ช่วงเดือนที่ผ่านมา แม้ภารกิจการงานจะรัดตัวหนักแค่ไหน อย่างน้อยผมก็พยายามพักผ่อนสมองบ้าง ด้วยการอ่านนั่นนี่ไปตามประสาคนรักตัวหนังสือ และสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหลุดไปจากวงจรชีวิตผมคือมังงะ และในช่วงเวลานั้น ได้อ่านมังงะสองเรื่องที่ดูเหมือนจะต่างกันอย่างมา แต่กลับทำให้ผมตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคมญี่ปุ่นผ่านมังงะสองเรื่องนั้นได้อย่างคล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือคำถามว่า เราคือใคร?
(ขอบอกก่อนว่ามีสปอยล์เนื้อหา แต่ไม่หนักมาก เพราะยังเก็บเนื้อหาสำคัญไว้)
เรื่องแรกคือเรื่องที่ผมเล็งไว้นานแล้ว แต่มีโอกาสอ่านซะที นั่นคือเรื่อง Musume no Tomodachi หรือแปลไทยตรงตัวว่า เพื่อนลูกสาว แต่สำนักพิมพ์ไทยเลือกใช้คือ ความลับสาวน้อย ซึ่งแค่ชื่อก็ติดตาแล้ว ชวนให้รู้สึกวบหวิวเหมือนชื่อเรื่องโป๊เชยๆ ในอดีต แต่งานอาร์ตบนปกสวยมาก คือเป็นรูปเด็กนักเรียนหญิงมัธยมผมสั้น วาดออกมาได้โมเอ้มากๆ ดูแล้วคล้ายกับตัวละคร Anegasaki Nene ตัวละครโปรดจากเกม Love Plus ที่ผมติดงอมแงมช่วงนึง (ยืมเครื่อง DS ว่าที่หม่อมเมียมาเล่นด้วยสิครับ) ด้วยรูปปก และชื่อเรื่อง ปฏิกิริยาแรกของผมก็คือ Yabai หรือ แปลแบบใส่อารมณ์คือ บรรลัยแน่ๆ
แต่ด้วย first impression ที่ดูเหมือนมังงะโมเอ้ ชวนเสียว วาบหวิว ผมก็เลยไม่ได้หยิบมาอ่านดูจริงจังเสียที (ใครจะกล้าหยิบออกมาอ่านต่อหน้าคนอื่น) แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าเห็นมันกลายมาเป็นมังงะแนะนำ ได้รับคำชม เลยสงสัยว่า เอ๊ะ เรื่องแบบนี้มันจะเวิร์กเหรอ จนต้องลองหามาอ่านดู ผลคือ ไม่ตรงปกอ่ะครับ แน่นอนว่า ภาพน่ะ สวยงามน่ารักโมเอ้แน่นอน แต่เนื้อเรื่องนี่ หนักระดับค้อนปอนด์ และชวนกระอักกระอ่วนได้เสมอจริงๆ
เรื่องราวคือ อิชิคาวะ โคสุเกะ ซาลารี่มังพ่อม่ายวัยกลางคน ที่ได้รับการยกย่องในที่ทำงาน และจัดอยู่ในกลุ่มที่มีโอกาสก้าวหน้าในการงานสูง บังเอิญได้ช่วยเด็กสาวที่ทำงานเสิร์ฟที่ร้านกาแฟไม่ไกลจากที่ทำงานเขานัก เด็กสาวคนที่ว่าคือ คิซารากิ โคโตะ ซึ่งเขาก็มารู้ในภายหลังว่า เป็นเพื่อนร่วมชั้นของลูกสาวตัวเอง (และจริงๆ คือเพื่อนสนิทด้วยซ้ำ) เมื่อตอนที่ไปปรึกษาอาจารย์ประจำชั้นของลูกสาว กับปัญหาลูกสาวไม่ยอมไปโรงเรียน
ทั้งสองคนค่อยๆ ถูกดึงดูดเข้าหากันอย่างไม่น่าเชื่อ โดยตัวโคโตะออกจะรุกหนักมากกว่า จนพ่อม่ายอย่างโคสุเกะวางตัวไม่ถูก เขาเองทำทุกอย่างตามที่สังคมคาดหวังจากตัวเขามาโดยตลอด ตั้งใจทำงาน ทำหน้าที่พ่ออย่างเต็มที่ แต่เด็กสาวที่ดูเหมือนจะไม่สนใจอะไร ทำอะไรตามใจชอบคนนี้ ได้เข้ามาปั่นป่วนชีวิตของเขาจนเขาเองก็เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการหนีงานไปอย่างดื้อๆ กลายเป็นว่าทั้งสองคนก็มีใจให้กัน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรมากไปกว่านั้นได้ ในขณะเดียวกันเขาต้องเก็บความลับนี้จากลูกสาวที่ดูเหมือนจะค่อยๆ เริ่มเปิดใจให้กับเขาบ้างแล้ว และตัวโคโตะเองที่ดูเหมือนจะไม่สนใจอะไร แต่จริงๆ แล้ว ที่บ้านเธอก็ถูกแม่บีบบังคับให้เป็นเด็กดีเสมอ และล้ำเส้นชีวิตส่วนตัว แม้บ้านจะใหญ่โตมีเงินเยอะ แต่ฝ่ายพ่อก็มีชู้ แม่ก็พลอยรังเกียจพ่อและผู้ชาย และเอาทุกอย่างมาทุ่มกับเธอ เวลาอยู่บ้านเธอกลายเป็นเหมือนตุ๊กตาของแม่เท่านั้น
นั่นแหละครับ จากปกที่ดูชวนหวิว กลายเป็นว่าเนื้อหาหนักอึ้ง
ซึ่งชีวิตของโคสุเกะก็ปั่นป่วนไปหมดจากการได้พบสาวน้อยคนที่เขาดูไม่ออกว่าเธอคิดอะไรคนนี้ และจากเส้นทางทีชีวิตเขาที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรน่าห่วง ยกเว้นเรื่องลูกสาวที่ไม่ยอมไปโรงเรียน ก็เริ่มยุ่งเหยิงขึ้นเรื่อยๆ แต่เขากลับรู้สึกว่าได้พบตัวตนของตัวเอง แม้ชีวิตจะปั่นป่วนแค่ไหน ทำให้นึกถึงชื่อเรื่องภาษาฝรั่งเศสที่เขียนไว้บนปกว่า “l’un des grands secrets d’une femme fatale” ซึ่งก็คือความลับสำคัญของหญิงสาว แต่ติดตรงคำว่า femme fatale ที่หมายถึงหญิงสาวที่เข้ามาแล้วทำให้ชีวิตตัวเอกชายต้องปั่นป่วนนั่นเอง
เรื่องที่สองคือ Chi no Wadachi หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Blood on Tracks ซึ่งตรงกับชื่อเพลงของ บ๊อบ ดีแลน (Bob Dylan) เรื่องนี้ก็เห็น ต่อ คันฉัตร พูดถึงบ่อยๆ เวลาเขากลับมาใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งผมเองก็สนใจว่ามันคือเรื่องอะไร เพราะดูเผินๆ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวของเด็กชายที่มีปัญหาที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Mother Complex หรือเด็กติดแม่ (ก็สงสัยว่าต่างกับ Oedipus Complex อย่างไร) แต่พอเปิดอ่านไปได้หน่อยก็มองว่าเป็นเรื่องของ แม่ ที่ดูแลลูกอย่างประกบติดเกินไป จนเรียกว่าเป็นคุมพฤติกรรมเด็กมัธยมต้นช่วงแตกเนื้อหนุ่ม
ในครอบครัวโอซาเบะคือ ตัวเอก โอซาเบะ เซอิจิ คือเด็กมัธยมต้น ที่แม่ของเขา เซโกะ แม่บ้านเต็มตัว คอยดูแลประคบประหงมตลอด และทั้งสองคนก็ดูสนิทกันมากกว่าปกติ จนดูน่ากระอักกระอ่วน ซึ่งสำหรับเซอิจิแล้ว ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะนี่คือเรื่องปกติของบ้านเขา แต่เขาเองก็โดนคนรอบข้างล้อเลียนบ้าง (การไปซื้อเสื้อผ้ากับแม่ ก็สามารถถูกเพื่อนล้อว่าเป็นลูกแหง่ได้) แต่จุดเปลี่ยนคือ ครอบครัวของพี่สาวพ่อเขา แวะมาเล่นที่บ้านทุกสุดสัปดาห์ แล้วชิเกรุ ลูกพี่ลูกน้องของเขาก็มักจะล้อเขาว่า แม่เขาประคบประหงมเกินไป จนวันหนึ่ง ทั้งสองครอบครัวออกไปเดินขึ้นเขาด้วยกัน แล้วเด็กทั้งสองคนก็ไปเล่นกันริมผา ชวนให้เสี่ยงอันตราย และชิเกรุก็แซวเขาอีก จนเซโกะมาเจอทั้งสองคน และช่วยชิเกรุไว้ก่อนที่เขาจะเสียหลักตกหน้าผา แต่จู่ๆ เธอก็ผลักเขาตกหน้าผาลงมา นั้นคือจุดเริ่มของความวิบัติทั้งหมดของเรื่องนี้
จากจุดนั้น เซอิจิก็เริ่มสับสนกับชีวิต เขาเลือกโกหกเพื่อที่จะปกป้องแม่เขาจากการถูกดำเนินคดี แม่เขาเองก็พูดเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นอีกเรื่อง ราวกับในสมองของเธอเรื่องราวต่างๆ มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ นี่ก็กลายเป็นความลับระหว่างสองคนที่เป็นตัวเชื่อมทำให้ทั้งสองคนโดดเดี่ยวจากคนอื่นมากขึ้น แต่อีกจุดพลิกผันคือ เซอิจิก็พบรักกับเพื่อนร่วมชั้น และต้องพบกับความเย้ายวนจากเพศตรงข้ามอีกคน ฮอร์โมนในตัวเขาพุ่งพล่าน แต่ใครจะคิดว่า กลายเป็นว่า ไม่ว่าทางเส้นไหน ก็มีแต่หุบเหวรอเขาอยู่
ด้วยความที่อ่านทั้งสองเรี่องในเวลาไล่เลี่ยกัน
สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้จากทั้งสองเรื่องมาจากคำถาม
ที่โคโตะถามโคสุเกะว่า “แล้วตอนนี้คุณต้องการอะไร”
เป็นคำถามที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่มันชวนให้คิดต่อเยอะมาก
เพราะตอนที่ถามคือ เธอไม่ได้ถาม โคสุเกะ ในบทบาท ผู้จัดการแผนก หรือในบทบาท พ่อ แต่เป็นการถามตัว โคสุเกะ ในฐานะคนคนนึงเท่านั้น
ด้วยคำถามง่ายๆ แบบนี้ล่ะครับ แต่กลับทำให้เรามานึกย้อนได้ว่า แล้วตัวเราในฐานะ คนคนนึง ต้องการอะไร บางทีเวลานึกเล่นๆ ว่าขอพรอะไรได้ เราจะขออะไร ขอให้การงานดี? ขอให้มีเงิน? ขอให้ครอบครัวมีสุข? กลายเป็นว่าความต้องการหลายอย่างของเราก็ไปผูกกับคนรอบตัวโดยอัตโนมัติ ยิ่งอายุมากขึ้น หรือพอมีลูกอย่างผม ชีวิตก็ไม่ได้เป็นแค่ของเราเองอีกแล้ว คำถามง่ายๆ แบบนี้ ทำให้ไม่เพียงแค่โคสุเกะชะงัก แต่คนอ่านอย่างผมเองก็ฉุกคิดขึ้นมาเหมือนกัน
และพอเรามองทั้งสองเรื่องด้วยคำถามนี้ เราเองก็จะได้เห็นอะไรมากขึ้น ใน Musume no Tomodachi โคสุเกะ ก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่ โดยไม่สามารถจัดการปัญหาลูกเก็บตัวอยู่แต่ในห้องได้ โดยที่เขาเชื่อว่า การทำงานอย่างเต็มที่นั่นคือการทำหน้าที่พ่อที่ดีคอยค้ำจุนครอบครัว ตัวโคโตะเอง ก็ต้องพยายามเป็นเด็กดีตามคำสั่งของแม่เสมอ จนเมื่ออยู่กับโคสุเกะ เธอค่อยรู้สึกว่าได้เป็นตัวของตัวเอง ในขณะที่ตัว มิยะ ลูกสาวของโคสุเกะ ก็พยายามเต็มที่ที่โรงเรียน แต่พออะไรต่อมิอะไรไม่เป็นไปอย่างที่คิด เธอก็หมดกำลังใจไปโรงเรียน ทางบ้านของโคโตะเอง ก็เป็นครอบครัวที่เหมือนครอบครัวตามหน้าที่เท่านั้น พ่อก็ทำงานและไปคบชู้ แม้จะสามารถสร้างความสะดวกสบายให้ครอบครัวได้ แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ตัวแม่ที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีเป้าหมายอะไรในชีวิตแล้ว ก็เอาทุกอย่างมาลงกับตัวโคโตะแทน
ส่วนใน Chi no Wadachi เซอิจิ ตัวละครหลักของเรื่อง อาจจะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ทำให้อีโก้ในตัวเขายังไม่ชัดเจนนัก แต่เราก็สังเกตได้ถึงความขัดแย้งในตัวเขา ระหว่า สิ่งที่เขาต้องการ และ สิ่งที่แม่ต้องการ ทำให้ตัวตนของเขาเองค่อยๆ บิดเบี้ยวไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง เท่าที่อ่านดูแล้ว นี่น่าจะเป็นตัวละครเด็กวัยรุ่นที่เจอชะตากรรมที่หนักหนาสาหัสมากอีกคนหนึ่งเลยทีเดียว
แต่ตัวละครที่น่าจับตามองคือ แม่ หรือ เซโกะ ที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง แม้จะเปิดเรื่องมาด้วยท่าทางว่าเธอรักลูกชายสุดหัวใจจนกลายเป็นว่าครอบงำตัวลูกชาย แต่เอาเข้าจริงๆ เรื่องก็ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น และก็กลายเป็นคำถามขึ้นมาว่า เธอคือใคร และต้องการอะไร ซึ่งตัวเธอเองก็สับสนเหมือนกัน เพราะตั้งแต่มีเซอิจิมา ตัวเธอก็อยู่กับสถานะของ แม่ ที่ต้องทำหน้าที่ แม่ที่ดี ตามที่สังคมต้องการ แต่ถ้าเกิดวันหนึ่ง เซอิจิโตแล้วออกจากอ้อมอกเธอไป ชีวิตเธอคืออะไร หรือถ้าจะให้พูดแบบทันสมัยหน่อยก็ ‘อิคิไก’ ของเธอคืออะไรกัน เป้าหมายชีวิตของเธอที่ยึดมั่นกับมันไว้ตลอด จู่ๆ ก็หายไปได้ สังเกตได้ว่าในเรื่องเราแทบไม่รู้อดีตของเธอก่อนจะแต่งงานและมีเซอิจิเลย และเธอก็พยายามสวมบทบาทแม่ทีดี รวมถึงการต้อนรับพี่สะใภ้ที่มาเยี่ยมที่บ้านทุกสุดสัปดาห์จนไม่มีเวลาเป็นส่วนตัว ไม่แปลกว่าเมื่อถึงช่วงเวลาที่เสี่ยงที่จะเสียลูกชายให้กับโลกกว้าง ส่วนสำคัญของชีวิตเธอก็กำลังจะหายไปจนทำให้อะไรมันขาดผึงได้โดยง่าย
แม้โทนและอะไรหลายๆ อย่างจะต่างกันมาก แต่เมื่อมองไปที่จุดพื้นฐานของทั้งสองเรื่องว่า ตัวเราเองคือใคร และต้องการอะไร ก็กลายเป็นจุดที่เชื่อมกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ และก็สะท้อนอะไรในสังคมญี่ปุ่นได้ไม่น้อย เพราะในสังคมญี่ปุ่นเองก็มักจะยึดกับบทบาทของคนแต่ละคนที่อยู่ในสังคม ว่าคนคนนั้น เป็นใคร คืออะไร และควรกระทำอะไร สลายอัตตาเพื่อส่วนรวม จนหลายต่อหลายครั้ง ก็ลืมไปว่า ตัวตนของตัวเองคือใคร และจริงๆ ต้องการอะไร จนกว่าจะตั้งคำถามนี้อีกครั้ง ก็ต้องหลุดออกมาจากกรอบหรือแนวทางเดิมๆ ที่ตัวเองเคยเดินตามมาตลอดได้