“มากสุดที่เราได้ข้อมูลมาคือ ทั้งบ้านติดโควิดกันหมดสิบคน รัฐบอกว่าเป็นโควิดไม่ให้อยู่บ้าน ชาวบ้านเขาไม่ได้อยากอยู่บ้าน แต่คุณพาเขาไปโรงพยาบาลไหมล่ะ” ณวัฒน์ อิสรไกรศีล บอกกับ The MATTER หลังเปิดตัวโครงการ ‘เป็นโควิด-19 ต้องมีที่รักษา’
ณวัฒน์ บอกว่า หลังจากที่ได้เห็นข่าวที่หญิงสูงวัยสามคน ต้องถูกทิ้งไว้ที่บ้าน ไม่มีใครไปรับเพื่อรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนหนึ่งในนั้นเสียชีวิตลง สิ่งนี้ทำให้เขารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานี้แล้ว เพราะรอการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของภาครัฐไม่ได้อีกต่อไป
“หนึ่งในข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงคือ รัฐบอกว่าเรามีเตียงพอ เราควบคุมปัญหาได้ เรามีปะสิทธิภาพ แต่สิ่งที่เขาพูดกับสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นคนละเรื่อง เหมือนเราอยู่กับคนละเมือง” ณวัฒน์ บอกกับเราถึงข้อมูลที่ได้รับมาหลังเปิดให้ประชาชนขอความช่วยเหลือเรื่องหาเตียงได้ ผ่านไลน์ของมิสแกรนด์
“พอเราเปิดรับช่วยเหลือผ่านมิสแกรนด์ ตอนแรกผมนึกว่าจะมีคนค่อยๆ ติดต่อเข้ามากัน แต่มีคนมาเยอะมาก เยอะมากกว่า 400 คนที่ทักเรามา จนถึงตอนนี้แม้จะเคลียร์ข้อความได้แค่ไหน ก็จะมีอย่างน้อย 300 ข้อความที่ยังค้างอยู่”
“ตอนนี้ปัญหามันเละเทะอยู่กับที่พักอาศัย นโยบายจากรัฐคือให้ทุกคนการ์ดอย่าตก ทำทุกอย่างเพื่อให้คนติดโควิดน้อย แต่อย่าลืมว่า ถ้าหนึ่งคนที่ติดเชื้ออยู่บ้าน ทั้งบ้านต้องเป็นโควิด มากสุดที่เราได้ข้อมูลมาคือทั้งบ้านติดกันสิบคน ทุกคนเป็นหมดเลยแม้กระทั่งเด็กสองขวบ”
หลังจากรู้ว่าปัญหาตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต สิ่งที่เขารีบทำต่อคือการใช้คอนเนคชั่นที่ตัวเองเคยมีอยู่ เพื่อหาช่องทางช่วยประชาชนต่างๆ ที่กำลังเดือดร้อน แต่สิ่งที่กลายเป็นอุปสรรค สำหรับคนที่ออกมาช่วยแก้ปัญหาคือระบบราชการที่ล้าช้า
“พอผมคิดว่าจะทำสิ่งนี้ขึ้นมา ผมก็คิดเลยว่าจะติดต่อใครในภาครัฐได้บ้าง ผมต้องพูดตรงๆ ว่าเวลาผมโทรไปขอความช่วยเหลือ หลายครั้งผมอยากวางสายเลย เพราะเขาพูดไปเรื่อยเปื่อย คือยังไม่ทำอะไรก็เหมือนจะลอยแพเราแล้ว ผมบอกไม่ ให้ผมติดต่อได้ด้วยตัวเองที่ไหน ที่โรงพยาบาลไหน มีวิธีการไหนบ้าง”
“ผมนำเสนอความคิดว่าทำไมไม่เปิดโรงพยาบาลสนามที่ดีหน่อย เช่นใช้พื้นที่ในอิมแพคอารีน่า แต่มันก็ติดปัญหาอยู่ คือเข้าใจไหมว่า ประเทศไทยอยู่ในระบบที่ต้องประชุมก่อนนะ ต้องนำเรื่องไปผ่านแผนกนี้ แผนกนั้นก่อน มันเลยช้า”
โปรเจ็กต์ ‘เป็นโควิด-19 ต้องมีที่รักษา’ ที่เขาริเริ่มขึ้นมาเมื่อไม่กี่วันก่อน ได้เน้นไปขอความร่วมมือกับภาคเอกชน และให้ผู้เชี่ยวชาญจากเอกชน ช่วยอบรมพนักงานของเขาเพื่อสามารถส่งต่อหรือสอบถามข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนที่ติดต่อขอความช่วยเหลือ
“ผมภูมิใจกับเอกชนที่ให้ความรู้ได้เร็วกว่า ผมต้องการฝึกให้พนักงานผมมีความเข้าใจในข้อมูลเรื่องโควิดที่ถูกต้อง เพื่อให้ทุกอย่างมันเร็วขึ้น เราคิดว่าเราจะไปฝึกที่ไหนเพราะจะต้องประเมินจากเด็กเราว่าคนนี้หนักหรือเบา เมื่อวานฝึกกันทั้งวัน” ณวัฒน์ อธิบาย และสำหรับโปรเจ็กต์นี้ ประชาชนไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะยืนยันว่าได้ประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นที่เรียบร้อยว่าทุกอย่างฟรี
“เราทำแทนเท่าที่ทำได้ หน้าที่หลักคือหน้าที่ของรัฐ เราเดินเครื่องกันจริงๆ คือ 4 วัน เริ่มเซ็ตคน ปรับเปลี่ยนพนักงานจากที่ตอนนี้ไม่ได้ดูแลดาราแล้ว ให้มาดูแลเรื่องนี้แทน มีมิสแกรนคนไหนที่พอช่วยได้ก็มา เราหาที่ฝึกและให้มาช่วย”
ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 คนใดที่ต้องการขอความช่วยเหลือเรื่องการหาเตียง สามารถติดต่อผ่านแอดไลน์ @missgrand ได้ โดยขอให้เป็นผู้ป่วยที่ผ่านการตรวจแล้วและมีผลตรวจจากโรงพยาบาลว่าเป็นติดเชื้อ COVID-19 และยังไม่มีใครยอมมารับไปรักษาโดยยังคงอยู่ในที่พักอาศัย
ณวัฒน์ ย้ำกับเราว่า ถึงแม้เขาจะออกมาช่วยเหลือในเรื่องนี้ แต่ฝ่ายที่จำเป็นต้องดูแลประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดไม่ควรเป็นภาคประชาชน แต่ถือเป็นหน้าที่ของภาครัฐ
“ลองนึกว่าแม่คุณนั่งอยู่บ้านติดโควิดแล้วเสียชีวิต คุณแฮปปี้ไหม ถ้าคุณเศร้าที่มันเกิดเหตุ ถ้าเป็นแม่รัฐมนตรีติดแล้วจะยอมให้เขานั่งอยู่ที่บ้านไหม ถ้าไม่ มันแปลว่าชีวิตทุกคนต้องมีค่าเท่ากัน” ณวัฒน์ ทิ้งท้าย