ตอนแรกกะว่าจะว่าด้วยหนังสือดีที่เล่มบางๆ เอาไว้พกไปนอนอ่านเล่นที่หาดทรายกลางแดดจ้าๆ รับเดือนเมษายน แต่ไม่เป็นไร ได้ไปไม่ได้ไป ก็ถือว่าหนังสือที่ไม่ยาวมากนี้อาจจะมีประโยชน์ให้เราหนีจากความจริง หรืออาจจินตนาการว่านอนอ่านอยู่ที่ไหนซักแห่ง
วรรณกรรม งานเขียนเป็นเรื่องมหัศจรรย์ คือบางทีเราอาจจะนึกถึงว่าเรื่องดีๆ ต้องยากและยาว แต่ในประวัติศาสตร์งานเขียนทั้งไทยและระดับโลกนั้น หนังสือเล่มบางๆ หลายเล่มก็ใช้ความยาวไม่กี่หน้าสร้างแรงกระทบอันรุนแรงกับเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ หนังสือที่หนาราวร้อยหน้านี้แน่นอนลำดับแรกคือหยิบง่าย ไม่น่ากลัว แถมพกพาก็สะดวก
ยิ่งหน้าร้อนแบบนี้ นอกจากเราจะนึกถึงทะเล นึกถึงแดดจ้าๆ รวมไปถึงวันหยุดยาวๆ แล้ว หนังสือจึงเป็นอีกหนึ่งประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนหรือไม่ ดังนั้นหน้าร้อนอันผันผวนของปีนี้ The MATTER ก็ยังอยากเสนองานเขียนสั้นๆ เป็นงานเขียนที่เหมาะกับฤดูร้อน และหลายเล่มตั้งใจคัดเลือกมาโดยอาจเป็นการพาเราหลบหนีออกจากโลกไปซักชั่วครู่ชั่วยาม เป็นงานเขียนที่สั้น กระชับ ย่อยง่าย แต่ก็มีหลายระดับความหมายให้กับเรา
เคหวัตถุ, อนุสรณ์ ติปยานนท์ (136 หน้า)
หวังวาจะไม่เป็นลางแต่อย่างใด แต่ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ถือเป็นอีกหนึ่งนักเขียนไทยร่วมสมัยที่เข้ากับนิยามคำว่าเรียบง่าย กระชับ ได้ใจความ แต่ทว่าซับซ้อนทางความหมายและทางอารมณ์อย่างเหลือเชื่อ งานของอาจารย์ต้นมักเป็นงานเขียนเล่มบางๆ หยิบอ่านก่อนนอนรู้ตัวอีกทีก็หมดเล่ม งานส่วนใหญ่ของอาจารย์ต้นมักว่าเส้นแบ่งของสิ่งต่างๆ ที่เรื่องแต่งพาไปสำรวจและทำให้เส้นเหล่านั้นพร่าเลือน สำหรับเคหวัตถุเป็นรวมเรื่องสั้นที่มี ‘ข้าวของ’ สามัญที่อยู่ในบ้าน เช่นปิ่นโต ร่ม ตู้เย็น แต่ข้าวของเหล่านั้น ตามสไตล์สัจนิยมมหัศจรรย์กลับมีเรื่องราวประหลาดที่ในที่สุด ความประหลาดในโลกของเรื่องแต่ง อาจทำให้เรามองเห็นความประหลาดพอๆ กันจากชีวิตจริงของเราเอง
หมานคร, คอยนุช (199 หน้า)
คอยนุช เป็นอีกหนึ่งนักเขียนร่วมสมัยผู้เป็นปรมาจารย์แห่งความเรียบง่าย และความสั้น พอพูดถึงหมานคร แน่นอนเรารู้จักในฐานะหนังไทยขึ้นหิ้งที่พาเราไปเห็นชีวิตบ้าคลั่งของการวิ่งวนในกรุงเทพ จริงๆ แล้ว คอยนุชหรือ ศิริพรรณ เตชจินดาวงศ์ ก็เป็นภรรยาของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งคอยนุชเป็นนักเขียนที่เขียนงานตั้งแต่วรรณกรรมเด็ก และแน่นอนนวนิยายขนาดสั้น และก็เขียนหมานครนี่แหละเป็นนังสือก่อนจะถูกนำไปดัดแปลงเป็นหนังระดับตำนาน หมานครพูดถึงกรุงเทพในฐานะดินแดนนมหัศจรรย์ เป็นเมืองที่ฝนตกลงมาเป็นหมวกกันน็อก และทุกคนมีหาง โดยตัวเรื่องว่าด้วยการตามหาความรักท่ามกลางผู้คนและเงื่อนไขการใช้ชีวิตอันแปลกประหลาดในกรุงเทพ- เมืองที่มีคนเหงามากกว่าเสาไฟฟ้า โดยคอยนุช ไม่แน่ใจว่าตอนนั้นเราเรียกงานแบบนี้ว่าสัจจนิยมมหัศจรรย์ไหม แต่งานของคอยนุชทั้งหมานครและนาครเขษม เป็นงานที่ฉายภาพของเมืองกรุงเทพ และเหล่าผู้คนในภาพที่เหนือจริง แต่กลับสะท้อนเข้าสู่ชีวิตจริงๆ ที่เราต่างตามหาตัวอักษรที่หายไป มีหางงอกออกมา หรือใช้ชีวิตวนเวียนซ้ำซากได้ทั้งขบขันและร้าวราน
ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง, อัศศิริ ธรรมโชติ (180 หน้า)
เล่มนี้อาจจะยาวหน่อย แต่ยุคหนึ่งโดยเฉพาะหลังปี พ.ศ.2500 และหลังเหตุการณ์เดือนตุลาวงวรรณกรรมไทย โดยเฉพาะงานแนวเรื่องสั้นค่อนข้างเฟื่องฟู ด้วยทั้งการเผยแพร่งานในวารสารประกอบกับการสื่อสารประเด็นทางสังคมที่ทำให้เรื่องสั้นยุคนั้นมีความโดดเด่น ขุนทางเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง เป็นรวมเรื่องสั้นที่อัศศิริเขียนขึ้นจากเหตุการณ์ทั้ง 14 ตุลาและ 6 ตุลา งานเขียนของอัศศิริมีความพิเศษคือความนุ่มนวล งดงาม แต่ทว่าก็บรรจุบาดแผลและผลกระทบจากความอยุติธรรมและความรุนแรงที่รัฐทำต่อประชาชน เรื่องสำคัญที่โดดเด่นเช่นเธอยังมีชีวิตอยู่อย่างก็ในใจฉัน แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ หรือบนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ ให้ภาพปัญหาสังคมไทย ที่หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2521และได้รางวัลซีไรต์ไปในปี พ.ศ.2524 ปัญหาที่ปรากฏในงานเขียนนั้นก็ยังร่วมสมัยอย่างน่าเศร้าใจ
เจ้าหงิญ, บินหลา สันกาลาคีรี (112 หน้า)
เจ้าหงิญเป็นอีกหนึ่งรวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ ได้รับรางวัลในปี พ.ศ.2548 ความพิเศษของเจ้าหงิญคือถือเป็นวรรณกรรมไทยเล่มแรกๆ ที่ใช้เทคนิคนิทาน หรือลักษณะที่ดูสนุกสนาน อ่านง่าย เบาสมอง มาบิดและเล่าประเด็นทางสังคมซ้อนลงไป คือเป็นงานที่ถ้าเราพูดถึงการพบง่าย อ่านง่าย และการตีความที่ซับซ้อนเรื่องที่ดูไร้เดียงสาเหล่านั้นให้ลึกลงไป ก็ต้องยกให้เจ้าหงิญเล่มนี้เลย
ความสุขของกะทิ, งามพรรณ เวชชาชีวะ (116 หน้า)
ถ้าพูดถึงวรรณกรรมไทย เล่มบางๆ อ่านง่าย พกง่าย แถมเหมาะกับทะเล และแน่นอนเหมาะกับการหนีไปจากโลกแห่งความจริง ไปสู่โลกอันอบอุ่นงดงาม ความสุขของกะทิถือเป็นงานเขียนระดับปรากฏการณ์ ปัจจุบันเฉพาะความสุขของกะทิเล่มแรกเองมีการตีพิมพ์ซ้ำเกินร้อยครั้ง และที่สำคัญคือตอนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ก็เกิดกระแสโต้เถียงเรื่องวรรณกรรมเพื่อสังคมขึ้น อนึ่งถ้าเรามองกระแสสังคมไทยร่วมสมัย ความสุขของกะทิเป็นหนึ่งในอาการของสังคมไทยยุคหลัง พ.ศ.2540 ที่เราเกิดกระแสเรื่องความเป็นไทย การกลับไปโหยหาอดีตอันสวยงาม ซึ่งแน่นอนว่างานเขียนชิ้นนี้มีวรรณกรรมและกระบวนการเล่าเรื่องที่ชวนเราฝัน หนีไปจากโลกอันไม่งดงามใบนี้ได้ ดังนั้นถ้าใครอยากหนีไปซักชั่วคราว เราก็ลองไปวิ่งแล้วน้ำตาหล่นบนรูปูแบบกะทิ เด็กสาวผู้ทั้งรุ่มรวยและร่ำรวยที่ต้องเผชิญความตายโดยมีบ้านริมทะเล คอนโดกลางเมืองและบ้านทรงไทยเป็นฉากหลัง
วินนีเดอะพูห์ Winnie the Pooh (178 หน้า)
อยากจะหนีไปชายหาด ลงนอน แล้ววาร์ปหนีไปที่ทุ่งหญ้าร้อยเอเคอร์ ไปใช้ชีวิตแสนขี้เกียจและแสนเรียบง่ายกับเจ้าหมีสีเหลืองกับผองเพื่อน งานเขียนและเรื่องราวพูห์ทำให้เราเห็นว่าบางครั้งความฉลาดน้อย การไม่ต้องคิดเยอะ ใช้ชีวิตปล่อยไปตามใจก็เป็นเงื่อนไขที่เรามีบ้างก็ได้
รุไบยาต, โอมาร์ คัยยาม(176 หน้า)
‘จำเพื่อลืมดื่มเมาเหล้าเพื่อโลก สุขเพื่อโศกหนาวเพื่อร้อนนอนเพื่อฝัน’
รวมบทกวีเป็นอีกหนึ่งหนังสือที่เราจะสอดเข้ากระเป๋าไป ว่ากันว่ากวีนิพนธ์เป็นเหมือนภาคการเขียนที่อัดทุกอย่างทั้งคำ ความและตีมไว้จนแน่น เป็นการดึงเอาพลังของภาษาและทักษะของกวีมาใช้ สำหรับรุยาตเป็นงานเขียนระดับคลาสสิกที่ถือว่าเป็นกวีนิพนธ์เชิงปรัชญา แต่บทกวีเปอเซียจากราวศตวรรษที่ 11-12 ที่ถือเป็นหนึ่งในเพชรน้ำเอกของวรรณคดีเปอเซียนี้ ตัวปรัชญาพูดถึงการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข การมุ่งเน้นหาความสุขและความสบายจากทางโลกย์ เน้นการกระตุ้นความสุขผ่านผัสสะต่างๆ ทั้งการกิน ดื่ม ถือเป็นงานเชิงปรัชญาที่ว่าด้วยกรใช้ชีวิตให้เต็มที่ ซึ่งด้านหนึ่งแนวคิดนี้ก็คล้ายๆ ว่าให้เสพสุข และมีความสุขกับการมีชีวิต และปล่อยผ่านไปโดยไม่เสียดายหรือยึดติด
ปรัชญาชีวิต, คาลิล ยิบราน (160 หน้า)
‘เมื่อความรักเรียกร้องเธอ จงตามมันไป’
คนยุคหนึ่งมองงานเขียนเล่มนี้เป็นแนวทางการใช้ชีวิต ปรัชญาชีวิตเป็นงานเขียนที่เป็นที่รู้จักที่สุดและได้รับการแปลเป็นจำนวนมหาศษล งานเขียนจากปี ค.ศ.1923 โดยกวีเลบานอนนี้ว่าด้วยแนวทางการใช้ชีวิตในหัวข้อต่างๆ ความรัก การแต่งงาน ครอบครัว ลูก การกิน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งข้อคิดของปรัชญาชีวิตถือว่าร่วมสมัยมาก เช่นเรื่องความรักที่พูดถึงระยะห่าง ความสัมพันธ์ของพ่อแม่และความเป็นลูกที่ไม่ได้ครอบครองกัน สำหรับภาคภาษาไทยนั้นแปลออกอย่างหมดจดและถือเป็นวรรณกรรมอีกฉบับจากสำนวนไทย โดย ศ.ดร. ระวี ภาวิไล
Death in Venice, Thomas Mann
หน้าร้อน และความรู้สึกอันซ่าบซ่าน ทะสีฟ้า แดดร้อนๆ และผลไม้ฉ่ำน้ำฟีลคอลมีบายยัวเนม ความสัมพันธ์ของร่างกายที่งดงามกลางความเจิดจ้าของพระอาทิตย์ ฮ็อตขนาดนี้ต้องผายมือมาที่ Death in Venice หนึ่งงานเขียนขึ้นหิ้งที่ขึ้นชื่อว่าความสั้นไม่ทำให้ความอบอุ่นของผิวเนื้อลดลง ตัวเรื่องพูดเรื่องนักเขียนวัยห้าสิบที่ไปพักร้อนที่เวนิส และด้วยชายหาดและเรือนร่างอันอ่อนเยาว์ เขาก็หลงใหลในความอ่อนเยาว์ของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง
The Lover, Marguerite Duras (128 หน้า)
ฉ่ำ คำเดียวคือฉ่ำ และผิดศีลธรรมสำหรับ The Lover ของ มาการิต ดูลาส เรื่องนี้นี่มันทั้งร้อนทั้งชื้นด้วยความที่ฉากเป็นเวียดนามที่เราคุ้นกัน แต่ความร้อนชุ่มฉ่ำนั้นมันคือการแตะเส้นของศีลธรรม และพูดถึงอารมณ์และความรู้สึกอันรถนแรงของมนุษย์ ตัวเรื่องว่าพูดถึงทศวรรษ 1930 เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงชาวฝรั่งเศสที่ย้ายมาใช้ชีวิตที่เวียดนาม สาวน้อยวัยกำดัดนี้มีความมุ่งมั่นและมักจะสวมหมวกผู้ชายใบหนึ่งเสมอ ในที่สุดเธอก็ไปมีความสัมพันธ์ต้องห้ามกับหนุ่มใหญ่นักธุรกิจชาวจีน เป็นความสัมพันธ์ต้องห้ามที่ยากจะห้ามใจไหว
The Call of Cthulhu, H.P. Lovecraft (52 หน้า)
คิดถึงทะเล ไปทะเล มันก็ต้องอ่านเรื่องสยองที่ว่าด้วยทะเล ดังนั้นเรื่องสยองร่วมสมัยที่มาจากทะเลก็ต้องนี่เลย ตำนาคธูลูจากเลิฟคราฟ ซึ่งเจ้าคธูลูนี้ถือเป็นตำนาน เรื่องราว- ตัวละครที่กลายมาเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยของเราที่มักจะมีตัวคธูลู อสูรกายระดับจักรวาล เป็นลูกครึ่งคราเคนหรืออะไรซักอย่างที่มีส่วนผสมของปลาหมึกและสิ่งเหนือจินตนาการอื่นๆ