ในช่วงบ่ายกลางสัปดาห์ เรามีนัดกับหนุ่มญี่ปุ่นคนหนึ่ง เขามาด้วยเสื้อลายล็อตเตอรี่ไทยสีสันสดใส พร้อมกับเล่าว่าซื้อล็อตเตอรี่มาทีไร ก็ถูกรางวัลบ่อยมากๆ เขาคือ โทโมยะ อิซากะ หนุ่มญี่ปุ่นที่ตกหลุมรักเมืองไทย และตกหลุมรักภาษาไทยเข้าอย่างจัง
บทสนทนาเริ่มด้วยความตื่นเต้นของหนุ่มญี่ปุ่นที่ถูกสัมภาษณ์เป็นภาษาไทยล้วน เขาเริ่มรู้จักภาษาไทยเมื่อ 8 ปีก่อน ผ่านการแอบชอบสาวไทยคนหนึ่งที่เจอในคลาสเรียนเดียวกัน เลยพยายามเรียนภาษาไทยกับเธอ
“ตอนแรกผมไม่ได้อยากเรียนภาษาไทยเท่าไหร่ แต่สนใจคนที่แอบชอบมากกว่า”
แต่ไปๆ มาๆ เขาก็ตกหลุมรักภาษาไทยเสียยิ่งกว่า แม้จะหยุดเรียนไปบ้างด้วยภาระหน้าที่การเรียน แต่สุดท้ายเขาก็กลับมาเรียนภาษาไทยอีกครั้ง
“เป็นเพราะวาสนาครับ” เขาบอกกับเราด้วยรอยยิ้มสดใส
ปัจจุบัน อิซากะ ทำงานอยู่ที่ประเทศไทย และได้เล่าเรื่องชีวิตและมุมมองของเขาผ่านเพจ บันทึกภาษาไทยของผม ที่ชวนเราไปสัมผัสกับมุมมองที่เราอาจไม่เคยสัมผัส
“ผมคิดว่าถ้าทำงานที่ญี่ปุ่นอีก 20-30 ปี คงน่าเบื่อ คงไม่ไหว ผมอยากท้าทายตัวเอง เลยตัดสินใจย้ายมาทำงานที่ไทย”
“สิ่งที่เป็นคัลเจอร์ช็อกของผมมีหลายเรื่องมาก เยอะจนจำแทบไม่ได้ อย่างชาเขียวที่หวานมาก หรือมีขนมชื่อขนมโตเกียว มีหมาเซเว่น หรือวัดมีความแวววาวมาก”
นอกจากปัญหาความต่างวัฒนธรรม อิซากะก็ชวนคุยถึงปัญหาที่อาจเป็นอันตรายไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น สายไฟที่ห้อยระโยงระยาง ทางเท้าที่มีรถวิ่ง ซึ่งเขาบอกว่าคงจะดี ถ้าสิ่งเหล่านี้หายไป เพราะด้วยนิสัยชอบเดินของเขา ทำให้เขารู้สึกว่าเมืองไทยเดินสนุกมากๆ และเต็มไปด้วยสิ่งน่าสนใจ แต่ต้องคอยระวังสิ่งเหล่านี้ที่ก็เป็นเรื่องน่ากังวลเช่นกันจนเขาเองรู้สึกเป็นห่วง
“ตอนอยู่ญี่ปุ่นผมเดินเล่นบ่อยๆ แต่ที่ไทยเดินไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ อันตรายแล้วก็รถวิ่งเร็วมากด้วย”
นอกจากนี้อิซากะยังสังเกตเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับความเชื่อของคนไทยเช่น การแปะสติ๊กเกอร์บนรถ “ผมเคยเห็นรถสีขาว แปะสติ๊กเกอร์รถคันนี้สีแดง งงมากๆ ครับ แต่ก็เพิ่งรู้ว่าเป็นความเชื่อของคนไทย รู้สึกว่าคนไทยมีความเชื่อจริงจังมาก”
นอกจากเรื่องที่มองเห็นได้ชัดๆ ในขณะเดียวกันอิซากะก็สังเกตเห็นความแตกต่างของคนไทยกับคนญี่ปุ่นและชวนแลกเปลี่ยนกับเรา
“ผมรู้สึกว่าญี่ปุ่นใช้ชีวิตยากนิดหนึ่ง เพราะเข้มงวดมากๆ แม้ว่าความเป็นระบบจะดีมากๆ พอมาอยู่ไทยก็จะเห็นความสบายๆ ของคนไทย ได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีคนมาสนใจว่าใครจะทำอะไรครับ”
เราอาจจะเคยเห็นผ่านๆ ตาว่า ลูกเพจของอิซากะมักชวนเขาไปทำนู้นทำนี่ ไม่ว่าจะเป็นลองไปขึ้นรถเมล์สาย 8 ไปกินร้านอร่อยที่นั่นที่นี่ ไปลองนั่งวินมอเตอร์ไซค์ แต่เราก็อยากรู้ว่ามีอะไรที่อิซากะอยากลองแต่ยังไม่ลองอีกไหม
“ผมอยากลองไปปลูกข้าวไทย” อิซากะบอกกับเรา เนื่องจากที่บ้านเกิด ครอบครัวของอิซากะทำเกษตรกรรม อิซากะเลยอยากเรียนรู้วิธีทำเกษตรที่ไทย เพื่อไปลองใช้กับที่บ้านเขาเอง ด้วยความรักอาหารไทยมากๆ ทำให้เขาอยากเข้าใจถึงอาหารจานหลักว่ามีวิธีการยังไง มีที่มาที่ไปยังไง
นอกจากนั้นเขายังได้แชร์เมนูโปรดว่าเป็น ‘คอหมูย่าง’ ที่เขาหลงใหลมากจนไปฝึกเรียนและลองทำด้วยตัวเอง “อร่อยมากๆ น้ำลายไหลไม่หยุดเลยพอนึกถึง”
“แต่ผมมักจะกินคอหมูย่างในโอกาสพิเศษเท่านั้น เหมือนเป็นของขวัญให้ตัวเอง เลยไม่ได้กินบ่อยขนาดนั้น แต่ผัดกะเพรากับส้มตำจะทำกินเองบ่อยมาก”
“ตอนอยู่ญี่ปุ่นทำอาหารไม่เป็นเลย ส่วนอาหารไทยที่เคยกินก็จะเป็นแบบสำเร็จรูป ผมว่าอาหารไทยทำไม่ยาก ไม่นานมานี้ก็เคยทำข้าวคลุกกะปิเพราะคิดว่ามันสวยดี มันน่ารัก พอทำเสร็จก็ตกใจว่า นี่ผมทำด้วยตัวเองได้จริงๆ เหรอ ไม่น่าเชื่อ อร่อยด้วยครับ”
กลับมาคุยกับการจดบันทึกของอิซากะที่เปิดเพจมาเกือบ 4 ปี ในเพจเป็นเหมือนไดอารี่บันทึกเรื่องราวของอิซากะกับเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นชีวิต อาหาร วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ หรือแม้แต่ภาษาไทย
“ผมว่าภาษาไทยต่างกับภาษาญี่ปุ่นมากๆ ตัวอักษรน่ารักดี มีวรรณยุกต์ด้วย วิธีจำคำศัพท์ตลกดี แต่การออกเสียงกับวรรณยุกต์ภาษาไทยเป็นเรื่องยากสำหรับผม ผมมีปัญหาการออกเสียง ด.เด็ก กับ ต.เต่า โดยเฉพาะคำว่า เติบโต <หากถอดเสียงจากอิซากะพูดจะเป็น ดึบโต – ผู้สัมภาษณ์> หรือวรรณยุกต์ ใกล้ กับ ไกล ก็ยาก”
ซึ่งเราก็เกิดสงสัยว่าอิซากะฝึกฝนจนพูดภาษาไทยคล่องขนาดนี้ด้วยวิธีไหน “ผมฝึกด้วยการเขียนหลายๆ ครั้ง แล้วก็ลองผันเสียงตามเจ้าของภาษาบ่อยๆ”
ย้อนกลับไปกับความทรงจำแรกของภาษาไทย เราแอบอยากรู้ว่าอิซากะเจอภาษาไทยคำแรกเป็นคำไหน ซึ่งอิซากะก็หัวเราะขึ้นมาพร้อมกับเล่าให้ฟังว่า
“ภาษาไทยคำแรกที่รู้จักคือ ‘ใครขายไข่ไก่’ ตอนนั้นรู้สึก โห ยากมากเลยนะ ถ้าเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นก็เขียนด้วยคำเหมือนกันหมดเลย”
แต่มาถึงวันนี้อิซากะก็ได้ออกหนังสือเล่มแรกของเขาแล้ว นั่นคือ บันทึกภาษาไทยของผม ที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ Salmon Books ซึ่งเขายิ้มออกมาอย่างดีใจ
“ผมดีใจมาก แฮปปี้ (หัวเราะ) อยากออกหนังสือของตัวเองมานานมากแล้ว ในที่สุดก็ทำได้ มันเป็นความสำเร็จในชีวิต”
แม้ว่าเราจะเห็นบันทึกภาษาไทยของอิซากะในเพจแทบทุกวัน แต่กลับกันการรวมเล่มเป็นภาษาไทยล้วนๆ ก็ดูเป็นเรื่องยากไม่น้อย อิซากะบอกกับเราว่า “ยากมากเลยครับ การทำออกมาเป็นเล่มภาษาไทย เพราะถึงผมจะเขียนบันทึกไว้ แต่ก็ต้องรื้อฟื้นความทรงจำในวันนั้นว่า เอ…ตอนนั้นรู้สึกยังไงนะ เราตกใจทำไมนะ”
“บางทีก็ต้องเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นก่อน แล้วค่อยแปลเป็นไทยอีกที”
แต่อิซากะก็ทำเพจและเขียนเหนังสือเล่มนี้ด้วยความรักเมืองไทย หนังสือเล่มนี้กลายเป็นเหมือนความทรงจำล้ำค่าของเขา ที่มาพร้อมกับสิ่งที่เขาย้ำอยู่เสมอว่า ‘เก่งได้เพราะใจรัก’
“มันคือความทรงจำกับเมืองไทย แล้วก็ความรักต่อเมืองไทยของผม ผมไม่มีเหตุผลเลย ผมรักก็คือรัก อาหารก็อร่อย ได้รู้จักโลกใหม่ ทั้งวัฒนธรรมไทย ความคิดเห็นของคนไทย การใช้ชีวิตในประเทศไทย”
“ผมรู้สึกว่าโลกของผมมันขยายใหญ่ขึ้นครับ” อิซากะเล่าให้เราฟังด้วยดวงตาเป็นประกาย เมื่อการเดินทางมาเมืองไทยของเขานั้นเป็นอีกโลกที่เขาไม่เคยสัมผัส แต่ในทางกลับกันก็กลายเป็นความท้าทาย การเรียนรู้ และการเปิดมุมมองของเขาต่อโลกใบใหม่ที่เขาได้ก้าวเข้ามายืน ณ ทุกวันนี้
“สำหรับคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมอยากให้กำลังใจว่า ถึงแม้จะเจอสิ่งที่ไม่ดีมา แต่เดี๋ยวก็จะเจอสิ่งที่ดีตามมา เหมือนผมที่เจอแท็กซี่ขับเร็วแล้วพาไปผิดทางจนกลับดึก แต่ท้ายที่สุดก็ยังได้เจอร้านอร่อยครับ”