หลายๆ คนอาจลุ้นกับสลากกินแบ่งรัฐบาล กลายเป็นสถานการณ์ที่ต้องใช้ทั้งข้อมูล ใช้ทั้งดวงเพื่อตัดสินเส้นทางของตนเองในชั่วพริบตาเดียวช่วงเวลาแบบนี้เลยเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะพูดถึงหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับการพนัน
The MATTER คัดเอาเฉพาะการ์ตูนที่เป็นการพนันแบบชัดแจ้ง บางเรื่องก็อาจจะดวลกันด้วยเงินตราแต่อย่างเดียว และบางเรื่องก็อาจจะเอาชีวิตมาร่วมเดิมพันด้วย ทั้งนี้ การแนะนำการ์ตูนแนวพนันไม่ใช่เพื่อส่งเสริมการเล่นพนันในชีวิตจริง แต่การอ่านการ์ตูนแนวนี้จะทำให้เราพอเข้าใจโครงสร้างของการเล่นพนันบางอย่าง และเป็นการเตือนตัวเองว่ายากนักที่ใครจะเฮงได้แบบตัวละครเอกในการ์ตูนเหล่านี้
Kakegurui โคตรเซียนโรงเรียนพนัน
ถ้าจะถือว่าเรื่องนี้เป็นตัวแทนของการ์ตูนพนันในยุคปัจจุบันก็คงไม่ผิดนัก กับเรื่องราวของ จาบามิ ยูเมโกะ ที่เดินทางเข้าสู่ที่โรงเรียนเอกชนเฮียคคะโอ โรงเรียนระดับไฮโซที่มีกิจกรรมยอดนิยมในโรงเรียนเป็นการพนัน ซึ่งสิ่งนี้เองเป็นสิ่งที่ยูเมโกะหลงใหลใคร่อยากจนใช้คำเรียกเธอว่า ‘ผีพนัน’ ได้อย่างเต็มปาก การเล่นพนันในเรื่องมีหลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการจับการพนันปกติมาผสมกับการละเล่นที่ดูไม่น่าจะพนันได้ให้กลายเป็นเกมการพนัน อาจจะเป็นนัยของเรื่องด้วยที่บ่งบอกว่าทุกอย่างในชีวิตล้วนแล้วแต่เป็นการพนันได้ และในขณะเดียวกันก็เป็นการเตือนกลับมาว่า อย่าได้ลุ่มหลงกับอะไรจนเกินควรเช่นกัน
การ์ตูนเรื่องนี้ถูกสร้างภาคแยกออกมาอีกหลายภาค ซึ่งในไทยทางสำนักพิมพ์รักพิมพ์ได้จัดทำภาคหลักกับภาคเสริมที่มี ซาโอโตเมะ แมรี่ เป็นตัวเอก แล้วก็เคยถูกสร้างเป็นละครคนแสดงมาแล้วหนึ่งครั้ง แต่ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยมากที่สุดในช่วงนี้ก็คงเป็นฉบับอนิเมะที่หาชมแบบถูกกฎหมายได้ทาง Netflix แถมยังมีประกาศสร้างภาคต่อมาแล้วอีกต่างหาก
ไคจิ กลโกงเกมมรณะ
เรื่องนี้เป็นทั้งการ์ตูนพนันและการ์ตูนเล่นเกมแลกชีวิต ซึ่งเป็นผลงานการเขียนภาพของอาจารย์ Nobuyuki Fukumoto ตัวเรื่องบอกเล่าชีวิตของ อิโตะ ไคจิ คนเสเพลที่ดันเซ็นค้ำประกันให้เพื่อนจนเกิดเป็นหนี้่จำนวนมากและเขาเองก็ไม่สามารถหาทางใช้หนี้เหล่านั้นได้ ก่อนที่เจ้าตัวจะได้รับข้อเสนอให้ไปขึ้นเรือเอสพัวร์ (Espoir) เพื่อเล่นการพนันที่ได้ทั้งเงินก้อนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพันร่วมด้วย
การ์ตูนถูกเขียนมาตั้งแต่ปี 1996 ซึ่งถ้าจะพูดว่าเป็นเรื่องที่เซ็ตมู้ดกับโทนของการ์ตูนพนันและการ์ตูนแนวเล่นเกมเพื่อเอาตัวรอดให้กับการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ที่ตามหลังมาก็ไม่ผิดนัก ตัวเนื้อหาของ ไคจิ ณ ตอนนี้ถูกแบ่งออกเป็นห้าภาคหลัก ทั้งยังมีภาคแยกย่อยของตัวละครเบี้ยบ้ายรายทางอีกหลายภาค แน่นอนว่าดังขนาดนี้จึงถูกสร้างเป็นอนิเมชั่นและภาพยนตร์คนแสดง สำหรับฉบับหนังสือการ์ตูน ก็มีสำนักพิมพ์ Tomorrow Comix หรือ TMCX เป็นตัวแทนวางจำหน่ายให้นักอ่านชาวไทยได้สะสม
อาจารย์ Nobuyuki Fukumoto ยังมีเอกลักษณ์เด่นอีกอย่าง คือการใช้เสียงบรรยายหรือเสียงเอฟเฟ็กต์ในการ์ตูน อย่าง Zawa (ざわ) ที่สร้างบรรยากาศชวนไม่สบายใจ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ คล้ายกับเสียง Dododo (ドドド) ของโจโจ้ ล่าข้ามศรรตวรรษ และตัวอาจารย์ได้เขียนการ์ตูนเกี่ยวกับการพนันอีกหลายเรื่อง ตัวอย่างที่หลายๆ คนน่าจะจดจำได้ก็คงเป็นเรื่อง Akagi การ์ตูนไพ่นกกระจอกที่มีความนิยมในญี่ปุ่นไม่น้อยไปกว่า ไคจิ แต่ในตลาดต่างชาติอาจจะเป็นที่รู้จักน้อยกว่าเท่านั้น
Million Dollar Kid
หรืออีกชื่อคือ Hyakuman Dollars Kid (100man$ Kid) แต่ขึ้นชื่อเรื่องมาแบบนี้ อาจจะยังงงๆ มึนๆ ไม่รู้จักกัน ถึงอย่างนั้นถ้าเรียกด้วยชื่อ ‘หักเหลี่ยมเซียน‘ น่าจะมีคนร้องอ๋อกันเพียบ เรื่องราวเกี่ยวกับทายาทตระกูลนิไคโด ที่ได้รับเงินทุนหนึ่งร้อยล้านเยนมา ซึ่งตัว นิไคโด ฮิโรชิ น้องชายคนเล็กของตระกูลก็ตัดสินใจเอาเงินก้อนนี้ไปเล่นพนันที่ลาสเวกัสเสียเลย และหลายๆ คนคงคิดว่าอนาคตของเด็กคนนี้จะสิ้นสุดลง แต่กลายเป็นว่าเมืองคาสิโนแห่งนี้กลับปลุกวิญญาณนักสู้ให้กับตัวเอก ที่สุดท้ายก็ฝ่าฝันจนกลายเป็นนักพนันตัวจริง
การ์ตูนเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่่เด็กยุค 90s ได้อ่านและทำความรู้จักการพนันแบบสากลอย่าง ไพ่โป๊กเกอร์, อินเดียนโป๊กเกอร์, รูเล็ตต์, แบล็คแจ็ค, แครปส์ ส่วนตัวเนื้อเรื่องนั้นก็โม้สะบัดช่อ จนพอย้อนนึกในตอนนี้แล้วไอ้เทคนิคบางอย่างที่เล่นในเรื่องมันโกงและใช้งานจริงไม่ได้นี่นา!
Gamble Fish
ชิราซากิ โทมุ ที่ย้ายมาเรียนในโรงเรียนชิชิโด โรงเรียนประจำที่เต็มไปด้วยลูกคนรวยกับเด็กระดับหัวกะทิ การย้ายมาเรียนโรงเรียนแห่งนี้ของวัยรุ่นชายที่ดูธรรมดาๆ กลับไม่ใช่เรื่องธรรมดาเพราะเขาได้ไปหาเรื่อง ชิชิโด มิกะ หลานสาวของผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อ ‘ล่อเหยื่อ’ ให้กลุ่มคนที่ต้องการรักษาผลประโยชน์เปิดเผยตัวออกมา และแน่นอนว่าเกมที่โทมุท้าดวลกลุ่มคนเหล่านั้นก็คือเกมพนันหลากรูปแบบ และหนึ่งในคู่ต่อสู้สุดแกร่งที่มาขวางทางโทมุก็คือครูในโรงเรียนที่ชื่อ อาบิดานิ
ผลงานการ์ตูนที่ทางวิบูลย์กิจผู้จัดจำหน่ายเล่มภาษาไทยออกปากว่าพิมพ์รอบเดียว ไม่พิมพ์ซ้ำแน่ๆ เพราะเรื่องอุดมไปด้วยการพนัน การเสี่ยงชีวิต และการโชว์เรือนร่างของตัวละครหญิงที่คนเขียนจัดให้หนักเกินไปในระดับหนึ่ง ถึงหลายๆ ช่วงของเรื่องจะพลิกลายเป็นการ์ตูนเอาชีวิตรอดกับการ์ตูนแนวฮาเร็ม แต่ปมหลักๆ ของเรื่องก็ยังอยู่ที่การพนันหลายแบบ
Osawa ga Serasubegasu Gakuen
ผลงานการ์ตูนสั้นๆ ของอาจารย์ นาคานิชิ ยาสุฮิโระ ที่เล่าเรื่องของอาจารย์สาว ฮายาเตะ จุน สาววัย 20 จอมบริหารเสน่ห์และนิยมเล่นการพนัน ที่กลับมาเป็นครูที่ญี่ปุ่นแม้ว่าเธอจะฟาดเงินก้อนใหญ่จากการตะลุยคาสิโนในลาสเวกัสมาแล้วก็ตาม ในเรื่องนี้อาจารย์นาคานิชิเอาแนวคิดการพนันกับการใช้ชีวิตของนักเรียนที่ต้องตัดสินใจอนาคตที่ไม่แน่นอนมาผสมกันเป็นบทเรียนสอนใจ และยังไม่ทิ้งลายของผู้เขียนด้วยการใส่ฉากเซอร์วิสเป็นระยะ ถึงอย่างนั้นในฉากการเล่นพนันก็ไม่ดุเดือดโอเวอร์เท่าการ์ตูนดังเรื่องอื่น จนเหมือนว่าในเรื่องนางเอกของเราเฮงอย่างเดียว เลยทำให้เรื่องนี้จบลงในเวลาไม่นานนัก
หลังจากนั้นอาจารย์นาคานิชิก็ไปเขียนการ์ตูนกีฬา ก่อนจะวนเวียนไปเขียนงานที่นักอ่านส่วนใหญ่น่าจะจดจำได้ เพราะคงเป็นการ์ตูนที่ไม่มีใครกล้าซื้อลิขสิทธิ์ได้ อย่างเรื่อง 15 หยกๆ 16 ไม่หย่อน และอาจารย์ก็วนเวียนในสายงานวับๆ แวมๆ อยู่อีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมีงานน้ำดีอย่าง Doll House ภัตตาคารเสิร์ฟสุข ที่มีเล่มภาษาไทยให้เก็บสะสมกันง่ายๆ ออกมาขายด้วยเช่นกัน
โคตรเซียนเหลี่ยมเพชร ซากะ
เมื่ออาจารย์ มิยาชิตะ อากิระ ได้สร้างชื่อกับ โรงเรียนลูกผู้ชาย อาจารย์ก็วนเวียนอยู่ในการ์ตูน ‘เด็กดี’ อีกระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับความสำเร็จเท่ากับผลงานก่อนหน้า อาจารย์จึงเริ่มเขียนงานสาย ‘เด็กไม่ดี’ บ้าง งานของอาจารย์จึงเริ่มกลับมาเป็นที่จดจำอีกครั้ง หนึ่งในผลงานช่วงนั้นก็คือ โคตรเซียนเหลี่ยมเพชร ซากะ
ซากะ เป็นชื่อของชายที่วนเวียนอยู่ในโลกการพนัน ไม่ใช่เพราะเขาติดการพนัน หรือเพราะอยากจะหาเงินจำนวนมากเพื่อชดใช้หนี้ใดๆ ตัวของเขาเองกล่าวว่าการเล่นพนันของเขานั้นเป็นชะตาฟ้าลิขิตต่างหาก ซากะพร้อมเล่นพนันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพนันจริงจังอย่าง บาคาร่า, โป๊กเกอร์, ไพ่นกกระจอก, ไพ่แบบญี่ปุ่น ไปจนถึงการพนันแบบถูกกฎหมายอย่างปาจิงโกะ แม้แต่กิจกรรมที่ไม่ใช่การพนันเขาก็พร้อมจะทำให้มันเป็นการพนันเช่นกัน
ด้วยสไตล์เขียนดุดันไม่แพ้ โรงเรียนลูกผู้ชาย เลยทำให้เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก จนถูกสร้างเป็นละครคนแสดง และถูกดัดแปลงเป็นปาจิงโกะ จนรู้สึกน่าเสียดายที่งานช่วงหลังของอาจารย์มิยาชิตะมีอาการแผ่วปลาย ส่วนใครที่อยากเก็บการ์ตูนเรื่องนี้ในฉบับภาษาไทยอาจจะยากสักนิดเพราะทางสยามอินเตอร์คอมิกส์จัดทำการ์ตูนเรื่องนี้จนจบครบถ้วนมานานแล้ว
*หมายเหตุ – คำว่า ‘เด็กดี’ กับ ‘เด็กไม่ดี’ เป็นการเปรียบเปรย ส่วนตัวของอาจารย์มิยาชิตะในช่วงแรกเป็นงานแนวโชเน็น ก่อนจะปรับมาเป็นแนวเซย์เน็นที่่เหมาะกับผู้อ่านที่มีอายุมากกว่ากลุ่มแรก
เหนือกระดาน ใต้ฟ้า ข้าไร้เทียมทาน
ไพ่นกกระจอกก็เป็นการพนันอีกประเภทที่นักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุนนิยมเอามาเขียนถึง อย่างเรื่อง Akagi ที่พูดถึงไปก่อนหน้า หรือเรื่อง Tetsuya – Jansei to Yobareta Otoko กับ Naki No Ryuu ก็เป็นการ์ตูนเรื่องดังในญี่ปุ่น แต่คนไทยจะคุ้นเคยกับการปรากฏตัวในลักษณะมุกแซวในการ์ตูนเรื่องอื่นมากกว่า แล้วก็มี Saki การ์ตูนไพ่นกกระจอกที่เขียนขึ้นในปี 2006 ซึ่งคนไทยน่าจะผ่านตามาบ้างด้วยความที่เรื่องถูกเขียนให้เป็นกลุ่มนักเรียนสาวได้มาลองฝีมือกับการแข่งไพ่นกกระจอก
แต่การ์ตูนไพ่นกกระจอกที่หาอ่านไม่ยาก และต่อให้ไม่เข้าใจกติกาของมันแบบถ่องแท้ก็ยังอินได้ง่ายๆ คือ เรื่อง เหนือกระดาน ใต้ฟ้า ข้าไร้เทียมทาน ที่รูปปกอาจจะทำให้หลายคนเข้าใจว่านี่เป็น ‘การ์ตูนการเมือง’ ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะเรื่องนี้เป็นการ์ตูนที่จับเอาผู้ปกครองชื่อดังของโลกมารวมตัวกันแล้วดวลไพ่นกกระจอกเพื่อตัดสินชะตากรรมของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในช่วงหลังของเรื่องที่ชาวโลกได้พบว่า กองทัพนาซีไม่ได้ล่มสลายแต่ไปซ่อนอยู่ในดวงจันทร์เพื่อบุกมาโจมตีโลก และ โคอิสึมิ จุนอิจิโร่ ก็เป็นหนึ่งในนักสู้ฝ่ายโลกที่ต้องดวลไพ่นกกระจอกด้วยเทคนิคที่เซียนยังต้องอาย
ทุกอย่างในเรื่องบอกได้เลยว่าไม่มีเข้าใกล้ความจริงสักนิด ทีเด็ดอยู่ตรงที่เราจะได้เห็น ปูติน, บุช, เรแกน หรือแม้แต่พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 มาควงไพ่นกกระจอกโชว์นี่แหละ แถมมุกหลายมุกยังเล่นได้อย่างหน้าด้านระดับที่คุณเองก็คงไม่อยากจะเชื่ออีกต่างหาก ใครที่คิดว่าการ์ตูนเกี่ยวกับการพนันจะไปได้ไม่ไกลแตะขอบฟ้า ขอแนะนำให้อ่านเรื่องนี้