เมื่อก่อน..
หากอยากกินอาหารคาวหวานสักอย่าง ถ้าไม่เคยได้ชิมหรือเห็นของจริงมาก่อน คงเป็นไปได้ยากที่ใครสักคนจะยอมเสียเงิน แชมพู สบู่ หรือยาสีฟัน (ที่ส่วนใหญ่แกะมาลองไม่ได้) ก็เช่นกัน อย่างน้อยต้องขอดูสี ดมกลิ่น และจับพลิกซ้ายขวาสำรวจสักเล็กน้อย ก่อนจะตัดสินใจซื้อมาลองใช้ในชีวิตจริง หรือแม้แต่ข้าวของที่นานๆ จะซื้อสักครั้ง ลำพังแค่เห็นภาพและอ่านคำอธิบายแบบสั้นกระชับ มีเพียงน้อยครั้งที่เราจะยินดีควักกระเป๋า
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการมีอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนให้ใช้ตลอดเวลา พฤติกรรมของผู้คนจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป จากการจับจ่ายที่ตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ก็เกิดเป็น ‘ตลาดออนไลน์’ ที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนกระทั่งของใหม่กลายเป็นความเคยชิน การจ่ายตลาดผ่านหน้าจอก็เข้ามาเป็นอีกทางเลือกในชีวิตของใครหลายคน
เดี๋ยวนี้..
เปิดเว็บไซต์ อ่านรายละเอียด (บางครั้งก็อ่านรีวิวจากผู้บริโภคด้วยกัน) คิด ตัดสินใจ จ่ายเงินทางออนไลน์ แล้วรอรับสินค้าจากบุรุษไปรษณีย์อยู่ที่บ้าน โดยทั้งหมดนั้นเสร็จสิ้นได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที
การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี ทำให้ชีวิตมีทางเลือกมากขึ้น และเมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารมากพอ ผู้บริโภคก็กลายเป็น ‘คนช่างเลือก’ มากขึ้นไปโดยไม่รู้ตัว
บ้างตั้งคำถามกับคุณภาพของสินค้า
บ้างตั้งคำถามว่าเงินที่จ่ายไปจะถูกคนกลางหักแค่ไหน และถึงผู้ผลิตกี่มากน้อย
บ้างตั้งคำถามกับการใช้ชีวิตของตัวเองว่า ฉันจะเลือกของกินของใช้ให้ตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ยังไง
‘คนช่างเลือก’ จำนวนมากมีร้านเจ้าประจำ พิมพ์ลิงค์ เลือกสินค้า จ่ายเงิน แล้วรอรับ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จำลิงค์ของร้านค้าได้แม่นยำ อีกทั้งเมื่อถึงเวลาที่อยากได้สินค้าหลายอย่าง หรืออยากสำรวจสินค้าใหม่ๆ ในท้องตลาด คุณอาจต้องใช้เวลากับการจับจ่ายมากกว่าเดิมไม่น้อยเลย
นั่นเป็นเหตุผลสำคัญ ที่บริษัทบุญมีแล็บ บริษัทที่ทำงานด้านเทคโนโลยี ตัดสินใจสร้างตลาดออนไลน์ในชื่อ ‘บลูบาสเก็ต‘ ขึ้นมา โดยพิกัดของตลาด (ออนไลน์) อยู่ที่ www.bluebasket.market
ฝั่งผู้ผลิต บลูบาสเก็ตสร้างช่องทางให้ผู้ผลิตที่ใส่ใจ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ สร้างหน้าร้านออนไลน์ ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ (ทั้งสองอย่างมีต้นทุนค่อนข้างสูง) และช่วยทำตลาดให้กับผู้ผลิตที่ไม่ถนัดการจัดการนี้ โดยหักเปอร์เซ็นต์ในตัวเลขที่ไม่สูงเกินไป ฝั่งผู้บริโภค บลูบาสเก็ตคัดสรรและรวบรวมผู้ผลิตที่ใส่ใจสินค้าของตัวเอง และออกแบบวิธีการสั่งซื้อและจ่ายเงินให้เข้าถึงง่าย เพื่อให้การจ่ายตลาดผ่านหน้าจอเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้น
“เราคาดหวังให้ลูกค้าที่สนใจสินค้าเพื่อสุขภาพ แวะเวียนมาซื้อสินค้าจากร้านต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ใช้แรงในการค้นหาน้อยลง เพราะมีคนช่วยคิดช่วยเลือกสินค้ามาให้ระดับหนึ่งแล้ว ทั้งในแง่คุณภาพและความหลากหลาย อีกทั้งจ่ายเงินออนไลน์ได้ง่าย เพื่อให้ลูกค้าช็อปปิ้งสินค้ากลุ่มนี้ได้แบบสบายใจ เหมือนการซื้อสินค้ากลุ่มอื่นๆ ทั่วไป โดยทีมงานช่วยกันเลือกผู้ผลิตที่ใช้วัตถุดิบที่ดีมาผลิตสินค้าที่ดี เปรียบเทียบให้เห็นภาพ เหมือนทำสิ่งนั้นให้คนในครอบครัวได้ใช้ได้กิน” อัญชนา นนท์พิทยา เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบลูบาสเก็ต พูดถึงนิยามคำว่า ‘ใส่ใจ’ ที่เธอและทีมงานใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการเลือก ‘สินค้า’ มาขายที่ www.bluebasket.market
ข้อมูลในหน้า ‘เกี่ยวกับเรา’ อธิบายที่มาของชื่อตลาดแห่งนี้ไว้ว่า
Blue Basket เราตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เพราะอยากให้ติดปากคนทุกชาติ ทุกภาษา ส่วนคนไทยก็เรียกได้ถนัดปาก และอยากให้คุ้นหูในที่สุด
บลู / Blue หมายถึง สีฟ้าของท้องฟ้า อากาศ น้ำ ที่เกื้อกูลกันสร้างผลผลิตจากธรรมชาติที่ดีต่อทั้งคนและโลก บลูบาสเก็ตเองก็เช่นกัน เราตั้งใจที่จะเกื้อหนุน ขับเคลื่อน เชื่อมโยง เติมเต็ม ให้ตลาด คน และโลกดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน
บาสเก็ต / Basket หมายถึง ตะกร้า สัญลักษณ์ที่ทำให้เรานึกถึงการจับจ่าย ซื้อขาย แถมดีต่อสิ่งแวดล้อม พกไปจ่ายตลาด ก็ช่วยลดถุงพลาสติก ไม่ทำให้โลกร้อน
วันแรกๆ ที่บลูบาสเก็ตทำ ‘ตลาดออนไลน์’ พวกเขาเริ่มจากชวนกลุ่มเพื่อนที่ทำสินค้าเพื่อสุขภาพมาเปิดร้าน จากหนึ่งร้าน สองร้าน จนกระทั่งปัจจุบันมีทั้งหมด 83 ร้าน 1,064 หน่วยสินค้า รวมทั้งอีกหลายร้านอยู่ระหว่างพูดคุย
เพื่อให้พอเห็นภาพว่าตลาดแห่งนี้มีร้านอะไรบ้าง เราเลยชวนผู้ผลิต 5 ร้านที่สินค้าแตกต่างกันออกไป มาเล่าถึงที่มาสินค้าของตัวเองพอให้เห็นภาพคร่าวๆ ก่อนที่ผู้บริโภคจะกดลิงค์ชมสินค้าทั้งหมดด้วยตัวเอง
เร่เข้ามา เร่เข้ามา
มาจ่ายตลาดผ่านหน้าจอกันเถอะ
NanaFruit
ร้าน : www.bluebasket.market/nanafruit/product
สินค้า : ผลไม้อบแห้ง (มะม่วง ลำไยสีทอง แก้วมังกร สับปะรด กล้วย)
กรรัตน์ มติภักดี : Channel Manager
“เจ้าของแบรนด์ Nana Fruit ชื่อคุณนาขวัญ (พงศ์พฤกษทล) เป็นทั้งนักธุรกิจและนางแบบ เธอชอบทานผลไม้และสแน็ค เลยคิดถึงการมิกซ์ของสองสิ่งเข้าด้วยกัน เลยออกมาเป็นผลไม้อบแห้ง 5 ชนิด คือ มะม่วงโชคอนันต์ แก้วมังกรสีม่วง ลำไยสีทอง สับปะรดภูแล และกล้วยน้ำว้า จริงๆ แล้วผลไม้อบแห้งไม่ใช่ของใหม่ ทั้งสินค้าแบบกลุ่มชุมชนและแบรนด์ส่งออก แต่พอไปสำรวจตลาด ส่วนใหญ่มีน้ำตาลผสมอยู่ในกระบวนการผลิต เพื่อให้รสชาติคงที่ และเป็นการเพิ่มน้ำหนักด้วย ถามว่าถ้าเป็นคนกินอยากได้แบบนั้นไหม ตอบแบบไม่โกหกตัวเอง ก็ไม่ เราเลยเลือกผลไม้สายพันธุ์ที่มีน้ำตาลค่อนข้างสูง แล้วทำให้แห้งลง ไม่เติมน้ำตาลในกระบวนการผลิตเลย เป็นความหวานจากธรรมชาติ ช่วงแรกๆ ค่อนข้างยาก เพราะการไม่มีน้ำตาล แต่ต้องทำให้เนื้อสัมผัสมีความจุ๊ยซี่ (juicy) ทำแล้วทิ้งไปเยอะมาก จนกระทั่งออกมาเป็นสินค้าที่วางขายในท้องตลาด เราทำงานร่วมกับอาจารย์จากภาควิชาฟู้ดไซน์ ม.เชียงใหม่ และรับผลผลิตจากเกษตรกรในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย เพราะอยากให้ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่นให้มีรายได้”
Y.Farmily
ร้าน : www.bluebasket.market/yfarmily/product
สินค้า : มะพร้าวเจีย, น้ำมะพร้าวบรรจุขวด, น้ำมะพร้าวบรรจุถุง
อัครชัย ยัสพันธุ์ : ผู้ก่อตั้ง
“หลังจากเออร์รี่จากงานธนาคาร ด้วยความสนใจด้านเกษตร พ่อเลยนำที่ดินที่ปู่ซื้อไว้อยู่ราชบุรีมาพัฒนา เริ่มจากปลูกไม้ล้มลุก แต่การดูแลยาก เลยเปลี่ยนมาปลูกมะพร้าว เป็นสวนเคมี ใช้วิธีจ้างคน รายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ แต่ไม่ได้มาก เลยเปลี่ยนมาทำอสังหาริมทรัพย์ ทำอยู่สองเฟส ถือว่าโอเค พอเรียนจบมหาวิทยาลัย ผมมาช่วยทำเฟสสาม ตอนนั้นมะพร้าวยังทำไปด้วย แม้เงินไม่มาก แต่อยู่ได้มาเรื่อยๆ ทำอสังหาฯ ไปสักพัก ผมรู้สึกว่างานนี้ไม่ใช่ตัวเรา เวลาคุยกับผู้รับเหมาต้องสวมบทบาทที่ไม่เป็นตัวเองเพื่อสั่งงาน เอาจริงๆ ก็ทำได้นะ แต่ผมไม่ชอบ ผมเคยมองว่าชีวิตที่ประสบความสำเร็จคือมีเงินเยอะๆ เรียนเก่งๆ เข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ทำงานดีๆ เรียนจบจากวิศวะ จุฬาฯ ก็ทำงานนี้เลย พอเจอปัญหาเยอะๆ ผมมาทบทวนตัวเอง ความหมายของชีวิตคืออะไร ตอนนั้นอ่านหนังสือด้วย เลยสนใจเกษตร ผมไปมูลนิธิข้าวขวัญ ไปพันพรรณ ความคิดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอกลับมามองตัวเอง บ้านเรามีสวนมะพร้าว ตอนนั้นพ่อป่วยเป็นอัลไซเมอร์ด้วย สวนไม่มีคนดูแล ผมไปเรียนรู้การปลูกมะพร้าวอินทรีย์จากรุ่นพี่คนนึง พอเสร็จอสังหาฯ เฟสสาม ก็ออกมาทำเต็มตัว
“คำว่าเกษตรอินทรีย์ ผมมองที่การตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งคนและธรรมชาติ เริ่มจากผมเห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับคนอื่นๆ ถ้าสิ่งแวดล้อมดี คุณจะมีความสุขไปด้วย ต้นทุนที่สูงกว่าเกิดจากกระบวนการที่มีรายละเอียด เราไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า เลี้ยงแมลงไว้กำจัดศัตรูพืช ถ้าพ่นยาก็เป็นแบบชีวภาพ ไปจนถึงเรื่องค่าแรงที่เป็นธรรม คำว่าสิ่งแวดล้อมหมายถึงคนทำงานต้องมีความสุขด้วย ผมไม่เคยเคลมว่ามะพร้าวอร่อยกว่าที่อื่น แต่ความแตกต่างคือกระบวนการ เท่าที่พูดคุยมา หลายคนพร้อมรับฟังนะ Y.Farmily เริ่มเต็มตัวเดือนมกราคม 2560 ยังตอบไม่ได้ว่าอยู่ได้ไหม เพราะผมก็ทดลองอยู่ รายได้ไม่ได้ดีกว่าเดิมอยู่แล้ว แต่การทำแบบนี้ มันถูกจริตผมมากกว่า”
To Another
ร้าน : www.bluebasket.market/toanother/product
สินค้า : สบู่, แชมพูมะกรูด
แก้วตา โภวาที : ผู้ร่วมก่อตั้ง
“ตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ เราเป็นคนแพ้ง่าย ผื่นขึ้น ผิวหนังอักเสบ ทีแรกนึกว่าเรียนหนักแล้วนอนน้อย พอไปหาหมอ ได้คำตอบว่าภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี รักษาไม่ได้ เราต้องดูแลตัวเอง กินอาหารดีๆ นอนให้เพียงพอ ไม่อย่างนั้นอาจหนักจนกลายเป็นโรค SLE เราก็กลัวสิ ช่วงแรกๆ หมอให้ใช้แชมพูไนโซรัลถูตัว ใช้แล้วอาการแพ้ก็หายไปนะ แต่ผิวแห้งมาก พอเลิกใช้ก็เป็นอีก เราเลยคิดถึงการทำสบู่ก้อนใช้เอง เลือกทำเองเพราะไว้ใจตัวเองมากที่สุด ตอนนั้นไปซื้อของจากศึกษาภัณฑ์ แล้วหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีน้อยมาก ปรับสูตรไปเรื่อยๆ ช่วงแรกโยนทิ้งไปไม่รู้เท่าไร จนได้สูตรที่ใช้ได้ อาการแพ้ดีขึ้นนะ คงสัก 70% ส่วนที่เหลือยังมีเรื่องอาหาร อากาศ และการนอนด้วย
“เวลาผ่านไปเราลาออกจากงาน เลยลองทำสบู่ก้อนแจกกลุ่มเพื่อน ซึ่งสามารถใช้อาบน้ำและล้างหน้าได้ เพื่อนเลยพูดถึงการทำขาย ก็เลยลองทำขาย หลังจากนั้นก็มีแชมพูมะกรูด เราเป็นรังแคมาตลอด พอทำใช้เองแล้วหาย ผมหยุดร่วง สินค้าที่มีขายยังมีแค่สบู่ก้อน มีหลายกลิ่น และแชมพูมะกรูด พออายุมากขึ้น อาการแพ้ก็ชัดขึ้น เราเริ่มใช้ผงซักฟอกและน้ำยาถูพื้นทั่วไปไม่ได้แล้ว ไม่รู้ว่าเขาเปลี่ยนสูตร หรือเราอ่อนแอลง เลยไปคุยกับหมอ ได้คำตอบว่าบางยี่ห้ออาจเปลี่ยนแล้วไม่บอกก็ได้ เปลี่ยนแค่เล็กๆ น้อยๆ แต่มันมีผลกับเรา เราเลยทำใช้เองแล้ว ขอเวลาทดสอบสักระยะ ค่อยมาคิดเรื่องทำขาย เพราะเราเอาตัวเองทดลองสินค้าทุกอย่างก่อนขายเสมอ”
Madame Esther
ร้าน : www.bluebasket.market/madameesther/product
สินค้า : เทียนใบพลูจุดไล่ยุง, น้ำมันนวดและป้องกันยุงกัด, ถุงดับกลิ่นในรองเท้า, ถุงใบพลูดับกลิ่นอับชื้น, ผงไพลขัดผิวหน้า, ชาตะไคร้, ฮอร์โมนถั่วเหลือง, ฮอร์โมนไข่, สบู่ใบพลูกำจัดกลิ่นกาย
จันทมาศ เหมพรรณไพเราะ : ผู้ร่วมก่อตั้ง
“เราจบจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีที่ดินอยู่สมุทรสาคร ทีแรกตั้งใจว่าจะปลูกผักปลอดสารอย่างเดียว วันนึงคิดขึ้นว่าทำไมไม่ปลูกสมุนไพรต่างๆ ด้วย เพราะแปรรูปเป็นสินค้าได้ เราปลูกต้นพลูที่เอาไว้กินหมาก หลังจากนั้นก็แปรรูปเป็นเทียนจุดไล่ยุง ซึ่งได้ผลดีกว่าตะไคร้หอม มีผลวิจัยจากอินเดียรับรองแล้ว นอกจากนี้ การจุดเทียนนี้ไล่ยุง ยังปลอดภัยกับเด็กและสัตว์เลี้ยง เพราะเราไม่ใช้พาราฟินที่มีสารก่อมะเร็ง แต่ใช้ไขถั่วเหลือง เวลาจุดจึงมีแค่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีทั่วไปในอากาศอยู่แล้ว เทียนนี้จุดกลางแจ้งก็ได้ หรือจุดในห้องนอนก็ไม่อันตราย ปกติยากันยุงจะมีควัน แต่อันนี้เป็นกลิ่นอ่อนๆ จางๆ ของใบพลู ถือเป็นสินค้าที่ขายดีในบลูบาสเก็ต อีกอย่างที่เราปลูกคือไพร ที่เอาไว้ทำน้ำมันเหลืองเพื่อนวดคลายเส้น พอเติมน้ำมันพลูเข้าไป น้ำมันนวดเลยไล่ยุงได้ด้วย คนไปปฏิบัติธรรมหรือเข้าค่ายก็ใช้ทาผิวป้องกันยุงได้ ถ้าออกแรงถูจะร้อนเป็นน้ำมันนวด เป็นสินค้าที่คนนิยมซื้อไปถวายพระกัน พื้นที่ทั้งหมด 9 ไร่ เราปลูกผักปลอดสารกินในครอบครัว ส่วนสินค้าที่ขาย เราทำเองตั้งแต่ปลูก แปรรูป และทำตลาดเลย”
ธูปรักษ์โลก
ร้าน : www.bluebasket.market/raklokincense/product
สินค้า : ธูปรักษ์โลกบูชาพระ, ธูปรักษ์โลกตะไคร้ไล่ยุง, ธูปสวนไล่ยุง, สเปรย์ไล่ยุงกลิ่นตะไคร้
ชัชวาล สันทัดกรการ : ผู้ก่อตั้ง
“สิบกว่าปีก่อน ผมทำธูปอโรมาส่งออกต่างประเทศ พอโดนเมืองจีนตีตลาด ไม่ได้ส่งออกแล้ว เลยเอาความรู้มาพัฒนาต่อเป็นสินค้าสปา ตอนนั้นมีการพูดถึงสารก่อมะเร็งในธูปกันมาก ผมเลยไปซื้อธูปทั่วไปมาทดลอง ปรากฏว่าแสบตามาก ผมหาข้อมูล เจอรายการกบนอกกะลา เริ่มเข้าใจว่าธูปทั่วไปเป็นยังไง เลยถามตัวเองต่อว่า เราจะทำธูปที่ราคาถูกแล้วลดมลพิษได้ไหม ธูปอโรมาจะใช้ไม้หอมต่างๆ เช่น ไม้จันทน์ขาว ไม้จันทน์เทศ อบเชย กันเกลา แต่ทำแบบนั้นราคาสูง เลยมาลงเอยที่ธูปที่ผลิตด้วยถ่านชาโคล (Charcoal) ก็ถ่านหุงข้าวแหละ ซังข้าวโพด ก้านไม้ไผ่สีสุกที่สกัดน้ำส้มควันไม้ออก และผงบงซึ่งเป็นยางไม้ธรรมชาติ
“เริ่มจากการเอาไม้ไผ่ไปต้ม เพื่อดึงน้ำส้มควันไม้ออก ซึ่งมีสารพิษในเนื้อไม้ แล้วนำไม้ไผ่ไปตากให้แห้ง นำถ่านไปบดให้ละเอียดขนาดผงแป้ง นำซังข้าวโพดที่ตากแห้งไปหั่นแล้วเข้าเครื่องบดให้ละเอียด ขนาดผงแป้งเช่นกัน นำผงถ่านบดละเอียด ผสมยางบงให้เป็นเนื้อเดียวกัน ใส่ลงในเครื่องยิงดอกธูป แล้วยิงดอกโดยใส่ก้านไม้ไผ่ที่คัดเฉพาะไม้ตรง นำไปตากลมให้แห้ง ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ก่อนจะนำมาตากแดดอีก 1 วัน นำซังข้าวโพดคลุกด้วยยางบง มาผัดหน้าดอกธูปให้มีสีขาว แล้วตากให้แห้ง ก่อนจะนำน้ำหอมมาสเปร์ยลงบนดอกธูป ธูปรักษ์โลกมีควันน้อยปลอดสารก่อมะเร็ง ไม่แสบตา ไม่แสบจมูก ผ่านการทดสอบจากบริษัทที่รับทดสอบสิ่งแวดล้อม โดยใช้มาตรฐาน Indoor air pollution ซึ่งเป็น Benchmark ที่กำหนดโดย WHO (องค์การอนามัยโลก) ซึ่งต่อมา ประเทศไทยได้ใช้มาตรฐานนี้ เป็น Benchmark ในเรื่องสิ่งแวดล้อมของไทย”