Agoraphobia หรือแปลเป็นไทยว่า ‘โรคกลัวที่ชุมชน’ คือโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ผู้ที่เป็นโรคนี้จะกลัวการตกอยู่ในสถานที่และสถานการณ์ที่ยากลำบาก แล้วหาทางหนีออกไปไม่ได้ หรือความช่วยเหลืออาจมาไม่ถึง และจะเกิดอาการตื่นตระหนก (panic attack) หากรู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น 1.7% ของผู้ใหญ่ทั่วโลกเป็นโรคกลัวที่ชุมชน โดยผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายสองเท่า
ศิลปินชาวลอนดอน Jacqui Kenny (แจ็คกี้ เคนนี) คือหนึ่งในคนจำนวนหลายล้านคนทั่วโลกที่กำลังต่อสู้โรคกลัวที่ชุมชน สำหรับเธอการไปซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านนั้นถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังใจอย่างมาก ไม่ต้องพูดถึงการเดินทางออกนอกประเทศซึ่งต้องอาศัยการเตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้านานหลายเดือน
แต่โรคกลัวชุมชนก็ไม่ทำให้ Jacqui เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เธอยังคงอยากออกเดินทางท่องเที่ยว และวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อก็คือการท่องโลกผ่าน Google Street View โดยระหว่างทางเธอก็ได้ ‘ถ่าย’ ภาพสวยๆ ที่เธอพบเจอโดยการแคปหน้าจอ แล้วแชร์มันผ่านอินสตาแกรม Agoraphobic Traveller
ผลงานของ Jacqui ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าโรคกลัวที่ชุมชนไม่มีผลต่อสายตาเฉียบคมของเธอแม้แต่น้อย ภาพที่เธอแคปหรือ ‘ถ่าย’ มานั้นสวยงามไม่แพ้รูปที่ช่างภาพลงพื้นที่ไปถ่ายจริงๆ ซึ่งเชื่อเถอะว่าไม่ง่ายอย่างที่ิคิดหรอก ถ้าคุณเคยใช้ Google Street View ก็จะรู้ว่าแค่กดพลาดทีเดียว มุมที่อยากเห็นก็หายไปแล้ว โดย Jacqui ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือบางทีหลายวันด้วยซ้ำ กว่าจะได้รูปสวยๆ 1 รูป และที่ผ่านมาเธอแคปหน้าจอไปแล้วหลายหมื่นครั้ง!
เห็นเธอทุ่มเทกับโปรเจ็กต์ Agoraphobic Photographer ขนาดนี้ เราเลยอีเมลไปหาเธอ และนี่คือบทสนทนาของเรา
สิ่งที่ฉันชอบเกี่ยวกับโปรเจ็กต์นี้คือฉันได้เชื่อมต่อกับผู้คนมากมายจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังต่อสู้กับโรคจิตเวชเหมือนกันกับฉัน หรือนักสร้างสรรค์คนอื่นๆ
The MATTER : คุณชอบอะไรมากที่สุดในโปรเจ็กต์ที่กำลังทำอยู่
Jacqui : มีสองสิ่งที่ฉันชอบมากๆ หนึ่งคือฉันรักความรู้สึกเวลาเจอและได้แคปภาพโมเมนต์พิเศษ ซึ่งมันมีไม่เยอะนักหรอก แถมนานๆ ถึงจะเจอที ดังนั้นฉันจึงรู้สึกเหมือนได้รับรางวัลทุกครั้งที่คลิกเลี้ยวมุมมาเจอโมเมนต์พิเศษนั้น ฉันแคปภาพหน้าจอมามากกว่า 26,000 ภาพ และมีเพียง 5-10 ภาพเท่านั้นที่มหัศจรรย์จนฉันแทบหยุดหายใจ
อีกสิ่งที่ฉันชอบเกี่ยวกับโปรเจ็กต์นี้คือฉันได้เชื่อมต่อกับผู้คนมากมายจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังต่อสู้กับโรคจิตเวชเหมือนกันกับฉัน หรือนักสร้างสรรค์คนอื่นๆ ฉันรู้สึกดีมากๆ ที่ตัดสินใจสร้างแอคเคาต์ไอจีนั้นขึ้นมา เพราะเหมือนได้สร้างชุมชนขึ้นมาเลย
The MATTER : คุณชอบถ่ายรูปที่ใดในโลกมากที่สุด
Jacqui : ฉันชอบประเทศมองโกเลีย เปรู เซเนกัล และชีลี ฉันชอบประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากๆ หรือไม่ก็ประเทศที่อยู่ไกลเส้นศูนย์สูตรมากๆ คือเป็นประเทศที่ถ้าไม่สว่างมากๆ ก็ครึ้มมากๆ ไปเลย แล้วฉันยังชอบมองหาสถานที่ที่มีอาคารบ้านเรือนและแฟชั่นการแต่งตัวที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส หรือไม่ก็สีพาสเทล ซึ่งเจอได้เยอะในแถบอเมริกาใต้และแอฟริกา ส่วนใหญ่ฉันจะเลี่ยงเมืองใหญ่ๆ แล้วมองหาภาพในเมืองเล็กที่มีพื้นที่ว่างเยอะๆ มากกว่า
ฉันยังไม่ได้ใช้เวลาในประเทศไทยมากนัก แต่ก็คิดไว้ว่าจะลองดู เพราะประเทศไทยดูเป็นประเทศที่สวยงามมากๆ
The MATTER : เลือกรูปที่คุณชอบที่สุดซัก 3 รูปมาเล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหม
Jacqui : รูปที่ฉันชอบที่สุดคือรูปผู้หญิงเดินข้างๆ มัสยิดในประเทศเซเนกัล ฉันรักสไตล์การแต่งตัวของพวกเธอมากๆ และชอบสีพาสเทลในซีนนั้นด้วย อีกนิดนึงคือเป็นภาพในหนังได้เลย
รูปแม่จูงลูกสาวเดินท่ามกลางฝุ่นควันจากรถ Google ตอนพระอาทิตย์ตกดินในเขต Baganuur ของประเทศมองโกเลียก็เป็นอีกรูปที่ฉันชอบมากๆ
และรูปคู่หนุ่มสาวจุ๊บกันบนถนนในเมือง Chañaral ประเทศชิลี
รูปสุนัขกำลังวิ่งตามเด็กผู้ชายบนแท็กซี่สีเหลือง โดยมีวิวข้างหลังเป็นทิวเขาของเมืองลิมา ประเทศเปรู
และรูปสุดท้ายคือรูปเด็กๆ วิ่งตามรถ Google ในเขต Atacama ของชิลี โทษที นี่มันเกินสามแล้วนี่นา!
The MATTER : โปรเจ็กต์นี้ช่วยทำให้โรคกลัวที่ชุมชนของคุณดีขึ้นบ้างหรือเปล่า
Jacqui : ช่วยได้มากเลย ตอนแรกฉันก็กลัวว่าการอยู่บ้านนานๆ และไล่ดูรูปใน Google Street View จะไม่ดีต่อสุขภาพของตัวเอง แต่เอาเข้าจริงมันดีกับสุขภาพใจของฉันมาก ฉันได้พูดคุยกับผู้คนจากทั่วโลกที่มีอาการคล้ายกัน เราได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวการต่อสู้ของกันและกัน มันทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และฉันคิดว่ามันดีมากๆ ที่ฉันสามารถพูดเรื่องโรคทางจิตเวชได้อย่างเปิดเผย แต่ก่อนฉันเคยกลัวว่าจะถูกตัดสิน เพราะคนส่วนใหญ่มองโรคทางจิตเวชในแง่ลบ แต่ก็ไม่มีใครทำอย่างนั้นกับฉันเลย มีแต่คนส่งกำลังใจมาให้ทั้งนั้น
The MATTER : ครั้งล่าสุดที่คุณไปไกลจากบ้านมากที่สุด คุณไปที่ไหน
Jacqui : เมื่อปีก่อนฉันต้องบินไปงานแต่งงานของพี่สาวที่นิวซีแลนด์ มันเป็นเรื่องท้าทายที่สุดเท่าที่ฉันเคยเผชิญมา สามเดือนก่อนเดินทางฉันนอนแทบไม่หลับเลย ฉันต้องเข้ารับคำปรึกษาและฝึกทำจิตใจให้สงบเพื่อที่จะเอาตัวเองขึ้นเครื่องให้ได้ ฉันดีใจมาก ที่ในที่สุดก็โยนความกลัวทิ้งไปและออกเดินทางได้ มันทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองสามารถทำอะไรก็ได้ไม่ว่ามันจะยากแค่ไหน และฉันได้เห็นพี่สาวแต่งงาน ซึ่งสำคัญมากๆ สำหรับฉันหลังจากพลาดเหตุการณ์สำคัญของครอบครัวมาหลายครั้งแล้ว
สำหรับฉันการไปซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้านมันยากราวกับปืนเขาเอเวอร์เรสต์
The MATTER : คุณอยากบอกอะไรกับคนที่มีอาการคล้ายกัน
Jacqui : ฉันเชื่อเรื่องการเผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเอง ต่อให้จะเป็นเสต็ปเล็กๆ ก็เถอะ สำหรับฉันการไปซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้านมันยากราวกับปืนเขาเอเวอร์เรสต์ แต่ถ้าฉันผลักดันตัวเองให้ออกไปได้ ฉันจะรู้สึกดีมาก และรู้สึกประสบความสำเร็จด้วย
ฉันไม่ชอบเลยที่คำว่า ‘ความอ่อนแอ’ ถูกมองว่ามาคู่กันกับโรคทางจิตเวช เพราะหนึ่งในคนที่แข็งแรงที่สุดที่ฉันรู้จักก็มีอาการทางจิตเวชเหมือนกัน สำหรับฉันการขึ้นเครื่องบินเป็นอะไรที่ต้องใช้ความกล้าหาญและความแข็งแกร่งมากๆ มันอยู่ตรงข้ามกับความอ่อนแอเลย! ฉันอยากให้ทุกคนที่กำลังต่อสู้กับโรคเหล่านี้ได้รู้ว่าความจริงแล้วตัวเองแข็งแกร่งและกล้าหาญมากแค่ไหน
คนส่วนใหญ่คิดว่าโรคกลัวที่ชุมชนคืออาการกลัวพื้นที่โล่งกว้าง แต่อันที่จริงมันคือความกลัวว่าอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายแล้วไม่มีทางหนี หรือเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ
The MATTER : แล้วคุณอยากบอกอะไรกับคนที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคกลัวที่ชุมชน
Jacqui : คนส่วนใหญ่คิดว่าโรคกลัวที่ชุมชนคืออาการกลัวพื้นที่โล่งกว้าง แต่อันที่จริงมันคือความกลัวว่าอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายแล้วไม่มีทางหนี หรือเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ และอีกอย่างหนึ่งคือคนที่เป็นโรคนี้ไม่ได้ต้องอยู่ติดบ้านเพียงอย่างเดียว ฉันก็ออกไปข้างนอกและเดินทางไปไกลเท่าที่จะทำได้ เพียงแต่มันเป็นเรื่องยากสำหรับฉันเท่านั้นเอง
The MATTER : ในอนาคตคุณมีแผนการที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวไหม คุณอยากไปที่ไหนเป็นที่แรก
Jacqui : ฉันอยากจะแสดงผลงานของตัวเองในประเทศที่ฉันใช้เวลาอยู่ด้วยมากๆ ใน Google Street View อันที่จริงก็มีคนชวนให้ไปแสดงงานในประเทศอิตาลีและเม็กซิโกแล้วด้วย ฉันตื่นเต้นมากและอยากรู้ว่าโปรเจ็กต์นี้จะพาฉันเดินทางไปได้ไกลถึงไหน
Photos Courtesy of Jacqui Kenny. ตามไปดูรูปอื่นๆ ได้ที่ไอจี Agoraphobic Traveller
Cover Illustration by erdy