“ชื่อของฉันไม่ว่าจะอ่านตามตรง หรืออ่านกลับด้านก็เป็น อูยองอู กนก บวบ นลิน ยาย วาดดาว อูยองอู”
ประโยคแนะนำตัวสุดฮิต จากซีรีส์เกาหลี ที่สร้างปรากฎการณ์เป็นที่พูดถึง เรตติ้งพุ่งสูงก้าวกระโดดในประเทศ และติดท็อปอันดับในสตรีมมิ่งต่างประเทศ กับ ‘Extraordinary Attorney Woo’s’ หรือ อูยองอู ทนายอัจฉริยะ เรื่องราวของทนายสาววัย 27 ปี ที่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม แต่มีไอคิวที่สูงถึง 164 รักในกฎหมาย สามารถอ่าน และท่องจำประมวลกฎหมายจากหนังสือของพ่อได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จนเรียนจบด้วยคะแนนสูงสุดจากมหาวิทยาลัยกฎหมายแห่งชาติโซล
แต่ท่องจำอย่างเดียวคงจะใช้กฎหมายไม่ได้ เนื้อเรื่องของซีรีส์เล่าถึง อูยองอู ที่เริ่มเข้าทำงานในบริษัทฮันบาดา บริษัททนายความชั้นนำของประเทศ และต้องพบปะลูกความ จัดการเคสต่างๆ ที่ยากง่ายแตกต่างกันไป พร้อมกับเพื่อนๆ ทนาย และผู้ช่วยในสำนักงานกฎหมาย รวมไปถึงปลาวาฬ สัตว์ที่เธอหลงรักมากที่สุด จนหาเวลาวกบทสนทนามาพูดถึงมันได้ทุกครั้ง
ขึ้นชื่อว่าซีรีส์เกาหลี แม้จะเกิดขึ้นจากเรื่องราวสมมติ แต่ก็เรียกได้ว่าถ่ายทอดชีวิตของออทิสติกได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นอาการ บุคลิก รวมไปการสอดแทรกเนื้อหาที่พร้อมจะเปลี่ยนมุมมองของคนที่มีต่อคนพิการ และมอบบทบาทหลักให้ตัวละครออทิสติกเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ไม่ได้ให้บทบาทพวกเขาเหล่านี้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ และยังฉายภาพความสามารถโดดเด่นอื่นๆ ของพวกเขาให้ผู้ชมได้เห็น จนสร้างมุมมองที่เปลี่ยนไปกับคนพิเศษเหล่านี้
เหล่าตัวละครออทิสติกในซีรีส์ ที่มีมาก่อนอูยองอู
ออทิสติกสเปกตรัม ไม่กล้าสบตาคน มีทักษะเข้าสังคมที่ไม่ปกติ ใช้ภาษาติดๆ ขัด สื่อสารอาจจะลำบากบ้าง ไม่เข้าใจการเปรียบเทียบ มุกตลก หรือจังหวะต่างๆ แต่ในทางกลับกันจะมีระดับสติปัญญาในระดับปกติ หรืออาจจะสูงกว่าปกติ มีสิ่งที่หลงรัก และสนใจเป็นพิเศษ จนถึงมีความสามารถพิเศษที่ล้ำเลิศกว่าคนอื่น
นี่คือลักษณะของออทิสติกสเปกตรัม ที่มักปรากฏในตัวละครของซีรีส์เกาหลี โดยซีรีส์เกาหลีเรื่องแรก ที่ตัวละครหลักมีภาวะออทิสติกสเปรกตรัม คือ ซีรีส์ ‘Good Doctor’ ในปี ค.ศ.2013 กับตัวละครหมอปาร์กชิอน ที่มีอาการนี้ โดยชิอนนั้นถูกค้นพบว่ามีความสามารถพิเศษด้านความจำและทักษะอื่นๆ เขาสามารถจำเนื้อหาในหนังสือทางการแพทย์ และสามารถวาดส่วนต่างๆ ของร่างกายคนได้เป็นอย่างดี ทำให้เขาถูกส่งไปเรียน และฝึกอบรมในฐานะแพทย์ประจำบ้าน ก่อนจะมาทำงานเป็นคุณหมอประจำในโรงพยาบาล
แน่นอนว่าด้วยอาการที่เขาเจอ เราจะได้เห็นการถ่ายทอดของตัวละคน ที่มีสภาพจิตใจ และอารมณ์ที่ไม่ปกติ รวมไปถึงการถูกตีตราจากหมอ เพื่อนร่วมงาน และผู้ป่วย ที่ตัดสินไปก่อนว่าเขาไม่น่าเชื่อถือ แต่สุดท้ายซีรีส์ก็ฉายภาพความพยายามของชิอนที่เอาชนะปัญหาทางสังคม และยังแสดงให้เห็นว่าเขานั้นก็สามารถที่จะมีความรัก และคนรักได้
Good Doctor ได้รับรางวัลจากองค์กรรณรงค์ให้ความรู้ผู้ทุพพลภาพ และคณะกรรมการมาตรฐานการสื่อสารของเกาหลีก็ยังยกย่องซีรีส์เรื่องนี้ว่าเป็นรายการที่ดียอดเยี่ยม และหลังจากนั้นความโด่งดังของ Good Doctor ยังไม่ได้จบแค่เวอร์ชั่นเกาหลี แต่มีการรีเมกทั้งเวอร์ชั่นญี่ปุ่น ตุรกี ฮ่องกง และอเมริกา ซึ่งเวอร์ชั่นอเมริกานั้น ยังคงอิงโครง และตัวละครจากเกาหลี แต่ได้สร้างเนื้อเรื่องต่อยอดไป และกำลังจะมีซีซั่นที่ 6 ในเร็วๆ นี้ด้วย
Good Doctor เรียกได้ว่าเป็นซีรีส์เบิกทางที่มีตัวละครหลักกับภาวะออทิสติกสเปกตรัม รวมไปถึงการแสดงของนักแสดงที่ยอดเยี่ยมจนได้รับคำชม ซึ่งต่อมาก็มีซีรีส์อย่าง ‘It’s Okay To Not Be Okay’ (2020) กับตัวละคร มุนซังแท พี่ชายของพระเอก ที่มีอาการนี้ จนต้องอยู่ในความดูแล และความช่วยเหลือของน้องชาย โดยถึงแม้ว่าตัวละครนี้ จะสร้างความลำบาก และปัญหาให้กับน้องชายบ้าง แต่เขาเองก็มีความพิเศษที่สามารถในการวาดรูปที่ไม่เหมือนใคร ทั้งด้วยตามธรรมเนียมของเกาหลีใต้ ที่พี่ชายคนโตจะมีบทบาทสำคัญ เป็นเสาหลักของครอบครัว แต่เรื่องนี้กลับกันที่น้องชายต้องเป็นเสาหลักของบ้านแทน ถึงอย่างนั้นเราก็เห็นความพยายามของซังแท ที่จะเป็นพี่ชายคนโต และปกป้องน้องชายบ้าง
สำหรับผู้รับบทซังแทเอง อย่างโอจองเซ ภายหลังละครออนแอร์ เขาก็ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม แถมยังคว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากเวที Baeksang Art Awards 2021 เขาเล่าว่า เขาได้เตรียมตัวสำหรับบทบาทนี้อย่างหนัก ในการศึกษาคาแร็กเตอร์ และเขาคิดว่าแม้ซังแทจะเป็นตัวละครที่มีภาวะออทิสติก แต่เสน่ห์ที่สำคัญที่สุดของมุนซังแท คือความไร้เดียงสา บริสุทธิ์ และจิตใจดี รวมถึงเขายังเสริมถึงมุมมองที่อยากให้มีการเปลี่ยนไปกับคนที่มีภาวะออทิสติกว่า ทุกวันนี้ในสังคมมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ได้สวมชุดของโรงพยาบาล “ถ้าคุณเจอคนแบบมุนซังแทเดินตามถนน ผมคิดว่าคงดีถ้าทุกคนคิดว่าฉันอยากอยู่กับคนนั้นแทนที่จะเป็น ฉันอยากจะช่วยคนนั้นแทน”
อีกหนึ่งเรื่องที่มีตัวละครหลักที่มีอาการออทิสติก คือ ‘Move to Heaven’ กับฮันกือรู ที่มีอาการแอสเพอร์เกอร์หนึ่งในอาการของออทิสติก ซึ่งผู้กำกับของเรื่อง คิมซองโฮ ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับการเล่าเรื่องที่ตัวละครหลักของเรื่องทำงานรับจ้างทำความสะอาดที่เกิดเหตุที่มีคนเสียชีวิต และคอยบอกความในใจครั้งสุดท้ายของผู้ตายแก่คนที่ผู้ตายรักอีกนั้น เขาตั้งใจถ่ายทอดว่า เรื่องราวต่างๆ ในสังคม หรือความสัมพันธ์ของคน ไม่ควรมีใครต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว แต่เราทุกคนต้องให้ความสนใจและรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งเขาตั้งใจให้ซีรีส์แสดงถือความเห็นอกเห็นใจ โดยใช้ตัวละคนของกือรู ในการถ่ายทอดออกมา เพื่อค้นหาลักษณะตัวละครที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับนักแสดง “มีตัวละครที่เป็นออทิสติกในซีรีส์ และภาพยนตร์อยู่แล้ว แต่เราพยายามแสดงตัวละครของเราให้แตกต่างจากการพรรณนาแบบแผนของคนออทิสติก” เขากล่าว และเสริมว่า เขาคุ้นเคยกับลักษณะที่แตกต่างกันของออทิสติกด้วย
อูยองอู กับพลังพิเศษที่ซีรีส์ต้องการถ่ายทอด
หลังจากออนแอร์มาครึ่งเรื่อง ใครๆ ต่างก็รู้จักอูยองอู รวมถึงรู้จักภาวะออทิสติกกันมากขึ้น ซึ่งตัวละครยองอูนั้น ไม่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เธอเจอในศาล หรือสำนักงานกฎหมาย ต่างก็สะท้อนว่า แม้ว่าเธอจะเรียนจบด้วยคะแนนอันดับหนึ่ง และเข้าทำงานในสำนักงานกฎหมายชื่อดัง แต่ก็ยังมีคนที่พร้อมจะกังขาในความสามารถของเธอ เพราะภาวะออทิสติกที่เธอเป็น รวมไปถึงสิ่งที่เธอต้องแบกรับ คอมเมนต์ต่างๆ ที่มีต่อคนสภาวะพิเศษอย่างเธอ
มุนจีวอน โปรดิวเซอร์และผู้เขียนบทซีรีส์ ได้เล่าถึงตัวละครหลักนี้ว่าเธอต้องการพาผู้ชมเดินทางเพื่อทำความรู้จักกับอูยองอู ที่ไม่ธรรมดา (extraordinary) “เรามักเรียกคนที่ไม่ธรรมดา ไม่คุ้นเคย มีเอกลักษณ์ แปลกประหลาด น่าอัศจรรย์ และนอกกรอบว่า ‘ไม่ธรรมดา’ คนเหล่านั้นสามารถสร้างความตึงเครียด และบางครั้งก็สร้างปัญหาได้ แต่พวกเขายังสามารถเปลี่ยนแปลง และเพิ่มคุณค่าของเราได้ และทำให้พื้นที่ต่างๆ ให้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่มากขึ้น” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า “ฉันหวังว่าในซีรีส์นี้ ผู้คนจะได้สัมผัสกับพลังพิเศษที่คนพิเศษเหล่านั้นมี” นี่คือสิ่งที่เธอตั้งในเสนอ
รวมไปถึงนักวิจารณ์วัฒนธรรมป็อปของเกาหลีอย่าง คิมฮึนชิก ยังได้ให้ความเห็นถึงไปถึงตัวละครอูยองไว้ว่า ซีรีส์นี้มีความครบรสทั้งหมด ตั้งแต่ตัวละครไปจนถึงโครงเรื่อง จนถึงการรวบรวมความนิยม นอกเหนือจากเอกลักษณ์ของตัวละครหลักที่มีอาการออทิสติกสเปกตรัม “ซีรีส์สร้างโครงเรื่องเป็นละครกฎหมาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในซีรีส์สองประเภทหลัก (แพทย์ และกฎหมาย) ที่มักประสบความสำเร็จ โดยจากมุมมองที่เน้นผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง นำเสนอตัวละครที่มีคุณค่าทางสังคมที่มีความพิการ และตัวละครนี้ไม่เหมือนภาพที่แสดงให้เห็นก่อนหน้านี้ในสื่อต่างๆ ซึ่งไม่เพียงแต่มีเสน่ห์และน่ารักเท่านั้น แต่ยังมีมุมมองที่แม้แต่คนไม่พิการก็สามารถเห็นอกเห็นใจได้” เขาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเกาหลีใต้ The Korean Times
“ตัวละครหลักไม่เหมือนตัวละครอื่นๆ ที่คนเคยเห็นมาก่อน ออทิสติกสเปกตรัมทำให้ซีรีส์มีเอกลักษณ์และโดดเด่น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างเรื่องราว ที่ดูคุ้นเคยแต่ไม่ก็ไม่คุ้นเคย แต่ซีรีส์นี้ก็ทำได้สำเร็จ และนั่นก็คือสิ่งที่ทำให้มันแตกต่าง” คิมกล่าว พร้อมเสริมว่ามันเต็มไปด้วยเรื่องราวที่มองโลกในแง่ดี และจริงใจของมนุษย์ มากกว่ามุมมองเชิงลบ
เพราะเกาหลีใต้มีอูยองอูมากกว่าหนึ่งคน กับความพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อโรคออทิสติก
“ตั้งแต่ฉันทำงานเป็นทนายอูยองอู มันทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นออทิสติกอูยองอูในสายตาของผู้คน ซึ่งออทิสติกอูยองอู เป็นสิ่งที่อ่อนแอที่สุด” – อูยองอู
เห็นได้ชัดว่า ซีรีส์ที่มีตัวละคนออทิสติกสเปกตรัมนี้ พยายามเปลี่ยนมุมมอง และสร้างความเข้าใจให้กับคนในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีงานวิจัยที่พูดถึงทัศนคติของคนเกาหลี ที่มีต่อโรคออทิสติก การศึกษาในปี ค.ศ.2011 ถึงความผิดปกติของอาการออทิสติกในกลุ่มประชากร ที่สรุปว่าโรคออทิสติกเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถูกเหยียดหยาม และตราหน้าในหมู่ชาวเกาหลี โดยมีการเหยียดหยามทั้งพ่อแม่ของเด็ก และคุกคามโอกาสการแต่งงานของญาติ ที่แม้จะไม่ได้มีอาการออทิสติกด้วย โดยผลที่ตามมาคือ ออทิสติกมักไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการวินิจฉัยผิดพลาด รวมถึงมีผู้ป่วยที่ตกหล่น ไม่ได้รับการรายงานในบันทึก
ขณะที่อีกงานวิจัย ในปี ค.ศ.2021 ที่ทำการเปรียบเทียบการตีตราผู้มีอาการออทิสติกระหว่างเกาหลีใต้ และอเมริกา โดยการศึกษาถึงวัฒนธรรม อคติ และความกังวลเกี่ยวกับการถ่ายทอดพันธุกรรมนั้น ยังพบว่า เกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศที่มีความรวมกลุ่ม เป็นหนึ่งเดียว ยังคงมีความเชื่อเชิงลบ และตีตราในระดับสูงต่อบุคคลที่มีอาการออทิสติก ที่บางครั้งมีพฤติกรรมแตกต่างจากบรรทัดฐานทางสังคม
และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มประชากรที่ร่วมประเมินของสองประเทศแล้ว เกาหลีใต้ยังมีมุมมองที่ตีตรา เหยียดหยามโรคออทิสติกมากกว่าอเมริกา ทั้งยังมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้น้อยกว่า มีความกังวลเกี่ยวกับโอกาสในการแต่งงานของสมาชิกในครอบครัว รวมถึงมีความคับแคบทางวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่จะส่งผลให้เกิดการเหยียดหยามโรคนี้มากขึ้น
ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มความรู้เกี่ยวกับออทิสติก และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลที่มีอาการออทิสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ยอมรับความไม่เท่าเทียมที่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์มนุษย์ทั้งในเกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ การแทรกแซงความเข้าใจนี้อาจช่วยให้ชาวเกาหลีเข้าใจความสัมพันธ์ของความเหมาะสมทางสังคม ที่อาจช่วยลดการตีตราของออทิสติกในเกาหลีใต้ด้วย
ซีรีส์เหล่านี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่ความบันเทิง แต่กำลังสื่อสารกับสังคม สร้างความเข้าใจ และต่อสู้กับการตีตรา และมุมมองเชิงลบต่อโรค รวมถึงผู้ที่มีอาการออทิสติก ซึ่งนักวิจารณ์คิมฮึนชิก ก็พูดถึงประเด็นนี้เช่นกันว่า ‘Extraordinary Attorney Woo’s’ ได้พยายามเน้นให้สาธารณชนคุ้นเคยกับอาการออทิสติก โดยซีรีส์พยายามใช้การเล่าเรื่องที่เปิดเผยความเป็นจริงของคนพิการ
“สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าชีวิตจริงของคนพิการยากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญคือ การฉายภาพว่าพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และผู้คนรอบตัวพยายามเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และสถานการณ์รอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญ” เขายังมองอีกว่าซีรีส์นี้มีความหมายมาก เพราะจะเป็นตัวอย่างสำหรับการวงการบันเทิงเกาหลี ให้นำเสนอเรื่องของคนพิการในสื่อต่อไป
“แทบไม่มีซีรีส์ไหนที่แสดงภาพคนพิการที่แสดงความคิดเห็น และความคิดของตัวเองอย่างละเอียดอ่อน (ในเกาหลี) ดังนั้นฉันคิดว่าเรื่องนี้มีความหมายมหาศาล มันเป็นความจริงที่ว่าคุณสามารถมีตัวละครที่มีความพิการ และได้รับประสบความสำเร็จทั้งในประเทศ และต่างประเทศ” เขากล่าว
อ้างอิงจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon