จังหวะนี้ทั้งไทยและเทศ มีซีรีส์เรื่องใหม่มาให้ชมติดๆ กัน อย่างในฝั่ง Netflix ก็มี Insatiable ซีรีส์ที่เรียกตัวเองว่าเป็นแนว ‘Coming-Of-Rage’ ที่เส้นเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับการที่นางเอกของเรื่องเป็นสาวอวบแฮปปี้กับการกิน เกิดผอมสวยลงไปจากเหตุบังเอิญ แถมยังกลายเป็นก้าวแรกที่ทำให้นางเอกอาจจะได้ไปถึงเวทีนางงามระดับประเทศซะงั้น
Insatiable เป็นซีรีส์โทนตลกร้าย ที่ตัวละครหลักที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อความอยู่รอด ซึ่งคนรอบข้างก็ดูยินดีจะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้นซึ่งมีทั้งการเหยียดและดูถูกปมด้อยของผู้คน
Insatiable กับการ Body Shaming
ความรู้สึกแรกของเรื่องนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อย Insatiable เลือกจะบอกเล่ามุมร้ายๆ ของคนที่เปลี่ยนตัวเองได้ แถมตัวละครหลายตัวก็มีความหลากหลายทางการใช้ชีวิต อย่างผู้ชายที่ชอบการดูแลสาวๆ ที่ประกวดนางงาม, ครอบครัวในเรื่องมีความหลากหลายทั้งทางด้านการงาน เชื้อชาติ และความสัมพันธ์ทางเพศแบบอีรุงตุงนัง จนเราก็แอบลุ้นเองเหมือนกันว่าการเอาคืนของตัวละครในเรื่องจะมีอะไรมากกว่าความแสบสันต์สะใจ
ตามปมของเรื่องที่ปูให้เห็นการค่อนแคะแกะเกาความอ้วนของเธอเองตั้งแต่ปล่อยตัวอย่าง แต่พอเรื่องราวเริ่มดำเนินไป เราก็พบว่าบางช่วงบางตอน แม้แต่ตัวเอกเองยังแสดงอาการ Body Shaming ตัวเอง และที่ขัดใจนิดหน่อยก็คือการวนเวียนของมุก ที่จะมีตัวละครสักตัวมาพูดชื่นชมนับถือการยอมรับความแตกต่าง การยอมรับเพศสภาพเพศวิถี การยอมรับสภาพภายนอกของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แต่ผ่านไปสักพักตัวละครที่ปูความดีงามเหล่านั้นกลับขย้ำเหยียบคำพูดของตัวเอง หรือไม่งั้นก็สลับเหตุการณ์ให้มีการเหยียดก่อนแล้วค่อยชื่นชมทีหลัง
กระแสของคนดูและสื่อ
Insatiable นั้นถูกติเตียนในประเด็นที่ว่าตัวซีรีส์ดันสนับสนุนการ Body Shaming (สื่อบางเจ้าระบุว่าเป็น Fat Shaming) นับตั้งแต่ปล่อยตัวอย่างสู่โลกออนไลน์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จนทำให้คนดูส่วนหนึ่งเปิดการลงชื่อสนับสนุนให้ยกเลิกการสร้างซีรีส์เรื่องนี้ต่อ (ณ วันนี้มีคนไปลงชื่อกว่าสองแสนรายชื่อ)
แต่ตอนนั้นก็มีสื่อหลายเจ้าเผื่อพื้นที่ไว้ว่า บางทีตัวอย่างซีรีส์อาจตัดหลอกก็ได้ ควรรอดูซีรีส์ฉบับเต็มกันก่อนจะตัดสินใจอะไรออกมา แต่พอซีรีส์ออกมาให้ดูกันครบทุกตอนแล้ว สถานการณ์ถือว่าไม่ได้ดีขึ้นจากเดิม เช่น เว็บไซต์ Thrillist ใช้คำอธิบายว่า ‘Insatiable เป็นซีรีส์ที่ห่วยที่สุดเท่าที่มีรายการออกมาให้ชมกันในรอบปีนี้’ (‘INSATIABLE’ IS NETFLIX’S WORST TV SHOW YET — BY FAR), นิตยสาร Fast Company ใช้คำว่า ‘ไม่ใช่แค่รายการ Fat-Shaming มันแย่กว่านั้นมาก’ (Isn’t a fat-shaming show: It’s much worse), ฝั่ง Business Insider พาดหัวนำด้วยข้อมูลว่า ‘ซีรีส์ Insatiable เป็นเรื่องวินาศที่ได้คะแนนแค่ 11% จาก Rotten Tomatoes และมีนักวิจารณ์ชื่นชมแค่คนเดียว’ (Netflix’s new series ‘Insatiable’ is a ‘train wreck’ with an 11% score on Rotten Tomatoes — and only one critic has enjoyed it)
ส่วนฝั่งคนดูนั้น เท่าที่ตามดูในแฮชแท็ก Insatiable ฝั่งที่ชื่นชอบจะนิยมความดาร์กแบบโลกจริงของโลกนี้ และตัวละครชายหนุ่มสุดแซ่บ ส่วนฝั่งที่ไม่ชอบส่วนใหญ่จะคอมเมนต์ถึงภาวะที่รู้สึกโดนตบหัวแล้วลูบหลังของมุกตลกร้ายในเรื่อง กับการไม่เข้าใจว่าตัวเรื่องอยากจะบอกเล่าอะไรกันแน่
นอกจากนี้ยังมีทั้งเว็บไซต์และกลุ่มชาวเน็ตออกมาแนะนำซีรีส์แนว Body Positive เพื่อเป็นการค้านกระแสของซีรีส์ใหม่ที่ Netflix กำลังโปรโมตอยู่ด้วย
การเคลือบความเหยียดไว้ใต้ความบันเทิงเป็นสิ่งที่ใครก็ทำกัน?
ลองมองในมุมกว้างขึ้นว่า หรือบางทีซีรีส์ก็เป็นแบบนี้อยู่แล้วหรือเปล่า ที่สุดท้ายเขาก็หยิบจับประเด็นแมสๆ ในยุคนั้นมาหุ้มเปลือกแล้วแอบเหยียดไว้อยู่ดี ซึ่งเราก็พบว่าถ้าย้อนไปช่วงก่อนยุค 2000 ที่การพยายามทำความเข้าใจเรื่องปัญหาการเหยียดประเภทต่างๆ ยังไม่ถูกรับรู้อย่างกว้างขวางเราคงรู้สึกเห็นด้วยอย่างเต็มปาก แต่หลังๆ เรามองว่าซีรีส์นั้นเปิดโอกาสให้ตัวเอกเป็นตัวละครที่ไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ และในขณะเดียวกันก็ยังบอกเล่าถึงจุดแย่ๆ ในชีวิตที่คนเหล่านั้นต้องเจอแบบตรงไปตรงมาได้เช่นกัน หรือถ้าอยากเล่าแบบตลกร้ายให้มีรสขมขื่นคอก็มีทำให้เห็นเช่นกัน นั่นหมายความว่า ถ้าตั้งใจชงบทกันจริงๆ ซีรีส์สามารถเล่าเรื่องราวได้โดยไม่ต้องเขียนบทกดข่มใครเลย
ซีรีส์ต่างชาติที่เราพอจะนึกออกว่าพูดทั้งความจริงในการเหยียด แต่ในขณะเดียวกันก็ยังพูดถึงการยอมรับความแตกต่างของพวกเขา เรื่องแรกก็คงจะเป็นเรื่อง Glee ที่กลุ่มตัวละครหลักมีทั้ง คนที่ดูสมบูรณ์แบบ กับ คนที่ดูเป็นส่วนน้อย ไม่ว่าจะเป็นคนอ้วน คนหลากหลายทางเพศ หรือคนพิการ และในเรื่องก็เล่าเป็นระยะๆ ว่า กลุ่มคนในชมรมกลี ต่างถูกกลั่นแกล้งทั้งแบบถึงเนื้อตัว หรือแบบนัยยะด้วยการสาดน้ำปั่นหลากสีใส่ แต่ในที่สุดเมื่อพกเขาตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงตัวเองและใช้ทักษะในทางที่ถูกต้อง พวกเขาก็สามารถโดดเด่นได้จากจุดด้อยที่พวกเขามีอยู่
ในฝั่งเอเซียเรื่องหนึ่งที่เรานึกออกก็เป็น Rebound ที่พูดถึงสาวญี่ปุ่นที่เคยอ้วนแล้วก็พยายามลดความอ้วนจนผอม แต่ก็เกิดอาการรีบาวน์ดกลับไปอ้วนอีกครั้ง แม้เรื่องราวตอนต้นอาจชูว่าคนผอมสวยก็ยังเป็นอะไรที่ได้รับความนิยมจากกระแสหลัก แต่ในตอนท้ายของเรื่อง นางเอกก็แฮปปี้กับการใช้ชีวิตเป็นสาวพลัสไซส์ก่อนที่เรื่องจะถูกสรุปว่าว่าผู้หญิงทุกคนมีความสวยและทักษะที่เหมาะสมกับตัวเองได้
ส่วนฝั่งบ้านเรา แม้จะยังไม่มีซีรีส์ที่ตัวเอกเป็นกลุ่มคนไม่สมบูรณ์ในสังคมไม่เยอะนัก ที่พอจะนึกออกก็คงเป็นเรื่อง ยีนเด่น ที่ ตัวเอกเป็นแฝดที่โดนระบุว่าคนหนึ่งอ้วนเตี้ยตัวดำ เข้าสังคมไม่เก่งแต่มีความสามารถสูง แต่ด้วยเส้นเรื่องที่โฟกัสเรื่องรักของคู่พระนางที่ถูกชงมาตั้งแต่ต้นเรื่อง จึงทำให้ประเด็นด้านตัวตนของตัวละครดูดรอปลง (เช่นเดียวกับ แกล้งแอ๊บแอบรัก ที่ช่วงหลังก็เน้นความรักของคู่หลักคู่รองในเรื่องไปเช่นกัน) และ Body Shaming แบบอ่อนๆ ก็ดันเป็นมุกประจำของเรื่องเสียด้วย
อย่างน้อยการที่เราได้เห็นกระแสของสื่อกับความเห็นของคนดู ที่ไม่โอเคกับหลายมุมของการนำเสนอในซีรีส์ Instatible ก็ทำให้เราตระหนักได้ว่า ทั้งผู้ชมและผู้สร้างซีรีส์ในต่างประเทศไม่ได้มีเทรนด์เคลือบ ‘การเนียนเหยียดในคราบการให้กำลังใจ’ เท่าใดนัก ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่แล้วมักจะมาจากมุมมองของคนทำงานบางคนมากกว่า ในทางกลับกันพวกเขาพยายามสร้างผลงานที่เพิ่มความแตกต่างให้ตัวละครมากขึ้น และมีหลายเรื่องที่ไม่ได้เล่าเรื่องราวเหล่านั้นอย่างโลกสวยจนเกินไป ส่วนฝั่งซีรีส์ไทย เราเริ่มได้เห็นผู้สร้างสนใจสร้างเรื่องที่เล่าถึงความหลากหลายของตัวละครมากขึ้นกว่าสมัยก่อนแล้วก็จริง แต่เราคงต้องรออีกสักระยะ เราถึงจะได้เห็นว่าทั้งคนสร้างและคนดูนั้นใส่ใจและไม่สนุกกับการเหยียดคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดในรูปแบบใดก็ตามที
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก