรือรายการเชฟกระทะเหล็ก ที่ยืนจอฉายอยู่หลายปีจนสร้างชื่อให้เชฟในรายการเป็นเซเลบของคนไทย หรือรายการอลหม่านจานใหม่ รายการที่จับเอาดารามาทำอาหารผ่านโจทย์ป่วนๆ ที่เน้นความบันเทิง หรือ ท็อปเชฟไทยแลนด์ ที่มีซีซั่นที่สองไปแล้ว
ในช่วงที่รายการเหล่านี้กำลังได้รับความนิยม เราเลยถือโอกาสไปพูดถึง หนังสือการ์ตูนหรือมังงะของญี่ปุ่นแนวทำอาหารกันบ้าง ซึ่งเราก็เคยพูดถึงแบบนิดๆ หน่อยๆ ไปบ้างแล้วในบทความก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้เราจะขอโฟกัสไปฝั่งการ์ตูนที่มีตัวเอกเป็นคนครัวและมีรีแอคชั่นสะใจ จนเราจำประทับจิต และต่อให้คุณนึกรสอาหารในเรื่องไม่ออก ก็ยังรู้สึกว่าการ์ตูนเหล่านี้มีอรรถรสเร้าใจคนอ่านอย่างเรานั่นเอง
เมื่อวานเจ๊ทานอะไร
ระดับรีแอคชั่น : สามัญชนคนธรรมดา
แม้ว่าจะมีมังงะที่บอกเล่าการทำครัวในบ้านให้เราเห็นอยู่หลายต่อหลายเรื่อง เช่น เมนูกรุ่นอุ่นไอรัก ของอาจารย์อามากาคุเระ กิโดะ, หอมกรุ่นอุ่นไอรักมิโสะคัมไป โดยอาจารย์ซาซาโนะ ซาอิ หรือ พี่น้องมือใหม่กับเมนูอุ่นหัวใจ โดยอาจารย์ยูทากะ ฮิอิรากิ หรือถ้าแนวการทำครัวแบบจริงจังมากๆ จนข้ามไปคุยถึงธุรกิจทำร้านอาหารก็มี Bambino ของอาจารย์เซกิยะ เท็ตสึจิ
แต่สุดท้ายเราก็อยากหยิบยก ‘เมื่อวานเจ๊ทำอะไร’ ขึ้นมาบอกเล่าอีกครั้ง ไม่ใช่จากความชอบส่วนตัวของผู้เขียนเพียงอย่างเดียว แต่เหตุผลที่เราหยิบยกมังงะเรื่องนี้มาพูดถึงก็เพราะความสามัญธรรมดาของอาหารในเรื่อง ที่ตัวละครแทบทุกตัวล้วนแล้วเป็นเพียงคนทำงานที่ทำกับข้าวกินเองที่บ้านเท่านั้น และเมนูอาหารก็มีหลากหลายสไตล์ทั้งของคาว ของหวาน มื้อเบาๆ มื้อใหญ่ๆ หรือแม้แต่ขั้นตอนการถนอมอาหารอย่างง่ายๆ
ส่วนรีแอคชั่นของตัวละครในการรับประทานอาหารเรื่องนี้ก็ออกมาสามัญธรรมดา ชิมเสร็จก็ยิ้มๆ หรืออาจจะดี๊ด๊าบ้างพอประมาณตามเมนูที่ตัวละครอยากทำแบบจัดๆ เหมือนกับทุกคนที่รู้สึกดีใจในการทำอาหารอะไรอร่อยๆ ด้วยมือตัวเองนี่แหละ
อย่ามาแย่งข้าวกล่องมื้อเที่ยงของผมนะ
ระดับรีแอคชั่น : หนังไม่ตรงปก
มังงะแนวสี่ช่อง แต่เล่าเรียงเรื่องกันยาวๆ ถึงชีวิตของ โยเนดะ คิคุ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความฝันว่าอยากจะทำข้าวกล่องไปกินเองที่โรงเรียน ถึงอย่างนั้นด้วยความที่อาหารของโยเนดะทำออกมาดูดี๊ดูดี เจ้าตัวเลยพยายามหลบหลีกผู้คนไปกินข้าวเที่ยวแบบเงียบๆ ก่อนจะเจอกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ที่ทำให้โยเนดะได้คิดพลิกแพลงฝีมือการทำข้าวกล่องมากขึ้น
ถ้ามองจากหน้าปกแล้วเราก็อนุมานไว้ว่านี่คงต้องเป็นเรื่องที่มีฉากเอาใจสาว Y ในเล่มแน่นอน แต่เมื่อเปิดอ่านเนื้อในที่แท้จริงน้านนนน …มันเป็นการ์ตูนทำอาหารทีมาพร้อมรีแอคชั่นตลกๆ ผ่านตัวละครชายหญิงในเรื่องที่มีความเปิ่นเกินจริง พร้อมสูตรอาหารที่ทำได้จริงแบบง่ายๆ เหมือนจะบ่งบอกว่าต่อให้เป็นมือใหม่ก็สามารถทำข้าวกล่องให้ดูดีได้ กระนั้นในเล่มก็ไม่ได้ปิดพื้นที่ชวนจิ้นแต่อย่างใด แค่ไม่ได้มีโมเมนต์แบบทางการชัดๆ เหมือนที่หน้าปกพยายามชง
พ่อครัวจอมมายา
ระดับรีแอคชั่น : อร่อยจนต้องพูดมาก
ย้อนไปคุยถึงมังงะแนวทำอาหารในช่วงยุค 1980 กันสักหน่อย ซึ่งยุคนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของมังงะทำอาหารหลายเรื่องเลยทีเดียว อย่างเช่นเรื่อง Cooking Papa ของอาจารย์อุเอยามะ โทชิ (ที่ปัจจุบันก็ยังไม่จบ) ที่เน้นมื้ออาหารทำกินกันในครอบครัว หรือ โซ้ยแหลก ของอาจารย์โคกะ อาคาเนะ ที่เป็นการ์ตูนต่อสู้ด้วยอาหารพร้อมด้วยเมนูที่เกินจริงไปพอตัว กระนั้นถ้าพูดถึงเรื่องรีแอคชั่นเราคงต้องยกให้มังงะเรื่อง Mister Ajikko หรือพ่อครัวจอมมายา หรือที่บางท่านอาจจำได้ในชื่อ พ่อครัวรุ่นจิ๋ว ของอาจารย์เทราซาว่า ไดสุเกะ ที่เขียนภาคแรกตั้งแต่ช่วงปี 1986 ซึ่งนอกจากมีการดวลทำอาหารแล้ว ตัวละครที่มากินอาหารอร่อยๆ ในเรื่องก็เต็มไปด้วยรีแอคชั่น
เนื้อเรื่องของการ์ตูนเกี่ยวกับ อาจิโยชิ โยอิจิ พ่อครัววัยมัธยมต้นที่ช่วยดูแลร้านของครอบครัวกับแม่ของเขา จนวันหนึ่งเขาได้เจอกับ มุราตะ เก็นจิโร่ ผู้มีฉายาว่า อาจิโอ ราชาแห่งรสชาติ ที่ได้ท้าทายให้ทำอาหารอร่อยให้กิน ซึ่งโยอิจิก็ได้แสดงฝีมือให้เห็นด้วยการนำวัตถุดิบราคาไม่แพงมาทำเมนูชั้นหนึ่งจนอาจิโอพอใจ และนั่นกลายเป็นบันไดก้าวแรกของโยอิจิที่ทำให้เขาได้เข้าไปดวลกับพ่อครัวอีกหลายคน จนกระทั่งโยอิจิได้ฉายา มิสเตอร์อาจิโกะมา และทุกครั้งที่มีการทำอาหารก็จะมีผู้ชำนาญการในอาหารสไตล์นั้นอยู่ใกล้ๆ พื้่นที่ดวล ซึ่งการกินอาหารของผู้ชำนาญการเหล่านั้นมักตามมาด้วยการอธิบายอย่างละเอียดว่าแต่ละจานมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร
และเมื่อสไตล์การเล่าเรื่องแบบนี้มันได้ผล อาจารย์เทราซาว่า จึงนำเอาวิธีการบอกเล่าแบบเดียวกันมาใช้ต่อทั้งในเรื่อง ไอ้หนูซูชิ ไปจนถึง พ่อครัวจอมมายา ภาค 2 ที่เป็นรุ่นลูกของโยอิจิด้วย
ยอดกุ๊กแดนมังกร
ระดับรีแอคชั่น : ใบหน้าเปลี่ยนแปลง
หลิวคุนชิง (หรือ หลิวเหมาซิง) พ่อครัวตัวน้อยจากมณฑลเสฉวน ทายาทแม่ครัวผู้เก่งกาจ ต้องมารับหน้าที่ดูแลร้าอาหารแทนแม่ที่ตายลงอย่างกะทันหัน กระนั้นการสืบทอดร้านอาหารก็ต้องมีการดวลเพื่อตัดสินกันว่าใครจะเป็นพ่อครัวผู้สืบทอดตัวจริง และการเอาชนะศึกแรกของตัวเอก ก็กลายเป็นการเดินทางเก็บเกี่ยวความรู้ ก่อนจะกลายเป็นการเดินทางเพื่อตามหาเครื่องครัวศักดิ์สิทธิ์ในการ์ตูนภาคต่อ
การ์ตูนทำอาหารจีนอาจมีหลายเรื่อง แต่หากเราเสวนาว่ากล่าวเกี่ยวกับเรื่องที่มีฉากรีแอคชั่นโดดเด่นก็คงไม่มีใครแซงหน้าเรื่อง ‘ยอดกุ๊กแดนมังกร’ ของอาจารย์โอกาวะ เอทสึชิ อย่างแน่นอน เพราะไม่ว่าในเรื่องนี้จะทำอาหารแบบไหนออกมา กรรมการหรือคนมาลองชิมก็มักทำหน้าเหวอรับประทาน และหลายครั้งหลายคราว รีแอคชั่นก็มักเตลิดตั้งแต่หน้าตาไปถึงท่าทาง แถมยังมีอุปกรณ์ประกอบรีแอคชั่นอีก (จริงจังมากครับคุณกรรมการ!)
อาจารย์โอกาวะเพิ่งกลับมาเขียนภาคใหม่ Chuuka Ichiban! Kiwami เมื่อปี 2017 ซึ่งมีเนื้อหาต่อเนื่องหลังจากศึกดวลกับองค์กรอาหารใต้ดินที่หลิวคุนชิงกับเพื่อนได้เดินทางไปทั่วประเทศจีน เพื่อสร้างสะพานแห่งรสชาติ คาดว่าคงมีฉบับภาษาไทยตามมาเร็วๆ นี้แหละ
ยอดนักปรุงโซมะ
ระดับรีแอคชั่น : อาภรณ์ปลิดปลิว
ตัวแทนของการ์ตูนทำอาหารพ่วงรีแอคชั่นของยุคนี้ ต้องยกให้ ยอดนักปรุงโซมะ ที่อาจารย์ซาเอกิ ชุน เป็นผู้เขียนภาพ ส่วนอาจารย์สึคุดะ ยูโตะเป็นคนแต่งเรื่อง
ยูคิฮิระ โซมะ วัยรุ่นที่ฝึกฝนการทำอาหารที่ร้านยูคิฮิระกับพ่อของเขาได้เข้าไปศึกษาต่อที่โรงเรียนโทสึกิ โรงเรียนเก่าที่พ่อเขาเคยทำการศึกษาอยู่ และเป็นสถาบันที่สร้างคนครัวคุณภาพสูง ซึ่งกล่าวกันว่ามีนักเรียนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่สามารถผ่านการศึกษาตลอดสามปีนี้ และโรงเรียนนี้ก็มีกฎระบียบโดดเด่นอย่างหนึ่งคือ ถ้ามีปัญหาใดๆ ให้ทำการดวล ‘โชคุเกคิ’ เพื่อตัดสินผล และผู้ชนะนั้นจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะเกิดอะไรต่อไป
เมื่อมีการแข่งขัน ก็ต้องมีกรรมการมาชิมอาหารเพื่อตัดสินผลแพ้ชนะ แต่ไม่รู้ว่าทำไมรีแอคชั่นการกินอาหารของกรรมการนอกจากที่จะมีปฏิกริยาตอบสนองเป็นภาพเหนือจริงแล้ว เสื้อผ้าของคนกินมักจะปลิดปลิวออกจากตัวโดยเฉพาะตัวละครตระกูลนาคิริในเรื่องที่ไม่ได้ถอดแค่เสื้อของตัวเอง แต่ยังระรานทำให้เสื้อผ้าคนอื่นหลุดได้ด้วย (ฮา)
แต่ถึงจะไม่มีฉากผ้าผ่อนหลุดมังงะเรื่องนี้ก็ยังสนุกด้วยตัวเรื่องของมันเองอยู่ดี หลายๆ เมนูในเรื่องนั้นทำได้จริง แค่เสริมความโม้ไปเบาๆ อย่างใบกะเพรากับข้าวมันไก่ก็ถูกอธิบายรายละเอียดไปแบบที่คนไทยยังต้องแปลกใจเลย
จอมโหดกระทะเหล็ก
ระดับรีแอคชั่น : พ่อครัวทำหน้าโฉดมันกว่าเยอะ
ถึงการ์ตูนทำอาหารหลายเรื่องจะเล่าเรื่องราวผ่านพ่อครัวแม่ครัว แล้วก็มีการดวลกันแบบดุเดือด แต่เราคิดว่าพ่อครัวที่ดุดันจนน่าพูดถึงก็ต้องมีชื่อของ อากิยามะ จาง พ่อครัวที่บอกโต้งๆ ในเรื่องว่า ‘พ่อครัวดี ทำได้แต่อาหารอร่อย แต่พ่อครัวชั่วทำได้หมดทุกอย่าง’
อากิยามะ จาง ถูกฝากฝังให้มาทำงานที่ร้านอาหารโกบังโจ ตามคำขอของปู่ อากิยามะ ไคอิจิโร่ ‘ราชาอาหารจีน’ แต่สิ่งที่จางอยากทำไม่ใช่การทำอาหารอร่อยให้คนอื่นได้กินอย่างเต็มใจ เขานั้นตั้งใจจะเผยแพร่อาหารของปู่ด้วยคติ ‘อาหารคือการดวล’ และนั่นทำให้เขาต้องปะทะกับพ่อครัวทั้งภายในร้านอาหารและภายนอกร้านอาหาร ซึ่งคู่ปรับที่ใกล้มือของเขาที่สุดก็คือ โกบังโจ คิริโกะ ทายาทของร้านโกบังโจ ที่ยึดถือคติ ‘อาหารคือจิตใจ’ แต่ทั้งสองคนก็ช่วยกันเอาชนะคู่แข่งที่หมายจะทำลายร้านหลายต่อหลายครั้ง จนเกิดภาวะคู่รักแนวคู่กัดไปในที่สุด
ในเรื่องก็มีอาหารทำยาก หรือโม้เกินจริงอยู่บ้าง แต่ประเด็นสำคัญที่น่าจดจำของเรื่องนี้ก็เป็นหน้าตาของเหล่าพ่อครัวแม่ครัวในเรื่องที่ปลดปล่อยอารมณ์ผ่านหน้าตากันแบบดุเดือด ทั้งตอนทำอาหาร หรือหลังที่กรรมการชิมไปแล้ว จนหลายๆ ทีเราพร้อมจะสนุกกับการปลดปล่อยหน้าร้ายๆ ของตัวละครมากกว่ากรรมการที่เป็นคนชิม มังงะเรื่องนี้ มีภาคที่สามออกมาแล้วใช้ชื่อไทยว่า ‘จาง!! สายเลือดกระทะเหล็ก’ ซึ่งตัวเอกเป็นลูกของจางกับคิริโกะ พ่อครัวที่ชื่นชอบการดวลเหมือนพ่อ แต่มีแนวคิด ‘อาหารคือจิตใจ’ แบบแม่ …ฟังดูสับสนแต่ก็สนุกอยู่ไม่หยอก
โทริโกะ
ระดับรีแอคชั่น : อร่อยขยายกล้าม
จริงๆ มังงะเรื่องนี้เป็นแนวแอคชั่นมากกว่านะครับ แต่ก็เป็นแนวแอคชั่นที่เกี่ยวกับการล่าอาหารเพื่อมาเป็นของกินอีกที มีโทริโกะ นักล่าอาหารระดับต้นของโลกเป็นตัวเอก เขาปรุงอาหารแบบง่ายๆ ได้ก็จริง แต่สำหรับวัตถุดิบละเอียดอ่อนนั้นเป็นหน้าที่ของเชฟคู่หูอย่างโคมัตสึเป็นคนปรุง ทั้งสองคนได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อตามล่าสัตว์ร้ายต่างๆ เพื่อมาสร้างเป็นอาหารฟูลคอร์สสุดพิเศษอีกทีหนึ่ง
นอกจากวิธีทำอาหารบางประการ ก็บอกได้เลยว่าเรื่องนี้อุดมไปด้วยความโม้แต่ก็มันสะใจคนอ่าน วัตถุดิบทำอาหารในเรื่องก็มีรสชาติชวนคิดว่าถ้ามีอยู่จริงจะเป็นอย่างไร ส่วนด้านรีแอคชั่นของเรื่องก็จัดเต็มให้สมความเวอร์ ถึงขั้นว่ากินอาหารสดๆ แล้วกล้ามขยายบ้าง หรือกินอาหารปรุงเสร็จแล้วน้ำตาไหลพลังเพิ่มไม่ก็หน้าตาหล่อเหลาขึ้นแบบดื้อๆ ก็มี เราคงไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารแบบเดียวกับที่โทริโกะได้กิน แต่การได้เห็นภาพคนกินอาหารอร่อยสุดโต่งก็ทำให้อิ่มเอมในใจอยู่เหมือนกัน
แชมเปี้ยนขนมปัง สูตรดังเขย่าโลก
ระดับรีแอคชั่น : อลังการจนแทบลืมว่าอะไรคือของกิน
‘ขนมปังอังกฤษ, ขนมปังเยอรมัน, ขนมปังฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ ในยุโรปต่างมีขนมปังตั้งตามชื่อของประเทศของตัวเอง แต่ทำไมญี่ปุ่นถึงไม่มี ‘เจปัง’ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดหลักของการ์ตูนเรื่องนี้ที่สนุกกับการเล่าเรื่องการทำขนมปังของ อาสุมะ คาสุมะ เด็กหนุ่มที่มี ‘หัตถ์ตะวัน’ หรือฝ่ามือที่ร้อนกว่าปกติจนสามารถนวดขนมปังให้ขึ้นฟูได้ง่ายขึ้นกว่าคนธรรมดา เจ้าตัวได้รับแรงบันดาลใจมาจากชายคนหนึ่งในการทำขนมปัง และหัดทำ ‘เจปัง’ ด้วยตัวเอง และเมื่อเขาได้ก้าวเข้าสู่กรุงโตเกียวเพื่อทำงานที่ร้านปังตาเซีย เขาก็ได้ปลดปล่อยพลังของ ‘เจปัง’ ให้โลกเห็น
ช่วงแรกๆ การ์ตูนก็เล่าเรื่องขนมปังจริงจังล่ะครับ ซึ่งตัวเจปังส่วนใหญ่ก็ดัดแปลงจากขนมปังชาติอื่น หรืออาหารสไตล์ต่างๆ มาผสมกับขนมปังเพื่อให้สอดคล้องรสนิยมชาวญี่ปุ่น เช่น ขนมปังที่กินแล้วรสชาติเข้ากับนัตโตะ, ขนมปังที่เปลี่ยนแป้งโดเพื่อให้หวานสอดคล้องกับไส้ถั่วแดง ขนมปังที่ทำมาเพื่อให้เหมาะกับการกินข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น หรือขนมปังสำหรับคนแพ้กลูเตน ฯลฯ แต่พอเวลาผ่านไปไม่นานนักเราก็เริ่มเห็นขนมปังระดับเทพขึ้นมา อย่างขนมปังที่กินเข้าไปแล้วจะทำให้วิญญาณของคนกินบินไกลไปถึงสวรรค์ (ฮ้า?!), ขนมปังที่กินแล้วย้อนเวลาเปลี่ยนประวัติศาสตร์ (เดี๋ยว!) หรือขนมปังที่กินแล้วทำให้เลียนแบบหรือแปลงร่างเป็นตัวละครจากการ์ตูนหรือเกมเรื่องอื่น (เอิ่ม…) และทำให้เนื้อเรื่องตั้งแต่ช่วงกลางๆ โดนมองข้ามว่าตัวละครในเรื่องทำขนมปังอะไรไป แล้วกลับมาลุ้นรีแอคชั่นที่เดาทางลำบากกว่าเดิม
ถึงเรื่องจะหลุดกรอบจนรีแอคชั่นเด่นบดบังการทำขนมปัง แต่สาระในการทำขนมปังภายในเรื่องไม่ได้หดหายไปขนาดนั้น แม้ว่าคนอ่านจะเผลออ่านข้ามสาระไปก็เถอะ
เซียนบะหมี่สีรุ้ง
ระดับรีแอคชั่น : กินแล้วเห็นสายรุ้ง
การ์ตูนของกินจากญี่ปุ่นมีหลายเรื่องที่เอาราเม็งที่กลายเป็นอาหารประจำถิ่นมาเล่าเรื่อง เช่น สูตรเด็ด เจ้ายุทธจักรราเมง ของอาจารย์ไซโจ ชินจิ ผู้เขียนจอมโหดกระทะเหล็ก, เจ้าของผลงานยุทธภูมิกระเพาะเหล็กอย่าง อาจารย์สึจิยามะ ชิเงรุ ผู้ล่วงลับก็เขียนมังงะเกี่ยวกับราเม็งหลายเรื่อง และถ้าเอาเรื่องที่รีแอคชั่นฟินแรงมาก ก็มี โคอิสึมิซังกับราเม็งชามโปรด ของ อาจารย์นารุมิ นารุ ที่ทุกตอนจะมีหน้าฟินๆ ออกมาให้เห็น แต่ที่เราไม่ได้เลือกเรื่องนี้ก็เพราะเราอยากยกพื้นที่ให้กับการ์ตูนที่มีตัวเอกเป็นคนครัวก่อน (ส่วนคนกินล้วนๆ อาจได้พูดถึงในโอกาสต่อไป)
มังงะที่ดูตรงโจทย์ครั้งนี้ ก็น่าจะเป็น เซียนบะหมี่สีรุ้ง ของอาจารย์บาบะ โทมิโอะ ที่เล่าเรื่องของ ซากากิ ไทโย เด็กวัยรุ่นธรรมดาแต่ไม่ปกตินิดๆ เพราะเจ้าตัวไม่เคยกินราเม็งมาก่อนเลยในชีวิต จนกระทั่งเพื่อนใหม่พาไปกิน และสิ่งที่เขาสัมผัสได้หลังจากการกินราเม็งชามแรกก็คือ ‘สายรุ้ง’ ที่สวยงาม ด้วยจังหวะชีวิตทำให้เขาจับพลัดจับผลูขอฝึกวิชาทำราเม็งไปซะอย่างนั้น และสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำให้ได้ก็คือการทำราเม็งที่คนกินแล้วรู้สึกสดใสแบบเดียวกันที่เขาเคยกิน
การ์ตูนค่อยๆ เดินเรื่องจากคนที่ทำราเม็งไม่เป็น ค่อยๆ ฝึกฝนจนทำราเม็งอร่อยๆ ออกมาได้อย่างคุ้นมือ ก่อนที่ภายหลังจะลงลึกกันต่อว่า การทำราเม็งไม่ได้คุยแค่ฝีมือการทำอาหารอย่างเดียว มันมีดีเทลละเอียดอ่อนอื่นๆ นับตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ เวลาในการทำซุป บาลานซ์ของน้ำซุปกับเครื่องราเม็งในชาม ฯลฯ ส่วนในการดวลราเม็งที่เป็นสีสันของเรื่อง ก็มีประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยและคนทำราเม็งแต่ละคนก็มีปมของตัวเองที่ชัดเจน
ถึงเรื่องจะตกยุคไปบ้าง แต่การอยากทำให้ใครรู้สึกดีไม่ว่าจะด้วยจานอาหารหรือด้วยการ์ตูน มันก็ทำให้ผู้เสพปลายทางยิ้มได้อย่างแฮปปี้เสมอๆ