หาก male gaze สร้างขนบให้ผู้หญิงเดินตาม ผ่านสายตาที่ผู้ชายมองว่าเหมาะสม female gaze จะเป็นการเดินในทางของตนเอง ไม่ต้องอยู่ในกรอบที่ว่า ผู้หญิงที่ดีต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เท่านั้น สามารถเป็นผู้หญิงในแบบที่ตนเองอยากเป็น แบบที่ไม่มีขนบใดมาครอบ โดยเฉพาะในโลกภาพยนตร์
แม้ภาพยนตร์ที่มีตัวเอกเป็นเพศหญิง หรือนำเสนอเพศหญิงในมุมมองที่แข็งแกร่ง เฉลียวฉลาด มีอำนาจ จะยังคงมีให้เห็นอยู่บ้าง (และจำนวนไม่น้อยก็ทำออกมาได้ดี) แต่ผลงานเหล่านั้น ส่วนมากถูกสร้างสรรค์โดยผู้กำกับชาย ที่ยังคงให้บทบาทเพศชายเป็นผู้ช่วย คอยสนับสนุนให้เพศหญิงขึ้นมาถึงความสำเร็จได้ อะไรทำนองนั้น
วันนี้ The MATTER จึงอยากมาแนะนำเรื่องราวของผู้หญิงในภาพยนตร์ ที่มาจากฝีมือการกำกับและมุมมองจากผู้กำกับหญิง 5 เรื่องให้กันดูบ้าง ซึ่งอาจจะทำให้เรามองเห็นความต่างของอะไรบางอย่าง เมื่อมุมมองที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้นมาจากสายตาที่ต่างกัน
Little Women (ค.ศ.2019)
กำกับโดย Greta Gerwig
ชีวิตของผู้หญิงจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่การแต่งงานเท่านั้นหรือ?
เรื่องราวจากวรรณกรรมในชื่อเดียวกัน ผลงานการประพันธ์โดย ‘Louisa May Alcott’ ที่เล่าเรื่องราวของ 4 สาวตระกูล ‘March’ ที่กักเก็บความฝันของแต่ละคนเอาไว้ตั้งแต่ยังเด็ก ทุกคนมีความฝันให้กับชีวิตของพวกเธอในอนาคต ตามความสามารถและความสนใจของตัวเอง และเฝ้าคอยบ่มเพาะเมล็ดความฝันให้ผลิบานในยามที่เธอเติบโตขึ้น พวกเธอเชื่อว่าสิ่งนี้นี่แหละคือชีวิตที่ดี
แต่เมื่อชีวิตของวัยสาว ไม่ได้รื่นรมย์เหมือนกับตอนเป็นเด็ก การแต่งงานและมีสามีดีๆ สักคน กลายเป็นตัวเลือกเดียวของการมีชีวิตที่ดี มีกรอบที่สังคมได้เลือกไว้ให้ตั้งแต่แรก สี่สาวพี่น้อง จึงต้องเผชิญปัญหาต่างกัน เพื่อให้ตนเองได้เดินตามความฝันที่ยังตั้งใจไว้
การเล่าเรื่องแบบเป็นธรรมชาติ ทำให้เรื่องราวของสาวๆ ที่เหมือนจะธรรมดา มันกลับน่าติดตามว่าเธอคนนี้ จะได้ใช้ชีวิตอย่างไร เธอคนนั้นจะผ่านเรื่องนี้ไปได้ไหม และนี่อาจเป็นจุดแข็งของภาพยนตร์เรื่องนี้เลยก็ได้
Lady Bird (ค.ศ.2017)
กำกับโดย Greta Gerwig
นกน้อยผู้ไม่เคยพึงพอใจสิ่งใดในชีวิต อยากจะโผบินสู่ทางที่เธอเลือกเอง
สารพัดปัญหาวัยรุ่น ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ความรักวัยว้าวุ่น เพื่อนรักหักเหลี่ยม ผลการเรียน กรอบชีวิตจากครอบครัว ทั้งหมดนี้อยู่ในตัวเธอคนนี้คนเดียว ‘Christine McPherson’ สาวน้อยในโรงเรียนคาทอลิก ที่ไม่ชื่นชอบอะไรในชีวิตตัวเอง ตั้งแต่เมืองเกิด ความสามารถครึ่งๆ กลางๆ ความไร้ตัวตน ไร้ชื่อเสียง ไปจนถึงชื่อของตัวเอง เธอเลือกชื่อให้ตัวเองใหม่ว่า ‘Lady Bird’
นกน้อยตัวนี้จึงอยากจะโผบินด้วยปีกของเธอเอง พ้นจากอ้อมกอดของแม่ที่คอยชี้อยู่เสมอว่า เธอทำอะไรได้หรือไม่ได้ สิ่งนี้ถูกหรือผิด ดีไม่ดี เหมาะไม่เหมาะ
ผลงานจากผู้กำกับเดียวกันกับเรื่อง Little Women แม้เนื้อเรื่องโดยรวม เป็นแนว Coming of Age (ที่มีอยู่เยอะมาก) อย่างชัดเจน แต่ยังคงเล่าเรื่องธรรมดาได้น่าสนใจเช่นเคย จนเราคอยเอาใจช่วยนกน้อยหลงทาง ให้โผบินอย่างกล้าแกร่งเสียที
Portrait of a Lady on Fire (ค.ศ.2019)
กำกับโดย Céline Sciamma
วาดฉันออกมาให้เหมือนทั้งเปลือกนอกและตัวตนข้างใน
จิตกรสาว ‘Marianne’ ถูกว่าจ้างให้วาดภาพของหญิงสาวคนหนึ่ง เพื่อนำไปใช้ในการดูตัว หากแต่ ‘Héloïse’ หญิงสาวที่ต้องอยู่ในภาพวาด กลับไม่อยากอยู่ในกรอบกระดาษนั้นและกรอบชีวิตการแต่งงานที่ถูกเลือกอย่างไม่เต็มใจ
งานครั้งนี้ จึงไม่ได้จบลงที่การนั่งตัวแข็งนานสองนาน แต่เป็นการเฝ้าสังเกต ใช้ชีวิต และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เพื่อให้ภาพที่ถูกวาดออกมานั้น เหมือนทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและจิตวิญญาณข้างใน ที่จิตกรสาวเองจรดปลายพู่กันด้วยความละเมียดละไมทุกครั้งที่ได้สัมผัสเข้าถึงตัวตนข้างในของเธอ
ชีวิตที่ผูกอยู่กับการแต่งงานของหญิงสาวในยุคก่อน ยังคงเป็นเรื่องที่เล่าได้ไม่มีเบื่อ โดยเฉพาะเมื่อบวกกับพื้นหลังที่เป็นโลเคชั่นอันสวยงามในเรื่องนี้ จนเราไม่อาจเลือกได้ว่า เราจะดื่มด่ำกับความงามของธรรมชาติหรือภาพวาดก่อนกัน
Lovesong (ค.ศ.2016)
กำกับโดย So Yong Kim
ความสัมพันธ์ที่บางเบาในวันนั้น อาจกลับมาชัดเจนอีกครั้ง
การเลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียวของ ‘Sarah’ ทำให้เธอลำบากไม่น้อย เมื่อสามีของเธอต้องทำงานไกลออกไป แต่ความเหงานั้นจบลง เมื่อ ‘Mindy’ เพื่อนซี้สมัยมหาลัย ได้กลับมาเยี่ยมเยียนเธออีกครั้ง จนเกิดความสัมพันธ์บางอย่างขึ้นมา แต่กลับบางเบาจนไม่อาจไปต่อ
ทั้งคู่กลับมาเจอกันอีกครั้ง เมื่อ Sarah ที่แยกทางกับสามี ถูกเชิญมางานแต่งของ Mindy และช่วงเวลาก่อนที่ Mindy จะไปใช้ชีวิตคู่ของตัวเอง เธอทั้งสองได้กลับมาใช้ชีวิตด้วยกันในระยะเวลาสั้นๆ ความอบอุ่นที่ยังคงอยู่ในความทรงจำ กลับมาอีกครั้งอย่างเต็มใจ
Elisa & Marcela (ค.ศ.2019)
กำกับโดย Isabel Coixet
ในปีที่ไม่มีใครยอมรับ ฉันและเธอจะยืดหยัดในความรักเรื่อยไป
ปี ค.ศ.1901 ‘Mario’ และ ‘Marcela’ เข้าพิธีวิวาห์ถูกต้องตามหลักศาสนาและขนบของสังคม ความชื่นมื่นที่ไม่แพ้คู่อื่น กลับซ่อนความขมขื่นที่ไม่อาจเปิดเผยได้ เมื่อแท้จริงแล้ว ทั้งสองคือคู่รักเพศเดียวกัน โดยเจ้าบ่าวในพิธีวิวาห์นั้น คือ Elisa ที่จำต้องปลอมตัวเป็นชาย เพื่อให้ความรักของเธอไม่ถูกขัดขวางจากสังคมรอบข้าง
เรื่องราวชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันในช่วงเวลาที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ถูกเล่าผ่านภาพขาวดำได้อย่างสวยงาม ละเมียดละไม ในช่วงแรกอาจมีความเนิบช้าอยู่บ้าง แต่ความสวยงามที่ถูกส่งผ่านตัวละคร ยังคงดึงดูดให้เราสามารถดูเรื่องนี้ได้จนจบแบบไม่กดข้ามแม้แต่ฉากเดียว
โดยในตอนนี้สามารถหาดูได้ที่ Netflix อย่าพลาดเชียวล่ะ