เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่ ‘ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ’ ทำเพจ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ โดยใช้วิธีการนำเสนอแบบเพจ ‘Humans of New York’
เช่นเดียวกัน, เขาสัมภาษณ์คนทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ โดย “เรื่องเล่าถูกเล่าแบบแยกเป็นชิ้น แต่โดยไม่ได้ตั้งใจ เรื่องราวของเหล่ามนุษย์กรุงเทพฯ กลับมีความเชื่อมโยงกันอยู่”
ล่าสุด ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นหนังสือชื่อเดียวกัน และพิมพ์ออกขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 45 นี้ด้วย ทำไมขวัญชายจึงเลือกใช้วิธีการสัมภาษณ์ การพูดคุยกับคนหลายร้อยคนได้นำชายคนนี้ไปสู่อะไรบ้าง
ให้ขวัญชายตอบ
The MATTER : ทำไมถึงเลือกที่จะนำเสนอด้วยการสัมภาษณ์ สนใจอะไรในศาสตร์นี้
ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เราเป็นคนขี้สงสัย ทำไมอันนั้นเป็นแบบนี้ ทำไมอันนี้เป็นแบบนั้น การถามเป็นวิธีการหาคำตอบที่ชอบและถนัดที่สุด พอเริ่มทำอาชีพเกี่ยวกับงานเขียนที่แรก คือเว็บไซต์โลกสีเขียว เราพบว่าตัวเองชอบลงพื้นที่ ตั้งคำถาม เขียนบรรยายสิ่งที่เห็น มากกว่าประมวลสิ่งที่อ่าน เครื่องมือหลักในการทำงานจึงเป็นการสัมภาษณ์ โดยใช้การค้นข้อมูลเป็นเครื่องมือเสริม พอเพื่อนแนะนำให้รู้จัก Humans of New York ด้วยนิสัยคนชอบสื่อสาร เราคิดว่าตัวเองคงทำได้ และมันก็น่าสนใจดี ที่คนทั่วๆ ไปจะมีพื้นที่สำหรับพูดสิ่งที่อยากพูด
การตั้งคำถามเป็นทักษะที่ธรรมดาที่สุด ทักษะที่ใครๆ ก็ทำได้ ต่อให้ไม่มีกระดาษ ปากกา หรือเครื่องอัดเสียง เราก็ชวนคนอื่นคุยเป็นนิสัย ให้ตรงกว่านั้นส่วนใหญ่เราเป็นคนถาม ถ้าไม่นับช่วงเหนื่อยๆ หรืออารมณ์ไม่ดี เราไม่เคยเบื่อที่จะถามคนนั้นคนนี้ เราสามารถตั้งคำถามได้ตลอดเวลา นิสัยแบบนี้ทำให้เรารู้จักคนอื่นและรู้จักตัวเองมากขึ้น
The MATTER : คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของการสัมภาษณ์คนทั่วๆ ไป
คำว่า ‘คนทั่วๆ ไป’ จะเกิดขึ้นเมื่อเรานิยามว่าใครคือ ‘คนพิเศษ’ (เรียกว่าคนดัง หรือคนเจ๋งๆ ก็ได้) เราพยายามที่จะลืมนิยามคำว่าคนพิเศษที่สื่อมวลชนต่างๆ เคยนิยาม อาจจะหลุดได้ไม่ทั้งหมดนะ แต่มันทำให้เรามองหาความพิเศษในทุกๆ คนได้มากขึ้น คนทั่วไปต่างพิเศษเพราะทุกคนมีเรื่องเล่าในแบบตัวเอง ไม่จำเป็นต้องยากจน สู้ชีวิต จนกลายเป็นคนร่ำรวย ไม่จำเป็นต้องหน้าตาสวยหล่อ ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงในระดับประเทศหรือระดับโลก ทุกคนมีเรื่องเล่าในแบบตัวเองที่สามารถอิมแพคกับคนอ่านได้ เพราะทุกคนมีจุดร่วมระหว่างกัน นั่นคือ ‘ความเป็นมนุษย์’
ถ้าพูดไม่ให้โลกสวยมาก ในแง่การตั้งคำถามและเรียบเรียง เราต้องประเมินว่าทำยังไงให้คนอ่านรู้สึกเห็นตัวเองในเรื่องเล่าของคนอื่น มันไม่ใช่การบิดเบือน แต่เป็นการจัดวางให้เห็นความเชื่อมโยง เช่น ความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับในคนรวยกับคนจน ศิลปินกับเด็กบิดมอเตอร์ไซค์ เอาเข้าจริงเป็นเรื่องเดียวกันเลย แค่ต่างกันในรูปแบบเท่านั้น นั่นแปลว่ามันมีจุดร่วมอยู่ หรือแม้แต่ความเป็นพ่อ แม่ ลูกของคนในอาชีพอะไร มันก็มีภาวะอารมณ์ที่คล้ายคลึงกัน ไปจนถึงบางรายละเอียดที่แทบจะเหมือนกันด้วย
The MATTER : เพจมนุษย์กรุงเทพใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกคนมาสัมภาษณ์
เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยมาก แต่ก่อนเรามักตอบว่าเลือกผ่านความสนใจของตัวเอง เราสนใจ 5 ประเด็นหลักๆ คือ คนพิการ ผู้ป่วยจิตเวช เพศที่สาม ผู้ต้องขัง คนไร้บ้าน ซึ่งจุดร่วมคือความเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ หรือสนใจอย่างจริงๆ จังๆ เราเองเคยไม่เข้าใจ บางเรื่องเคยอคติรุนแรง เราเลยอยากเข้าใจพวกเขามากขึ้น อีกส่วนเราเลือกผ่านความสนใจ ณ โมเมนต์นั้นๆ เช่น การแต่งกาย บุคลิก ท่วงท่า หรืออาชีพ เป็นการคะเนจากชุดประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายปี เชื่อมโยงหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อหาค่ากึ่งกลางที่ครอบคลุมในทุกๆ มิติที่สุด (พูดเล่นนะ จริงๆ คือค่อนข้างมั่ว) แต่หลังๆ มานี้ เราไม่ค่อยมีหลักการอะไรมาก บางทีเจอเพื่อนของเพื่อนก็ขอคุย ประเด็นอะไรโผล่มาในกระแสแล้วน่าเล่าต่อ ก็กูเกิลหาคนสัมภาษณ์ ดูคลิปรายการร้องเพลงแล้วเห็นชีวิตบางคนน่าสนใจ เรายังดูชื่อเฟซบุ๊กด้านล่างคลิป แล้วพิมพ์ไปขอสัมภาษณ์เลย
The MATTER : เคยเจอคนปฏิเสธบ้างมั้ย ส่วนใหญ่ปฏิเสธด้วยเหตุผลอะไร
ช่วงแรกบ่อยมาก ช่วงหลังน้อยลง เพราะประเมินได้ระดับนึงว่าคนไหนน่าจะปฏิเสธ เช่น คนที่ดูยุ่งๆ คนที่กำลังเดินไปไหนสักที่ ฯลฯ เลยค่อนข้างเซฟตัวเอง เลือกคนระมัดระวังมากขึ้น ถูกปฏิเสธบ่อยๆ ก็เสียใจน่ะ เท่าที่เคยเจอ เขามักไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร ไม่ไว้วางใจ เลยปฏิเสธ อีกอันที่เยอะเหมือนกัน คือ เขินอาย ไปจนถึงไม่อยากพูดเรื่องตัวเองในพื้นที่สาธารณะ
The MATTER : ช่วยเล่าเรื่องการสัมภาษณ์ที่คุณประทับใจที่สุดให้ฟังหน่อยได้ไหม
ชอบหลายคนนะ ถ้าต้องเลือกที่สุด (ซึ่งมักเลือกไม่เหมือนเดิม) เราชอบเคสคนไร้บ้านที่เจอที่สถานีรถไฟบางซื่อ คนไร้บ้านเป็นประเด็นที่เราสนใจ แต่พวกเขามีลักษณะที่คุยยาก เขาไม่ไว้วางใจ เขาไม่ค่อยเปิดเผยตัวเอง การเดินดุ่มๆ ไปคุยเลยไม่ใช่เรื่องง่าย เราเองก็กล้าๆ กลัวๆ ไม่ได้กลัวในแง่ความปลอดภัยอะไรนะ แต่กลัวว่าจะทำตัวยังไงให้เขาไว้วางใจนั่นแหละ ครั้งนั้นเราตื๊ออยู่สักพัก เขาค่อยๆ เปิดใจ และยอมให้คุยยาวขึ้นๆ คำตอบจะเป็นท่อนๆ เราก็มาเรียบเรียง เราว่าเป็นเรื่องเล่าที่ดี และเราก็ดีลกับความกลัวตัวเองได้ดีพอสมควร
The MATTER : ถ้าให้สัมภาษณ์ตัวเอง จะถามตัวเองว่าอะไร
ถาม-เมื่อไรจะมีความสุขกับการมีชีวิตสักที
ตอบ-นั่นสิ
The MATTER : ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี ได้เรียนรู้อะไรจากการทำโปรเจกต์นี้บ้าง
เรียนรู้ว่าตัวเองค่อนข้างขี้กลัว กลัวคนปฏิเสธ กลัวถามไม่ดี กลัวเขียนไม่ดี กลัวผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนให้สัมภาษณ์ (ช่วงหลังเลยบอกก่อนเสมอว่า เนื้อหาทำนองนี้อาจโดนด่านะ โอเคไหม) และช่วงหลังๆ เริ่มรับโฆษณา ก็เริ่มกลัวว่าตัวเองจะจัดวางได้ไม่สมดุล
แต่ถ้าตอบให้เกี่ยวกับเพจ เราเรียนรู้ว่าทุกคนน่าสนใจจริงๆ คนที่คำตอบดูงั้นๆ อาจเพราะเราถามไม่ดี หรือเขาไม่ถนัดสื่อสารเฉยๆ ดังนั้นโจทย์ที่เราทำอยู่ และต้องทำต่อๆ ไป เราจะทำยังไงให้เขาเปิดใจและเล่าบางแง่มุมของตัวเองออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ