คนผิวดำถูกตำรวจฆ่าตาย
เรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เพียงแค่เปลี่ยนชื่อผู้ถูกกระทำ
*คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของวรรณกรรมเรื่องนี้
The Hate U Give วรรณกรรมเยาวชนจากแองจี้ โทมัส (Angela Thomas) หนังสือขายดีอันดับ 1 ของ New York Times นานหลายสัปดาห์ และถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เมื่อปี ค.ศ. 2018 โดยวรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวของ Black Lives Matter หรือกระแสที่ต่อต้านการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงอันเกิดจากอคติทางชาติพันธุ์ของคนผิวดำอีกด้วย
เรื่องราวเล่าถึง สตาร์ร คาร์เตอร์ (Starr Carter) เด็กสาวผิวดำอายุ 16 ปี ที่อาศัยอยู่ระหว่างโลก 2 ใบ โลกแรกคือย่านโกโรโกโสของละแวกบ้านที่เธอที่เกิดและเติบโตขึ้นมา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าคนดำจำนวนมาก ส่วนอีกโลกคือโรงเรียนย่านชานเมืองอันหรูหราที่เธอเรียนอยู่ และเต็มไปด้วยคนขาวมากมาย
สตาร์รมักจะแบ่งแยกโลกทั้งสองใบของเธอออกจากกันอย่างสิ้นเชิง หากเธออยู่ที่โรงเรียน เธอจะไม่แสดงท่าทีที่ทำให้คนเข้าใจว่า เธอเป็นเด็กผิวดำเกรี้ยวกราด ตามอย่างภาพจำที่คนขาวมี
“ฉันไม่ใช้คำสแลง แม้ว่าเพื่อนผิวขาวจะใช้ คำสแลงทำให้พวกเขาดูเจ๋ง แต่มันทำให้ฉันดู .. สลัม”
แต่แล้ว โลกทั้ง 2 ใบของสตาร์รก็ต้องสะเทือน เมื่อเธอกลายเป็นพยานเพียงหนึ่งเดียวที่เห็นคาลิล ฮาร์ริส (Khalil Harris) เพื่อนผิวดำที่ไม่ได้มีอาวุธติดตัว ถูกตำรวจยิงตายไปต่อหน้าต่อตา
การจากไปของเพื่อนทำให้สตาร์รต้องเลือกระหว่างอยู่นิ่งเงียบ ไม่ให้ใครรู้ว่าเธอคือประจักษ์พยานที่เห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น หรือจะเลือกแสดงตัวตน และส่งเสียงออกมาเพื่อให้ผู้คนรับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับคาลิล
แม้ว่าเรื่องราวจะทำให้เราคิดว่า สตาร์รคือตัวละครสำคัญที่กุมความลับเรื่องการตายอันน่าเศร้าและไร้ความยุติธรรมของเพื่อนเธอ แต่จริงๆ แล้ว เหตุการณ์ที่คนดำถูกตำรวจยิงตายทั้งที่ไม่มีอาวุธ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายครา เรียกได้ว่า เป็นเหตุการณ์เดิมๆ ที่เปลี่ยนแค่ชื่อของคนที่ถูกกระทำเท่านั้น ดังนั้นแล้ว ต่อให้สตาร์รไม่ได้พูดออกมา สังคมก็พร้อมเรียกร้องและตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ดี
แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนดำถูกฆ่าตายได้แบบนี้ล่ะ?
คำตอบก็คือ ‘อคติ’ ที่สังคมมอบให้กับคนดำ
เรื่องราวของ The Hate U Give ไม่ได้เล่าลึกลงถึงรากประวัติศาสตร์อเมริกา ซึ่งเคยมีคนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันเป็นทาส แต่เล่าถึงบรรยากาศ และบริบทต่างๆ รอบตัวสตาร์ร ผู้ยืนอยู่ระหว่างสองโลก ซึ่งช่วยให้เราเห็นถึงการกดทับที่สังคมมอบให้คนผิวดำมาโดยตลอดอย่างชัดเจน
ในโลกของความเป็นจริง ข่าวตำรวจคนขาวยิงคนดำที่ไม่ได้มีอาวุธ หรือทำอะไรผิด เป็นสิ่งที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ เหมือนอย่างกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวดำที่ถูกตำรวจเอาเข่ากดทับต้นคอ หรือ บรีแอนนา เทย์เลอร์ (Breonna Taylor) หญิงผิวดำที่ถูกตำรวจยิงอย่างน้อย 8 ครั้ง และเสียชีวิตในห้องพักของตัวเอง
ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ก็ตอกย้ำการตายของคนดำจากตำรวจด้วยการเล่าว่า พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กๆ วัย 9-10 ขวบ ท่องจำวิธีปฏิบัติ 10 ข้อ เมื่อตำรวจเรียกตรวจ จาก Black Panther Party องค์กรที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของคนดำ เพื่อจำให้ขึ้นใจว่า เมื่อถูกตำรวจเรียกตัว ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม คนดำจะต้องทำตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับชีวิต
แน่นอนว่า กฎระเบียบเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เด็กผิวขาวไม่จำเป็นต้องท่องจำ
ขณะเดียวกัน ที่มาของชื่อเรื่อง The Hate U Give มีความหมายแฝงอยู่ เพราะถ้าเรานำตัวอักษรแรกของคำมาเรียงกัน จะได้เป็นคำว่า T-H-U-G (อันธพาล) ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสังคมด้วยภาพจำว่าคนดำมักอยู่ในย่านสลัม เป็นพวกอันธพาล โกรธเกรี้ยว และเป็นคนเลว
เหมือนอย่างที่คาลิลกล่าวว่า
“ฟังสิ! T กับ H จากคําว่า ‘ความเกลียดชัง (The Hate)’ ตัวอักษร U แล้วก็ G L I F E จากประโยคที่บอกว่า ‘มอบให้เด็กทารก ทำร้ายทุกคน’ (Give Little Infants Fucks Everybody) รวมกันเป็นคําว่า ชีวิตคนเลว (T-H-U-G L-I-F-E) ยังไงล่ะ”
“มันหมายความว่า สิ่งที่สังคมมอบให้เราตั้งแต่เด็ก ทำให้เรากลายเป็นคนเลวทรามกับคนอื่นต่อไปไง”
สิ่งที่สังคมมอบให้ที่คาลิลพูดถึงนั้นคือ ‘อคติ’ ที่สังคมมอบให้กับเหล่าคนผิวดำ ซึ่งมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เมื่อเกิดอคติก็ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และทำให้ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ กลายเป็นฝ่ายที่ถูกกดทับ
ความจริงแล้ว ประโยคที่คาลิลหยิบยกขึ้นมานั้น มาจากท่อนหนึ่งของเพลงแรปจาก ทูพัค ชาเคอร์ (Tupac Shakur) แรปเปอร์เชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งแปลความหมายได้ว่า สิ่งที่สังคมป้อนให้เด็กๆ ตั้งแต่ยังเล็ก มันเติบใหญ่ขึ้นแล้วจะย้อนกลับมาทำร้ายทุกคน พวกเขาโดนตำรวจมองว่าเป็นอาชญากร และต้องอยู่ในสภาพสังคมที่ไม่มีทรัพยากร และสวัสดิการเพียงพอที่จะทำให้คนดำพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ย่านที่คนดำอยู่อาศัยมักเป็นย่านที่มีสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โรงเรียน สถานพยาบาล ย่ำแย่กว่าย่านที่คนขาวอาศัย เพราะคนดำ (ที่ยากจน) เสียภาษีน้อยกว่าย่านที่คนขาว
เมื่อเข้าไม่ถึงโอกาส พวกเขาจึงต้องหาทางให้ตัวเองมีชีวิตรอดด้วยรูปแบบอื่นๆ เช่น ขายยาเสพติด เล่นการพนัน ซึ่งในสังคมที่มีอาชญากรรมวนเวียนโดยรอบแบบนี้ ก็ทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กๆ แย่ลงไปด้วย เด็กหลายคนหากไม่ถูกฆ่าตาย ก็กลายเป็นท้องก่อนวัยอันควร ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่วังเวียนที่ไร้ทางออก และเสริมให้การกดทับในสังคมรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เหมือนอย่างในฉากที่สตาร์รพูดกับพ่อของเธอ ถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้น
“คาลิลบอกว่า มันคือสิ่งที่สังคมมอบให้เรามาตั้งแต่เด็ก และมันกลับมากัดกินพวกเขา .. หนูคิดว่า มันไม่ใช่แค่ความเยาว์วัย มันเกี่ยวข้องกับพวกเรา”
“ ‘พวกเรา’ หมายถึงใคร?” พ่อถามต่อ
“คนดำ ชนกลุ่มน้อย คนที่เข้าไม่ถึงโอกาส คนยากจน ทุกคนที่อยู่ล่างสุดในสังคมนี้”
พ่อเสริมต่อว่า “ผู้ถูกกดขี่”
ความเกลียดชังที่สังคมมอบให้ ส่งผลมาสู่ความตายของของคาลิลในเรื่อง The Hate U Give ซึ่งหลังจากที่เขาเสียชีวิต ตำรวจก็สืบสวนข้อเท็จจริงด้วยการซักถามพยานเพียงหนึ่งเดียวอย่างสตาร์ร แต่คำถามที่สตาร์รถูกถามเป็นส่วนใหญ่นั้นกลับเป็นเรื่องราวของคาลิล
“คาลิลขายยาเสพติดหรือเปล่า”, “คาลิลดื่มแอลกอฮอล์มาไหม”, “คาลิลมีท่าทีคุกคามใช่ไหม”
สารพัดคำถามที่ทำให้สตาร์รทนไม่ไหว เพราะทำข้อสงสัยที่ตำรวจถามล้วนผลักให้การตายของคาลิลสมเหตุสมผลมากขึ้น ทั้งที่เพื่อนของเธอไม่ได้ทำอะไรผิด
แม้ประวัติชีวิตของคาลิลจะไม่ได้ใสสะอาด เพราะตัวเขาเองก็ค้ายาเสพติดจริงๆ โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการหาเงินไปจ่ายค่ารักษาให้ยาย ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้ แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่า การถูกตำรวจสุ่มเรียกตรวจ แล้วโดนยิงตายนั้น เป็นเรื่องที่สมควรเกิดขึ้น
จึงไม่แปลกเลย ที่คำให้การของตำรวจในคดีล่าสุดของ จอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งระบุว่า ‘ฟลอยด์ขัดขืนคำสั่งเจ้าหน้าที่’ จะทำให้สังคมยิ่งโกรธและไม่เชื่อมั่นในคำให้การนี้ขึ้นไปอีก เพราะหลายครั้งหลายคราที่คนดำถูกปฏิบัติอย่างไร้ความยุติธรรมนั้น ฝ่ายผู้กระทำมักหาความชอบธรรมมารองรับการกระทำของตัวเองได้เสมอ
นอกจากนี้ วรรณกรรมเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องถือปืนอย่างตำรวจ คนทั่วไปก็สามารถมอบความเกลียดชังที่นำไปสู่การตายของคนดำได้เหมือนกัน
อีกหนึ่งประเด็นที่ The Hate U Give หยิบขึ้นมาเล่า คือการทำให้เราซึ่งไม่ใช่คนดำมองเห็นว่า แม้บางครั้ง คนอาจมองว่าเป็นเพียงการกระทำเล็กๆ แต่ความจริงแล้ว ก็แฝงไปด้วยอคติที่กดทับคนดำอยู่เช่นกัน
อย่าง เฮย์ลีย์ แกรนท์ (Hailey Grant) สาวผิวขาว ผมบลอนด์ หนึ่งในเพื่อนสนิทของสตาร์ร ที่หลายครั้งแสดงพฤติกรรมที่เป็นการเหยียดสีผิวออกมาโดยไม่รู้ตัว แถมเธอยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า สิ่งที่เธอทำเป็นการเหยียดผิวอย่างไร?
เฮย์ลีย์ไม่รู้ตัวว่า เพียงคำพูดหรือการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ในสายตาเธอ จะทำให้เพื่อนผิวดำอย่างสตาร์ร ต้องเชิญกับภาวะที่เหมือนมีเสี้ยนที่ทิ่มแทงใจอยู่ตลอด โดยเรื่องราวจะค่อยๆ เผยให้เห็นการกระทำต่างๆ อย่างการบอกให้สตาร์รวิ่งเข้าหาลูกบาสตอนเล่นกีฬา ให้เหมือนกับว่าลูกบาสนั้นเป็น ‘ไก่ทอด’ อาหารที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับการเหยียดชาติพันธุ์มายาวนาน ไปจนถึงการเลิกติดตามโซเชียลมีเดียของสตาร์ร เพราะสตาร์รมักแชร์เรื่องราวของคนผิวดำไปให้เธอเห็นในหน้าไทม์ไลน์บ่อยๆ
หรืออย่างฉากที่พวกเธอนั่งดูข่าวที่เล่าเรื่องราวของตำรวจที่ยิงคาลิล ซึ่งพ่อของตำรวจคนดังกล่าวเสียใจ เมื่อลูกชายของเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสังคม เฮย์ลีย์ก็เห็นอกเห็นใจครอบครัวคนผิวขาว และบอกว่าชีวิตของตำรวจคนนี้ก็มีค่า ซึ่งนั่นทำให้สตาร์รโกรธจัด และไม่อาจทนกับคำพูดของเฮย์ลีย์ได้อีกต่อไป
“นี่เธอเอาจริงป้ะเนี่ย?” เฮย์ลีย์ถาม “ฉันพูดผิดตรงไหนเหรอว่าชีวิตเขาก็มีค่าเหมือนกัน”
“ชีวิตเขามีค่ามากกว่าเสมอแหละ!” น้ำเสียงของฉันแข็งกระด้าง รู้สึกถึงความตีบตันในลำคอ “นั่นแหละคือปัญหา!”
เฮย์ลีย์เข้าใจว่า การที่เธอคบเพื่อนผิวดำ ก็เป็นการเปิดใจกว้างมากพอแล้ว นั่นทำให้เธอการมองไม่เห็นว่าการกระทำของตัวเองเป็นการส่งเสริมการกดทับคนดำ ด้วยการปิดตาและไม่พยายามทำความเข้าใจเรื่องราวของคนผิวดำอย่างแท้จริง
เราจะมีเสียงไปทำไม หากยังเลือกที่จะเงียบงัน
คำถามที่เป็นใจความหลักของเรื่อง ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า สตาร์รต้องเลือกระหว่างเปิดเผยตัวตน เพื่อเป็นกระบอกเสียงเรื่องการตายของเพื่อน หรือนิ่งเงียบไม่พูดอะไร
ในฉากท้ายของเรื่อง ที่กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคาลิล หลังศาลตัดสินใจไม่ฟ้องตำรวจที่ฆ่าคาลิล พร้อมกันนั้น กลุ่มผู้ประท้วงต้องเผชิญหน้ากับตำรวจที่พยายามสลายการชุมนุมไปในเวลาเดียวกัน
สตาร์รเองที่รู้สึกโกรธแค้น และทนไม่ได้ จึงวิ่งเข้าไปรวมกับกลุ่มผู้ประท้วง และออกไปพูดเพื่อเป็นกระบอกเสียง ในฐานะประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์เพียงหนึ่งเดียว
“อย่าไปกลัว!” หนึ่งในกลุ่มผู้ประท้วงตะโกนขึ้น “พูดออกมา!”
“พวกคุณต้องสลายตัวออกจากถนนให้เร็วที่สุด” ตำรวจกล่าว
ช่างมันสิวะ
“ฉันชื่อสตาร์ร ฉันเป็นคนเดียวที่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับคาลิล” ฉันพูดผ่านโทรโข่ง “และมันไม่ถูกต้อง”
ฉันได้ยินเสียงผู้คนจำนวนมากตะโกนตอบกลับมาว่า “ใช่” และ “อาเมน”
“พวกเราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย และเจ้าหน้าที่ครูซไม่ได้คิดแค่ว่าเราทำอะไรไม่ดี เขายังคิดว่าเราเป็นอาชญากรด้วย เขาต่างหากล่ะ ที่เป็นอาชญากร!”
ฉันหันไปทางตำรวจ “ฉันเบื่อเรื่องนี้เต็มทนแล้ว! มันก็เหมือนกับที่คุณคิดว่า พวกเราทุกคนเป็นคนเลวเพียงเพราะคนบางกลุ่ม พวกเราก็คิดแบบเดียวกับคุณนั่นแหละ จนกว่าคุณจะทำให้พวกเราเปลี่ยนใจได้ เราจะประท้วงต่อไป!”
นั่นคือทางเลือกที่สตาร์รตัดสินใจในช่วงท้าย เธออาจทนนิ่งเฉยได้อีกต่อไป ซึ่งเธอไม่ได้เป็นคนเดียวที่เข้าร่วมการประท้วง สตาร์รยังพาแฟนหนุ่มผิวขาว ที่แม้จะยังต้องเรียนรู้เรื่องราวของคนดำเพิ่มเติมอีกบ้าง แต่ก็ต้องการสู้กับความอยุติธรรมที่ฉายชัดอยู่เบื้องหน้า ให้มาร่วมการประท้วงนี้ไปพร้อมๆ กันอีกด้วย
เมื่อชีวิตของคนดำถูกเลือกปฏิบัติ หรือถูกฆ่าตายโดยคนขาว ทำให้สังคมโกรธแค้นและต้องการความยุติธรรม นำไปสู่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในระบบโครงสร้างสังคม อย่างการประท้วงในกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่กระจายตัวออกไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
นอกจากนี้ การประท้วงดังกล่าว ยังไปไกลกว่าเรียกร้องให้ เดเรค ชอวิน (Derek Chauvin) อดีตตำรวจผิวขาว และตำรวจผู้ก่อเหตุอีก 3 นาย ได้รับโทษ แต่ต้องการถอนรากความคิดเหยียดชาติพันธุ์ และอคติที่มีต่อคนผิวดำมายาวนานให้หมดไป เพื่อไม่ให้คนดำคนไหนต้องตายจากไปด้วยสาเหตุนี้อีก
เพราะเราทุกคนล้วนเป็นประจักษ์พยานในความเกลียดชังและอคติที่สังคมมอบให้กับคนผิวดำมาอย่างยาวนาน