เรารู้ว่าภาพยนตร์สามารถสอดแทรกและสะท้อนเรื่องราวอื่นใด นอกจากความบันเทิงและเนื้อเรื่องย่อโดยตรงของมัน เรามักจะหวังเรื่องราวเชิงโครงสร้าง เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสังคม ผ่านภาพยนตร์ที่เนื้อหาค่อนข้างไปทางการเมือง ประวัติศาสตร์ ดราม่า แต่ภาพยนตร์โรแมนติกก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างเช่น American Dream บนภาพยนตร์รักรสขม ที่กลายเป็นตัวร้ายที่ทำลายชีวิตคู่
ความฝันของทุกชนชั้นอย่าง ‘American Dream’ วาทกรรมจากหนังสือ The Epic of America ของ เจมส์ ทรุสโลว อดัมส์ (James Truslow Adams) ในปี ค.ศ. 1931 ผลักดันให้คนหันมาสร้างเนื้อสร้างตัว ด้วยความขยันขันแข็ง แทนที่จะรอโอกาสให้เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นคนชนชั้นไหนก็ตาม ก็สามารถลืมตาอ้าปากได้ในประเทศนี้ ประมาณว่าชีวิตลิขิตเองได้นั่นแหละนะ จนทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศอเมริกาในช่วงนั้น กลายเป็นดินแดนแห่งความหวัง ความฝัน การเริ่มต้นชีวิตใหม่ ใครๆ ก็เริ่มต้นได้ที่นี่ แต่ความฝันอันหอมหวาน กลายเป็นกับดักหลุมใหญ่ที่กว่าจะรู้ตัวก็ไม่อาจปีนขึ้นปากบ่อได้อีกแล้ว
‘Revolutionary Road ถนนแห่งฝัน สองเรานิรันดร์’ ภาพยนตร์โรแมนติก ดราม่า ความรัก ความฝัน ที่สะท้อนเรื่องราว American Dream ในอีกด้านได้อย่างเจ็บแสบ ผลงานการกำกับจาก ‘แซม เมสเดส (Sam Mendes)’ ที่เคยฝากความประทับใจให้คอหนังทั่วโลกมาแล้วใน ‘American Beauty’
เรื่องราวของครอบครัวที่ดำเนินชีวิตตามแบบอเมริกันดรีม แฟรงก์ (รับบทโดย ลีโอนาโด ดิคราปิโอ) ปีนป่ายจากผู้ใช้แรงงานที่ท่าเรือ มาเป็นหนุ่มออฟฟิศที่มีงานและเงินเดือนอันมั่นคง มากพอที่จะเลี้ยงดู เอพริล (รับบทโดย เคต วินสเลต) ภรรยาคนสวยที่มีดีกรีเป็นนักแสดงสาวและลูกๆ ของเขา ในย่านคนมีฐานะ
แล้วทำไมอเมริกันดรีมถึงทำร้ายพวกเขา?
การมีบ้าน รถ การงานที่มั่นคง ในอายุที่ไม่ได้มากนัก ทำให้ครอบครัวนี้ดูมีพร้อมทุกอย่างจนน่าอิจฉา แต่คนที่อยู่ข้างในกลับไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แฟรงก์ ผลักดันตัวเองจากผู้ใช้แรงงาน มาเป็นพนักงานออฟฟิศที่มั่นคงกว่า เขายอมทำงานออฟฟิศแบบพ่อของเขา พ่อแบบที่เขาสัญญากับตัวเองว่าจะไม่เป็นแบบนั้นเด็ดขาด เลือกตำแหน่งที่ให้เงินมากพอจะหล่อเลี้ยงครอบครัวและหน้าตาในสังคมของเขาได้ แฟรงก์ จึงเป็นเหมือนตัวแทนของผู้ที่เชื่อในอเมริกันดรีมอย่างสุดหัวใจ
แต่เอพริล เป็นเหมือนตัวแทนของคนที่มีความฝันของตัวเอง อเมริกันดรีมจึงไม่ใช่คำตอบของเธอ อาชีพนักแสดง แม้ไม่ได้เป็นไปได้ด้วยดีมากนัก แต่ก็ยังพอให้ชื่อเสียงกับเธอได้บ้าง เมื่อย้ายครอบครัวมาอยู่ที่ย่านคนมีฐานะอย่างเต็มตัว เธอต้องสละอาชีพนักแสดงมาเป็นแม่บ้าน อยู่กับชีวิตที่สามีของเธอหยิบยื่นมาให้ การใช้ชีวิตตามความฝันคนอื่น มันจะอยู่ได้นานสักแค่ไหนกัน ในที่สุด เอพริลเลือกที่จะเดินตามความฝันของตัวเองต่อ แต่นั่นหมายความว่า แฟรงก์ต้องเดินออกจากชีวิตอเมริกันดรีมด้วยเช่นกัน
ความร้าวรานของทั้งคู่จึงเริ่มจากตรงนั้น ตรงที่อเมริกันดรีมและความฝันของใครสักคน ที่ไม่ได้ยึดโยงกับสังคมรอบข้าง กลายเป็นเส้นขนานที่ไม่อาจวกกลับมาเจอกันได้
อเมริกันดรีมของแฟรงก์ จึงเป็นเรื่องของการผลักดันตัวเอง ให้มีชีวิตที่ดี มีงานที่มั่นคง ชีวิตที่ใครๆ มองเข้ามาแล้วก็อยากเป็นแบบเขาบ้าง ความฝัน ความหวัง ของเขา ยึดโยงอยู่กับสังคมรอบข้างที่แอบวาดเส้นทางให้ชีวิตของเขา แต่เขากลับเชื่อว่าเส้นทางเหล่านั้น เขาเลือกมันด้วยตัวเองเชื่อว่าตัวเองยืนอยู่ท่ามกลางความสำเร็จแล้ว จนเอาไม่อาจละทิ้งมันไปได้ เมื่อความฝันของปัจเจก (จากเอพริล) มาฉุดรั้งอเมริกันดรีมในอุดมคติของเขา ทุกอย่างมันจะพังครืนลงถ้าเขาละทิ้งมันไป เหมือนกับว่า ความสำเร็จในอุดมคติของเขา มีอยู่เพียงแบบเดียวเท่านั้น
เมื่อทุกอย่างบีบคั้นเข้ามา การใช้ชีวิตของทั้งคู่มีนิยามที่แยกเส้นทางกันอย่างสิ้นเชิง จนความรักที่มีให้กันอย่างเหลือล้นในยามแรกเริ่มเหือดแห้งไป แฟรงก์ จากหนุ่มน้อยที่มีความฝันอันแรงกล้า จนเอพริลหลงใหลในตัวตนของเขา กลับหลงลืมและละเลยความฝันของตัวเอง หยิบฉวยเอาความฝันที่คนอื่นหยิบยื่นมาให้ และเขาก็ได้แต่วิ่งตามความฝันแบบไม่มีวันถึงเส้นชัยเสียที
ยิ่งมองออกไปนอกจอเงิน ยังมีคนอีกมากมายที่ไปแสวงหาความหวังอย่างที่อเมริกันดรีมเชื้อเชิญ ทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไปมาก แต่ก็ยังไม่ได้ก้าวสู่อีกชนชั้นอย่างที่หวังเอาไว้ เมื่อปัจจัยทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้เอื้ออำนวยให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นจากหยาดเหงื่อได้ง่ายๆ
ความผิดหวังที่มีต่ออเมริกันดรีม ก็คงจะเป็นการยัดเยียดความฝันที่ยังเป็นฝันอยู่อย่างนั้น มาสู่ชีวิตของคนจริงๆ ที่ต้องเก็บเอาฝันของตัวเองเข้ากระเป๋าไป
อ้างอิงข้อมูลจาก