พวกเราล้วนใช้เวลามากมายในการจับผิดคนอื่น แต่มักลืมสำรวจความเข้าใจผิดตัวเองในแบบเดียวกัน … เราเลยอยากชวนมาสำรวจตัวเองกัน
ฉันคงเปลี่ยนใจคุณไม่ได้
ความรู้สึกที่ว่าเราเป็นคนถูกมันดีใช่ไหม เมื่อพบบทความที่ชอบ ข้อความที่ชอบ เรารีบกดแชร์ออกไปเพื่อแสดงออกว่า ‘อ่านนี่สิ เห็นไหม ฉันถูก’
ลองนึกถึงครั้งล่าสุดที่คุณอ่านอะไรสักอย่างแล้วเปลี่ยนความคิดโดยสิ้นเชิง มันเคยเกิดขึ้นจริงๆ เหรอ? น่าจะเกิดขึ้นยากมากใช่ไหม? The Atlantic ได้มีบทความที่ชื่อว่า ‘บทความนี้เปลี่ยนความคิดคุณไม่ได้’ ที่ชี้ให้เห็นว่า การนำเสนอข้อเท็จจริงนั้นอาจยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนใจผู้อ่านที่มีความเชื่อขัดแย้งกับข้อเท็จจริง และหลายๆ ครั้งคนเรามักเลือกอ่านอันความคิดเห็นและข้อมูลที่ตรงกับความคิดเดิมของเราอยู่แล้ว
นอกจากหลักฐานและข้อเท็จจริงอาจจะไม่ช่วยให้เราเปลี่ยนใจแล้ว บางครั้งความจริงที่ไม่ตรงกับความเชื่อกลับทำให้เรายิ่งจมไปในความเชื่อเดิมหนักขึ้นอีก สิ่งนี้เรียกว่า Backfire Effect สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือ เมื่อความเชื่อถูกท้าทายด้วยหลักฐานที่ไม่สอดคล้องหรือต่อต้าน ความเชื่อกลับยิ่งรุนแรงเข้มข้นฝังลึกขึ้นไปอีก แม้ในอุดมคติ เราอาจคิดว่า เมื่อเราถูกท้าทายด้วยข้อมูลแล้วจะเปลี่ยนความเห็นและยินยอมรับข้อมูลนี้ แต่เรามักอยากเชื่อว่าเราเลือกถูกข้าง หรือมาถูกทางแล้วแหละ
หนังสือ Mistakes Were Made (But Not by Me): Why We Justify Foolish Beliefs, Bad Decisions, and Hurtful Acts โดย Carol Tavris และ Elliot Aronson เล่าถึงงานวิจัยในปี 1979 จาก Stanford University ที่ให้กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยคนที่เห็นด้วยและคนที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต (Capital Punishmment) โดยให้กลุ่มตัวทั้งหมด อ่าน 2 บทความ ที่อันหนึ่งสนับสนุนและอีกอันหนึ่งไม่สนับสนุนโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นบทความวิชาการที่เขียนโดยมีข้อมูลรองรับเท่าๆ กันทั้งคู่ โดยคาดหวังว่า หลังจากอ่านจบ ทั้งสองฝั่งจะเข้าใจว่าประเด็นมันซับซ้อนกว่าที่พวกเขาคิด ได้เห็นมุมมองของฝั่งตรงข้ามที่หนักแน่น และเบาความเชื่อตัวเองลง
แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม บอกว่าบทความที่ตรงความเชื่อตัวเองนั้นน่าเชื่อถือกว่า พยายามหาจุดด้อยและข้อบกพร่องในบทความที่ไม่ตรงกับความคิดของตัวเอง ซึ่งจุดบกพร่องเล็กน้อยได้ถูกขยายใช้อ้างเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรคล้อยตาม สรุปว่า ยิ่งเราพบหลักฐานที่ตรงข้ามกับความเชื่อเราที่มี เรายิ่งจะยึดมั่นกับความเชื่อนั้นรุนแรงขึ้นไปอีก
Leon Festinger นักสังคมจิตวิทยาได้ศึกษาและสังเกตกลุ่มลัทธิหนึ่งซึ่งเชื่อว่าโลกจะแตกในวันที่ 21 ธันวาคม 1954 พวกเขาเชื่อว่าจะมีจานบินมารับพวกเขาให้ปลอดภัยจากโลกอวสาน ตอนเที่ยงคืนวันที่ 20 ธันวคม แม้คนนอกจะมองว่าพวกเขาเพี้ยน แต่ผู้ศรัทธานั้นเอาจริงเอาจังมาก พวกเขาลาออกจากงาน สละบ้านและทรัพย์สินของตัวเอง (เพราะถ้าโลกล่มสลาย เงินจะมีประโยชน์อันใดในอวกาศ) Festinger อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากคำทำนายไม่เป็นจริง และเมื่อถึงวันเวลาที่กำหนด ทุกคนมารวมตัวกัน แน่นอนว่า เมื่อผ่านเวลาเที่ยงคืนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกคนดูตึงเครียดและกังวล เวลาตีสี่ Mrs.Keech ผู้นำกลุ่มได้ประกาศนิมิตใหม่ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ‘โลกได้ถูกรักษาไว้แล้วโดยพระเจ้า’ ทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นเปลี่ยนจากวิตกเป็นยินดีที่โลกไม่แตก และหวังดีรีบส่ง Press Release ไปแจ้งข่าวดีของโลกให้คนอื่นๆ รับรู้
เราแทบไม่เคยได้ยินใครพูดว่า “ฉันผิดเอง ไม่น่าเชื่อว่าตัวเองโง่ขนาดเชื่อเรื่องไร้สาระขนาดนั้นไปได้”
หลายๆ ครั้ง เราพบว่าคนอื่นเข้าใจผิดหรือมีความคิดประหลาดๆ (คนอื่นที่ไม่ใช่เรา ต้องไม่ใช่เราแน่ๆ !!) พวกเขาไม่ได้เกลียดความฉลาด ความลึกลํ้า เรื่องวิชาการ การเรียนรู้สิ่งใหม่ พวกเขาแค่ไม่อยากรู้สึกโง่ คนเราไม่อยากรู้ว่าตัวเองได้เข้าใจผิดพลาดไป เพราะความอยากรู้สึกฉลาดตลอดไป จึงเลือกที่จะเชื่อและคิดในแบบเดิมๆ ต่อไป
Leon Festinger เขาเสนอทฤษฏี Cognitive Dissonance คือคนเราสามารถมีความเชื่อหลายอย่างในตัวเองที่ขัดแย้งกันได้ โดยเราจะสามารถหาข้ออ้างให้ความเชื่อและการกระทำของตัวเองได้เสมอ คนเราพยายามหาเหตุผลให้กับความเชื่ออันขัดแย้งของตัวเองเพื่อดำรงชีวิตที่มีความหมายต่อไปได้อย่างราบลื่น
ยิ่งเจอหลักฐานที่ขัดแย้งจากความเข้าใจ หรือหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเราตัดสินใจผิดพลาด เราจะยิ่งปกป้องตัวเองด้วยเหตุผลว่า ‘สิ่งที่ฉันทำคือทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วจริงๆ’
Surprise Journal บันทึกความเข้าใจผิดเป็นกิจวัตร
Julia Galef นักสถิติและนักจัดรายการพอดแคสต์ ‘Rationally Speaking’ อธิบายว่าเราต่างมี Motivated Reasoning หรือการให้เหตุผลโดยมีแรงจูงใจ คือการที่เราพยายามและตั้งใจอยากให้บางไอเดียชนะเป็นพิเศษ หรืออยากให้บางไอเดียแพ้ มีแรงจูงใจที่จะโจมตีหรือปกป้องความคิดบางอย่าง เพราะเราต่างมี Pet Theory ‘ทฤษฎีโปรดปรานส่วนตัว’ (เหมือนสัตว์เลี้ยงที่เรารัก) เราพร้อมที่จะเสาะหาหลักฐานที่สอดคล้องมาอุ้มชูสิ่งที่เราเชื่อ มายืนยันว่าเราเข้าใจถูกแล้วแหละ
เรามักเห็นความประหลาด หรือความไม่เข้าท่าในวิธีคิดของคนอื่น แต่เรามักไม่เห็นปัญหาในความคิดของเราเอง เพื่อทำลายวิธีคิด Motivated Reasoning ในตัวเรา Julia Galef จึงแนะนำวิธีท้าทายความคิดของตัวเองโดยให้ทุกคนลองบันทึกถึงความเข้าใจผิด ความผิดพลาด เรื่องน่าประหลาดใจในชีวิต หรือ ‘Surprise Journal’ โดยแบ่งเป็นการเขียนเหตุการณ์ที่ทำให้ประหลาดใจ แล้วถามตัวเองว่าทำไมมันถึงน่าประหลาดใจ จากนั้นก็ไตร่ตรองว่ามันบอกอะไรเราบ้าง
มีครูได้นำไปใช้จริงในชั้นเรียนโดยให้นักเรียนบันทึกเหตุการณ์ที่ทำให้ประหลาดใจคนละ 15 อันในเวลา 3 เดือน เด็กๆ สามารถบันทึกได้รวมกันเป็นพันเหตุการณ์ที่น่าประหลาดใจเกี่ยวกับตัวเอง และหลายๆ ครั้งเป็นความผิดพลาดที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ ผลคือนักเรียนพบว่าตัวเองผิดพลาดและคาดการณ์ผิดมากกว่าที่ตัวเองคิด ทักษะที่สำคัญคือการสำรวจและมองเห็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายของเรา
ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กๆ ตระหนักว่า พวกเขาผิดพลาดได้และฝึกให้เด็กยอมรับว่าการเข้าใจผิดเป็นเรื่องธรรมดา ฝึกมองหาความผิดพลาด เรื่องที่ทำให้ประหลาดใจ ผ่านการจดบันทึก
คนเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่พร้อมจะอัพเดตความคิดและความเชื่อได้ตลอดชีวิต ไม่จำเป็นต้องติดอยู่กับความเข้าใจผิดๆ ตลอดไปทั้งชีวิต Isaac Asimov ได้พูดไว้ว่า “สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในวิทยาศาสตร์ เมื่อคนบางคนค้นพบอะไรใหม่ ไม่ใชคำว่า ‘ยูเรก้า!’ แต่เป็น ‘นี่มันตลกดีนะ…’ ”
วิทยาศาสตร์สร้างความรู้จากการต่อยอดความไม่รู้ โดยพยายามทดลองเพื่อหักล้างสมมติฐานตั้งต้น และทดลองซํ้าจนแน่ใจว่าผลที่พบนั้นมีแนวโน้มใกล้เคียงความจริงที่สุด และความจริงนั้นถูกถอนคืนได้หากพบว่าผิดพลาด
Scout Mindset ฝึกมอง-คิดแบบผู้สังเกตการณ์
นอกจากนี้ Julia Galef ยังได้พูดใน TEDxPSU ในหัวข้อ “Why you think you’re right — even if you’re wrong?” หรือ “ทำไมเราถึงคิดว่าเราถูก ทั้งที่เราผิด”
TEDxPSU: Julia Galef “Why you think you’re right — even if you’re wrong?”
เธอเล่าถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ Dreyfus Affiar ซึ่งเกิดในปี 1894 ทางการฝรั่งเศสได้กล่าวหาว่า Alfred Dreyfus (ซึ่งเป็นชาวยิวคนเดียวในกองทัพ)ในข้อหาทรยศต่อชาติ ขายความลับทางการทหารให้กับเยอรมัน พยายามเปรียบเทียบลายมือของเขากับลายมือสายลับปริศนาในจดหมายที่พบ แม้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว และเมื่อไปค้นที่พักก็ไม่พบอะไร แต่พวกเขาก็คิดว่า นี่ไม่ชอบมาพากลแน่ๆ น่าสงสัยเข้าไปอีก Dreyfus ถูกตัดสินว่าผิดแต่ครอบครัวของเขาไม่เชื่อ พยายามร้องเรียน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ได้แบ่งแยกฝรั่งเศสออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งที่คิดว่า Dreyfus ผิดแน่นอน พวกเขาเชื่อจริงๆ ว่า หลักฐานนั้นแน่นหนา และอาจผสมกับอคติเหยียดในชาติพันธุ์ยิว (Antisemitism) และฝั่งที่คิดว่า Dreyfus ไม่ผิด หลักฐานไม่เพียงพอ เขาไม่ได้เป็นสายลับ เพราะหลังจากเขาถูกจับก็ยังมีการขายความลับเกิดขึ้น
แต่อย่างไรก็ดีฝั่งที่เชื่อว่าเขาผิด ไม่ว่าจะเจอหลักฐานใหม่อย่างไรก็ยังไม่เชื่อ การต่อสู้หาความจริงใช้เวลานานหลายปีกว่าจะสรุปว่า Dreyfus บริสุทธิ์แต่ก็ติดคุกฟรีๆ ไปหลายปี ซึ่งเหตุการณ์นี้ Galef ได้แบ่งวิธีคิดออกเป็น 2 ประเภท
1. ความคิดแบบทหาร (Soldier Mindset)
- ให้เหตุผลอย่างมีแรงจูงใจ (motivated reasoning) (เช่นเชื่อว่า ยัยนี่มันไม่จริงใจ ดูสิ)
- ความปรารถนาอยากให้ความคิดของเราชนะ และความคิดอื่นแพ้
- มีความกลัว ความต้องการ และความเป็นหมู่คณะ (Tribalism) มาส่งอิทธิพลกับการตัดสินข้อมูล
- เชื่อว่าคนที่เปลี่ยนใจคือคนที่อ่อนแอ
2. ความคิดแบบนักสังเกตการณ์ (Scout Mindset)
- ไม่พยายามหรือต้องการจะให้ความคิดไหนชนะหรือแพ้ แต่เห็นสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็น
- พยายามเข้าใจ Condition หรือบริบทนั้นๆ
- มองเห็นสิ่งที่เป็นอย่างชัดเจน จดบันทึกตามที่เห็น
- สนุกที่ได้สงสัยและแก้ปริศนา
- ไม่คิดว่าคนที่เปลี่ยนใจคือคนที่อ่อนแอ ภูมิใจที่เจอจุดบกพร่องหรือความผิด
โดยสิ่งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ IQ หรือสติปัญญาและความฉลาดแต่อย่างใด การที่จะทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็น และสามารถตัดสินใจได้ดี แต่มันก็ขึ้นอยู่ว่าเราอยากเป็นคนที่ปกป้องความเชื่อของตัวเอง หรืออยากที่จะเห็นโลกในแบบที่เป็นจริงๆ
ความรู้สึก ‘ฉันถูก แต่เธอผิด’ มันรู้สึกดีใช่ไหม? เราย่อมมีแรงจูงใจให้อยากหาเหตุผลมารองรับความเชื่อของเรา ซึ่งต่อให้อยากโอบกอดเก็บความคิด ความเชื่อและทฤษฎีของเราแค่ไหน ก็ควรเปิดใจรับหลักฐานใหม่ๆ เสมอ เพื่อที่เราจะเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นโดยปราศจากอคติ
‘คนฉลาด’ ไม่ได้ ‘รู้ทุกอย่าง’ และ ‘ถูกทุกครั้ง’
หากไม่อยากรู้สึกโง่ให้ระลึกไว้เสมอว่าคนฉลาดที่สุดในโลกก็เข้าใจผิดได้ ในเรียงความโดย W. Daniel Hillis นักฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้เขียนว่า เขาโคตรอิจฉาอเล็กซานเดอร์มหาราชที่มีอริสโตเติ้ลเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ในยุคสมัยนั้น อาจกล่าวได้ อริสโตเติ้ลคือคนที่รู้ทุกอย่าง ตัวอริสโตเติ้ลคือองค์ความรู้ของโลก
แต่เวลาผ่านไป หลายสิ่งที่อริสโตเติ้ลเข้าใจได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง เช่น เลือดผู้ชายอุณหภูมิร้อนกว่าผู้หญิง, ของหนักจะตกลงมาเร็วกว่าของเบา, หัวใจคือศูนย์กลางของเหตุผลและสติปัญญา, หน้าที่ของสมองคือทำให้เลือดเย็นลง, โลกคือศูนย์กลางของจักรวาล จักรวาลได้คงอยู่ตลอดมาและจะอยู่ตลอดไป, คนบางคนเกิดมาเป็นทาส ดังนั้นจึงมีสิทธิ์ที่จะจำกัดให้เป็นทาสต่อไป
แม้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าอริสโตเติ้ลเข้าใจ ‘ความจริง’ ผิดไปมากมาย แต่เขาเกิดก่อนพวกเราหลายพันปี สมัยนั้นไม่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีแบบที่เรามี ต่อให้เข้าใจผิดแต่เขาก็ยังเป็นนักคิดคนสำคัญของโลกและเป็นรากฐานความรู้สำคัญของประวัติศาสตร์
ในยุคเรา ไม่มีใครที่จะรู้ทุกสิ่งที่มนุษย์รู้ได้อีกแล้ว เพราะมีความรู้ขยายกว้างใหญ่และมีจำนวนข้อมูลมากมายเกินกว่าใครจะรู้ทุกอย่างได้อีกต่อไป มีเพียงผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจการค้นพบใหม่ๆ ในวิทยาศาสตร์ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองยังมีปัญหาที่จะตามความรู้ใหม่ๆ ทัน
ในคลื่นสายธารแห่งกระแสข้อมูล Information Overload ที่เราพบเจอทุกวัน มันช่างสะกดจิตให้เราต้องรู้และมีความเห็นต้องแสดงออกอย่างรวดเร็วให้ทันโลกทันเหตุการณ์ แต่ยิ่งข้อมูลมีมากเท่าไหร่ ทักษะการกลั่นกรองและตรวจสอบข้อมูลนั้นก็ยิ่งจำเป็น Michael J. Socolow แนะนำให้ ‘รอก่อน’ วิธีการคือ ถามตัวเองว่า ‘ฉันพูดเรื่องนี้ทำไม?’ ‘สิ่งที่ฉันพูดไปจะเพิ่มคุณค่าอะไรให้กับประเด็นนี้ไหม?’ (แปลได้ว่า ‘Why am I Talking?’ ตัวย่อคือ WAIT = รอก่อน !) เมื่อเราลองฉุกคิดให้ดีก่อนพูดอะไร อาจทำให้เรามีสติ ไม่ปากไว ไม่ด่วนประกาศว่าเห็นไหม ฉันถูก เรียนรู้ที่จะเก็บข้อมูลไว้ก่อน อย่าเป็นคนฉลาดที่ส่งต่อข้อมูลผิดๆ เพราะความไม่รอบคอบ
เมื่อได้อ่านหนังสือ ‘What have you changed your mind about?’ ของ John Brockman ซึ่งเขาได้ชวนให้นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา และนักวิชาการมาเขียนเรียงความคุยในหัวข้อ ‘อะไรบ้างที่ได้เปลี่ยนความคิดไป’ ทำให้เราได้รู้ว่าต่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ สามารถเข้าใจผิด และเปลี่ยนความคิดได้ เพราะความจริงนั้นที่แท้อาจต้องอัพเดตอยู่เสมอ เราสามารถคิดใหม่ได้เสมอเพราะเราล้วนเริ่มจากความไม่รู้กันทั้งนั้น โดย Nick Bostrom นักปรัชญาจาก Oxford University ได้ตอบว่า ‘ทุกอย่างเลย เนื่องจากผมเริ่มชีวิตจากการไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นผมเลยได้เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างเลย’
สมัยเด็กๆ เราเคยเชื่อว่า ‘เราเป็นมนุษย์คนเดียวบนโลก คนอื่นๆ คือหุ่นยนต์ที่เกิดมาเพื่อทำตามความต้องการของเรา’ นอกจากโตมาจะพบว่าเป็นความเชื่อที่ผิด นอกจากนี้ยังพบว่า เราไม่ได้พิเศษแต่อย่างใด ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่เป็นเด็กที่มีความเชื่อนี้ (เมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์ ‘I used to believe’ รวมความเชื่อผิดๆ ของเด็กๆ เอาไว้มากมาย) นอกจากนี้เรายังเคยเข้าใจผิดว่า ‘ทิศเหนือนั้นอยู่บนฟ้า’ และ ‘ดวงอาทิตย์ยังติดตามเราไปทุกหนแห่ง’ อีกด้วย เหล่านี้เป็นความเชื่อสมัยเด็กที่ตลกดี เชื่อไปได้อย่างไร เราต่างเคยมีความคิดที่เปลี่ยนไปแล้วนับไม่ถ้วน และความคิดที่ยังไม่มีข้อสรุปและไม่แน่ใจก็อีกมากมาย
คุณอาจเปลี่ยนใจได้…แม้ไม่ใช่วันนี้
David McRaney ผู้เขียนหนังสือ ‘You are not so smart’ หรือ ‘คุณไม่ได้ฉลาดนักหรอก’ เพื่อบอกว่ามนุษย์นั้นเข้าใจผิดและมีความเชื่อผิดๆ ได้อย่างไรบ้าง เขาสนใจว่า คนเราเปลี่ยนความคิดได้อย่างไร? จึงไปพูดคุยกับคนที่เคยเปลี่ยนใจไม่ว่าจะเรื่องการเมืองหรือประเด็นความหลากหลายทางเพศ LGBTQ
เขาเคยคิดว่า คนจะเปลี่ยนใจอย่างรวดเร็วเมื่อเจอหลักฐานที่ประจักษ์ชัดเจนแจ่มแจ้ง สิ่งที่เขาพบจากการพูดคุยกับคนที่เคยเปลี่ยนใจคือ จริงๆ แล้วความคิดคนเรานั้นเปลี่ยนยากมากและไม่ได้เกิดขึ้นฉับพลัน แต่ไม่ต้องสิ้นหวังว่าสิ่งที่เราพูดออกไปจะไร้ความหมาย และเปลี่ยนใจใครไม่ได้เลย McRaney พบว่าการเปลี่ยนใจสามารถเกิดขึ้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป การเปลี่ยนความคิดคนอื่นอาจทำได้ยาก แต่การเปลี่ยนความคิดของตัวเองก็ทำได้ยากพอกัน แต่ไม่ใช่จะทำไม่ได้เลย
เมื่อมีใครมาแสดงหลักฐานบางอย่างที่เป็นปฏิปักษ์กับความเชื่อ เราไม่จำเป็นเลือกระหว่าง ‘ปัดข้อมูลนั้นตกไปทันที’ หรือ ‘สละความเชื่อและความคิดของเราที่เคยมีทิ้งไปทันใด’ แต่สามารถรับเอาข้อมูลนี้มาเก็บไว้พิจารณาก่อนได้ รับเอาข้อมูลนั้นมาปรับปรุงทฤษฏีที่เรามี ซึ่งเราอาจไม่ได้เปลี่ยนใจ คิดใหม่ได้ในทันที แต่แค่การยอมให้ถูกสั่นคลอนเบาๆ ความมั่นใจลดลงก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี การเปลี่ยนใจไม่ได้แปลว่าเราสละความคิดและตัวตน กลายเป็นคนโลเล อ่อนแอ เปลี่ยนใจไปมาทันที
ทักษะสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือการฝึก Mindset อันเปิดใจยอมรับว่า สิ่งที่เรารู้ ความเชื่อที่เรามี หรือทฤษฎีที่เรารัก สามารถอัพเดตได้โดยไม่จำเป็นต้องถูกทำลายลงแบบไม่เหลือเศษซากจนทั้งหมดสูญเปล่า เพียงแค่เราเริ่มคิดว่า ‘บางทีฉันอาจจะผิดก็ได้ วันหน้า ฉันอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ แม้ไม่ใช่วันนี้’ อาจจะทำให้เราเริ่มตั้งใจฟังมากขึ้น สนใจเก็บข้อมูลที่แม้ไม่ตรงกับความคิดของเรามากขึ้น ไม่ด่วนสรุป ด่วนตัดสินใจ และเรียนรู้ที่จะยอมรับความไม่แน่ใจ
การเรียนรู้สิ่งใหม่ทำให้เราทันโลกแต่การอัพเดตความรู้เดิมตามหลักฐานใหม่ๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน สิ่งที่เราเคยรู้ อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เรารู้แล้วก็ได้ ตราบใดที่เรายังไม่ตายก็ยังไม่สายที่จะอัพเดต บอกตัวเองไว้เสมอว่า เราเปลี่ยนใจได้ และให้อภัยตัวเอง รวมถึงยินดีเมื่อพบว่า ‘อ้าวที่ผ่านมา เราเข้าใจผิดหรือนี่’ !
นอกจากคนฉลาดแล้ว โลกยังต้องการคนที่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ และคนที่ยอมรับว่าตัวเองเข้าใจผิด
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Quora: What was Aristotle wrong about?
www.quora.com - Why “scout mindset” is crucial to good judgment | Julia Galef | TEDxPSU
www.youtube.com - This Article Won’t Change Your Mind: The facts on why facts alone can’t fight false beliefs
www.theatlantic.com - A New Technique For Creating More Aha Moments: The Surprise Journal
www.fastcompany.com - Mistakes Were Made (But Not by Me): Why We Justify Foolish Beliefs, Bad Decisions, and Hurtful Acts By Carol Tavris and Elliot Aronson
www.amazon.com/Mistakes-Were-Made-But-Not - What Have You Changed Your Mind About?: Today’s Leading Minds Rethink Everything by John Brockman
www.amazon.com/What-Have-Changed-Your-About-ebook - “Why you think you’re right — even if you’re wrong?” – Julia Galef
www.youtube.com - Neutrinos not faster than light: ICARUS experiment contradicts controversial claim.
www.nature.com - How to Prevent Smart People From Spreading Dumb Ideas By Michael J. Socolow
www.nytimes.com - Biased Assimilation and Attitude Polarization: The Effects of Prior Theories on Subsequently Considered Evidence : Charles G. Lord, Lee Ross, and Mark R. Lepper Stanford University
citeseerx.ist.psu.edu