นักสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน Georg Simmel กล่าวไว้ในปี 1908 ว่า “ไม่ใช่ความขัดสนทางการเงินหรอกที่บ่งบอกว่าใครเป็นคนจน แต่มันขึ้นอยู่กับว่าสังคมแสดงออกและตอบสนองความอัตคัตของเราอย่างไรต่างหาก” ว่าแต่เราจะใช้เครื่องมือชนิดไหนเพื่อช่วยแสดงออกว่า อัตลักษณ์ของเรา (ที่บางทีเราก็สร้างขึ้นเอง) นั้นน่ายกย่องชื่นชม?
สำหรับชนชั้นกลางในยุโรปกลางที่เริ่มขยับขยายเข้ามาสู่พื้นที่ทางสังคมในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 หลังสงครามนโปเลียนสิ้นสุด หนึ่งในเครื่องมือที่พวกเขาใช้เพื่อสะท้อนค่านิยมของตัวเองคือสไตล์การตกแต่งภายในแบบ Biedermeier (บีเดอร์ไมเออร์) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกบรรยากาศของยุคสมัยที่คนเชื่อในความละเอียดอ่อน ความโรแมนติก ความกินดีอยู่ดี และความใกล้ชิดธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่าวิถีชนชั้นกลางนั่นเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่การตกแต่งภายในสไตล์ Biedermeier จะติดเทรนด์ก็คือการล่มสลายของกลุ่มชนชั้นนำในฝรั่งเศสในตอนปลายของศตวรรษที่ 18 และการที่ Klemens von Metternich รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรียที่อยู่ในตำแหน่งระหว่างปี 1804-1848 เซนเซอร์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเพื่อป้องกันการลุกฮือล้มราชวงศ์ อันทำให้เกิดสภาพแวดล้อมทางการเมืองแบบ ‘ตายด้าน’ ประชาชนไม่ค่อยออกจากบ้านไปสังสรรค์ในพื้นที่สาธารณะ แต่เลือกที่จะแฮงค์เอาท์อยู่ที่บ้าน ชีวิตติดบ้านและการใช้เวลากับครอบครัวจึงกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและมีอันจะกินไปโดยปริยาย
การตกแต่งภายในเริ่มมีบทบาทในสังคมชนชั้นกลางเพราะมันเป็นการบ่งบอกอัตลักษณ์ของชนชั้นสูงมาก่อน สไตล์ Empire ในบ้านของชนชั้นสูงประกอบด้วยทองคำ หินหายาก และลายเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ตรงกันข้ามกับ Biedermeier ซึ่งถ่อมตนกว่าจากการใช้สีพาสเทลที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น แพทเทิร์นไม้ใบไม้ดอก และเฟอร์นิเจอร์ทรงเรขาคณิตที่เน้นประโยชน์ใช้สอย ทำจากไม้หาง่าย และแกะให้โค้งมน ออกมาเป็นสไตล์ที่หรูหราน้อยกว่าเอมไพร์และเรียบง่ายกว่ารอคโคโค
Biedermeier ติดเทรนด์อย่างรวดเร็วในเวียนนา ปราก บูดาเปสต์ และเบอร์ลิน ก่อนที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับ Bauhaus, Art Deco และขยายความนิยมไปยังดินแดนสแกนดิเนเวียในอีกไม่กี่ศตวรรษให้หลัง เพราะตอบโจทย์ทั้งเชิงฟังก์ชั่น ความสะดวกสบาย ความคราฟต์ และความเรียบง่าย
อย่างเชิงฟังก์ชั่นก็คือเฟอร์นิเจอร์แบบ Biedermeier เคลื่อนย้ายได้ง่ายและใช้งานได้มากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น เก้าอี้โยกที่มีที่วางเท้า เดย์เบดที่มีหมอนอิงติดมา โต๊ะทำงานที่มีลิ้นชักอยู่ตรงหน้า หรือชั้นหนังสือแบบเตี้ยที่วางของด้านบนได้ (เอาเข้าจริงมันอาจจะดูธรรมดาสำหรับเราๆ แต่ในยุคนั้นมันทำให้การใช้ชีวิตที่บ้านสะดวกสบายขึ้นมากโขเลยล่ะ) เชิงงานคราฟต์ก็เช่นเปลี่ยนจากไม้มะฮอกกานีอิมพอร์ตราคาแพงมาเป็นไม้ที่หาได้ง่ายตามละแวกที่อยู่อาศัย อย่างต้นเชอร์รี่ วอลนัท เมเปิ้ล โอ๊ค ไพน์ และแพร์ และความเรียบง่ายก็เช่นไม่ยุ่งอะไรกับผิวไม้ เปลี่ยนจากการเลี่ยมทองมาเลี่ยมเงิน เพนท์ผนังด้วยลายต้นไม้ใบหญ้า แสดงให้เห็นถึงความอยากออกไปสัมผัสธรรมชาตินอกเมือง
การตกแต่งภายในแบบ Biedermeier ยังสะท้อนและเติมเต็มความต้องการของชนชั้นกลางในเรื่องของ ‘ความใกล้ชิด’ (intimacy) และ ‘ความเป็นส่วนตัว’ (privacy) อย่างแรกนำพามาซึ่งความรักและค่านิยมครอบครัวสุขสันต์ หลังจากครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่นหดตัวลงเป็นครอบครัวย่อยที่แปลกแยกตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การตกแต่งบ้านให้น่าอยู่และการแปะภาพถ่ายครอบครัวไว้บนผนังจึงเป็นตัวช่วยที่น่าสนใจ ส่วนอย่างหลังนำพามาซึ่งความเป็นส่วนตัว เพราะทุกคนมีห้องส่วนตัวเป็นของตัวเองแยกออกจากสมาชิกคนอื่นและคนรับใช้ แต่ก็ยังไปมาหาสู่กันได้เพราะมีโถงกลางเป็นทางยาวคอยเชื่อมความสัมพันธ์
นอกจากนั้นมันยังช่วยให้สมาชิกในบ้านถอนตัวออกจากพื้นที่สาธารณะตามที่รัฐบาลต้องการ รวมทั้งออกห่างตลาดซื้อขายที่ยั่วให้เกิดการใช้จ่ายอย่างไม่จำเป็น อย่างที่ Walter Benjamin เสนอว่า ชนชั้นกลางในยุคดังกล่าวยังคงมองว่า ‘metropolis’ เป็นสิ่งที่เลวร้ายและไม่เป็นมนุษย์
อย่างที่บอกไว้ว่า Biedermeier เป็นคำบ่งบอกจิตวิญญาณของยุคสมัย มันจึงไม่ได้ใช้แค่กับสไตล์การตกแต่งภายใน แต่ยังใช้กับสไตล์ดนตรี ภาพวาด และวรรณกรรมด้วย อย่างเช่น Indian Summer (Der Nachsommer) นวนิยาย coming-of-age ของนักเขียนชาวออสเตรีย Adalbert Stifter ที่เดินเรื่องด้วยพรรณนาโวหารของชายหนุ่มนามว่าไฮน์ริค นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติผู้หลงใหลในพืชพันธุ์และผืนแผ่นดิน ใช้ชีวิตตามทำนองคลองธรรม เชื่อฟังคำแนะนำของบิดาแต่เยาว์วัย และเติบโตขึ้นมาจนได้เจอความรักที่ดี — เรียกได้ว่าชีวิตแบบ Biedermeier ของพ่อหนุ่มไฮน์ริคนั้นเป็น ‘ชีวิตในอุดมคติของชนชั้นกลาง’ ขนานแท้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Betts, Paul. “Coming in from the Cold: Design and Domesticity.” In The Authority of Everyday Objects: A Cultural History of West German Industrial Design. California: University of California Press, 2004.
Hanák, Péter. “Urbanization and Civilization: Vienna and Budapest in the Nineteenth Century.” In The Garden and the Workshop: Essay on the Cultural History of Vienna and Budapest. 3-43. New Jersey: Princeton University Press, 1998.
Kocka, Jürgen. “The Middle Classes in Europe.” In The European Way: European Societies in the 19th and 20th Centuries, edited by Hartmut Kaelble, 15-43. New York and Oxford: Berghahn Books, 2004.