หากจะนึกถึงวรรณกรรมไทยสักเล่มที่พูดถึงการเมืองไทยในช่วง 6-7 ปีทีผ่านมา เราว่ามันก็ค่อนข้างเห็นได้น้อยมากๆ น้อยจนแทบถูกเบียดบังไปบนชั้นหนังสือตามร้านหนังสือต่างๆ อาจจะใช่ ที่เรื่องราวอาจแทรกซึมอยู่ในบางบท บางตอน อยู่ในบางประโยคของตัวละครสักตัว แต่ถ้าเป็นหนังสือที่จะพูดถึงการถูกกดขี่ ระบอบอำนาจนิยม ระบอบเผด็จการ การต่อต้าน เรายังรู้สึกว่ามีน้อยเสียเหลือเกิน น้อยจนรู้สึกว่าเรากำลังอยู่ในรัฐไร้เสรีภาพอย่างแท้จริง
และแล้ว IF WE BURN, ISSUE 1: BEFORE ก็ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนในช่วงปลายปี พ.ศ.2563 ปีที่เพดานได้พังทลาย ปีที่ผู้คนซึ่งไม่ยอมถูกกดขี่ออกมาลุกขึ้นสู้
ก็คงเป็นดั่งช่วงต้นของหนังสือเล่มนี้ที่พูดไว้ว่า “…เพราะในยุคสมัยที่ผู้คนถูกกดขี่และปิดปากไม่ให้มีสุ้มเสียงใดเล็ดลอดออกมา เสรีชนก็จะยังหาทางพูดมันออกมาจนได้ แม้ว่ารอบกายพวกเขาจะมีแต่ความเงียบงัน”
IF WE BURN คือโปรเจกต์หนังสือรายสะดวกที่อยากเป็นพื้นที่เพื่อการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง ช่วงที่ประชาชนถูกปิดปากมากที่สุดในยุคเผด็ตการทหาร ซึ่งผลงานที่รวมอยู่ในเล่มนี้เป็นงานที่รังสรรค์ขึ้นเมื่อช่วงปี พ.ศ.2559 – 2562 กับบางส่วนที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2563 โดยบรรณาธิการและผู้ริเริ่มโปรเจกต์คือ วรรษชล ศิริจันทนันท์
ผลงานในหนังสือเล่มนี้มีทั้ง ภาพวาด ภาพถ่าย เรื่องสั้น บทกวี บทสัมภาษณ์ ความยาว 160 กว่าหน้า ผ่านหลากหลายกลวิธีในการเล่าเรื่อง แต่มีความรู้สึกร่วมคือการลุกขึ้นพูดกับอำนาจที่กำลังกดพวกเขาอยู่ ส่งเสียงออกมาว่าพวกเขามีความคิดเห็นต่อการถูกกดทับอย่างไร เราอาจจะพอพูดได้ว่านี่คือหนังสือที่รวบรวมความรู้สึกต่อสภาพสังคมการเมืองที่เลวร้าย ย่ำแย่ อย่างตรงไปตรงมาที่สุด และทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่ผู้คนอยากจะพูดในวันที่ถูกปิดปากนั้น มันแสนอัดอั้นและเจ็บปวด
โดยในเล่มนี้เราขอหยิบยกบางเรื่องที่เราชอบมาพูดถึงเล็กน้อย
‘ละครสามก๊ก’ โดย อภิโชค จันทรเสน เป็นเรื่องสั้นที่อ่านสนุก และชวนเราคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา แทบไม่ต้องการค้นคว้าตีความใดๆ และยังสะท้อนระบอบอำนาจนิยมได้ตั้งแต่หน่วยเล็กๆ ในห้องเชียร์มหาวิทยาลัย ไปจนถึงสังคมระดับใหญ่ที่มีอำนาจมากดขี่ ผ่านฉากหลังที่เป็นการรัฐประหาร
เราไม่อาจทราบว่าเรื่องสั้นนี้แต่งขึ้นเมื่อใด แต่ในยามที่ไล่เรียงผ่านตัวอักษรไป เรารู้สึกว่าสภาพสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือจะย้อนกลับไปมากกว่า 40 ปี ภาพเหล่านี้ก็สามารถซ้อนทับขึ้นมาได้ เหมือนกับว่าเราติดอยู่ในลูปเวลาของการรัฐประหาร ยึดอำนาจ ชุมนุมต่อต้าน ถูกจับกุม ถูกทำร้ายโดยรัฐ และสังคมก็หลงลืมทุกเหตุการณ์นั้นไปหมด แล้วก็ย้อนกลับเป็นลูปใหม่อีกครั้ง ในตอนที่เราอ่าน เรานึกถึงภาพเหตุการณ์ในอดีต และสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันซ้อนทับกันอยู่แบบนั้นผ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้
“คนลืม สังคมลืม แต่รัฐบาลไม่เคยลืม” ประโยคหนึ่งในเรื่องสั้นดูจะเป็นคำตอบของสิ่งที่เรารู้สึก
อีกผลงานหนึ่งที่เราชอบคือ ‘ชำเรา’ โดย เปียแดง เรื่องสั้นที่เล่าผ่านเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกกดทับด้วยอำนาจชายเป็นใหญ่ เติบโตในยุคทหารเป็นใหญ่ เธอถูกปิดปากตั้งแต่เด็ก ถูกข่มขืนทั้งร่างกาย สิทธิ จิตใจ และความคิด เป็นเรื่องสั้น 6 หน้าที่หนักแน่นและติดอยู่ในใจเรานานทีเดียว เพราะมันกำลังบอกเราว่าในสังคมนี้มันน่าอึดอัดด้วยอำนาจทั้งหลายที่ยังกดทับเราอยู่
อีกผลงานที่อยากหยิบยกมาพูดถึงคือบทกวี ‘ทศวรรษที่สาบสูญ’ ของ วิวัฒน์ เลิศฯ เพราะบทสุดท้ายนั้นคงเป็นการสรุปอะไรหลายๆ อย่างให้เรา โดยบทนั้นได้กล่าวไว้ว่า
“คุณจำวันนี้ได้หรือเปล่า
อนาคตจะถามคุณ
รู้หรือเปล่าว่าการจดจำน่ะ
คือการต่อต้านเสมอ”
ในสังคมที่เรื่องทุกอย่างเกิดขึ้นมากมาย และทุกอย่างถูกทำให้ลืมไปอย่างรวดเร็วนั้น บางเรื่องก็เหมือนละครปาหี่บังหน้าจนเราลืมว่าเราเคยโกรธ เกลียดชัง คับแค้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปเสียสนิท จะว่าไปก็เป็นสังคมที่น่ากลัวไม่น้อย เพราะนั่นอาจหมายความว่าเราไม่เคยเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ตระหนักว่ามันอาจเกิดขึ้นกับเราได้ในอนาคต การหลงลืมเป็นสิ่งที่ผู้กดขี่ชื่นชอบ เป็นเครื่องมือที่พวกเขาใช้ซ้ำ เพราะเมื่อคนลืม มันแปลว่าสิ่งที่พวกเขากระทำไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ และเขาจะกระทำอีกเมื่อไหร่ก็ได้
ดังนั้นทุกสิ่งก็ดูชัดเจนดังที่บทกวีข้างต้นว่าไว้ ว่า ‘การจดจำคือการต่อต้าน’
จริงๆ ยังมีผลงานอีกหลายเรื่อง ภาพอีกหลายภาพที่ออกมาพูดถึงอำนาจที่กดทับพวกเขาผ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นการเล่าอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่สุด ส่งเสียงอย่างชัดถ้อยชัดคำที่สุด และหวังว่าจะมีใครสักคนที่ได้ยินเสียงเหล่านี้ (แม้ว่าเราก็ยอมรับว่าบางเรื่องเราอาจจะยังตีความไม่เก่งพอ)
ก่อนปีพ.ศ. 2563 ในภาวะที่สังคมถูดปิดปาก คนที่ออกมาส่งเสียงวิพากษ์ระบอบเผด็จการถูกจับกุม ในยุคที่การพูดวิพากษ์รัฐบาลไม่ใช่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน งานเขียนเกี่ยวกับการเมืองก็ดูเหือดแห้งตามไปด้วย อาจจะเพราะคำพูดที่บอกว่า “การพูดมีราคาที่ต้องจ่าย” ไม่ว่าการจ่ายนั้นจะเป็นชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพ ความสุข ความปลอดภัย
หนังสือเล่มนี้อาจจะช่วยทำให้เรามองเห็นว่าต่อให้ผลงานเหล่านี้จะเกิดขึ้นในยุคดำมืด แต่วันนี้มันจะออกมาสู่แสงสว่างและมองหาหนทางเพื่อสื่อสารต่อไป อาจจะนานหน่อย ช้าหน่อย แต่ใช่ว่าวันนั้นจะไม่มาถึง
ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้การพูดแสดงความเห็นนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน (ซึ่งก็ขำขันทั้งน้ำตาที่ในพ.ศ.นี้ เรายังต้องมาเรียกร้องสิทธิในการพูดวิพากษ์วิจารณ์) ก็คงเป็นการไม่ยอมหยุดส่งเสียง พูดต่อไป เขียนต่อไป เล่าเรื่องต่อไป สร้างความตระหนักรู้ให้คนรอบข้าง แผ่กระจายไปสู่วงกว้างให้มากขึ้น การจะลุกขึ้นต่อต้านระบอบอำนาจที่หยั่งรากลึกมายาวนาน คงไม่อาจถอนรากถอนโคนได้ภายในวันเดียว เดือนเดียว หรือปีเดียว แต่ก็ไม่ได้แปลวว่าอำนาจเหล่านั้นจะไม่สั่นคลอน เพียงขอแค่เราจดจำและไม่ลืมสิ่งที่พวกเขาทำ
เพราะอาวุธของมนุษย์คือการสื่อสาร และการสื่อสารอย่างไม่ยอมหยุดเพื่อไม่ให้เรื่องเงียบหายจะพังทลายอำนาจลงมาได้
ติดตามโปรเจกต์ IF WE BURN ได้ที่เพจ www.facebook.com/ifweburn.bkk