เคยสงสัยมั้ย คนอื่นดูออกได้ยังไงว่าเราเมนใคร?
“สวัสดีค่า เมนแจมินใช่ไหมคะ”
“ใช่ค่า ตัวเองเมนเจโน่ใช่ไหมคะ”
เสียงทักทายดังขึ้นที่หน้าคอนเสิร์ต มาพร้อมกับความสงสัยที่ก่อขึ้นในใจเรา นี่เขารู้ได้ยังไงว่าเราเมนใคร ทั้งที่ยังไม่ทันได้เอ่ยปากบอก แต่เอ๊ะ…พอมาคิดดูดีๆ เราเองก็มองออกเหมือนกันนี่ว่าเขาเมนใคร
เอาล่ะ หรือนี่จะเป็นก้าวแรกของเส้นทางแม่หมอเบอร์หนึ่ง เพียงแค่มองแวบเดียวก็ดูออกไปถึงจิตใจคนได้ ญาณทิพย์ที่แอบซ่อนมานาน ถึงวันเผยโฉมแล้วสินะ
แต่เดี๋ยว ขอเบรกเส้นทางแม่หมอไว้เท่านี้ก่อน เพราะถ้าญาณทิพย์ในตัวเรามีจริง คนหมื่นกว่าคนหน้าฮอลล์คอนเสิร์ตก็แห่ไปเปิดสำนักกันได้หมดแล้ว ต่างคนต่างดูออกกันขนาดนี้ ถึงคราวหมอปลาตกงานแล้วไหมเนี่ย
เพื่อไม่ให้หมอปลาตกงาน สำนักแม่หมอเกลื่อนเมือง The MATTER เลยขอหยิบเอาแง่มุมทางจิตวิทยาเล็ก ๆ มาอธิบายว่าอะไรกันนะที่ทำให้ ‘คนอื่นดูออกว่าเราเมนใคร’
เพราะเราเหมือนเมนมากกว่าที่ตัวเองคิด
คำอธิบายแรกที่เข้าใจง่ายที่สุด นั่นเพราะ ‘เราเหมือนเมนมากกว่าที่ตัวเองคิด’ ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว การเลือกเสื้อผ้าหน้าผม รองเท้าที่ใส่ กระเป๋าที่สะพาย หรือแม้แต่เครื่องประดับชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่บรรจงคัดมาอย่างดี อาจมีกลิ่นอายของเมนเราประดับอยู่
เสื้อตัวนี้เมนเคยใส่ กระเป๋าแบรนด์นี้เมนเป็นพรีเซ็นเตอร์ เสื้อผ้าลุคนี้เป็นแนวเขาเลย ตานี่ก็ต้องแต่งตามที่เขาแต่ง คัดเบ้าราวกับก๊อปวาง โทนชมพูหวานแบบนี้เป๊ะที่สุด ทั้งหมดทั้งมวลบนสรรพางค์กายเราอาจยึดโยงมาจากสิ่งที่เมนเราเป็น
และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่เราได้หยิบจับเสื้อผ้าเหมือนเมนขึ้นมาใส่ ได้แต่งตัวในสไตล์ที่เมนเราชื่นชอบนั้น นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในตัวเราเอง รู้สึกเหมือนเราได้เป็นส่วนหนึ่งกับเขาจริงๆ ราวกับเป็นการประกาศก้องว่าฉันคือแฟนคลับของเธอนะ ซึ่งสิ่งนี้ก็มีแง่มุมทางจิตวิทยารองรับไว้ด้วย ว่ามันคือการนำเสนอความภาคภูมิใจของเราออกมาผ่าน ‘อัตลักษณ์ทางสังคม’ (Social identity) นั่นเอง
แล้วถ้าถามว่าอัตลักษณ์ทางสังคมนี้คืออะไร? จากการศึกษา Social Identity Theory ในปี 1979 ของ อองรี ทอชเฟล (Henri Tajfel) และจอห์น เทิร์นเนอร์ (John Turner) นักจิตวิทยาสังคม เราก็สรุปนิยามของ อัตลักษณ์ทางสังคมมาได้ว่า มันคือตัวตนที่เราแสดงออกหลังจากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใดสังคมหนึ่งมา และโดยที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่เราหยิบยกนำเอาสิ่งต่างๆ ในสังคมนั้น มานำเสนอผ่านตัวตนของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ ค่านิยม บรรทัดฐานใดๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักมีความสำคัญทางอารมณ์กับเรา เพราะมันสามารถนำไปสู่ความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้นๆ ได้
เมื่อนำสิ่งนี้มาเทียบเคียงกับการเป็นแฟนคลับ ก็สามารถอธิบายได้แล้วว่า เวลาที่เรารักศิลปินสักคน แล้วเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแฟนคลับเขา ความภาคภูมิใจที่ได้เป็นแฟนคลับก็จะตีตื้นขึ้นมาในใจเรา จนบางครั้งเราเลือกที่จะแสดงออกถึงตัวตนแฟนคลับที่รักศิลปินสุดหัวใจผ่านเสื้อผ้าบนร่ายกายของเราเอง
หลังประกาศว่าจะมีคอนเสิร์ต ไม่ต้องรอให้ถึงวันกดบัตร เพราะบางคนกดเข้าแอปส้มเลือกเสื้อผ้าลงตะกร้าเตรียมเอาไว้แล้ว ซื้อตุนเอาไว้ให้อุ่นใจว่าในวันคอนเสิร์ตจริงๆ เราจะไปได้ในลุคที่มั่นใจและตะโกนความเป็นตัวเองออกมาได้ แต่หากลองสังเกตดูในตะกร้าที่กดเตรียมไว้ เราอาจพบว่ามันมีกลิ่นอายและรายละเอียดต่างๆ ที่มาจากเมนของเราซ่อนอยู่
ถ้าศิลปินที่เรารักชอบแต่งตัวด้วยเสื้อหนังทรงไบค์เกอร์เท่ๆ วันไปคอนเสิร์ตเราก็หาเอฟเสื้อผ้าที่เป็นสไตล์เดียวกับเขามาสวมใส่ ศิลปินชอบใส่เสื้อลายทาร์ทัน เราก็หาเอาเสื้อ กระโปรง หรือกระเป๋าที่มีลายทาร์ทันมาใช้ ศิลปินเราชอบแมว วันไปคอนฯ ก็จัดเต็มทั้งหูแมว เสื้อลายแมวแบรนด์ที่ศิลปินชอบใส่ หรือศิลปินชอบเล่นบาส ก็จัดชุดนักบาสไปเลยเต็มที่
มากไปกว่าเสื้อผ้าหน้าผมบนร่างกาย การเป็นแฟนคลับนั้น ยังของมีข้าวของเครื่องใช้อีกสารพัดที่เป็นสื่อกลางระหว่างศิลปินกับแฟนคลับ ไม่ว่าจะสินค้าที่ออกโดยบริษัทเอง หรือข้าวของที่แฟนคลับจัดทำขึ้นมา ทั้งตุ๊กตา ผ้าเชียร์ แท่งไฟ การ์ดหรือของกระจุกกระจิกต่างๆ สุดแต่ใจจะสรรหามาได้หอบไปด้วยเสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ที่แฟนคลับหยิบยกมาเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงความชอบของตัวเอง
ทว่าภาพจำก็สำคัญไม่แพ้กัน
นอกจากอัตลักษณ์ทางสังคมที่บ่งบอกว่าเราเป็นเมนใครแล้ว การที่คนอื่นจะดูออกว่าเราเมนใครนั้นก็ต้องอาศัย ‘ภาพจำ’ ด้วยเป็นส่วนใหญ่ เพราะลองจินตนาการว่า ถ้าเราแต่งตัวคล้ายเมนไปเดินเล่นแถวสยามที่มีผู้คนควักไขว่เป็นร้อย แต่ในร้อยนั้นอาจจะไม่ได้มีแฟนคลับของศิลปินที่เรารักปะปนอยู่ด้วยเลย คนที่สยาม ก็จะไม่มีใครดูออกว่าเราเป็นแฟนคลับใคร ตัวตนที่เราตั้งใจแสดงออกมา ก็จะไม่ถูกโบกมือทักทาย
แต่ถ้าเราไปปรากฏตัวอยู่หน้าคอนเสิร์ต แม้ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางผู้คนนับหมื่นหน้าราชมังฯ ตัวตนการเป็นแฟนคลับของเราก็จะเฉิดฉายออกมาอยู่ดี และผู้คนในพื้นที่นั้นจะรับรู้ได้ว่าเมนของเราคือใคร
‘ภาพจำ’ นี้ ก็ตรงกับทฤษฎีทางจิตวิทยาสังคม Stereotypes ที่หมายถึงการเหมารวมลักษณะบางอย่างเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อจำแนกกลุ่มคนตามปัจจัยต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางสมองที่ใช้สำหรับจัดเรียงข้อมูล และเราสามารถนำสิ่งนี้มาใช้อธิบายได้ว่า ‘ทำไมคนอื่นถึงดูออกว่าเราเป็นเมนของใคร’
นั่นก็เพราะคนเป็นแฟนคลับด้วยกัน แม้จะคนละเมน แต่เมื่อเราอยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกัน ดูสื่อเหมือนๆ กัน เห็นภาพศิลปินเหมือนๆ กัน อัตลักษณ์ทางสังคมเหล่านี้ก็แทรกซึมลงไปถึงตัวตนของเราพร้อมๆ กัน ทำให้เราสร้างภาพจำได้ว่าแฟนคลับคนนี้มีลักษณะแบบนี้ ศิลปินคนนี้มีลักษณะแบบนี้ เมื่อไปอยู่ในพื้นที่ที่แฟนคลับมารวมตัวกันนับหมื่น เราก็เลยยังสามารถมองออกได้ ว่าคนไหนคือแฟนคลับของใครจากภาพจำที่เรากำหนดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าใดนัก ที่ใครสักคนหน้าคอนเสิร์ตจะปรายตามองเราแค่แวบเดียวแล้วรู้ได้ว่าเราคนนี้เป็นเมนของใคร ในเมื่อทุกการแต่งกาย ทุกการแสดงออกของเรานั้น ล้วนเกิดขึ้นจากรายละเอียดเล็กๆ ของเมนมาประกอบเข้าด้วยกัน
จนบางครั้งหลังเลิกคอนเสิร์ต ก็จะมีคนทวีตไปในแนวเดียวกันว่าดูออกเลยว่าคนไหนเมนใคร เมนคนนี้จะมาในภาพลักษณ์แบบนี้ เมนคนนั้นจะมาในภาพลักษณ์แบบนั้น มีทั้งลุคคุณหนูติดแกลม ลุคแรปเปอร์ ลุคพี่สาวใจดี ลุคน่ารักสดใส แต่ทั้งหมดนี้ก็เกิดจากภาพจำที่ทำให้เราตัดสินออกไปว่าต้องใช่เมนคนนี้แน่ๆ
นอกจากนี้อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในหมู่แฟนคลับ มักมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของศิลปินปรากฏอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นที่รู้กันดี ว่าของสิ่งไหนเป็นภาพแทนของศิลปินคนใด ยิ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ใครต่อใครจะมองออกว่านั่น เธอคนนั้นเมนอินจุนสินะ เพราะเธอพกมูมินมาเป็นกระสอบขนาดนั้น ส่วนเราเป็นเมนมาร์คล่ะ เพราะเสือชีตาร์ที่พกมาด้วยแทบจะสิงร่างอยู่แล้ว
ท้ายที่สุด เวลาเรามีใครสักคนทักถูกว่าเมนของเราคือใคร จากหัวใจที่สงบอยู่ก็พลันเต้นแรงขึ้นมา เพราะสิ่งนี้สามารถยืนยันได้แล้วว่าความรักที่เรามีให้ศิลปิน ความภาคภูมิใจที่ได้เป็นแฟนคลับเขา มันสามารถส่งออกผ่านตัวตนของเราได้จริงๆ
อ้างอิงจาก