“ให้คิดว่า เหล้า เบียร์ หรือไวน์ ก็เหมือนชาหรือกาแฟ มีทั้งแบบกระป๋องหรือแบบสำเร็จรูป แล้วก็แบบพรีเมี่ยมที่ขายกันแพงๆ”
ใครคนหนึ่งเคยกล่าวคำพูดนี้เอาไว้ ส่วนหนึ่งเราก็เห็นด้วยกับคำพูดดังกล่าวที่แยกเครื่องดื่มเป็นแบบต่างๆ แยกไปตามกลุ่มลูกค้า กระนั้นเครื่องดื่มในกลุ่มแรกก็มีความแตกต่างกับเครื่องดื่มในกลุ่มหลังที่ชัดเจนอยู่อย่างหนึ่งนั่นก็คือ เครื่องดื่มสามตัวแรกถือเป็น ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ที่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน เหมือนกับคราฟต์เบียร์ที่กลายตกเป็นเป้าใหญ่ของสังคมอยู่บ่อยครั้งในช่วงหลายปีมานี้
อย่างครั้งล่าสุดที่ผ่านมาก็เป็นกรณีการจับกุมผู้ที่ต้มเบียร์และจัดขายแบบไม่ถูกต้อง โดยกรมสรรพสามิตในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการค้าสุรา และผู้กระทำความผิดก็ได้ถูกตัดสินโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 5,700 บาท แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ก่อน
เมื่อย้อนไปดูในตัวกฎหมายของบ้านเรา ‘พระราชบัญญัติสุรา’ ถูกตราขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2493 และถ้าจะนับไปในอดีตประเทศไทยก็มีการเก็บอากรสุรามานาน (ไทยไทยล้วนอนิจจัง เคยกล่าวถึงไว้แล้วครั้งหนึ่ง) ตัวกฎหมายนั้นมีการอัพเดตแพทช์และแก้ไขอยู่เป็นระยะๆ โดยหลักสำคัญของพระราชบัญญัติตัวนี้ก็เป็นทั้งข้อกำหนดว่า เครื่องดื่มแบบใดถึงจะถูกจัดเข้าเป็นสุรา จำหน่ายที่ใดได้บ้าง ผู้จำหน่ายจะต้องขอใบอนุญาตแบบใดบ้าง รวมไปถึงการจัดการกับแอลกอฮอล์ส่วนที่ผลิต ‘เอทานอล’ ด้วย
ดราม่าคราฟต์เบียร์นั้นจะวนเวียนอยู่ในเรื่องการผลิตที่เคยมี ‘ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2543’ อนุญาตให้สามารถตั้งโรงงานได้ด้วยเงื่อนไขที่ค่อนข้างละเอียด อย่างในกรณีของเบียร์จำเป็นต้องเป็นบริษัทไทยที่มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยเกิน 51% เงินทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ถ้าทำโรงเบียร์ขนาดใหญ่ต้องผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตร แต่ถ้าอยากทำโรงเบียร์ขนาดเล็ก หรือที่เขียนไว้ในประกาศว่าเป็น ‘สถานที่ผลิต (Brewpub)’ ก็ต้องผลิตมากกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตร Brewpub ในไทยก็อย่างเช่น โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงในกรุงเทพ หรือ Full Moon Brewwork ที่ภูเก็ตเป็นอาทิ
ทีนี้ปัญหาของกลุ่มคนทำคราฟต์เบียร์นั้น นอกจากจะลำบากในการหาเงินทุนกว่า 10 ล้านบาท เพื่อจะผลิตเบียร์ที่ตัวเองอยากทำได้อย่างถูกกฎหมายแล้ว ศาลปกครองยังสั่งเพิกถอน ‘ประกาศวิธีการบริหารงานสุรา’ ไปสี่ฉบับ ทำให้การก่อตั้ง Brewpub หรือ Microbrewery ในตอนนี้อยู่ในห้วงสูญญากาศจนกว่า จะมีการประกาศพระราชบัญญัติสรรพสามิตตัวใหม่ที่จะครอบคลุมถึงเรื่องสุรา และกฎกระทรวงที่จะมาครอบคลุมอีกครั้ง (ส่วน Brewpub ที่ได้รับอนุญาตไปแล้วก็ถือว่ายังเปิดให้บริการได้อยู่ และการผลิตสุราชุมชนก็ยังคงทำได้เพราะศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ถอนประกาศส่วนที่อนุญาตเรื่องสุราชุมชน) แต่การที่ยังเป็นภาวะเคว้งคว้างเช่นนี้ก็อาจจะเป็นโอกาสอันดีของกลุ่มที่ต้องการจะผลิตสุราด้วยตนเองแทบทุกกลุ่ม
อีกประเด็นที่น่าพูดถึงเสียหน่อยก็คงเป็นเรื่องสาเหตุในความพยายามเปิดโรงผลิตเบียร์ ส่วนหนึ่งแน่นอนว่ามาจากเรื่องความฝันของทางกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยที่ต้องการสร้างคราฟต์เบียร์ในประเทศ รวมถึงการสร้างสินค้าเด่นให้ท้องถิ่นอันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว (ลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ) แต่อีกส่วนก็ต้องยอมรับว่ามาจากรายได้ที่ดูเป็นกอบเป็นกำอยู่ไม่น้อย
เพราะขนาดเศรษฐกิจฝืดเคืองผสมมกับบรรยากาศตลาดไม่เป็นใจ ตลาดเบียร์ปีก่อนยังมีมูลค่าสูงถึงราว 1.8 แสนล้านบาท การที่หลายท่านจะสนใจเข้ามาตัดแบ่งเค้กชิ้นนี้สักชิ้นเล็กๆ แค่ 1% ก็ถือว่าเป็นยอดเงินที่ไม่น้อยอยู่เช่นกัน แล้วก็ว่ากันว่า เพราะยอดเงินที่น่าเย้ายวนขนาดนี้แหละที่สร้างดราม่าให้ผู้ผลิตสุราแช่ และสุรากลั่นขนาดเล็กเข้าปะทะกัน ทั้งแบบเหนือเข็มขัดและใต้เข็มขัด จนมีความเห็นจากบางมุมว่า เหตุผลหนึ่งที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งยกเลิกประกาศของกรมสรรพสามิตไปสามฉบับก็คือดราม่าของเหล่าผู้ผลิตนั่นเอง
นอกจากเรื่องเงินตราและการค้าแล้ว ก็ยังมีเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ เรากำลังพูดถึงกลุ่มที่ออกมาพยายามปรามคนในสังคมให้เสพเหล้าน้อยลง ทั้งทางกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่นๆ อีกมากที่ออกมาคัดค้านภาพรวมของการขยายตลาดสุรา อย่างเมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา สสส. เองก็นำข้อมูลของทาง ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) มาเปิดเผยว่าวันหยุดยาวของปี 2558-2559 นั้นมีอุบัติเหตุมากกว่าช่วงปกติถึง 10.2% และมีผู้บาดเจ็บที่ดื่มสุรามาด้วยเพิ่มกว่าช่วงปกติถึง 24%
จึงมีความพยายามจากกลุ่มเหล่านี้ที่อยากจะให้ตำรวจและสรรพสามิตกวดขันในการตรวจสอบอายุผู้ซื้อ ตรวจสอบเวลาเปิดปิดสถานที่ขายสุรา รวมถึงตรวจสอบสถานที่ผลิตว่าถูกต้องหรือไม่ ส่วนใหญ่กลุ่มคนที่ปรามคนในสังคมเรื่องสุรานั้นก็ยังบอกอยู่เสมอๆ ว่า ถ้ายังไม่ดื่มก็ไม่อยากให้ลอง แต่ถ้าดื่มก็อย่าขับรถ
กลายเป็นว่าเรื่องของคราฟต์เบียร์นั้นดูวุ่นวาย และพัวพันกับเรื่องอื่นอีกหลายเรื่องมากกว่าที่คิด อย่างน้อยก็ยังมีมุมดีๆ ที่เราเห็นได้จากเรื่องนี้คือ ทุกกลุ่มที่ไม่ได้เห็นพ้องต้องกันนั้น เช่นกลุ่มเสรีเบียร์ที่ออกมาแสดงตนว่าถ้าผิดก็โดนจับไปตามกฎหมาย หรือส่วนของฝั่ง สสส. แม้จะทำแคมเปญไม่ดื่มเหล้ามายาวๆ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นชูธงรบในการทำลายเหล้าให้หมดไป ภาพที่ออกมาจึงดูเป็นการพยายามพูดคุยกันเพื่อหาจุดที่ลงตัวระหว่างกันให้มากที่สุดอย่างที่ปัญญาชนพึงกระทำ ไม่ใช่การ Say No กับความเห็นของอีกฝั่งแบบที่เกิดขึ้นในการถกเถียงกันในหลายๆ เรื่องบ้านเรา แต่เราคงต้องรอดูกันว่า พ.ร.บ. กรมสรรพสามิต ที่จะออกมาใช้งานจะดึงดราม่าเรื่องไหนมาสู่โลกเมรัยในเมืองไทยกันอีกในภายภาคหน้า
อ้างอิงข้อมูลจาก
Voice TV 1
Voice TV 2