1.
“จะเป็นอย่างไรถ้า…”
ถ้าไม่เป็นการเข้าข้างตัวเองจนเกินไป ผมคิดว่ามนุษย์น่าจะเป็นเผ่าพันธุ์หรือสปีชีส์เดียวบนโลกนี้ที่สามารถถามตัวเองด้วยประโยค – ด้วยแนวความคิดแบบนี้ได้
มันเป็นคำถามที่ต้องใช้จินตนาการพร้อมๆ กับเหตุผล
ต้องใช้จินตนาการเพราะหลังคำว่า ‘ถ้า…’ เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง และก็เพราะว่ามันยังไม่เกิดขึ้นจริงนี่แหละ – เลยต้องใช้ชุดเหตุผลที่สังเคราะห์ได้จากเหตุการณ์ในปัจจุบันเพื่อต่อยอดให้ได้คำตอบว่า – แล้วถ้ามันเกิดขึ้นจริงล่ะ? จะเป็นอย่างไร
“จะเป็นอย่างไรถ้า…” จึงเป็นชุดคำถามที่ทำให้เราเตรียมพร้อมรับอนาคตที่เรายังไม่อาจเห็น โดยค้นคำตอบจากเหตุการณ์ในปัจจุบัน – และในอดีตที่เราเห็นแล้ว
2.
ฉากที่หนึ่ง : นายกรัฐมนตรีอังกฤษถูกปลุกขึ้นมาตั้งแต่เช้าตรู่ เพียงเพื่อพบว่าเจ้าหญิงแห่งโบมอนต์ถูกลักพาตัวไป ผู้ก่อการร้ายยื่นข้อเสนอแปลกประหลาด การที่นายกฯ จะช่วยเหลือเจ้าหญิงกลับมาได้นั้น เขาจะต้องทำ ‘บางสิ่งบางอย่าง’ ที่น่าอับอายและวิปริตอย่างยิ่งต่อหน้าสาธารณชนเป็นการแลกเปลี่ยน ระหว่างที่เขากำลังคร่ำเคร่งกับการตัดสินใจอยู่นั้น ก็ดูเหมือนว่าอำนาจการตัดสินใจจะไม่อยู่กับเขาเสียแล้ว เมื่อผู้ก่อการร้ายโพสท์ข้อเสนอนั้นลงบนยูทูปให้สาธารณชนได้เห็นกันถ้วนทั่ว
ฉากที่สอง : ฉากคือโลกสมมติที่ประชากรส่วนมากมีหน้าที่ปั่นจักรยานเพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘แต้มคะแนน’ ที่ใช้ในการดำรงชีวิต ทุกคนต้องใช้ ‘แต้มคะแนน’ ในการซื้อสรรพสินค้าต่างๆ มาประดับร่างกายอวาตาร์ตัวตนสมมติของตัวเอง และใช้ ‘แต้มคะแนน’ ในการ skip หรือข้ามโฆษณาที่มักจะโผล่ขึ้นมารบกวน ในโลกแห่งนี้ มีหญิงสาวคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากเปลี่ยนชีวิตของตนเองด้วยการก้าวเข้าไปประกวดเรียลลิตี้โชว์ ปัญหาคือตั๋วที่จะอนุญาตให้เธอเข้าไปประกวดได้นั้นมีราคา ‘แต้มคะแนน’ สูงเหลือเกิน
ฉากที่สาม : จะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถย้อนกลับไปดูความทรงจำที่ผ่านมา ผ่านทางอุปกรณ์ที่ฝังไว้ในประสาทรับภาพและรับเสียง เหมือนกับการ ‘อัดวิดีโอ’ ทุกช่วงเหตุการณ์ของชีวิตไว้ให้สามารถเปิดตรวจสอบได้ตลอดเวลา จะดีแค่ไหนถ้าในทุกการทะเลาะ ไม่ต้องถกเถียงกันว่าใครถูก ใครผิด เพียงเปิดความทรงจำย้อนกลับไปดูก็เห็นแล้ว, ในโลกที่มนุษย์ได้รับความสามารถพิเศษเช่นนี้ หนุ่มสาวคู่หนึ่งกำลังประสบปัญหาชีวิตคู่ในมิติใหม่ๆ
ฉากที่สี่ : หญิงสาวคนหนึ่งสูญเสียคนรักไปด้วยอุบัติเหตุ ระหว่างที่เธอกำลังโศกเศร้าอยู่ เพื่อนของเธอก็แนะนำว่ามีบริการหนึ่งที่น่าจะช่วยเยียวยาจิตใจของเธอได้ บริการที่ว่าคือบริการ ‘สร้างตัวตนเสมือน’ ของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยรวบรวมข้อคิดข้อเขียน สเตตัส เฟซบุ๊ก รูปถ่าย และทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเคยโพสต์ไว้บนอินเทอร์เน็ต เพื่อนำมาประมวลหาบุคลิก วิธีพูด และจำลองคนคนนั้นขึ้นมา ให้เธอสามารถ ‘แชต’ ด้วยได้ หญิงสาวคนนี้ต้องพบกับคำถามที่ว่า กับ ‘การจำลอง’ แล้ว ถึงแม้จะเหมือนจริงแค่ไหน, มันจะทดแทนของจริงได้หรือ
ฉากที่ห้า : หญิงคนหนึ่งสูญเสียความทรงจำไปทั้งหมด เธอตื่นขึ้นมาพบกับสัญลักษณ์ประหลาดบนหน้าจอโทรทัศน์ ก่อนที่เธอจะจับต้นชนปลายได้ ก็มีบุคคลในหน้ากากตามล่าฆ่าเธออย่างไม่ลดละ ขณะที่ดูเหมือนว่าคนอื่นๆ รอบๆ จะไม่แยแสกับการไล่ล่า – ไล่ฆ่าครั้งนี้เลย พวกเขากลายเป็นไทยมุง ชูโทรศัพท์ แทบเบล็ต พากันถ่ายคลิป ถ่ายรูปที่เธอกำลังโดนไล่ฆ่าอย่างสนุกสนาน เกิดอะไรขึ้นกันแน่
ฉากที่หก : เรื่องราวของชายผู้เป็นเบื้องหลังของตัวการ์ตูน/พิธีกรยอดฮิตบนโทรทัศน์ ทุกการเคลื่อนไหว ทุกสุ้มเสียงที่ตัวการ์ตูนตัวนั้นพูด เป็นการเลียนแบบลักษณะท่าทางของเขาผ่านทางเทคโนโลยีโมชั่นแคปเจอร์ (จับความเคลื่อนไหวของร่างกาย) ทั้งสิ้น ตัวการ์ตูนที่ว่าได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อมันเริ่มวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองด้วยคารมและมุขตลกเผ็ดร้อน ได้รับความนิยมจนกระทั่งมีกระแสให้มันลงสมัครรับเลือกตั้งเสียเอง!
3.
Black Mirror เป็นซีรีส์อังกฤษ
พูดถึงซีรีส์อังกฤษแล้วหลายคนคงรู้ว่ามี ‘ฟอร์แมต’ ที่ต่างกับซีรีส์ฝั่งอเมริกันไม่น้อยนะครับ กล่าวคือซีรีส์อังกฤษมีแนวโน้มจะ ‘ตามใจ’ ตัวเองสูงกว่า ฉายในปริมาณที่น้อยกว่า อย่างเช่นซีรีส์ยอดฮิต ‘Sherlock’ ที่เป็นการจินตนาการใหม่ถึงเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ในยุคปัจจุบันนี่ ปี-สองปี ก็มาให้ชื่นใจแค่สามตอนเท่านั้นเอง ในขณะที่ซีรีส์อเมริกันจะมากันซีซั่นละ 20 กว่าตอน หรืออย่างต่ำๆ ก็ 13 ตอน
Black Mirror ก็มีความ ‘ตามใจฉัน’ ตามธรรมเนียมซีรีส์อังกฤษเช่นกันครับ ฉายเรียบร้อยแล้วสองซีซั่น แต่สองซีซั่นที่ว่านี้ก็ประกอบไปด้วยหกตอนเท่านั้นเอง โดยแต่ละตอนจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ใช้นักแสดงต่างชุด ผู้กำกับต่างคน และให้อารมณ์ที่แตกต่างกันไป
สิ่งที่ร้อยเรียง Black Mirror ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ คือชาร์ลี บรูคเกอร์ โปรดิวเซอร์ซึ่งควบตำแหน่งผู้เขียนบทของเกือบทุกตอน
ทุกตอนของ Black Mirror จะเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันทางใดทางหนึ่ง อาจจะปรับความเข้มข้นหรือจินตนาการล้ำไปในอนาคตบ้าง แต่ทั้งหมดก็อยู่บนพื้นฐานของความจริง ดังที่เล่าเรื่องย่อๆ มาหกตอนข้างต้น บางตอนเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และหยั่งผลความสามารถของเทคโนโลยีที่อาจกระทบชิ่งต่อความสัมพันธ์และเปลี่ยนแปลงวิถีที่มนุษย์สื่อสารต่อกัน ในขณะที่บางตอนก็เป็นการชี้ให้เห็นแก่นแท้ของมนุษย์ที่ถูกขยายให้ชัดเจนขึ้นด้วยสื่อสังคมใหม่ๆ
และถึงแม้ทุกตอนเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เป็นการจินตนาการด้วยคำถามว่า “จะเป็นอย่างไรถ้า…” แต่มันก็เป็น “ถ้า…” ที่อยู่ใกล้ปัจจุบันเหลือเกิน – ใกล้จนกระทั่งเรียกได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่แปลก
เทคโนโลยีบางอย่างในเรื่องเกิดขึ้นจริงแล้วและใช้กันอย่างถ้วนทั่ว เช่นโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายคลิปได้, ยูทูป, ทวิตเตอร์, เทคโนโลยีโมชั่นแคปเจอร์ หรือการแต่งตัวอวาตาร์ด้วยแต้มคะแนน ในขณะที่บางอย่างแม้ยังไม่เห็นแพร่หลาย แต่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแล้วบนขอบของโลกเทคโนโลยี เช่นการบันทึกความทรงจำผ่านทางอุปกรณ์ต่างๆ (ซึ่งผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรมบันทึกความทรงจำแบบนี้ เรียกว่า Lifeloggers) หรือการสร้างบุคลิกสมมติขึ้นจากข้อมูลออนไลน์
หากจะบอกว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นไซไฟ เป็นเรื่องแต่ง ดูไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริงเลย – ก็อาจต้องลองพิจารณาว่าเมื่อสิบ-ยี่สิบปีก่อน เราคงไม่นึกว่าจะมีคดีฟ้องร้องระหว่างชายคนหนึ่งกับบริษัทยาที่นำยีนของเขาไปปรับแต่งกลายเป็นวัคซีนเชิงพาณิชย์ที่ทำรายได้หลักหมื่นล้านบาท
ลองนึกย้อนกลับไปนะครับ เมื่อสิบ-ยี่สิบปีก่อน เรื่องนี้ก็ฟังดูบ้าพอๆ กับเรื่องที่ Black Mirror นำเสนอ แต่วันนี้มันเกิดขึ้นจริง การฟ้องร้องเพื่อถือลิขสิทธิ์ในหน่วยพันธุกรรมเกิดขึ้นจริง
เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว อีกห้าปี-สิบปี เรื่องราวใน Black Mirror บางเรื่อง (หรือทั้งหมด!) อาจกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาก็ได้
4.
“จะเป็นอย่างไรถ้า…”
อย่างที่ว่าแหละครับ, อาจเป็นชุดคำถามที่ทำให้เราเตรียมพร้อมรับกับอนาคต, กับสิ่งที่ยังไม่เกิด
ปัญหาคือ ในโลกทุกวันนี้ เทคโนโลยีสับเปลี่ยนผ่านมาผ่านไปไวจนยากที่ใครคนหนึ่งจะตามทัน สิ่งที่ดูเป็นนิยายวิทยาศาสตร์เมื่อห้าปี – สิบปีก่อน วันนี้มันเกิดขึ้นจริง ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ยากที่จะหาใครสายตายาวพอจะล่วงรู้ได้ ไม่ต้องพูดถึงห้าปี – สิบปีข้างหน้า เพียงแค่เรื่องที่จะเกิดขึ้นปีหน้า, เดือนหน้า หรือสัปดาห์หน้า เราก็ไม่รู้ เราเห็นมันเป็นแค่หมอกจางๆ ของความเป็นไปได้เท่านั้น
ถ้าเราไม่ถามตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่า “จะเป็นอย่างไรถ้า…” และพร้อมรับกับสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นให้ทันท่วงทีแล้ว
ก่อนที่เราจะมีโอกาสได้ถาม, เราอาจหมดโอกาสได้ถาม
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร GM
Black Mirror มีให้ชมใน Netflix ในไทย ซีซั่นสามจะฉายในวันที่ 21 ตุลาคม 2016