เพราะดูเหมือนว่าปีนี้ ‘หนังสือ’ จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยๆ บางเล่มแม้จะเก่าแล้วแต่ก็ถูกเรียกหาอีกครั้ง บางเล่มก็ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่รัฐจนตามไปถึงสำนักพิมพ์
บางเล่มก็ได้รับการรีวิวอย่างอบอุ่น บางเล่มก็ยังชวนเราตั้งคำถามกับสิ่งใหม่ๆ หรือแม้แต่สิ่งเดิมๆ ที่เราไม่เคยคิดถึง เราจึงอยากแนะนำหนังสือที่ถูกพูดถึงในปีนี้ ทั้งที่ได้ขึ้นแท่นหนังสือขายดีของร้านหนังสือ ทั้งหนังสือที่ปรากฏตามที่ต่างๆ
หรือใครมีหนังสือเล่มไหนอยากแนะนำเพิ่มเติม ก็มาคอมเมนต์กันได้นะ 🙂
1.ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี โดย ณัฐพล ใจจริง
หนังสือที่บอกเล่าถึงการเมืองไทยในช่วงสงครามเย็นที่มีมหาอำนาจโลกเป็นอเมริกา ซึ่งส่งอิทธิพลต่อกลุ่มการเมืองต่างๆ ในไทย หนังสือเล่มนี้เป็นที่พูดถึงตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดตัว จนล่าสุดที่มีการตอบโต้กันของนักวิชาการท่านหนึ่งกับทางสำนักพิมพ์ เอาเป็นว่าใครอยากศึกษาประวัติศษสตร์ในมุมใหม่ๆ ก็ลองหาซื้อมาอ่านได้นะ
2.กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ โดย ธงชัย วินิจจะกูล
ชื่อของ ธงชัย วินิจจะกูล กลับมาเป็นที่พูดถึงในช่วงครึ่งปีหลัง เริ่มต้นจากหนังสือเล่มนี้ที่ได้รับการพูดถึงในทวิตเตอร์ และกลายเป็นกระแสของการแจกจ่ายหนังสือตาสว่างไปทั่วทวิตภพ และการตามไปอ่านหนังสือเล่มอื่นๆของอาจารย์ธงชัยอีกด้วยนะ โดยหนังสือเล่มนี้พูดถึงจุดเริ่มต้นของความเป็น ‘ชาติ’ ที่อาจมาจากนวัตกรรมที่เรียกว่า ‘แผนที่’ นั่นเอง
3.ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย โดย กุลดา เกษบุญชู มี้ด
อีกเล่มที่ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้ง เพราะพูดถึงประวัติศาสตร์เราก็เคยมีการปกครองที่เรียกว่า ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ที่พระมหากษัติรย์มีอำนาจเต็มที่ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ชวนเราไปตั้งคำถามว่า อะไรคือแรงผลักดันเบื้องหลังการเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย และทำไมถึงเป็นระบอบที่อยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งร้อยปี?
4.ปีศาจ โดย เสนีย์ เสาวพงศ์
ปีศาจ โดย เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้รับการตีพิมพ์อีกครั้งโดยสำนักพิมพ์มติชน และคำพูดในหนังสือเล่มนี้ก็ถูกหยิบยกมาเป็นเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีนี้บ่อยครั้ง ด้วยเนื้อหาที่ยังคงเข้ากับยุคสมัย ที่พูดถึงการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่อบากให้สังคมเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย และไม่มีอำนาจใดเหนือกว่าอำนาจประชาชน
5. 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง : ว่าด้วย 6 ตุลา 2519 โดย ธงชัย วินิจจะกูล
หลังจากมีเสียงตอบโต้กันไปมาว่าไม่อยากให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนและประชาชนต้องเกิดเหตุซ้ำรอยกับเมื่อครั้ง 6 ตุลา พ.ศ. 2519 ทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลา หรือเหตุการณ์ฆ่าสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์นั้นได้รับการพูดถึงและหยิบยกมาเล่ากันอย่างต่อเนื่อง และหนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกหลักฐานชิ้นสำคัญที่หลายคนใช้อ้างอิง โดยอาจารย์ธงชัยชวนเราไปทบทวนเหตุการณ์ในครั้งนั้นและทำความเข้าใจความเงียบของสังคมไทยที่มีต่อการฆ่าหมู่ผู้บริสุทธิ์เยาว์วัยได้อย่างเลือดเย็นจนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
6.ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
นี่เป็นอีกเล่มที่ทำให้การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาจารย์สมศักดิ์พาเราไปชำระประวัติศาสตร์โดยเล่าผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา ซึ่ง ณ เวลานั้น การเรียนรู้เหตุการณ์เหล่านี้ยังไม่ได้รับการพูดถึงและถูกปิดบังข้อมูลเป็นจำนวนมาก ในแบบเรียนก็แทบไม่กล่าวถึง หนังสือเล่มนี้จึงเปรียบเสมือนหมุดหมายให้การเรียนรู้และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในยุคตุลานั้นกระจ่างขึ้น
7.ชาตินิยมในแบบเรียนไทย โดย สุเนตร ชุตินธรานนท์
การเคลื่อนไหวในปีนี้ที่ร้อนแรงคือเรื่องการศึกษา ซึ่งนักเรียนและเยาวชนหลายคนก็ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง และถอดบทเรียนที่เต็มไปด้วยอคติและความเป็นชาตินิยมทิ้งไป หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นเล่มแรกๆ ที่ชวนเรามองลึกเข้าไปในแบบเรียนไทยว่าแฝงการปลูกฝังเรื่องชาตินิยมไว้อย่างไร
8. โง่ศาสตร์: กฎพื้นฐานว่าด้วยความโง่เขลา โดย Carlo M. Cipolla
กลายเป็นหนังสือที่ขึ้นแท่นขายดีไป ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อชื่อหนังสือยียวนให้เราอยากลองหยิบจับขึ้นมาอ่านว่า ‘โง่ศาสตร์’ คืออะไร หนังสือเล่มนี้พาเราไปรับมือกับคนโง่ที่อาจจะเป็นผู้นำ หรือเป็นคนรอบตัวเรา โดย คาร์โล เอ็ม. ชิโปลลา ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ผู้เขียนหนังสือนี้ พาเราสำรวจผ่านแว่นเศรษฐศาสตร์ ที่ความโง่นี้อาจะส่งผลกระทบและเป็นภัยใหญ่ของมวลมนุษยชาติเลยทีเดียว
9. สามัญสำนึก โดย Thomas Paine
กลายเป็นหนังสือที่ถูกกล่าวขานไปช่วงหนึ่ง เมื่อตำรวจเข้าแสดงหมายจับต่อ อั้ว จุฑาทิพย์ ศิริขันท์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เธอจึงชูหนังสือเล่มนี้และกล่าวว่า “อยากฝากรัฐบาลนะคะ อ่าน Common Sense บ้าง จะได้มีสามัญสำนึก” หนังสือเล่มนี้จึงเป็นดั่งสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองหนึ่งของการเรียกร้องประชาธิปไตยในเวลาที่ผ่านมา โดยหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงช่วงเวลาของการเรียกร้องเสรีภาพในสหรัฐอเมริกา จากจักรภพอังกฤษ ซึ่งได้วิพากษ์ระบอบกษัตริย์ที่สร้างระบบการปกครองจากการสืบมรดกทางครอบครัว และเรียกร้องระบอบที่เป็นเสียงจากประชาชนอย่างแท้จริง
10.THE MORNING FLIGHT TO SAD FRANCISCO โดย ธนชาติ ศิริภัทราชัย
หนึ่งเล่ม ชิคๆ คูลๆ ตัดความร้อนแรงทางการเมืองในปีนี้ คือหนังสือเล่มใหม่ของ ธนชาติ ศิริภัทราชัย เจ้าของหนังสือลีลายียวนที่อ่านแล้วได้แต่ยิ้มมุมปากเบาๆ โดยหนังสือเล่มนี้ได้รวมเรื่องสั้นที่มีหลากหลายรสชาติ ใครอยากลองหามาอ่านพักผ่อนสมองช่วงปลายปีก็จัดไปจ้า
11.มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ โดย ภรณ์ทิพย์ มั่นคง
หนังสือที่ตีพิมพ์มาได้สักพักใหญ่ๆ แต่ก็ยังคงเป็นที่พูดถึงอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกโทษคดีทางการเมืองจาก ม.112 และต้องใช้ชีวิตในคุก โดยหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนไดอารี่ชีวิตของเธอที่กว่าจะผ่านแต่ละวัน แต่ละเหตุการณ์ไปได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความเป็นคนมองโลกในแง่บวกของเธอก็ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ชวนเราร้องไห้ แต่ยิ้มให้กับความโหดร้ายของกระบวนการยุติธรรมในไทย
12.วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว โดย มูเระ โยโกะ
ขอแนะนำหนังสืออบอุ่นหัวใจ ช่วยทำให้เรามีกำลังใจในการชีวิตกันบ้าง หนังสือเล่มนี้เป็นนิยายขายดีจากญี่ปุ่นที่ถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ซีรีส์ โดยเล่าเรื่อง ‘อากิโกะ’ ที่ต้องออกจากงานมาเปิดร้านอาหารเล็กๆ โดยมีน้องแมว ‘ทาโระ’ เป็นเพื่อนคู่หูที่ช่วยกันให้กำลังใจและเอาชนะการอยู่แต่ใน ‘คอมฟอร์ตโซน’ จนไม่กล้าเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ได้ น่าจะเป็นเล่มที่ชวนเราเริ่มชีวิตใหม่กับปีใหม่ดูนะ
13. มนุษย์ 6 ตุลา โดย มนุษย์กรุงเทพฯ
หนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆ่าสังหารหมู่ธรรมศาสตร์ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และเล่มนี้ก็เช่นกันที่ขายหมดไม่นานหลังจากออกวางขาย โดยเป็นหนังสือที่รวบรวมบทสัมภาษณ์ 19 ชิ้น จากนักสัมภาษณ์มือฉมังจากเพจ มนุษย์กรุงเทพฯ ที่พาเราย้อนไปยังเหตุการณ์ในอดีต บันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ผ่านเรื่องเล่าผู้คนที่เผชิญเรื่องราวในมุมต่างๆ จากหน้าประวัติศาสตร์โหดร้ายที่ยังไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด
14. UNTITLED CASE: HUMAN HORROR ชมรมคนหัวลุก โดย ยชญ์ บรรพพงศ์ และ ธัญวัฒน์ อิพภูดม
ร้อนแรงกว่าใครในนาทีนี้คงหนีไม่พ้นกับพอดแคสต์ UNTITLED CASE โดย ยชญ์ บรรพพงศ์ และ ธัญวัฒน์ อิพภูดม ที่พาเราดำดิ่งไปกับโลกแห่งคดีปริศนาต่างๆ ซึ่งนอกจากพอดแคสต์แล้ว พวกเขายังได้ออกหนังสือเล่มนี้ต่อยอดขึ้นมา และในช่วงงานหนังสือที่ผ่านมา ก็มีคิวคนรอต่อคิวขอลายเซ็นยาวเหยียด หนังสือเล่มนี้ชวนเราไปสำรวจเรื่องราวของมนุษย์ที่มีพฤติกรรมชวนสงสัย สนุกไม่แพ้ฟังพอดแคสต์เลยล่ะ ไม่แนะนำไม่ได้จริงๆ เล่มนี้
15.เพศศึกษากติกาใหม่: ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น โดย Jennifer Lang
อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่ในปีนี้คือเรื่องของ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็เป็นที่พูดถึงในทันที เพราะนี่คือหนังสือที่วิชาสุขศึกษาไม่เคยสอนในห้องเรียน และหลายคนก็แนะนำให้เอาไปแทนหนังสือเรียนเรื่องเพศศึกษาได้เลย หนังสือเล่มนี้ชวนเราเข้าใจเรื่องการมีเซ็กซ์ใหม่ เปิดรับ และทำให้เรื่องเซ็กซ์ปลอดภัยและมีความสุข แทนที่จะต้องปกปิดและเกิดปัญหาตามมา
16. การศึกษาของกระป๋องมีฝัน โดย สะอาด
อย่างที่บอกไปว่า ‘การศึกษา’ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในปีนี้ ทำให้หนังสือเล่มนี้ที่แทบจะพูดแทนใจทั้งนักเรียนปัจจุบัน และคนที่เคยเป็นนักเรียนถูกหยิบยกมาแนะนำกันเรื่อยๆ โดยหนังสือเล่มนี้เล่าถึงนักเรียนกระป๋องคนหนึ่งที่มีความฝันจะเป็นนักเขียนการ์ตูน แต่ในระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อต่อความฝันของเขา เขาจะผ่านไปได้ยังไง?
17. กษัตริย์คือ(อะ)ไร? โดย David Graeber
หลังจากมีการพูดถึวข้อเสนอ 10 ข้อที่อยากให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คำว่า ‘กษัตริย์’ จึงถูกหยิบยกมาถกเถียงมากมาย หนังสือเล่มนี้เป็นที่พูดถึงอยู่พักใหญ่หลังจากเปิดตัว เพราะชวนเราไปตั้งคำถามง่ายๆ เลนว่า กษัตริย์คืออะไรผ่านสายตามนุษยวิทยา ทำไมเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์และราชินีถึงดึงดูดและน่าสนใจ และในเมื่อพวกเขาทั้งน่าดึงดูดแต่ก็น่าสะพรึงกลัวไปพร้อมๆ กัน ทำไมกษัตริย์ยังคงมีอยู่ในสังคมต่างๆ บนโลกใบนี้?
18. มือสังหารบอด โดย มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด
เพราะเป็นหนึ่งในผลงานของนักเขียนชื่อดังอย่าง มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด ทำให้ไม่เป็นเรื่องยากที่หนังสือจะได้รับการพูดถึงและขึ้นแท่นหนังสือขายดีในหมวดนวนิยาย เป็นงานเขียนที่ชวนตั้งคำถาม และถอดรื้อประกอบสร้างตัวตนของ ‘ผู้หญิง’ ผ่านฉากหลังตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งจนถึงการเรืองอำนาจของฮิตเลอร์ โดยหนังสือเล่มนี้ยังได้รับรางวัลจาก Booker Prize ในปี ค.ศ.2000 ด้วย
19. สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย โดย อานนท์ นำภา
หนังสือที่กลายเป็นที่กล่าวขานในปีนี้ และนำไปสู่การพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา และกลายเป็นหนังสือเกือบต้องห้ามของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยิ่งห้าม ก็ยิ่งได้รับความสนใจ โดยหนังสือเล่มนี้ถอดบทปราศัยของ อานนท์ นำภา ที่พูดในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 และกลายเป็นการพูดวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ที่หลายคนบอกว่านี่คือการ ‘ทะลุเพดาน’ การพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
20. ทะเลสาบน้ำตา โดย วีรพร นิติประภา
กลับมาอีกครั้งกับหนังสือสุดร้าวราน เศร้าโศก ตามหาความรัก ของ นักเขียนซีไรต์ วีรพร นิติประภา ที่เล่มนี้เคลมว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชน เล่าเรื่องการพบกันของเด็กหญิงที่พ่อกลายเป็นต้นไทร และเด็กชายที่หนีออกจากบ้านเพราะความหมางเมินของพ่อ พวกเขาเดินทางไปยังเมืองกระจกและป่าดึกดำบรรพ์ ก่อนจะพบเศษเสี้ยวความทรงจำและความฝันที่ลืมเลือน เรียกได้ว่ายังคงคอนเซปต์ของวีรพรที่ทำให้หลายคนติดใจและตามอ่านกันเช่นเคย