เชื่อว่าหลายคนน่าจะเติบโตมากับหนังและการ์ตูนพากย์ไทย เราจำเสียงของหลายตัวละครได้ขึ้นใจ ทว่าแทบไม่รู้จักใบหน้าและตัวตนที่อยู่เบื้องหลังถ้อยคำเหล่านั้น…ในวันที่วงการนักพากย์เริ่มถึงจุดเปลี่ยนถ่าย ผู้ชมมากมายดูพากย์ไทยน้อยลง อีกทั้งวิธีการทำงานก็ไม่เหมือนเดิม จึงน่าจับตาว่าเหล่านักลงเสียงรุ่นใหม่จะมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง
ณ ปุญญ์—ขวัญกมล ขาวไพศาล อาจจะไม่ใช่ชื่อที่เราคุ้นหูนัก แต่หากเป็นอูยองอู ทนายอัจฉริยะ, อาซุย ซึยุจาก My Hero Academia หรือคุโจ โจลีน จาก JoJo’s Bizarre Adventure: Stone Ocean หลายคนน่าจะพอรู้จักหรือหลงรักตัวละครเหล่านี้ไม่มากก็น้อย
ทุกบทบาทที่ว่ามาต่างเป็นผลงานการพากย์ไทยของนักพากย์รุ่นใหม่ผู้มีชื่อเล่นเป็นเอกลักษณ์อย่าง ณ ปุญญ์ทั้งสิ้น เธอคนนี้ผ่านงานลงเสียง ทั้งรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ อนิเมะ และซีรีส์มากมาย เธอเข้าสู่วงการในช่วงท้ายที่นักพากย์ทุกคนต้องลงเสียงแบบพร้อมหน้า ฟันฝ่าการทำงานในช่วงโควิด เผชิญกับวิกฤตที่คนไทยหันมานิยมฟังเสียงต้นฉบับ และไม่นานมานี้ก็เพิ่งได้เจอกับ #ทวงคืนอาชีพให้นักพากย์
ในเมื่อมีเรื่องราวน่าสนใจหลากหลายด้านซะเหลือเกิน The MATTER จึงขอเชิญหนึ่งในนักลงเสียงมาพูดคุย และต่อจากนี้คือเสียงจริงจากใจแบบไม่ผ่านไมค์ของเจ้าของเสียงพากย์ ที่เล่าทั้งความสบายและลำบากของการทำงาน เสน่ห์ของงานลงเสียง ตลอดจนอนาคตของอาชีพที่อยากให้เป็น
นักพากย์ไทยยังไม่เหมือน ‘เซยู’
เข้าเรื่องก่อนเลย คุณมีความคิดเห็นอย่างไรในประเด็น ‘คืนอาชีพให้นักพากย์’ ?
เอาเลยเหรอคะ (หัวเราะ) โอเค จะพูดเท่าที่พูดได้นะ จริงๆ ต้องบอกว่านักพากย์ไทยส่วนใหญ่มีหน้าที่แค่การพากย์ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่หลายบริษัทต้องการคือฐานแฟนคลับ เป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าของงานจะอยากให้คนมาดูงาน เหมือนถ้าเราขายของก็ต้องมีการโฆษณา เราเลยเข้าใจได้ที่เขาจะไปหาคนที่เหมาะกับส่วนนั้น
สมมติเป็นหนังเพลง เขาก็ต้องเลือกใช้คนที่ร้องเพลงได้ดีเพื่อที่จะไม่ให้เสียหน้าบริษัทเขา เพราะถ้าให้นักพากย์ร้องเพลงด้วยก็อาจจะไม่เหมาะกับงาน โอเค ก็มีนักพากย์ที่ร้องเพลงได้ แต่ก็ยังไม่ได้มีใครที่มีชื่อเสียงขนาดนั้น ถามว่านักพากย์ไทยคนไหนบ้างที่พากย์เก่ง ร้องเพลงได้ เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ และมีคนรู้จัก ก็ยังไม่มีใครตอบได้ นักพากย์ไทยยังไม่เหมือนเซยูของญี่ปุ่น สุดท้ายก็เลยต้องแล้วแต่เจ้าของงานว่าจะเคาะมาแบบไหน
คำว่าเซยูคืออะไร?
เท่าที่ปุญญ์เข้าใจ เซยูหรือนักพากย์ญี่ปุ่นก็คือนักลงเสียงนั่นแหละ แต่ต้องเป็นนักลงเสียงที่ทำได้หลายอย่าง ไม่ใช่แค่พากย์ได้อย่างเดียว คุณต้องมีสกิลการใช้เสียงทั้งหมด ร้องเพลงได้ แสดงละครเวทีได้ พอจะเป็นไอดอลที่ซื้อฐานแฟนคลับได้ ที่ญี่ปุ่นก็เลยมีกรณีแบบ ‘เฮ้ย เรื่องนี้ คนนี้พากย์เหรอ ไปดูดีกว่า’ หรือถ้าคนนี้พากย์เกมกาชา เราก็ยินดีเสียเงินเป็นแสนๆ เพื่อเขาได้ เซยูเป็นทุกอย่างในตัวคนเดียว ซึ่งกว่าจะเป็นแบบนั้นได้ก็ต้องผ่านการฝึกมาอย่างหนักหนาสาหัส และมีโรงเรียนฝึกเฉพาะ
พอจะรู้มั้ยว่าเขาฝึกกันหนักแค่ไหน?
มีเพื่อนปุญญ์คนหนึ่งไปเรียนต่อทางด้านเซยูเหมือนกัน เขาไปเรียนแล้วกลับมาเปิดเวิร์กช็อปเล็กๆ เราได้เข้าไปฟังด้วย คือมันไม่เหมือนกับสิ่งที่เราเจอมาเลย เขามีการวอร์มปาก วอร์มคอ วอร์มเสียง มีแบบฝึกหัด เขาสอนให้เพอร์ฟอร์แมนซ์ สอนนำเสนอตัวเอง ไม่แปลกใจที่เขาจะทำได้ครบจบในคนเดียว
แล้วนักพากย์ไทยจะเป็นอย่างเซยูของญี่ปุ่นได้ไหม?
ถ้าเป็นเรื่องพากย์ นักพากย์ไทยคือโอเคมาก เก่งแล้ว แต่ปัญหาคือตอนนี้สังคมไม่ค่อยต้องการคนที่เก่งด้านเดียว แต่ต้องการหลายๆ ทักษะที่จบในคนเดียว เวลาอยากได้นักร้องก็จะถามว่าเล่นกีตาร์ด้วยได้มั้ย หลายการพากย์ เขาก็ต้องเลือกคนที่ครอบคลุมกับความต้องการมากกว่า
แต่ถ้าถามว่านักพากย์ไทยจะเป็นแบบเซยูญี่ปุ่นได้มั้ย เราว่าค่อนข้างยาก เพราะแต่ละประเทศมีจุดขายไม่เหมือนกัน ที่ญี่ปุ่นมีอุตสาหกรรมอนิเมะที่แข็งแรง แต่ของไทย เอาจริงๆ รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว วันหนึ่งเราอาจจะมีนักพากย์ที่เก่งแบบเซยูได้ แต่การจะให้ใครมาซัปพอร์ตอย่างเป็นทางการจนวงการนักพากย์กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้คงจะยากมาก ประเทศเรายังมีอีกหลายด้านที่ดูจะต้องใช้งบประมาณมากกว่า เรายังไม่มั่นคงในเรื่องรัฐสวัสดิการ ขนส่ง หรือปัจจัยพื้นฐานขนาดนั้น มันจึงยากที่เขาจะเอาเงินมาลงกับงานศิลปะ อย่างน้อยก็ไม่น่าจะใช่เร็วๆ นี้
อยากลองมาพากย์เสียงดูมั้ย ?
นักลงเสียงที่ชื่อ ณ ปุญญ์ เริ่มต้นอาชีพนี้ได้ยังไง?
ถ้าเอาแบบสั้นๆ เลยก็คือไปร้องคาราโอเกะกับป้าที่เป็นนักพากย์ เขาบอกว่าเสียงเราใช้ได้ อยากลองมาพากย์เสียงดูมั้ย ก็เลยได้เป็นนักพากย์ค่ะ (หัวเราะ)
งั้นขอแบบยาวกว่านี้สักนิดแล้วกันครับ (หัวเราะ) ทำไมป้าชวนแล้วคุณตอบรับทันทีล่ะ?
เพราะเราเป็นคนชอบใช้เสียง แต่ไม่ชอบเป็นเป้าสายตาของใคร เลยคิดว่านี่อาจจะเป็นอาชีพที่ใช่ก็ได้ ก็ลองมาทำดู พอได้ทำจริงๆ ก็รู้สึกว่าใช่มาก ได้ใช้เสียงและไม่ต้องเป็นเป้าสายตา แถมยังได้เงินด้วย มีความสุขมากๆ เลยค่ะ
คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของงานลงเสียง
เวลาได้เปล่งเสียง เรารู้สึกว่าตัวเองได้ระบายอะไรบางอย่างออกมา การใช้เสียงเหมือนเป็นวิธีดูแลสุขภาพจิตอย่างหนึ่ง จริงๆ นะคะ การเป็นนักพากย์ช่วยให้เราได้ปลดปล่อยสิ่งต่างๆ ในทุกวัน เช่นวันนั้นรู้สึกแย่ ถ้าเป็นอาชีพอื่นคงไม่มีเหตุผลให้ตะโกนอะไรออกไป แต่พอเป็นนักพากย์ เราสามารถ อ๊ากกก! โอ๊ยยยย! ออกมาได้ ก็ผ่อนคลายดีนะคะ (หัวเราะ) มันไม่ได้หาเจอง่ายๆ ด้วยนะ งานที่ตรงตามสิ่งที่เราชอบทุกอย่าง แถมได้อยู่ในห้องแอร์อีก
ประสบการณ์การทำงานวันแรกเป็นยังไงบ้าง
ต้องบอกว่าป้าชวนไปก็จริง แต่พอไปถึงก็ยังไม่ได้พากย์ทันทีนะคะ ไปนั่งฟังเขาเฉย ๆ อยู่หนึ่งปี เป็นหนึ่งปีที่ไม่ได้ลงเสียงเลย อย่างที่บอก ประเทศไทยไม่มีการสอนพากย์ พอเข้าไป เขาก็บอกว่าไม่มีอะไรสอนนะ ครูพักลักจำเอาแล้วกัน พอครบปี เขาถึงจะบอกว่า โอเค ฟังมาสักปีแล้ว ลองมาลงเสียงสักประโยคมั้ย ถ้าพากย์หนึ่งประโยคแล้วรอด เดี๋ยวจะค่อยๆ ให้พากย์เพิ่ม ช่วงแรกก็พากย์เป็นตัวละครที่ในบทเขียนว่าชาย 1 หญิง 1 อะค่ะ
แล้วผลงานของหญิง 1 เป็นยังไง ฉายแววการเป็นนักพากย์เลยไหม?
ไม่ค่ะ (หัวเราะ) รอบแรกเละเทะมาก ต้องพากย์ซ้ำเยอะเลย กว่าจะได้พากย์ยาวกว่าหนึ่งประโยคก็คือหลังจากนั้นอีกครึ่งเดือน
ทำไมคุณถึงอดทนและตั้งใจขนาดนั้น?
ก็ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันค่ะ เราเรียนโบราณคดี ซึ่งไม่เกี่ยวกับการพากย์เลย จบมาก็มาเปิดร้านขายชา พอป้าชวนปุ๊บ เราก็ใจเร็ว ปิดร้านชาไปนั่งฟังเขาเลย เพื่อน ๆ ก็เตือนว่าน่ากลัวนะ เป็นอาชีพที่ไม่แน่นอน แต่อาจจะเพราะจริงๆ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยากทำอะไร คิดว่าไปนั่งฟังก็ไม่เสียหาย ก็เลยลองใช้เวลากับมัน
ช่วยเล่าภาพการทำงานของนักลงเสียงในตอนนั้นให้ฟังหน่อย
เราโตมากับพี่ๆ ทรูวิชันส์ค่ะ ชั้น 8 เราจะลงเสียงกันเป็นทีม ผู้ชายเท่านี้ ผู้หญิงเท่านี้ ว่ากันไป ส่วนใหญ่แต่ละทีมมีได้ตั้งแต่ 3 จนถึง 9 คน ทุกคนก็จะนั่งล้อมโต๊ะ ดูทีวีจอเดียวกัน ต่อให้หน้าตาเหยเกแค่ไหนก็ต้องหันหน้าเข้าหากัน พากย์ด้วยกัน มีบทคนละใบ เราก็พากย์กันทุกอย่างทั้งรายการทีวี สารคดี การ์ตูน หนัง
แล้วอย่างนี้ โควิด-19 ทำให้นักพากย์ทำงานยากขึ้นไหม?
เรียกว่าเปลี่ยนไปมากกว่า เมื่อก่อนเราฝึกมากับการพากย์ร่วมกับคนอื่น แต่หลังโควิด การพากย์เป็นทีมน้อยลง ส่วนมากแยกกันพากย์ มันเร็วกว่าก็จริงนะ แต่บางทีเราไม่รู้ว่าคนอื่นส่งอารมณ์มาแบบไหน ถ้ามีคนอัดไว้ก่อนก็ดีหน่อย อาจจะขอให้เขาช่วยเปิดให้ฟังได้ แต่ถ้าลงเป็นคนแรก เราก็ต้องพยายามเกาะให้ตรงกับเสียงต้นฉบับให้ได้มากที่สุด ไม่ก็พยายามฟังผู้กำกับพากย์ว่าควรใช้เสียงแบบไหนถึงจะลงตัว
ทั้งบทและภาพ ได้ดูครั้งแรกคือตอนพากย์
ขั้นตอนการทำงานของนักลงเสียงมีอะไรบ้าง?
เริ่มจากเจ้าของงานมาจ้างบริษัทพากย์ แล้วบริษัทก็มาจ้างเราอีกที เช่น เน็ตฟลิกมีซีรีส์เรื่องหนึ่ง เขามาโยนให้บริษัท A บริษัท A ก็จะติดต่อมาที่เรา ซึ่งก็มีทั้งแบบที่เลือกเราเลยและแบบที่บอกให้เราลองแคสต์ บางงานจริงจังมาก ต้องส่งแคสต์ไปยังประเทศต้นทาง อย่างอูยองอู (Extraordinary Attorney Woo) ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราก็ได้พากย์นะ ส่งไปให้ทีมงานเกาหลีดูมาแล้ว
หมายความว่าเจ้าของงานจะส่งบทมาให้เราอัดเสียงกลับไปให้เขา?
ส่งบทมาให้ลองก็มี ให้พากย์อย่างอื่นก็มี บางครั้งก็แค่ส่งเสียงไปเฉยๆ ให้เขาดูว่าเราใช่คาแร็คเตอร์นี้มั้ย ถ้าใช่ เขาก็จะเคาะว่าเอาคนนี้แหละ
แคสต์ผ่านปุ๊บ ข้ามมาถึงขั้นตอนการพากย์ คุณมีวิธีซ้อมบทอย่างไร?
เอ่อ นักพากย์ได้เห็นบทวันพากย์ค่ะ คือเห็นบทในห้องอัดเลย ไม่มีการซ้อมก่อน พอไปถึง เขาก็จะย้ำอีกทีว่าวันนี้ต้องพากย์ตัวไหนยังไงบ้าง ยิ่งถ้าเป็นหนังดังๆ เราจะเห็นแค่ปากของตัวละคร เป็นปากพะงาบๆ ลอยอยู่ ที่เหลือเป็นจอดำ เราก็นั่งฟัง นั่งจินตนาการเองว่าตัวละครนี้น่าจะกำลังรู้สึกแบบนี้ แน่นอนว่าเราไม่เคยดูคลิปมาก่อนด้วย ทั้งบทและภาพ ดูครั้งแรกคือตอนพากย์เลย ต้องไวมากๆ
เคยเจอบทที่พากย์แล้วไม่เข้าปากบ้างไหม?
มีเยอะค่ะ นักแปลก็เลยสำคัญมาก นักแปลดีเป็นศรีแก่เรา มีหลายครั้งเหมือนกันที่เขาแปลมาไม่ครบ แล้วเราต้องมานั่งเดาว่า เหตุการณ์นี้ควรจะเป็นประมาณไหน เคยเจอตอนพากย์สารคดีชีวิตสัตว์ขั้วโลกเหนือ ‘วันนี้เราจะพาทุกคนมาพบกับใหญ่น้ำ’ ซึ่งจริงๆ มันคือแม่น้ำที่กว้างใหญ่ แต่คนแปลน่าจะใช้กูเกิลทรานสเลตแปลมา เราเซ็ง แต่ก็เข้าใจ เพราะเขาก็โดนเร่งมาเหมือนกัน วงการนี้มีหลายครั้งที่งานเร่งมาก
เวลาพากย์เป็นตัวละครแต่ละสัญชาติ เราใช้ไวยากรณ์หรือวิธีการแตกต่างกันไหม?
มีรูปแบบอยู่บ้างคร่าวๆ เช่น ถ้าเป็นอินเดียจะยากสุด เพราะปากขยับเร็วมาก ถ้าผู้กำกับโฟกัสแค่ลงพร้อมคำสุดท้ายก็ง่ายหน่อย แต่ผู้กำกับบางคนก็อยากให้คำพูดเราไปเร็วตามตัวละครด้วย ขึ้นพร้อมลงพร้อมไม่พอ เขาอาจจะ ‘ปุญญ์ คำมันน้อยไปน่ะ เพิ่มคำให้ตรงปากหน่อยสิ’ เราก็ต้องสร้างสรรค์ ตาดูบทสลับกับดูหนัง ก็จะเหนื่อยขึ้นนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้นงานของนักพากย์กับนักแปลจึงสัมพันธ์กัน ถ้านักแปลแปลมาเหมาะกับหนัง แปลหนังอินเดียหรือสเปนมาแล้วใส่คำเยอะ เราอาจจะพูดเหนื่อยหน่อย แต่มันจะเหมาะกับสิ่งที่เป็นมากกว่า เราก็จะไม่ต้องเติมคำเพิ่ม
ส่วนถ้าเป็นเกาหลีญี่ปุ่นจะเน้นสบายๆ หวานๆ ของฝรั่งก็จะห้วนๆ ไม่ต้องมีหางเสียงมาก จะได้เป็นการใช้ภาษาระดับเดียวกัน คนที่นู่นไม่มีระดับภาษาแบบบ้านเรา
ถ้าท่าทางหรือหน้าไม่ไปตาม เสียงเราไม่ออกนะ
ภาษาอังกฤษของอาชีพที่คุณทำคือ Voice Actor ซึ่งถ้าแปลตรงๆ คือนักแสดงเสียง อาชีพนี้ต้องแสดงยังไงเหรอ?
ถ้าท่าทางหรือหน้าไม่ไปตาม เสียงเราไม่ออกนะ ช่วงแรกๆ อายมาก ตกใจ ทำไมทุกคนเล่นใหญ่ขนาดนี้ ฉากจูบฉากเลิฟซีน ทุกคนก็นั่งทำท่าดูดจริง จ๊วบๆ แต่มันก็ต้องทำ ต้องแสดงไปด้วย ไม่งั้นก็จะไม่ได้เสียงที่ตรงกับหนัง
แต่หลายคนก็บอกว่านักพากย์ไทยไม่ใช่นักแสดงเสียง แต่เป็นนักพากย์ทับเฉยๆ
ส่วนตัวก็คิดว่าถูกเหมือนกัน เพราะจริงๆ เราคือ ‘Voice Over’ เราไม่ได้สร้างออริจินัลของเราเอง ดังนั้น เราว่านักพากย์ไทยคือการเลียนแบบให้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด แต่ก็มีเหมือนกันที่เจ้าของงานสั่งว่าขอตลกกว่าต้นฉบับ ใส่มุกเพิ่มได้นะ
นิยามการเป็นนักพากย์ที่ดีในความคิดของคุณเป็นแบบไหน?
ยากจังเลย (นิ่งไป) เราทำงานเป็นทีมเนอะ อยู่กันหลายคน เราว่านักพากย์ที่ดีควรจะตรงต่อเวลา อย่างอื่นฝึกกันได้ แต่เรื่องวินัยและความรับผิดชอบคุยกันยาก ถ้าคิวพากย์ 11 โมง แต่เราไปบ่าย 2 ก็คงไม่ไหว เพราะคนอื่นก็จะทำงานหรือส่งงานไม่ได้เลย
คุณสมบัติอื่นๆ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้อ่านให้คล่อง การอ่านคล่องจะช่วยให้งานง่ายและไวขึ้น เวลามีคนชมเราว่าทำงานได้ดี ส่วนมากเป็นเพราะเราอ่านคล่อง ซึ่งน่าจะเกิดจากสมัยเรียน อาจารย์ชอบให้ไปแข่งอ่านฟังเสียง ก็เลยได้ทักษะการอ่านเยอะมาก อ่านไม่ค่อยผิด คนอื่นก็ทำงานต่อง่าย ตอนตัดต่อก็ไม่ต้องใช้หลายเทค แล้วก็ควรจะดูแลตัวเองให้ดีด้วย เพราะถ้าเสียงหายก็พากย์ไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรจะดูแลให้เสียงดีพอจะทำงาน จะได้ใช้การได้ยาวๆ
อ๋อ อีกอย่าง นักพากย์ที่ดีต้องมีไหวพริบและจินตนาการด้วย อย่างที่บอก บางทีหนังมีแค่ปาก เราก็ต้องจินตนาการต่อเอง หรือบางครั้ง บทเขียนมาว่า ‘อะไรนะ’ เราก็ห้ามคิดไปก่อนว่าความรู้สึกของตัวละครเป็นยังไง ต้องใช้ไหวพริบดูดีๆ ว่าเขาพูดเพราะตกใจหรือพูดเพราะไม่ได้ยิน ไหวพริบจินตนาการต้องมาคู่กัน
เป็นนักพากย์แล้วดูหนังหรือซีรีส์สนุกขึ้นไหม?
ความสนุกของนักพากย์ ยิ่งถ้าเราเป็นคนชอบดูอนิเมะหรือหนังคือ ‘หึ! ฉันได้ดูหนังฟรี แถมได้เงินด้วย’ บางทีเราพากย์เรื่องนี้ หลายคนก็เดาเนื้อเรื่องกัน เฮ้ย มันต้องเป็นแบบนี้แน่เลย ในใจเราคือ ‘ความจริงมันเป็นแบบนี้ต่างหาก’ เพราะว่าเราดูมาแล้ว (หัวเราะ)
อี๋ เธอดูพากย์ไทยเหรอ ห่วย!
อาชีพนักลงเสียงให้อะไรและเอาอะไรไปจากคุณบ้าง
ให้ความสนุกและทักษะเยอะมาก ก่อนหน้านี้เราได้ใช้เสียงอยู่บ้าง แต่พอเป็นนักพากย์ มันคืออีกระดับในการควบคุมเสียงเลย แต่สิ่งที่เอาไปคือสุขภาพ ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น อนิเมะอาจจะเสร็จทีละตอนสองตอน แต่เวลามาให้พากย์ไทย มันมาเป็นเข่ง เราก็ต้องเร่งส่ง สิ่งที่เสียก็คือคอของเรา อย่างเกาหลี ซีรีส์ 16 ตอน ขอวันพรุ่งนี้ เดือดมาก ก็ต้องถวายคอให้งานทั้งวันทั้งคืน พี่ๆ หลายคนในวงการก็ประสบปัญหาเดียวกัน ต้องปั่นให้เสร็จ แล้วนี่คืองานรับน้องของเรา ซึ่งไม่ได้ตังค์ด้วย อ๋อใช่ ถ้าเจอเจ้าของงานไม่ดีก็อาจจะโดนโกงได้ ต้องคอยระวัง
1 คืนกับ 16 ตอน ไม่เดือดไปเหรอ
ก็ต้องไหวค่ะ (หัวเราะ) แต่นั่นคือกรณีที่ไม่ใช่บริษัทใหญ่นะ ถ้าเป็นเจ้าดังๆ อเมซอน ไพร์ม เน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์ก็จะจ่ายเงินตรง แล้วก็ไม่ได้ใช้งานเราเยี่ยงเครื่องจักรเกินไป
เศร้ามั้ยที่คนดูพากย์ไทยน้อยลง?
จริงๆ มันไม่แปลกเลย ทางเลือกมีเยอะขึ้น เราเอง ถ้าไม่ใช่ตอนเช็คงานก็ดูเป็นซับนะ (หัวเราะ) มันเป็นสิทธิของแต่ละคน อยากดูอะไรก็เอาเลย เราจะเศร้าก็ต่อเมื่อคุณเริ่มไปบอกว่า ‘อี๋ เธอดูพากย์ไทยเหรอ ห่วย!’ ‘ทำไมไม่ดูซับวะ’ สุดท้ายมันเป็นความชอบและสิทธิของแต่ละคน บางคนเขาดูตอนทำงาน เขาสะดวกแบบนี้ บางคนสายตาไม่ดี นี่ก็เป็นความบันเทิงของเขา เราไม่ดูพากย์ไทยได้ แต่เราไม่ควรบังคับให้คนอื่นทำตาม จริงๆ วันนี้คนก็ไม่ได้ดูน้อยขนาดนั้น แต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือเรื่องลิขสิทธิ์ ต่อให้คนดูน้อย ถ้าดูแบบถูกลิขสิทธิ์ มันก็ยังมีเงินมาจ้างคนในอาชีพ ดีกว่าการที่ทุกคนดูพากย์ไทย แต่ไม่มีใครดูถูกลิขสิทธิ์เลย
จริง ๆ แล้วนักพากย์ไทยเศร้าเรื่องอะไร?
เราเป็นฟรีแลนซ์ เรื่องความมั่นคงคือตัดไปได้เลย หลายคนก็อาจจะเศร้าที่บางเดือนไม่มีงาน ไม่มีเงิน แล้วก็พากย์ไทย ต่อให้พากย์ดีแค่ไหนก็จะเท่าทุน มันน่าเศร้าตรงนี้ เพราะว่าต่อให้เราพยายามพากย์แค่ไหน คนก็จะบอกว่าเราเป็นได้แค่คนพากย์ทับ เราไม่ใช่ต้นฉบับ ถ้าทำดี คนจะบอกว่าแค่เสมอตัว ก็พากย์ได้ดีนี่นา ไม่โดนด่าก็คือบุญแล้ว แต่เราก็ทำได้แค่พยายามพากย์ให้ดีต่อไป ซึ่งคำว่าดีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก บางคนชอบแบบพันธมิตร ชอบตลกๆ บางคนชอบให้พากย์เหมือนต้นฉบับ อืม ยากจังเลยนะ
ถ้าคนที่อ่าน The MATTER อยากเป็นนักพากย์ เขาหรือเธอควรเริ่มต้นยังไง?
อาชีพนักพากย์ไทยไม่มีส่งเรซูเม่มาแล้วบอกว่าขอเข้าทำอาชีพนี้หน่อยค่ะ (หัวเราะ) เมื่อก่อนจึงยากมากๆ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีนักพากย์หลายคนเปิดคอร์สสอน เราก็อาจจะลองสมัครเข้าไปเรียน ถ้าเรียนแล้วทำได้ดี เราก็อาจจะได้ถูกหยิบมาใช้ในงานได้ หรือในระหว่างนั้น เราจะลองส่งเสียงไปให้พี่ๆ นักพากย์ช่วยฟังก็ได้ แต่เขาจะว่างฟังรึเปล่าก็ไม่แน่ใจ ก็พยายามฝึกอ่านให้คล่อง ลองพากย์ให้ปากตรงกับการมุบมิบๆ ในหนัง ฟังให้ดี ฝึกให้อารมณ์ของเสียงเราตรงกับต้นฉบับให้ได้มากที่สุด
หลัง ณ ปุญญ์ตอบคำถามสุดท้าย เธอก็ลองพากย์เป็นตัวละครมากมายให้เรารับฟัง แววตาของสาวนักลงเสียงทำให้เราเชื่อสนิทใจว่าเธอหลงรักอาชีพนี้มากเพียงใด และยิ่งฟังเธอพากย์ไปเรื่อยๆ เราก็ยิ่งมั่นใจว่ากว่าจะมีทักษะและความเป็นมืออาชีพอย่างที่ได้เห็นตรงหน้า เธอคงผ่านประสบการณ์ต่างๆ มามากเหลือเกิน…
ได้แต่สงสัยว่าหลังจากนี้ เราจะได้ฟังเสียงนี้ในผลงานอะไรอีกนะ