“Lasciate ogni speranza, voi ch’entrate”
“All hope abandon ye who enter here.”
– Inferno Canto III (La Divina Comedia), Dante Alighieri
ช่วงนี้มีหลายประเด็นที่เหมือนจะพาเรากลับยังโลกหลังความตาย โดยเฉพาะนรกภูมิ เรามีข่าวจากเด็กใหม่ว่าเธอน่าจะเป็นลูกหลานของซาตาน และปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ทางอิตาลียกย่อง ดันเต อลิกิแยรี (Dante Alighieri) ขึ้นเป็นมหากวี (The Supreme Poet—Il Sommo Poeta) และตั้งวันดันเต—Dantedi—ขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบวันเสียชีวิตครบ 700 ปี และเมืองฟรอเลนซ์ครบรอบ 1600 ปี โดยวันดันเตนี้จะนับวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี เชื่อกันว่าวันดันเตเป็นวันแรกของการเดินทางเยี่ยมสามโลกของรัตนกวีผู้นี้
ก่อนอื่นอธิบายโดยสังเขป ดันเตเป็นกวีคนสำคัญของวัฒนธรรมยุโรปเลยก็ว่าได้ โดยดันเตเองถือเป็นรัตนกวีหรือ Poet Laureate ถ้าเราดูรูปวาดจะเป็นภาพของกวีดันเตที่สวมช่อใบลอเรล (laurel wreath) ไว้ ซึ่งช่อใบลอเรลเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะตามธรรมเนียมของกรีกโรมัน ต่อมาในสมัยกลางเช่นที่ฟรอเลนซ์ก็จะใช้สวมเป็นสัญลักษณ์ของกวีผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าเราเห็นภาพสุภาพบุรุษสวมช่อดังกล่าวมักจะหมายถึงดันเตนี่แหละ ธรรมเนียมนี้สืบทอดต่อมาในอิตาลีที่เมื่อจบการศึกษาแล้วบัณฑิตจะสวมช่อลอเรลเช่นกัน—และคำว่า Nobel Laureates (รางวัลโนเบล) ก็มีนัยของการยกย่องเหล่าปราชญ์ว่าเหมือนได้รับการประดับมงกุฏอันเป็นการให้เกียรติของผู้รู้
กลับมาที่ดันเต ดันเตเป็นกวีในยุคกลาง แน่นอนว่าดันเตเป็นกวีที่สำคัญมากๆ และงานที่สำคัญที่สุดชื่อว่า La Divina Comedia หรือ The Divine Comedy ดันเตเองในตอนนั้นเรียกว่าเป็น comedia เฉยๆ ตัวเรื่องจริงๆ ถ้าเทียบกันก็คล้ายๆ พระมาลัยของไทย คือพูดเรื่องการเดินทางไปเยี่ยมภูมิทั้งสามตามความเชื่อแบบศาสนาคริสต์ โดยสามภูมิที่ดันเตไปประกอบด้วย Inferno, Purgatorio และ Paradiso ก็คือนรก แดนชำระ และสวรรค์ตามลำดับ โดยแน่นอนว่า Inferno นั้นโด่งดังที่สุด และเป็นจุดที่เราจะไปแวะเที่ยวตามดันเตกันในครั้งนี้
ทำไม The Divine Comedy?—ลองนึกถึงไตรภูมิพระร่วง งานเขียนว่าด้วยการเดินทางข้ามโลกถือเป็นรากฐานสำคัญทางความคิด กวีทัวร์สามภพนี้เป็นเหมือนการเดินทางทางความรู้สึกและจิตวิญญาณ งานเขียนชิ้นนื้ถือเป็นงานที่สำคัญที่สุดของยุคกลาง โดยตัวงานเขียนเองดันเตเลือกใช้ภาษาฟรอเลนซ์แทนการเขียนด้วยภาษาละติน ทำให้ถือเป็นงานที่วางรากฐานทางภาษาอิตาเลียน และเป็นงานที่เข้าถึงคนทั่วไป
ดังนั้นด้วยความสำคัญนี้เราจึงชวนมาอ่านทวนโดยเดินทางไปเยี่ยมชมนรกร่วมกับดันเต ไปสู่ภาพของนรกที่ได้รับการนิยามว่าเป็นเมืองเมืองหนึ่งที่สัมพันธ์กับภูมิหลังทางการเมือง—และเมืองนรกก็ดูจะมีเรื่องการเมืองผสมอยู่ด้วย พาไปหยุดพักที่ประตูนรกที่มีความปนเปของอารยธรรมกรีกโรมัน แวะชมจุดกึ่งกลางก่อนเข้าสู่นรกที่ดวงวิญญาณชนิด ‘เป็นกลาง’? ถูกลงโทษอย่างไม่รู้จบ และพาไปเยี่ยมเหล่าคนดัง ไปจนถึงพบปะกับซาตานที่อาจจะหงอยเหงากว่าที่เราวาดภาพไว้
“Through me the way is to the city dolent”—นรกในฐานะเมืองและภูมิหลังโดยสังเขป
จริงๆ ดันเตฟังดูว่า เอ้อ ได้รับการยกย่องดี แต่ชีวิตของดันเตไม่ได้ดีขนาดนั้น (แต่ก็ส่งผลกับงาน The Divine Comedy ด้วย) คือดันเตเนี่ยนอกจากจะเป็นกวีแล้วยังทำงานการเมืองด้วย ยุคนั้นได้รับอิทธิพลจากโรมันว่านักพูดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านถ้อยคำจะเป็นผู้นำเมือง ทีนี้การทำงานการเมืองของดันเตก็ทำให้เกิดภัยแก่ตัว ดันเตถูกขับออกจากฟรอเลนซ์—700 ปีหลังจากนั้นกรุงฟรอเลนซ์ถึงได้กล่าวขออภัยที่เนรเทศออกจากเมือง
นักวิชาการบอกว่าการถูกไล่ออกจากเมืองในยุคนั้นลำบากมาก ดันเตต้องระหกระเหินเดินทางไปทางเมืองต่างๆ เพื่อขอความคุ้มครอง และการแต่ง The Divine Comedy ก็สัมพันธ์กับการเดินทางที่ส่วนหนึ่งใช้เพื่อเดินทางเข้าสู่ภายในของดันเตเอง และในอีกด้านการต้องออกจากเมือง—เช่นฟรอเลนซ์อันเป็นเมืองสำคัญนั้น—ทำให้ดันเตได้มองเมืองในฐานะคนนอก มองจากด้านนอก ตัวงานเขียนนี้จึงสัมพันธ์กับการหาหนทางของดันเต และกลายเป็นแสงสว่างของชีวิตคนทั่วไปในเวลาต่อไป
ประเด็นเรื่องเมืองจึงค่อนข้างน่าสนใจ สัมพันธ์ทั้งกับดันเตเองที่เดินทางจากเมืองสู่เมือง และสัมพันธ์กับความเชื่อในยุคกลางเอง ดันเตนิยามนรกหรือ Inferno ว่าเป็นเมือง (city) คือเมืองนรกของดันเตนั้นมีทั้งหมดเก้าชั้น แต่ละชั้นจะซ้อนกันเป็นวง (เรียกว่าเป็น ring) เข้าไปสู่ศูนย์กลางที่ลึกที่สุด เมืองทรงกลมนี้สัมพันธ์ลักษณะผังเมืองของเมืองในยุคกลาง ซึ่งลอกแบบมาจากเมืองของพระเจ้าหรือ The City of God ตามนิยามและปรัชญาแบบคริสต์ของนักบุญออกัสติน (Saint Augustine) พูดถึงเมืองวงกลมของพระเจ้าที่ปูพื้นที่ด้วยทองคำ
เมืองนรกของดันเตก็เลยดำเนินรอยตามความเชื่อ และอีกจุดสำคัญของ The Divine Comedy คือ ในนรกจะเต็มไปด้วยคนดังยิ่งกว่าเยี่ยมชมมาดาม ทุสโซ การวาดให้นรกเป็นเหมือนเมืองนั้นก็เหมือนกับเป็นภาพสะท้อนเมืองจริงๆ เช่นมองเมืองฟรอเลนซ์ว่าเป็นเมืองที่เสื่อมโทรมและเต็มไปด้วยผู้คนหรือนักการเมืองที่ฉ้อฉล—บางคนดันเตก็วางไว้ให้ไปเจอในนรก งานเขียนนี้ก็เป็นเหมือนคำเตือนและแนวทางที่จะทำให้คนและเมืองกลับมาอยู่ในรูปในรอย
“All hope abandon ye who enter here.”—ถ้อยคำของประตูนรก
การเดินทางของดันเต—ในเรื่องดันเตใช้ตัวเองเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยภาพรวมการเดินทางของดันเตก็จะเหมือนกับงานเขียนเชิงศาสนาคือเป็นความเปรียบ ตอนเริ่มต้นดันเตจะพูดถึงการหลงทางและการตามหาความหมาย การเดินทางของดันเตจะมีเวอร์จิล กวีโรมันเป็นไกด์ในนำทาง ลักษณะการเดินทางก็ผสมๆ กันกับการเดินหรือปีนป่ายไปตามพื้นที่ทางกายภาพ ระหว่างทางก็จะมีเหมือนอุปมาต่างๆ ปรากฏตัวขึ้น เช่นขณะที่เดินหลงในก็มีสัตว์สามประเภทคือสิงโต เสือดาว และสุนัขป่าเพศเมียปรากฏตัวขึ้น ซึ่งก็ตีความโยงกับบาปสำคัญสามประการของนรกคือความปรารถนา (desire) ความรุนแรง (violence) และความฉ้อโกง (fraud) ตรงนี้ก็แล้วแต่การตีความซึ่งสัมพันธ์กับความคิดเรื่องบาปในคริสต์ศาสนา
ทีนี้ ความสนุกและไฮไลต์หนึ่งของการเดินทางคือการเดินทางไปถึงประตูนรกของดันเตเดินถึงใน Canto III โศลกที่สามของตัวเรื่อง ส่วนใหญ่จะพูดถึงตัวประตูนรกนี้ว่าเป็นประตูสลักที่คำเตือนอันโด่งดังไว้คือ “All hope abandon ye who enter here.” ใครก็ตามที่จะผ่านประตูนี้ไป จงทิ้งความหวังทั้งปวงไว้ที่นี่ ในโศลกเต็มนั้นนักวิชาการบางคนก็เสนอว่าประตูนรกนั้นกำลัง ‘พูด’ กับดันเตและพูดกับเรา ถึงภาวะอันลึกลับของนรกที่คุณกำลังจะได้รับรู้ต่อไป นอกจากการทิ้งความหวังแล้วประตูนรกยังพูดถึงนรกในฐานะเมืองแห่งความตาย เมืองแห่งความทุกข์ทรมานและเป็นนครแห่งการลงทัณฑ์ ภาพของเมืองนี้ก็มีการตีความว่าคือการวาดภาพเมืองฟรอเลนซ์ขึ้น และวางให้นรกเป็นเมืองที่ตรงข้ามกับมหานครของพระผู้เป็นเจ้า
“Who lived withouten infamy or praise.”—พื้นที่ของพวกเป็นกลาง?
จุดที่น่าสนใจของนรกของดันเต คือจุดที่อยู่ระหว่างประตูนรกกับตัวนรกจริงๆ ที่บางที่ก็เรียกว่า Anti-inferno คือเป็นพื้นที่ ระหว่างนรกกับโลก คือเมื่อดันเตผ่านประตูนรกไปก็เจอกับกลุ่มดวงวิญญาณที่ร้องครวญครางอยู่ ดันเตก็ถามเวอร์จิลว่าพวกนี้คือใคร
เวอร์จิลบอกว่า ดวงวิญญาณพวกนี้คือพวกที่ไม่ได้มี moral choice เป็นพวกที่ไม่ได้ทั้งทำชั่วหรือทำดีอะไร (“Who lived withouten infamy or praise.”) เป็นพวกไม่เลือกข้างไม่ว่าจะเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายเลวร้าย ไม่ได้เข้าข้างพระเจ้าหรือเหล่าเทวดาผู้ทรยศ ดูเหมือนว่าโทษของพวกที่ไม่เลือกหรือเป็นกลางนี้จะหนักหนา คือถูกทิ้งให้สิ้นหวัง ไม่มีปลายทางใดใด ได้แต่มองดวงวิญญาณที่ผ่านพ้นไป เป็นพวกที่สวรรค์ก็ไม่รับ นรกก็ไม่เอา (“The heavens expelled them, not to be less fair; Nor them the nethermore abyss receives, For glory none the damned would have from them.”)
การไม่เลือกข้างนี้ คำอธิบายสำคัญคือเหมือนเป็นการทรยศต่อทั้งความดีและความชั่ว คือไม่มีหลักการ ไม่มีการตัดสินใจทางศีลธรรม ด้านหนึ่งในภาพนรกนี้ถูกตีความว่าเป็นความเห็นแก่ตัว ใช้ชีวิตเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว ซึ่งโทษก็แรงพอๆ หรือมากกว่าตกนรก คือต้องอยู่ในภาวะ ‘ในระหว่าง’ ไปตลอดกาล เวอร์จิลก็บอกกับดันเตว่า อย่าไปยุ่งกับดวงวิญญาณที่ถูกทอดทิ้งเหล่านี้ ห้ามคุยด้วยเด็ดขาด ให้เดินผ่านไปเงียบๆ
ข้ามแม่น้ำกับแชรอนและเมดูซา กับอารยธรรมกรีกที่ยังมีผล
หลังจากผ่านแดนของพวกเป็นกลางแล้วก็จะเข้าสู่ทางเข้านรกของจริง ต้องไม่ลืมว่างานเขียนนี้ว่าด้วยนรกและจักรวาลวิทยาแบบคริสต์ แต่ในยุคนั้นรากฐานของอารยธรรมตะวันตกก็มีรากของอารยธรรมคลาสสิกอยู่มาก บ้างก็บอกว่าลักษณะที่เป็นกรีกโรมันที่ยังอยู่นั้น ด้านหนึ่งก็เหมือนเป็นการรวบความคิดเดิมและแก้เข้าสู่แนวคิดทางศาสนาแบบใหม่ ทีนี้ การข้ามไปสู่นรก (และแดนชำระ) ในโลกหลังความตายนั้นก็ยังได้อิทธิพลแบบกรีกมาอยู่ คือพูดถึงการนั่งเรือข้ามแม่น้ำไป ซึ่งนรกนั้นก็ยังมีแชรอน (Charon) พนักงานพายเรือและนำทางที่นำทางผู้คนมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ พายเรือพาผู้คนไปสู่นรกของฮาเดส
จริงๆ การเดินทางของดันเตคือมีความสมจริงสมจังมาก ดันเตมีตกอกตกใจ กลัวจนตัวสั่น หรือเวอร์จิลในฐานะผู้นำทางนั้นก็ต้องเคลียร์กับเหล่าผู้ดูแลนรกรายทางไป เช่นพอเจอแชรอนก็มีการบอกกับแชรอนว่านี่เป็นการเดินทางโดยบัญชาจากสวรรค์นะ หรือกระทั่งนรกชั้นในๆ เช่นทางเชื่อมไปสู่ชั้นที่หกจะมีเมือง Dis อยู่ เมืองนี้ถูกล้อมด้วยปราการสามชั้นและมี Fallen Angels หรือเทวทูตตกสวรรค์เฝ้าประตูอยู่ แม้เวอร์จิลจะมาในนามสวรรค์ก็ไม่สามารถเจรจากับเทวทูตได้ จึงมีการเรียกอสูรมาขับไล่ อสูรที่มาก็เป็นอสูรในตำนานกรีกคือฟิวรีและเมดูซา—ในตอนนั้นสวรรค์ส่งเทวทูตลงมาและเบิกทางจนผ่านเข้านรกขุมด้านในได้
นอกจากฟิวรีแล้วในนรกยังมีอสูรจากปกรณัมอีกหลากหลาย เช่นในนรกขุมที่สามของความตะกละมีเซอร์เบอรัสหมาสามหัว ในชั้นที่เจ็ดก็มีมิโนทอร์ร่วมลงโทษผู้คนอยู่ด้วย หรือในชั้นที่ห้า นรกแห่งความเกรี้ยวกราด (wrath) ก็มีแม่น้ำสติกซ์ (Styx) แม่น้ำอันโด่งดังของนรกคลาสสิก
Limbo—นรกชั้นแรกของเหล่านักคิด กวี และวีรบุรุษ
ดังกล่าวว่าในนรกของดันเตนั้นปนไปด้วยอารยธรรมคลาสสิก และเต็มไปด้วยเซเลป หลังจากที่ข้ามแม่น้ำแล้ว นรกขุมแรก—ขุมที่เราได้ยินชื่อบ่อยๆ (เพราะที่เหลือไม่มีชื่อจะเป็นชื่อบาปแทน) คือ Limbo ในนรกขุมแรกหรือที่เรียกว่า Circle 1 นั้นเป็นนรกที่เราจะเจอกับนักปราชญ์ กวี รัฐบุรุษ และฮีโร่มากมาย หลักการของลิมโบนี้จริงๆ เป็นนรกไม่แย่มาก ค่อนไปทางแดนนิรันดร์ แต่คนที่ต้องตกอยู่ในลิมโบคือคนที่ไม่มีทางเลือกที่จะเลือกพระเจ้า พูดง่ายๆ คือเกิดไม่ทันยุคพระเยซู ไม่ได้รับการเข้ารีต ไม่ได้ศีล แม้จะมีหนทางที่ทรงคุณธรรม แต่ก็จะไม่สามารถกลับเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าได้
ซีนในนรกลิมโบนั้นก็แสนเท่ จริงๆ หน้าตาเหมือนเป็นทุ่งคล้ายๆ ที่อธิบายไว้ในทางกรีกที่ใครๆ ก็ต้องไปโลกหลังความตาย เป็นเหมือนที่อยู่ของโลกหลังความตายของสามัญชน (แต่สมัยกรีกจะมีโลกหลังความตายพิเศษที่สุขาวดีขึ้นสำหรับนักรบคือ เอลิเซียม) พอเข้าไปปุ๊บ คือคนที่ไปเป็นกวีเนอะ—เวอร์จิลและดันเต—กลุ่มแรกที่เจอก็เป็นมหากวีโบราณที่นับรวมอีกสอง เลยเป็นแก๊งหกยอดกวี คือมี โฮเมอร์ (Homer) โฮเรส (Horace) โอวิด (Ovid) และลูคัน (Lucan)
หลังจากนั้นก็เจอดาราเพียบ ทั้งรัฐบุรุษ วีรสตรียุคโบราณทั้งหลาย ตั้งแต่เฮกเตอร์, อีเลกตรา, จูเลียส ซีซาร์ หรือราชินีของเผ่าแอเมซอนก็มี ขนาดเจ้านครที่สู้กับครูเสดฝั่งมุสลิมด้วยความที่เป็นคนดีก็มาอยู่ที่นี่ และที่สำคัญเจอนักปราชญ์แถมนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อริสโตเติล เพลโต โสเกรตีส เรื่อยไปจนถึงปโตเลมี พวกผู้นำเช่นชิเรโร เซนากา และอีกเป็นโหลที่เป็นคนดังแต่มีคุณธรรม แค่ไม่ได้เกิดในยุคพระคริสต์ก็มาอยู่ในทุ่งหลังความตายกันไปยาวๆ
มุ่งสู่ใจกลางของนรก กับนรกแปดชั้นสุดท้าย
หลังจากนรกชั้นแรกแล้ว หลังจากนั้นแต่ละชั้นค่อนข้างมีลักษณะคล้ายๆ กัน นรกทั้งหมดเก้าชั้นจะมีลักษณะเป็นวงซ้อนกัน และลึกลงไปจนถึงแกนกลางอันเป็นที่อยู่ของซาตาน ตัวนรกยิ่งลึกจะยิ่งเป็นบาปสำคัญและหนักขึ้นตามชั้น คือ Lust, Gluttony, Greed, Wrath, Heresy, Violence, Fraud และ Treachery เรียงตามบาปเลยคือตัณหา ความตะกละ ความโลภ ความโกรธ การกระทำนอกรีต ความรุนแรง การฉ้อโกง และการทรยศ
ลักษะของการบรรยายนรกแต่ละชั้นจะค่อนข้างคล้ายกันคือพูดถึงบาป มีการลงโทษและพูดถึงบุคคลในนั้น มีข้อสังเกตว่าจะมีลักษณะเป็นตรรกะ เช่น ชั้นของตัณหาพูดถึงการหลงใหลในความรู้สึกทางกาย ความปรารถนาที่มากเกินไป ชั้นเบาสุดนี้ก็เลยจะให้เหมือนขังไว้ในลมพายุเพื่อกระตุ้นผัสสะต่างๆ ชั้นตัณหาก็ค่อนข้างลำเอียงคือส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เป็นราชินีเช่นคลีโอพัตรา ทำบาปเพราะความรัก มีข้อสังเกตว่าชั้นนี้ดูลงโทษไม่รุนแรง หรือชั้นความตะกละที่เป็นชั้นที่สามก็ให้อ้าปากอยู่กลางสายฝนที่ตกเป็นมูตรและอาจม เป็นของขยะแขยงทั้งหลาย
ชั้นที่ลึกๆ ลงไปหน่อยเช่นชั้นที่หก-เจ็ด-แปด-เก้า จะเริ่มมีการพูดถึงโซนย่อยๆ ในนรกแต่ละชั้น ชั้นหกมีสามโซนย่อย แบ่งบาปที่ทำออกเป็นกี่ลักษณะ ซึ่งก็อธิบายรายละเอียดของบาปที่หนักขึ้นและมีรายละเอียดมากขึ้น พวกบาปเช่นการทำตัวนอกรีต ขัดขืนขนบหรือทำลายสังคม การใช้ความรุนแรง ฉ้อโกง และการทรยศหักหลังนั้นมีการอธิบายที่เป็นภาพใหญ่ขึ้น คือเป็นการทำผิดที่ส่งผลเป็นวงกว้างขึ้น เช่น บาปการทรยศว่าด้วยการทรยศชาติ พวกการฉ้อโกง เอาเปรียบในสเกลของรัฐ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ตรงนี้ก็สะท้อนเรื่องว่าดันเตพูดถึงเมืองที่มนุษย์มันเละเทะ แล้วทำให้รัฐหรือสังคมเสื่อมและเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข
สู่ก้นบึ้งของนรก พบปะซาตานที่…ไม่ค่อยเท่เท่าไหร่
(รัวกลอง) ในที่สุดหลังจากผ่านนรกเก้าวงแล้ว ดันเตก็มาถึงแกนกลางของนรกและเตรียมพบกับซาตานเจ้านรก อันที่จริงศูนย์กลางของนรกนี้ค่อนข้างมีนัยว่าอยู่ในขุมที่เก้าคือขุมของการทรยศได้อยู่ เป็นขุมของคนที่ทรยศนายของตน ในแกนนรกนี้มีซาตานอยู่ แต่ซาตานไม่เท่—คือก็เท่แหละ เพราะดันเตวาดภาพซาตานเป็นอสูรสามหัว มีปีกเหมือนค้างคาว ซึ่งนรกขุมนี้หนาวเย็นเกาะไปด้วยน้ำแข็ง เมื่อซาตานขยับปีกก็จะเกิดลมที่ทำให้น้ำแข็งยิ่งเกาะตัวและหนาวเหน็บมากขึ้น
ร่างของซาตานจมอยู่ในน้ำแข็งไปครึ่งนึง ตรงกลางซาตานมีใบหน้าสามหน้า ในปากทั้งสามนั้นกำลังเคี้ยวคนบาปสามคน ตรงกลางคือยูดาสผู้ทรยศพระคริสต์ เป็นคนบาปที่ทรมานที่สุด ส่วนข้างๆ คือบรูตัสและแคสเซียส ผู้ทรยศและสังจูเลียส ซีซาร์ รวมความแล้วซาตานก็ดูเป็นอสูรง่อยๆ ที่กินกบาลคนที่ดันเตมองว่าบาปหนักที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์
ภาพซาตานในงานของดันเตจึงไม่เท่เลย จริงอยู่ว่าซาตานคืออัครเทวทูตที่ทรยศ เรานึกภาพความเท่ นั่งบัลลังก์ แต่ซาตานนี่กลับติดอยู่ในน้ำแข็ง ภาพของซาตานี้ก็เป็นเหมือนบทลงโทษของซาตานเอง และเป็นเหมือนข้อสรุปของนรกทั้งปวงในฐานะสิ่งที่สูญเสียสติปัญญา สูญเสียความเป็นมนุษย์ และสูญเสียศักยภาพที่จะรักไป ซึ่งลักษณะของซาตานนี้เป็นคำสาปที่ทำให้ลูซิเฟอร์ได้สิ่งที่ตรงข้ามกับที่ตนปรารถนาคืออำนาจและเสียงที่เหนือพระเจ้า สุดท้ายเลยมานั่งง่อยๆ น้ำตาน้ำลายไหล พูดก็ไม่ได้
บทสุดท้ายของ Inferno คือทั้งเวอร์จิลและดันเตปีนลงมาตามตัวของซาตาน (ดูถูกขนาดไหนคิดดู) ดันเตเองก็งงๆ แต่สรุปว่าจุดที่ลึกที่สุดนั้นคือแกนโลกพอดี เหมือนพอมุดลงไปก็ไปถึงโลกอีกฝั่ง เงยหน้าขึ้นไปก็เห็นขาซาตานติดอยู่ในน้ำแข็ง—เซอร์เรียลนิดนึง
รวมความแล้วภาพนรกเป็นเหมือนขั้นตอนที่ผู้อ่านได้เดินทางรับรู้บาปของตัวเองไป การเดินทางหลังจาก Inferno ก็จะไปสู่ Purgatory ที่มีลักษณะเป็นภูเขาต้องปีขึ้นไปเป็นชั้นๆ เป็นแดนที่จะชำระบาป คือคนที่ตกนรกคือคนที่ไม่รับรู้ต่อบาป ส่วนคนที่ไปแดนชำระคือเดินทางขึ้นไปสำนึกบาปและชำระบาปของตนก่อนขึ้นสู่สรวงสวรรค์
สรุปแล้วงานเขียน The Divine Comedy เป็นงานเขียนที่อ่านสนุก แม้ว่าเราอาจจะไม่ชินกับปรัชญาและเทวนิยมแบบคริสต์ แต่ด้วยบริบท ประเด็นและรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ทำให้การไปเที่ยวนรกบ้างเป็นครั้งคราวจากงานที่เขียนหลายร้อยปีก่อนก็เป็นการท่องเที่ยวไปยังรากฐานความคิดของโลก—โลกตะวันตก เป็นการเดินทางภายในที่น่าสนใจดี
อ้างอิงข้อมูลจาก