อังกฤษถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศนักดื่มตัวยงของโลก จากรายงานของ World Health Organization ในปี 2015 พบว่าเฉลี่ยรวมทั้งประเทศแล้ว คนอังกฤษหนึ่งคนมีปริมาณการดื่มน้ำเมาอยู่ที่ 12 ถึง 14 ลิตรเลยทีเดียว
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกินในเมืองผู้ดี อาจเป็นเพราะมีช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคกลาง (Middle Age) ที่พวกเขาจำเป็นจะต้องดื่มเบียร์แทนน้ำเปล่าที่ไม่สะอาดและปลอดภัยพอที่จะดื่มได้
จนถึงทุกวันนี้วัฒนธรรมการดื่มเบียร์ได้ฝังรากลึกผสมผสานเข้าไปกับทุกๆ กิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นงานรื่นเริงยินดี เช่น ฉลองได้งานใหม่ ได้เลื่อนขั้น เรียนจบ พวกเขาก็จะไปดื่มเบียร์ฉลองกันที่ผับ (คำว่า ผับ หรือ Pub ในประเทศอังกฤษหมายถึงร้านที่เน้นขายเครื่องดื่ม และส่วนใหญ่ก็จะสามารถสั่งอาหารมากินได้ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าผับแบบที่เปิดดนตรีดังๆ และเน้นเข้าไปแด๊นซ์เหมือนผับในเมืองไทยนะครับ)
หรือแม้กระทั่งงานเศร้า เช่น เลิกกับแฟน มีปัญหาชีวิต ก็ไปจบด้วยการดื่มที่ผับ และแม้จะไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไร แค่เลิกงานเร็ว ก็สามารถแวะไปดื่มเบียร์คุยกันที่ผับก่อนกลับบ้านได้ ยิ่งถ้ามีฟุตบอลทีมโปรดเตะ ก็ยิ่งต้องแวะไปจิบเบียร์กับเพื่อนๆ ที่ผับพร้อมกับลุ้นทีมโปรดไปด้วย กิจกรรมดื่มด่ำแอลกอฮอล์เหล่านี้ชาวอังกฤษสามารถทำได้ทุกวันโดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นวันหยุดหรือเสาร์อาทิตย์เท่านั้น บางคนชอบซื้อเบียร์ไว้ดื่มที่บ้านก็ไม่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด และการไปเยี่ยมเยียนเพื่อนที่บ้านหรือที่งานปาร์ตี้ก็มักจะต้องซื้อเหล้าเบียร์นี่แหละไปเป็นของฝาก
ใครที่มาเยี่ยมเยียนประเทศอังกฤษ หากมีโอกาสผมแนะนำให้ลองหาผับใกล้ๆ สักแห่งในช่วงเย็น แล้วเข้าไปนั่งดู ก็จะสังเกตเห็นได้ว่ามักจะมีคนมายืนดื่มเบียร์กันเต็มร้าน บางทีวันที่อากาศดีๆ นักดื่มทั้งหลายจะออกมายืนรับลม (และแดด) นอกร้านกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยจนชินตา
เมื่อต้นปี 2017 นี้ ได้มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ว่าการดื่มเพื่อเข้าสังคม (หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า social drinking) แบบพอดีๆ ไม่เมามายมากเกินไปของคนอังกฤษนั้น มีผลดีต่อการกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนพ้องและคนในชุมชน งานวิจัยนี้ใช้ผลจากการตอบแบบสอบถามของคนที่มาผับในประเทศอังกฤษ บวกกับการเฝ้าดูพฤติกรรมของนักดื่มเหล่านี้ เพื่อวิเคราะห์ว่าความถี่ในการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์กับสถานที่ที่พวกเขาเลือกเข้ามาดื่มนั้น มีผลต่อความสามารถในการเข้าสังคมและการมีสุขภาพจิตที่ดีของพวกเขาหรือไม่
ผลการวิจัยพบว่าคนอังกฤษที่ดื่มเพื่อเข้าสังคมมักจะมีเพื่อนสนิทที่สามารถพึ่งพาได้เมื่อมีปัญหา พวกเขายังมีความสุขกับชีวิต เชื่อว่าตนมีคุณค่า และเข้าอกเข้าใจผู้อื่นที่มีปัญหามากกว่าคนที่ไม่ดื่ม (อันนี้แค่ข้อมูลจากตัวอย่างที่สุ่มสำรวจเท่านั้น และไม่ได้แปลว่าคนที่ไม่ดื่มจะไม่มีความสุขกับชีวิตนะครับ) อีกทั้งพวกเขายังมีความผูกพันกับสังคมมากกว่าด้วย
ทั้งนี้เนื่องจากแอลกอฮอล์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน ซึ่งทำให้การดื่มพร้อมสนทนากับเพื่อนเก่าหรือเพื่อนใหม่ที่เจอกันในผับนั้น มีผลเทียบเคียงกับกิจกรรมการเข้าสังคมอื่น เช่น การร้องเพลง การหัวเราะ หรือการเต้นรำ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความผูกพันของคนในสังคมเป็นวงกว้าง
งานวิจัยยังเปิดเผยอีกว่าชาวอังกฤษที่เข้า community pub หรือผับเล็กๆ ที่อยู่ตามชุมชน จะมีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากกว่าคนที่เข้าผับใหญ่ๆ ในตัวเมือง เนื่องจากจำนวนคนในวงสนทนาจะมีขนาดเล็ก (โดยปกติแล้วจะไม่เกิน 4 คน) และก็เพราะวงสนทนาขนาดเล็กนั่นเองที่ส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยกันอย่างจริงจังนานกว่า และผู้ร่วมสนทนาสามารถมีส่วนร่วมได้มากกว่าการพูดคุยแบบผิวเผินตามผับใหญ่ในตัวเมือง ซึ่งมักจะมีคนจำนวนมากและขนาดวงสนทนาที่ใหญ่ นอกจากนี้คนที่มีผับ ‘ประจำ’ ที่ไปอย่างสม่ำเสมอ และรู้จักคนในผับกันเป็นอย่างดีนั้น มีส่วนทำให้มีความสุขและไว้ใจคนในชุมชนมากกว่าคนที่เลือกเข้าผับอย่างไม่จำเพาะเจาะจง
นอกจากนี้ยังอีกงานวิจัยเกี่ยวกับผับและการดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศอังกฤษอีกชิ้นหนึ่งที่นำเสนอผลใกล้เคียงกัน โดยทีมวิจัยของศาสตราจารย์ Ignazio Cabras จากมหาวิทยาลัย Northumbria University ในสหราชอาณาจักร ได้ศึกษาความสำคัญของผับต่อการกระชับความสัมพันธ์ของคนในเขตท้องถิ่นของประเทศอังกฤษ และพบว่าการมีอยู่ของผับกับความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่นนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างสูงใน 248 ชุมชนที่ทำการสำรวจ และได้ผลใกล้เคียงกันแม้ว่าจะใช้ข้อมูลจากการสำรวจสองครั้งในช่วงเวลาห่างกันถึง 10 ปี
ผลจากงานวิจัยเหล่านี้ สอดคล้องกับการรณรงค์โดยองค์กร Campaign for Real Ale หรือ CAMRA ที่รณรงค์ให้รัฐบาลอังกฤษลดภาษีเบียร์ลง เนื่องจากภาษีเบียร์ที่สูงกำลังส่งผลให้จำนวนของผับในประเทศอังกฤษลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2015 มีผับเหลืออยู่ทั้งประเทศจำนวนทั้งหมด 52,750 แห่ง และมีอัตราการปิดตัวของผับสูงถึง 27 แห่งต่ออาทิตย์เลยทีเดียว ปัญหาการแยกตัวของผับกับโรงงานผลิตเบียร์และการคิดภาษีเบียร์ที่สูงในประเทศอังกฤษทำให้รายได้ของผับลดลง จนสุดท้ายต้องผันตัวไปทำกิจการโรงแรม บาร์ที่เน้นถ่ายทอดสดกีฬา หรือคาเฟ่ ในที่สุด
ภาพจาก http://www.independent.co.uk/news/business/news/uk-pubs-closing-at-a-rate-of-27-a-week-camra-says-a6853686.html
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการดื่มเบียร์จะมีผลดีอย่างที่ได้เล่าให้ฟังกันแล้ว แต่ต้องอย่าลืมว่างานวิจัยทั้งสองนี้อยู่บนพื้นฐานของการดื่มแต่เพียง ‘พอดี’ และไม่มากเกินไป นอกจากนี้คนในประเทศอังกฤษ เช่น กรุงลอนดอนจะใช้บริการขนส่งมวลชน เช่น รถไฟใต้ดิน หรือรถบัส มากกว่าการเดินทางโดยการขับขี่รถยนต์ด้วยตนเอง
แม้ว่างานวิจัยจะบอกว่าการเข้าผับและดื่มกับเพื่อนๆ มีผลดีต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ของคุณ แต่สุดท้ายสิ่งที่ควรจะต้องระวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ มีสติอยู่เสมอ และไม่ควรขับรถหากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Dunbar, R. I. M., Launay, J., Wlodarski, R., Robertson, C., Pearce, E., Carney, J., & MacCarron, P. (2017). Functional Benefits of (Modest) Alcohol Consumption. Adaptive Human Behavior and Physiology, 3(2), 118–133.
doi.org/10.1007/s40750-016-0058-4
Cabras, I., & Mount, M. P. (2017). Assessing the impact of pubs on community cohesion and wellbeing in the English countryside. International Journal of Contemporary Hospitality Management, 29(1), 489–506.
doi.org/10.1108/IJCHM-12-2015-0717