ถ้ามีการโหวตความนิยมจากเพื่อนในห้องเรียน คุณคิดว่าตัวเองจะอยู่เกรดอะไร?
Pyramid Game ซีรีส์เกาหลีจำนวน 10 ตอน ดัดแปลงจากเว็บตูนของ TVing เรื่องราวที่เล่าถึงชีวิตของเด็กมัธยมปลายที่เหมือนจะธรรมดา แต่กลับไม่ธรรมดาเพราะในห้องเรียนของชั้น ม.5/5 ในทุกๆ เดือนจะมีการเล่มเกมพีรามิด หรือเกมโหวตความนิยมของเพื่อนในห้อง และจะถูกจัดเกรดตาม A ถึง F ซึ่งแน่นอนว่า การถูกปฏิบัติก็จะเป็นไปตามเกรด ที่ A เป็นเหมือนผู้นำ ขณะที่ F คือหมาหัวเน่าของห้อง ที่ถูกกลั่นแกล้งได้เหมือนเป็นเรื่องปกติ
ซีรีส์แนวดราม่า ระทึกขวัญ และจิตวิทยาเรื่องนี้ นอกจากจะฉายภาพความผิดปกติของสังคมผ่านในห้องเรียนแห่งนี้แล้ว ยังพาเราไปร่วมลุ้นกับแก๊งเพื่อนสาว ที่พยายามจะทำลายระบบชนชั้นหรือเกมพีรามิดนี้ ซึ่งถ้าห้องเรียนเป็นเหมือนสังคมขนาดย่อ เป็นการจำลองสังคมภายนอกอย่างที่ซอง ซูจี ตัวเอกของเรื่องว่าไว้ ซีรีส์เรื่องนี้กำลังสะท้อนให้สังคมแบบไหนให้เรากัน?
เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง คุณรับบทเป็นใคร?
“ซีรีส์นี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหยื่อ ผู้กระทำผิด และผู้สังเกตการณ์ที่เข้ามาพัวพันกัน เป็นเรื่องราวของเหล่านักเรียนที่ต่อสู้และเติบโต ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีนักเรียนใหม่ย้ายเข้ามาในชั้นเรียน” – ปาร์ค โซยอน ผู้กำกับกล่าวในงานเปิดตัวซีรีส์
เมื่อมีเหตุการณ์การกลั่นแกล้ง หรือความรุนแรงในโรงเรียน เรามักจะพูดถึงบทบาทของ ‘ผู้กระทำ’ และ ‘เหยื่อ’ ที่ถูกกระทำ แต่ในระยะหลังๆ มานี้ เราเริ่มพูดถึง ‘ผู้สังเกตการณ์’ หรือผู้ที่รับรู้ เห็นเหตุการณ์ แต่ไม่พยายามช่วยเหลือเหยื่อ และยุติความรุนแรงนั้นมากขึ้น ในชั้นเรียนของ ม.5/5 เอง ประกอบไปด้วยนักเรียนหญิงจำนวน 25 คน ที่มาจากต่างพื้นเพ ต่างชนชั้น ในพีรามิดเกมนี้ ก็มีนักเรียนทุกเกรดตั้งแต่ A-F ซึ่งเกรดเหล่านี้ ก็มีผลต่อพวกเธอว่าจะเลือกเป็นผู้กระทำ กลายเป็นเหยื่อ หรือเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ และไม่เดือดร้อนในเกมนี้ให้ได้
หลังจากผ่านการย้ายโรงเรียนมามากมายทั่วเกาหลี เพราะต้องตามพ่อที่เป็นทหารเปลี่ยนหน่วยประจำการ ซอง ซูจี เรียกตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปรับตัว เธอมีเกณฑ์มองหาเพื่อนที่ควรคบ และคนที่ควรหลีกเลี่ยง รวมถึงพยายามทำตัวเองให้เป็นเพียงเด็กนักเรียนธรรมดาในห้อง ที่ไม่โดดเด่น และเพียงอยู่รอดในห้องเรียนได้ แต่แล้ว เมื่อย้ายเข้ามา และได้เข้าร่วมพีรามิดเกมครั้งแรก ผู้เชี่ยวชาญในการปรับตัวอย่างซูจี ก็กลายเป็นหมาหัวเน่า กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรง เป็นคนประเภทที่เธอเองต้องการจะหลีกเลี่ยง จนหาทางทำทุกอย่าง เพื่อหลุดพ้นจากเกรด F ในครั้งต่อไปให้ได้
‘เกรด F จะเป็นใครก็ได้ ขอแค่ไม่เป็นฉันก็พอ’ ต่างก็เป็นทัศนคติของนักเรียนในเกรดอื่นๆ โดยเฉพาะเกรด C และ D ที่ซูจีเอง เมื่อหลุดพ้นจากเกรด F ได้ ก็ทำตัวเป็นนักเรียนธรรมดาที่มองดู และเมินเฉยเมื่อเด็กเกรด F ถูกกลั่นแกล้ง โดยไม่คิดจะทำอะไร เพราะตำแหน่งของตัวเองในตอนนี้เปลี่ยนไป และปลอดภัยแล้ว ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่เธอตั้งใจไว้ คือเป็นเพียงนักเรียนธรรมดา และหลีกเลี่ยงปัญหาไปจนจบ แต่สุดท้าย ซูจีก็เปลี่ยนไป เมื่อคิดว่าเธอมีโอกาสจะกลับมาเป็นเกรด F เมื่อไหร่ก็ได้ และสิ่งที่จะทำให้เธอปลอดภัยได้จริงๆ คือการยกเลิกเกมนี้ต่างหาก จนนำมาสู่การเป็นตัวตั้งตัวตีกบฏ และรวบรวมกลุ่มเพื่อนๆ เพื่อต่อต้าน และยกเลิกเกมนี้
แน่นอนว่า พีรามิดเกม ไม่ได้ยกเลิกได้ง่ายๆ เพราะนักเรียนแต่ละคนต่างมีสถานะที่ไม่เท่าเทียม และพื้นเพของทุกคน ต่างโยงใยเต็มไปด้วยเส้นสาย การเป็นเด็กทุน และผลประโยชน์บางอย่างจากเกมนี้ แต่ในท้ายที่สุด ซูจีได้ใช้จิตวิทยาหว่านล้อมให้เพื่อนๆ ให้มีสามัญสำนึก และคิดว่า เกมพีรามิดนี้เป็นเกมที่อันตราย และวันหนึ่งอาจจะเป็นตัวเราเอง ที่จากผู้สังเกตการณ์ ก็กลายเป็นเหยื่อได้ไม่ว่าจะอยู่เกรดไหน
“ชนชั้นมีอยู่ทุกที่ ในกองทัพ ในสังคมในโรงเรียน คุณจะรู้เมื่อคุณโตขึ้นว่า โรงเรียนคือสังคมขนาดย่อ” – พันโทซองฮีซอก
หนึ่งในประโยคที่มีการพูดถึงบ่อยครั้งในซีรีส์คือการพูดว่า โรงเรียนคือสังคมขนาดย่อ ภาพสังคมขนาดย่อของโรงเรียนแบคยอน ที่มีทั้งผู้กระทำ เหยื่อ และผู้สังเกตการณ์ในห้อง ม.5/5 ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ อย่างครูประจำชั้น และครูใหญ่ที่นิ่งเฉย เพราะได้รับผลประโยชน์ จึงเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ตลอดทั่วไปในสังคมของเราที่ไม่ว่าที่ไหน ต่างมีบทบาทเหล่านี้เกิดขึ้น ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ นอกจากผู้กระทำแล้ว ยังฉายให้เราเห็นว่า ผู้สังเกตการณ์มีผลมากแค่ไหน ในการทำให้ความรุนแรงดำเนินต่อไปได้ และในตอนท้าย การเป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ ก็ได้รับผลที่ตามมาเช่นกัน อย่างเช่น พัค จียอง ที่สุดท้ายไม่เหลือเพื่อนๆ หรืออิม เยริม เด็กฝึกหัด ที่เลือกจะไม่ทำตามฝัน เดบิวต์เป็นไอดอล เพราะรับผิดชอบต่อการรับบทเป็นผู้สังเกตการณ์มาก่อน
ทั้งในตอนสุดท้าย เรายังเห็นซูจี กับมยอง จาอึน ที่พ่วงด้วยปัญหาที่ทำให้พวกเธอเติบโต จนจำเวอร์ชั่นเดิมไม่ได้ เพราะซูจี จากคนที่มักวางตัวเองเป็นคนกลางๆ ไม่เข้าไปยุ่งกับปัญหา แต่สุดท้าย เมื่อเธอมองเห็นสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหา และความรุนแรงเกิดขึ้น เธอเลือกที่จะไม่เมินเฉยเป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์เหมือนแต่ก่อนแล้วด้วย สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่า นอกจากผู้กระทำ และเหยื่อแล้ว ผู้สังเกตการณ์นั้น ก็มีบทบาทที่สำคัญในสถานการณ์เหล่านี้เช่นกัน
ถ้าโรงเรียนคือสังคมขนาดย่อ สังคมหล่อหลอมเด็กอย่างไรให้สร้างเกมพีรามิด
“มีกี่กรณีของความรุนแรงในโรงเรียนที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมเมื่อครูเข้ามามีส่วนร่วม? แค่ 1 ใน 10 เท่านั้น” – ซอง ซูจี
แม้ว่าเนื้อเรื่องหลักๆ จะอยู่ที่ตัวละครนักเรียนของชั้นเรียนนี้ แต่ในตอนท้าย ซีรีส์ของเรื่องก็เฉลยให้เราเห็นว่า เกมพีรามิด ที่ฮารินเป็นคนสร้างในห้อง ม.5/5 นั้น มีต้นแบบมาจากบ้านเด็กกำพร้าฮานึลที่เธออาศัยอยู่สมัยเป็นเด็ก ซึ่งคุณครูได้ให้นักเรียนเล่มเกม แจกคะแนน และสิทธิพิเศษต่างๆ ในห้อง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนอาหาร ผ้าห่มนอนกลางวันต่างๆ ล้วนขึ้นอยู่กับแต้มเหล่านั้นทั้งหมด
ทั้งครูประจำชั้นเองที่มีส่วนรู้เห็น เป็นอีกหนึ่งผู้สังเกตการณ์ หรือครูใหญ่ ที่พยายามทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพราะต้องการหลีกเลี่ยงปัญหา และเลียแข้งเลียขาผู้มีอำนาจอย่างแบคยอนกรุ๊ป ครอบครัวของฮาริน จนปล่อยให้ฮาริน มีอำนาจ และทำอะไรก็ได้ในโรงเรียน พยายามหลีกเลี่ยงกรณีสืบสวนความรุนแรง ไม่ว่าจะกับห้อง 5 หรือห้องไหนๆ ในโรงเรียน เพียงลดทอนให้เป็นเรื่องเด็กเล่นกัน ซึ่งทำให้เห็นว่า เกมพีรามิด และความรุนแรงเหล่านี้เกิดจากความยินยอมโดยปริยายของโรงเรียน
และแน่นอนว่า ครอบครัวของฮารินเอง ที่แม้จะไม่ใช่ครอบครัวแท้ๆ แต่รับเธอมาเลี้ยงตั้งแต่เด็ก ก็มีส่วนในการปลูกฝัง ให้เธอกลายเป็นคนบ้าอำนาจ ยึดติดกับเรื่องชนชั้น และทำตามใจตนเอง โดยเฉพาะตัวผู้เป็นย่า ที่ไม่ว่าฮารินจะขออะไร ก็ย่อมให้ได้ เพียงแค่เธอไม่สะเพร่า อย่างที่เห็นในฉากของการจำลองห้องเรียนให้ผู้ปกครองดู ที่เธอได้นำเสนอเกมพีรามิด แก่ผู้ปกครอง และชวนพวกเขาลองโหวต ซึ่งเมื่อถูกแม่ของโก อึนบยอลถามว่า ทำไมต้องเล่มเกมแบบนี้ ย่าของฮารินกลับตอบเพียงว่า “ถ้าหลานสาวฉันบอกให้ทำ ก็ต้องทำ” โดยไม่มีเหตุผลใดๆ มาช่วยสนับสนุนด้วย
รวมไปถึงนักเรียนเกรด A อย่างคิม ดายอน หัวโจกตัวตั้งตัวตีทำร้ายนักเรียนเกรด F และดูถูกนักเรียนคนอื่นๆ ในห้อง ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรุนแรง และอำนาจที่เธอใช้ในห้องเรียน ก็เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงที่เธอได้รับจากครอบครัว และพ่อ ที่เมื่อกลับบ้านไป เธอก็กลายเป็นเพียงเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว ที่ผู้ใหญ่ไม่สามารถพึ่งพาได้เช่นกัน
“มันเริ่มจากสิทธิพิเศษเล็กๆ น้อยๆ จนลุกลามกลายเป็นความรุนแรง” จากการบอกเล่าของพโย จีเอ เดิมทีเกมนี้ แค่เริ่มจากการโหวตความนิยม และชื่นชมเพื่อนๆ ซึ่งซูจี มองว่าการเคยชินกับความรุนแรง และการกลายเป็นปีศาจนั้น เป็นเหมือนโรคติดต่อ ซึ่งในมุมหนึ่ง เราอาจจะมองได้ว่าโรคติดต่อนี้ ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในห้องเรียน ม.5/5 เพราะเหล่านักเรียนนั้น ก็ติดต่อจากเหล่าผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ที่ใช้อำนาจ และประโยชน์ของชนชั้นในสังคม มาใช้ในสังคมย่อของพวกเธออีกที
ถึงแม้ตัวซีรีส์จะมีความซับซ้อน และปมหลังของตัวละครที่เบาบาง ซับซ้อนน้อยกว่าในเว็บตูน รวมถึงหาทางออกเหตุผลให้ตัวละครเพียงแค่ไซโคพาธ แต่ในมุมหนึ่งอาจมองได้ว่า ไม่ใช่แค่ฮาริน และการเป็นไซโคพาธเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่และสังคมในเรื่องนี้ หล่อหลอมให้เด็กเหล่านี้สร้างเกมพีรามิดออกมา และทำให้มันดำเนินไปได้ จนเกือบมีการเล่นเกมถึงครั้งที่ 16 ด้วย
ในตอนจบของซีรีส์ยังแสดงให้เห็นการเปลี่ยนนายทุนผู้สนับสนุนของโรงเรียน และมีนักเรียนใหม่ ที่เป็นทายาทของกลุ่มทุนใหม่ย้ายเข้ามา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะชื่นชม และอยากรู้อยากลองเล่นเกมพีรามิดนั้น ก็เหมือนการแสดงให้เห็นว่า พีรามิด หรือคนที่ได้ประโยชน์จากระบบชนชั้น และการกดขี่ ไม่ใช่แค่แบค ฮาริน
และสุดท้ายเกมพีรามิดของห้อง ม.5/5 ก็เป็นเพียงสังคมขนาดย่อเท่านั้น เพราะแม้ว่าเกมพีรามิดจะถูกยกเลิก บัลลังก์เจ้าหญิงของแบค ฮารินถูกทำลาย เรื่องการเล่นเกมนี้ ถูกเปิดเผยต่อสังคม จนเหล่านักเรียนที่มีส่วนในการสนับสนุนความรุนแรงได้รับบทลงโทษที่แตกต่างกันไป แต่เราก็ได้เห็นว่า พีรามิดมีอยู่ทุกที่ในสังคมจริง จากเด็กที่เคยเป็นเกรด A ในเกม พวกเธอก็กลับกลายเป็นเกรด F ได้ในชีวิตจริงโดยที่ไม่ต้องมีการโหวตด้วยซ้ำ อย่างฮารินที่กลายเป็นหมาหัวเน่า หรือคนไร้ตัวตนในสังคมได้ง่ายๆ หลังพ่อแม่บุญธรรมเพิกถอนสิทธิ์การเลี้ยงดู หรือดายอน ที่ถูกความรุนแรงจากพ่ออย่างไม่รู้จบ โดยไม่มีแม้กระทั้งสิทธิ์เลื่อนขั้นเป็นเกรดอื่นๆ ในรอบต่อไป