เคยรู้สึกมั้ยว่าศิลปะเป็นเรื่องยากและไกลตัว
หนังสือ Art is art , Art is not art อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ ของ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ อาจทำให้คุณรู้สึกต่างออกไป
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ เป็นหนังสือรวมเล่มคอลัมน์ประจำของเขาในมติชนสุดสัปดาห์ที่เขียนมาเป็นเวลา 1 ปี 7 เดือน งานเขียนของภานุสนุก เข้าใจง่าย ไม่ต้องปีนบันไดชะโงกอ่าน เช่นเดียวกับการตอบคำถามของเขาในบทสัมภาษณ์นี้
ถ้าไม่เชื่อลองอ่านดู
The MATTER : เวลาไปดูงานศิลปะที่ไม่สวยและเราไม่เข้าใจ เราควรรู้สึกยังไงกับมัน แล้วควรเริ่มทำความเข้าใจมันจากอะไร เพื่อให้การไปดูงานศิลปะสนุกขึ้น
ก่อนอื่นต้องถามกลับว่า ความไม่สวย นั้นคืออะไร? เพราะอันที่จริง ความสวยงามเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคล เหมือนคำกล่าวที่ว่า “Beauty is in the eye of the beholder” หรือ “ความงามนั้นอยู่ที่สายตาของผู้มอง” สิ่งที่สวยงามสำหรับคนหนึ่ง อาจจะไม่สวยสำหรับอีกคนหนึ่งก็ได้ ในทางกลับกัน สิ่งที่คนหนึ่งมองว่าไม่สวย อาจดูสวยงามในสายตาของอีกคนหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ทำไมฝรั่งตะวันตกถึงสนใจและหลงใหลคนผิวสีคล้ำเข้ม ในขณะที่คนไทยอย่างเราๆ กลับนิยมชมชอบคนผิวขาว หรือผลไม้อย่าง ทุเรียน คนที่ไม่ชอบอาจจะรู้สึกว่ากลิ่นมันเหม็นเหมือนส้วม ในขณะที่คนชอบอาจรู้สึกว่ากลิ่นของมันหอมหวานชื่นใจ อะไรทำนองนั้น งานศิลปะเองก็เช่นกัน งานศิลปะบางชิ้นอาจดูสวยจับใจในสายตาของคนดูบางคน แต่มันก็อาจจะดูเฉยๆ เบๆ หรือแม้แต่น่าเกลียดในสายตาของอีกคนก็ได้
แน่นอนว่าความงามบางอย่างมันก็มีค่ากลางที่เป็นสากลตามค่านิยมความเชื่อที่สืบต่อกันมาอยู่ เช่น สีสันสดใสของดอกไม้ สีเชียวชอุ่มชุ่มชื่นของพืชพรรณ สีสันของท้องทะเลและท้องฟ้าอันสดใส ความงามของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวระยิบระยับยามค่ำคืน หรือรูปร่างหน้าตาและร่างกายของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ มีงานศิลปะหลายประเภทที่นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยากเกินความเข้าใจ
แต่มันก็มีงานศิลปะบางประเภทที่นำเสนอความงามในแบบที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย อย่างความทุกข์ ความเศร้า ความอดอยากยากจน ความโหดร้ายของสงคราม ความฉ้อฉลของระบบสังคมและการเมือง หรือการมองเห็นแง่งามในความอัปลักษณ์ ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ชมแต่ละคนว่าจะเข้าใจมันหรือไม่ ในขณะที่งานศิลปะบางประเภทอาจจะนำเสนอสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจของคนส่วนใหญ่อย่างสิ้นเชิง อย่างปรัชญา แนวคิดอันซับซ้อนลึกซึ้ง ไปจนถึงการนำเสนอสิ่งที่เป็นนามธรรมคือไม่มีเรื่องราวอะไรให้ดูเลย หรือแม้แต่งานศิลปะที่ต่อต้าน ลดทอน หรือทำลายคุณค่าและสถานภาพเดิมๆ ของศิลปะ (อาทิเช่นงาน โถฉี่ ของ มาร์แซล ดูชองป์ นั่นแหละ) ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ได้ดูก็มักจะงุนงงสงสัยและไม่เข้าใจกับงานศิลปะประเภทหลังนี่แหละ ถ้าอย่างงั้นแล้วเราควรจะรู้สึกและจะทำความเข้าใจมันยังไงดีล่ะ?
แรกเริ่มเลย เราต้อง ‘ดู’ มันก่อน (เพราะถ้าเราไม่ดู เราก็ไม่เห็น จริงไหม?) ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรามันคืออะไร? มีรูปทรงสีสันแบบไหน มีปริมาตรความตื้นลึกหนาบางเท่าไหร่ มีขนาดที่เล็กหรือใหญ่แค่ไหน ทำมาจากอะไร?
หลังจากดูแล้วเราก็ ‘สังเกต’ ว่ารูปทรงสีสันนั้นประกอบขึ้นเป็นอะไร มันเป็นสิ่งที่เรารู้จักไหม หรือเป็นสัญลักษณ์แทนอะไร หรือถ้าเราดูแล้วไม่เก็ตเลยว่าเป็นอะไร ก็ถามตัวเองว่าสิ่งที่เห็นมันทำให้เรารู้สึกแบบไหน สีสันที่ดูทำให้เรารู้สึกเย็นสบายหรือหนาวเหน็บ อบอุ่นหรือร้อนรุ่ม เส้นสายหรือรูปทรงของมันทำให้เรารู้สึกสงบนิ่ง หรือสนุกสนานด้วยความเคลื่อนไหว หรือวุ่นวายใจด้วยความยุ่งเหยิง ภาพที่เราเห็นทำให้เรารู้สึกสุขหรือเศร้า ตื่นเต้น ประหลาดใจ หรือหงุดหงิดขุ่นเคือง
ท้ายที่สุด หลังจากดูและสังเกตแล้ว เราก็ ‘คิด’, ‘วิเคราะห์’, ‘แยกแยะ’ ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นมีความหมายแบบไหน พยายามจะสื่อถึงอะไร ยิ่งถ้าเรารู้ข้อมูลเกี่ยวกับศิลปินที่ทำงานเหล่านั้นด้วยยิ่งดี เช่น เขาเป็นใคร? เพศอะไร? เชื้อชาติ สัญชาติอะไร? เกิดเมื่อไหร่? นับถือ(หรือไม่นับถือ)ศาสนาอะไร? มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน? มีรสนิยมทางเพศอย่างไร? เขาคิดอะไร? เขาทำงานชิ้นนั้นๆ ไปเพื่ออะไร? หรือเขาเคยทำงานแบบไหนมาก่อน? ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราทำความเข้าใจผลงานศิลปะเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น หรือถ้าจะให้ง่ายกว่านั้น ก็ถามตัวศิลปินเจ้าของงานมันซะเลย หรือไม่ก็อ่านเอาจากข้อมูลของงานที่มักจะติดอยู่ใกล้กับตัวงาน หรืออยู่ในสูจิบัตรสิ่งพิมพ์ประกอบนิทรรศการศิลปะนั่นแหละ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ศิลปะไม่ใช่คณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ (ถึงแม้บางครั้งงานศิลปะหลายชิ้นก็ได้แรงบันดาลใจมันมาอ่ะนะ) ที่จะต้องมีคำตอบตายตัว บ่อยครั้งสิ่งที่ผู้ชมรับรู้ เข้าใจ และตีความหมายจากงานศิลปะ อาจจะไม่ตรงกับที่ศิลปินต้องการจะสื่อก็ได้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร ศิลปินบางคนอาจจะชอบเสียด้วยซ้ำ หรือถ้าคุณดูงานศิลปะแบบไหนแล้วไม่ชอบ ไม่อิน ไม่สนุก ไม่ถูกรสนิยมจริงๆ ก็ไปหางานศิลปะแบบอื่นดูเอาก็ได้ หาไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เจอที่ชอบที่ชอบเองแหละ
หรือท้ายที่สุดแล้ว ถ้าหาไม่ได้เลยจริงๆ ก็ไม่ต้องฝืนดูให้เสียเวลา ไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำดีกว่า การที่คุณไม่ชอบศิลปะ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะกลายเป็นคนโง่ เฉิ่ม เชย หรือไร้รสนิยมแต่อย่างใด มันก็แค่ไม่ชอบเท่านั้นเอง จะอะไรกันนักกันหนา ดังคำกล่าวของมิตรสหายท่านหนึ่งที่ว่า “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบอย่างอื่น” นั่นแหละเธอว์
The MATTER : อะไรคือนิยามคำว่า ‘ศิลปะ’ ในความเข้าใจของคุณ (ศิลปะนับเป็นของสูงส่งหรือไม่)
มีคนเคยถามคำถามนี้กับผมบ่อยๆ และผมก็เคยถามคำถามนี้กับคนอื่นบ่อยๆ ด้วยเหมือนกัน ผมว่าคำตอบมันไม่ตายตัว บางคนบอกว่าศิลปะคือความดี ความงาม ความจริง แต่บางคนก็แย้งว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะบางครั้งศิลปะก็พูดถึงความเลว ความอัปลักษณ์ และความเท็จ ด้วยเหมือนกัน บางคนบอกว่าศิลปะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเพลิดเพลิน กล่อมเกลาจิตใจ แต่บางครั้งศิลปะก็ส่งผลในทางตรงกันข้ามเหมือนกัน
ในความเข้าใจของผม ศิลปะคือเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร เหมือนกับภาษา แต่โดยส่วนใหญ่เป็นการสื่อสารด้วยภาพ มากกว่าตัวหนังสือหรือถ้อยคำ ซึ่งเอาจริงๆ ศิลปะก็เป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้สื่อสารมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนที่มนุษย์จะสร้างภาษาหรือตัวอักษรขึ้นมาเสียอีก
เพราะฉะนั้นด้วยความที่มันเป็นเครื่องมือ การที่มันจะเป็นสิ่งสูงส่งหรือต้อยต่ำ ก็อยู่ที่เจตนาและวัตถุประสงค์ของคนที่ใช้มันนั่นแหละ
The MATTER : ศิลปะมีความจำเป็นต่อชีวิตอย่างไร ทำไมเราต้องเข้าใจศิลปะ
ศิลปะไม่ได้มีความจำเป็นกับชีวิตเท่ากับอากาศหายใจหรือปัจจัยสี่ มันไม่ได้ทำให้เรามีชีวิตรอดหรืออิ่มท้อง ไม่ได้ทำให้เราอบอุ่น ปลอดภัย ไม่ได้เยียวยาร่างกายของเราจากอาการป่วยไข้ แต่มันทำให้ปัจจัยสี่เหล่านั้นมีเสน่ห์มากขึ้น (ที่สำคัญ บางครั้งเราใช้ศิลปะแลกปัจจัยสี่ได้ด้วย) ศิลปะไม่ใช่อาหารสำหรับร่างกาย (ถึงแม้งานศิลปะบางประเภทจะแดกได้ก็เถอะ) แต่เป็นอาหารสำหรับจิตใจ บางครั้งเป็นอาหารสมอง ศิลปะบางประเภทช่วยยกระดับจิตใจและสติปัญญา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะทำให้เราสูงส่งเหนือคนอื่น อย่างที่ตอบไปในคำถามที่แล้วว่า สำหรับเรา ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจกับศิลปะ ในอีกแง่หนึ่งก็คือการทำความเข้าใจกับคนอื่น หรืออันที่จริงแล้วก็เป็นการทำความเข้าใจกับตัวเราเองนั่นแหละนะ
The MATTER : ในฐานะที่เขียนหนังสือ ‘อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ’ นอนก็เป็นศิลปะ เลือดก็เป็นศิลปะ แล้วคุณคิดว่ามีอะไรไหมที่มันไม่ใช่ศิลปะ
การเป็นหรือไม่เป็นศิลปะ มันคือการนิยามของคน เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากให้อะไรเป็นศิลปะ มันก็เป็น ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่อยากให้อะไรมันเป็นศิลปะ มันก็ไม่เป็น ส่วนคนอื่นจะเห็นด้วยกับเราหรือไม่นั้น มันก็เป็นอีกเรื่องนึง
The MATTER : ถ้าโถฉี่ของดูชองป์เป็นงานศิลปะ แปลว่าคนทั่วไปก็สามารถเป็นศิลปินได้?
คำถามนี้ โจเซฟ บอยส์ และ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ตอบไปแล้ว ไปหาอ่านได้ในหนังสือ อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ (ขอแทรกโฆษณานิสนุง) ในความคิดของผม ศิลปินก็คือคนทั่วไป เหมือนคุณ เหมือนผม และคนอื่นๆ ในโลกนี้ ไม่ได้วิเศษวิโสไปกว่าใคร อาจจะทำอะไรที่แปลกหรือแตกต่างจากชาวบ้านไปบ้าง ก็เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ใช่ครับ คนทั่วไปก็สามารถเป็นศิลปินได้ ถ้าเขาอยากเป็น แต่คนอื่นจะยอมรับไหม นั่นก็เป็นอีกเรื่องนึงเหมือนกัน
The MATTER : คิดเห็นยังไงกับที่โจเซฟ บอยส์ บอกว่า “ทุกๆ กิจกรรมของมนุษย์ แม้แต่การปอกเปลือกมันฝรั่งก็สามารถเป็นศิลปะได้ ตราบใดที่ทำด้วยสติสัมปชัญญะ”
เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เห็นด้วยเพราะอย่างที่บอกไปในข้อที่แล้วว่า ทุกคนสามารถเป็นศิลปินได้ ถ้าเขาอยากเป็น แต่ถ้าใครไม่อยากให้มันเป็น มันก็ไม่เป็นไง บางคนที่เขาปอกมันฝรั่ง ก็อาจจะคิดว่า มันก็แค่การปอกมันฝรั่ง ไม่เห็นจะเป็นศิลป่งศิลปะตรงไหนเลย ศิลปะมีความสำคัญก็จริง แต่มันก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต
The MATTER : ถ้าให้แนะนำงานศิลปะสัก 1 ชิ้น คุณจะเลือกงานไหน เพราะอะไร
งานศิลปะที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด หรืองานที่เราหาโอกาสไปดูได้ เพราะต่อให้เป็นศิลปะที่เลิศเลอเพอร์เฟกต์หรือยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่แค่ไหน มันก็ไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเราไม่ได้ดูมัน
ที่สำคัญ ผมยังเชื่อในสำนวนที่ว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น งานศิลปะที่เราไปดูให้เห็นด้วยตาตัวเอง ย่อมดีกว่าเราฟังที่คนอื่นบอกเล่าแนะนำ หรือดูจากรูปในหนังสือ ในจอโทรศัพท์มือถือ หรือจอคอมพิวเตอร์เป็นไหนๆ (ยกเว้นผลงานนั้นจะทำเพื่อตีพิมพ์ลงหนังสือหรือเผยแพร่ทางออนไลน์โดยเฉพาะน่ะนะ) เพราะฉะนั้น ลองเริ่มจากการหางานหรือนิทรรศการศิลปะที่อยู่ใกล้ตัวของเราดูกันเถอะครับ 🙂