สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีข่าวการจับกุมชายหนุ่มคนหนึ่งที่มีไอเดียและลองผิดลองถูกในการทำเบียร์ด้วยตัวเอง แล้วแอบลักลอบขายแบบลับๆ จนกระทั่งถูกกรมสรรพสามิตจับกุม เกิดเป็นคำถามทั้งในแง่มุมว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม กับอีกส่วนหนึ่งก็บอกว่าบ้านเราไม่เอื้ออำนวยในการเปิดขายเบียร์จนเป็นการบีบให้เกิดเป็นการขายเถื่อนหรือไม่
The MATTER ได้ติดต่อไปทางคุณ ปณิธาน ตงศิริ ตัวแทนจาก ‘ขบวนการเสรีเบียร์’ กลุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ของบ้านเราที่พยายามเคลื่อนไหวให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้การค้าขายเบียร์ในกลุ่มผู้ค้ารายย่อยในตลาดเป็นไปได้ง่ายขึ้น (ณ ปัจจุบันนี้ ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543 อนุญาตให้เปิดโรงงานเบียร์ขนาดเล็ก แต่ต้องเป็นโรงเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) ต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี) ว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในข่าวนี้ รวมถึงมุมมองของกลุ่มเสรีเบียร์ในเรื่องต่างๆ
จากกรณีการจับกุมบุคคลที่ต้มเบียร์และลักลอบขายนั้น ทางกลุ่มเสรีเบียร์มีความเห็นอย่างไรบ้าง?
พี่ๆ กรมสรรพสามิตทำตามหน้าที่ครับ ผู้ร้องเรียนเองก็ทำตามหน้าที่และสิทธิอันพึงมี พวกเรามีความคิดเห็นว่าการจับกุมครั้งนี้หรือครั้งไหนๆ ก็เป็นไปอย่างถูกต้องตามกระบวนการครับ
ในมุมมองของกฎหมายในประเทศไทยอะลุ่มอล่วยให้กับใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเปล่า
เท่าที่เรามีข้อมูล กฎหมายสุราของบ้านเราไม่ได้อะลุ่มอล่วยให้ใครเป็นพิเศษครับ นับเป็นเรื่องดีที่ทุกๆ บริษัทหรือองค์กรที่ผลิตสุราไม่ว่าจะชนิดใดยังอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันครับ
กฎหมายที่เปิดโอกาสให้กับรายย่อยทำเบียร์ด้วยตัวเองส่งผลดีผลเสียอย่างไรต่อผู้บริโภคทั่วไปบ้าง
ข้อดีคือเราเชื่อว่าการแข่งขันในตลาดการค้าเสรีจะส่งผลดีให้กับผู้บริโภคมากกว่าครับ ผู้บริโภคได้มีตัวเลือกที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการ ผู้ผลิตแต่ละรายต้องแข่งขันกันในด้านคุณภาพและราคาที่เหมาะสม
สภาพธุรกิจเบียร์ปัจจุบันไม่ได้ผูกขาด แต่โอกาสที่รายย่อยระดับชุมชน หรือระดับ SME จะผลิตเบียร์ของตัวเองแทบเป็นศูนย์ ในขณะที่ไวน์หรือสุรากลั่นสามารถทำได้ เรานึกถึงข้อเสียออกข้อเดียวคือผู้บริโภคจะมีตัวเลือกมากขึ้น อาจจะดื่มมากขึ้น อาจทำลายความเป็นเมืองพุทธของบ้านเมืองเราได้ครับ
กลุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ จะสามารถรักษาความสะอาดและระวังไม่ให้มีการปนเปื้อนด้วยวิธีการใดบ้าง
การผลิตแบบ Contract Brewings เจ้าของแบรนด์แทบทุกรายเลือกผลิตกับโรงเบียร์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานอยู่แล้วครับ เนื่องจากการลงทุนผลิตแต่ละครั้งใช้ทุนจำนวนมาก และไม่มีใครอยากให้เบียร์ของตัวเองออกมาพัง ฉะนั้นทุกโรงเบียร์จะมีใบอนุญาตและใบรับรองคุณภาพระดับสากล รวมถึงยังมีการตรวจคุณภาพในแล็บทุกขั้นตอนครับ
อีกกรณีหนึ่งคือ กรณีที่คนไทยไปเปิดโรงเบียร์ที่ต่างประเทศด้วยตัวเอง โรงเบียร์กลุ่มนี้ก็จำเป็นต้องผ่านการรับคุณภาพตามเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันของท้องที่นั้นๆ ด้วยครับ
ชาวโลกมองคนทำเบียร์ไทยอย่างไร ทั้งกลุ่มเสรีเบียร์และกลุ่มพ่อค้ารายใหญ่
จากการเดินทางไปมาหลายๆ ประเทศ เพื่อสัมผัสกับเบียร์ท้องถิ่นและคนทำเบียร์ท้องถิ่น ปฏิกิริยาที่เราได้รับเมื่อชาวต่างชาติทราบเรื่องความไม่ทันสมัยของกฎหมายสุราของบ้านเรา มีสองแบบคือ “Are you kidding?” (ล้อเล่นหรือเปล่า ?) กับ “Of course, it’s Thailand” (แหงล่ะ ก็ประเทศไทยนี่) เพราะประเทศอื่นๆ เขาไม่ห้ามการทำเบียร์ดื่มเอง แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น ห้ามผลิตดื่มเองเกิน 30 ลิตรต่อเดือน ผลิตเพื่อบริโภคเองในครัวเรือนห้ามจัดจำหน่าย ผลิตเพื่อจำหน่ายได้แต่ห้ามจำหน่ายนอกจังหวัดที่ผลิต เป็นอาทิ
แต่ไม่มีที่ไหนห้ามทำการผลิตเพื่อบริโภคเอง แม้กระทั่งเพื่อนบ้านของเราอย่าง ลาว หรือ กัมพูชา ก็ไม่ได้มีกฎหมายห้ามขนาดนั้น เราเลยมองว่าในจุดนี้ของบ้านต้องมีการเปลี่ยนแปลง
อยากให้คนไทยเข้าใจอะไรกับ กลุ่มทำเหล้าเถื่อน กลุ่มเสรีเบียร์ หรือกลุ่มคนที่ทำคราฟต์เบียร์แบบถูกต้องตามกฎหมาย และกลุ่มพ่อค้ารายใหญ่
อันดับแรก อยากให้มองที่รากของปัญหาครับ คือกฎหมายและข้อบังคับ ตรงนั้นคือปัญหาของเรื่องทั้งหมด พวกเราอยากให้มีการอัพเดตกฎหมายในส่วนนี้ ส่วนพี่ๆ กรมสรรพสามิต ทุกท่านนั้นทำตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ อยากขอความเป็นธรรมให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ปฏิบัติตามกฎหมายอยางถูกต้องด้วยครับ
ต่อมาคืออยากให้มองว่าพวกเราเชื่อว่ามันเป็นสิทธิอันพึงมีของพวกเราครับ แต่กติกาที่มีอยู่มันเป็นแบบนี้ก็ว่ากันตามนี้ คนทำแบบเถื่อนก็เสี่ยงต่อการโดนจับกันไป คนที่มีกำลังทรัพย์ก็ไปผลิตต่างประเทศแล้วนำเข้ามา เพียงเพื่ออยากให้คนไทยได้ดื่มแบบมีทางเลือก ได้ดื่มอย่างมีคุณภาพ อยากให้คนที่ไม่รู้เรื่องการเคลื่อนไหวนี้มองพวกเราถึงแรงจูงใจในการออกมาทำอะไรแบบนี้ว่าทำไม อยากให้ได้ลองชิมเบียร์ดีๆ ที่เราเอ่ยถึงว่ามันดียังไง แต่ละแบรนด์มีเรื่องราวและความเชื่อในการทำเบียร์ มันเป็นมากกว่าแค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครับ มันไม่ใช่แค่เพราะเด็กกลุ่มนึงอยากดื่มมากขึ้น อยากดื่มได้ตามใจตัวเอง แต่มันเป็นเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ และการดื่มอย่างมีคุณภาพ
กลุ่มเสรีเบียร์ จะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไปหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้
กลุ่มเสรีเบียร์คือกลุ่มของคนทำเบียร์ที่ผลิตในต่างประเทศและนำเข้ามาอย่างถูกต้อง การเคลื่อนไหวในเชิงต่อต้านหรือเรียกร้องอะไรเรื่องการจับกุมคงยังไม่มีครับ อย่างที่แจ้งไปแล้วว่าผู้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ทุกท่านทำตามหลักกฎหมาย แต่เราจะช่วยสร้างการรับรู้ถึงเหตุการณ์นี้ และเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้คนไทยได้ทราบถึงข้อจำกัดและความไม่มีตรงกลางของการขออนุญาตผลิตเบียร์ที่ทำให้เราผลิตเบียร์ดื่มเองไม่ได้ และทำให้เราไม่สามารถมีโรงเบียร์ขนาดเล็กที่บรรจุขวดขายได้ และเราอาจเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเก็บภาษีนำเข้ารูปแบบใหม่ที่มีผลกระทบกับพวกเราด้วย แต่แน่นอนว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่นอบน้อมไม่สร้างปัญหาหรือความขุ่นเคืองใจให้ใครแน่นอนครับ
ส่วนเรื่องอื่นๆ เราจะเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการดื่ม เพราะคราฟต์เบียร์เป็นเหมือนอาหารร้านดังที่ ‘คนส่วนมาก’ ไปรับประทานเพื่อรสชาติและความสุนทรีย์ ไม่ได้ไปซัดให้อิ่ม มันมีวิธีดื่ม วิธีเสิร์ฟ มีเรื่องราวของวัตถุดิบ ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีบรรทัดฐานสำหรับผู้จำหน่าย เช่น การงดจำหน่ายให้กับลูกค้าที่เริ่มมึนเมา เป็นต้น ซึ่งต่างประเทศใช้กันแล้ว เราอยากให้มีในบ้านเราบ้าง
Cover Illustration by Namsai Supavong