ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นเกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ แถมยังลึกซึ้งซับซ้อน โดยเฉพาะในช่วงที่ความขัดแย้งปรากฎตัวชัดเจน
The MATTER รวบรวม 7 หนังสือว่าด้วยการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างฐานความรู้เรื่องการทูตให้แน่นๆ แม้เราจะไม่ได้เป็นทูต แต่หนังสือเหล่านี้น่าจะเป็นทรัพยากรเชิงปัญญา ที่จะช่วยให้เรา ‘อ่าน’ การทูตได้อย่างมีมิติ และวิเคราะห์ได้โดยมีหลักวิชาการเป็นที่ฐานคิดได้ไม่น้อย
ประวัติศาสตร์การทูตตั้งแต่การประชุมที่กรุงเวียนนา ค.ศ. 1815 จนถึงจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นปี ค.ศ. 1947 / บรรพต กำเนิดศิริ
การประชุมเวียนนา หรือที่เรียกว่า คองเกรสแห่งเวียนนา ปี 1815 คือหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์การทูตยุโรป นี่คือการประชุมเพื่อร่วมกันตกลงในปัญหาต่างๆ ในยุโรป และจัดระเบียบอำนาจกันใหม่อย่างจริงจัง ตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หนังสือเล่มนี้ น่าจะฉายภาพให้เราเห็นถึงประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการการทูตในยุโรป ตลอดถึงรูปแบบการตกลงกันว่าด้วย ‘อำนาจทางการเมือง’ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ / วีระ สมบูรณ์
อาจไม่ผิดมากนัก หากจะพูดว่า ‘ทฤษฎี’ ก็เทียบได้เหมือนกับแว่นตา ที่ช่วยให้เรามองเหตุการณ์ต่างๆ ได้ในมิติที่แตกต่างกันเป็นตามเลนส์ที่เราเลือกสวมใส่
เช่นเดียวกับการมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น มันสามารถถูกมองได้ผ่านทฤษฏีต่างๆ ที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกยืนในจุดไหน หรือเลือกสวมเลนส์แบบใด หนังสือว่าด้วยทฤษฎีเช่นนี้จาก อ.วีระ สมบูรณ์ น่าจะเป็นหลักยึดที่สำคัญที่ช่วยให้เรามีกรอบการวิเคราะห์การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างออกรสชาติมากขึ้นอีกด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ : ความรู้ฉบับพกพา = International relations : a very short introduction / พอล วิลคินสัน ; กษิร ชีพเป็นสุข, แปล
นี่เป็นหนึ่งในซีรีส์หนังสือชุด ‘ความรู้ฉบับพกพา’ ที่จัดพิมพ์โดย Openworlds ซึ่งเขียนโดย พอล วิลคินสัน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ส
ในหนังสือเล่มนี้ อธิบายถึงหลักการและความรู้เบื้องต้นที่สำคัญต่อการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต ไม่ว่าจะเป็นตัวแสดงหลักบนเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐ นอกจากนี้ ยังช่วยฉายภาพความท้าทายในการเมืองระหว่างประเทศ เช่น ความร่วมมือ และภัยคุกคามความสัมพันธ์ของแต่ละชาติ
เนื่องด้วยความที่เป็นความรู้ฉบับพกพาและมีตัวเล่มนี้ไม่ใหญ่มากนัก มันก็เหมาะกับการติดไว้ในกระเป๋า เพื่อหยิบไปอ่านเวลาอยู่ข้างนอกบ้านได้เหมือนกันนะ
คำศัพท์-คำย่อทางการทูตและการต่างประเทศ / กระทรวงการต่างประเทศ
ภาษาคืออำนาจ และอำนาจก็สะท้อนตัวเองออกมาผ่านทางภาษา ในแต่ละแวดวงก็มักจะมีระเบียบที่กำหนดภาษา หรือคำศัพท์ของตัวเองอยู่เสมอๆ การเข้าใจภาษาที่เกิดขึ้น ก็น่าจะช่วยให้เรามองเห็นอำนาจต่างๆ ที่ตามมาด้วย เช่นเดียวกับในเรื่องการทูต
หนังสือเล่มสำคัญนี้ จัดทำขึ้นโดยกระทรวงต่างประเทศ ในวาระครบรอบ 125 ปีการสถาปนากระทรวงต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับคำศัพท์เกี่ยวกับการทูตต่างๆ ที่พบเห็นได้ในสื่อมวลชน
หนังสือเล่มนี้นอกจากรวมตัวย่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น ชื่อองค์กรระหว่างประเทศ หรือชื่อกรอบความร่วมมือแล้ว ยังมีการขยายความคำต่างๆ ที่เราอาจจะเคยคุ้นชื่อแต่ยังไม่รู้รายละเอียดมากนัก
เช่น คำว่า เอกอัครราชทูต (Ambassador) ที่ทางผู้จัดทำก็ได้ขยายความ และรูปแบบต่างๆ รวมถึงบทบาทหน้าที่ลงไปให้ผู้อ่านได้ความรู้เพิ่มเติม
การทูตทักษิณ : บทวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของไทยยุคทักษิณ ชินวัตร / ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
เล่มนี้น่าจะเป็นของหนัก และเผ็ดร้อน การันตีได้โดย อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งวิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศของไทย ในยุคของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร การทูตในยุคทักษิณเป็นอย่างไร? อะไรคือจุดอ่อน จุดแข็ง และรูปแบบทางการทูตในยุคนั้นส่งผลต่อความร่วมมือกับนานาชาติอย่างไรบ้าง การอ่านหนังสือเล่มนี้ก็น่าจะให้ภาพกับเราได้พอสมควรทีเดียว
ไม่มีความสมานฉันท์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ? : การศึกษาทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประเทศไทย / จิตติภัทร พูนคำ, บรรณาธิการ
มาถึงเล่มนี้แค่ชื่อก็คิดว่าต้องสนุกแล้ว “ไม่มีความสมานฉันท์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” คือการสำรวจและชวนเราตั้งคำถามถึงนโยบายและจุดยืนของรัฐต่างๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย
หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาทฤษฏีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประเทศไทย โดยสำรวจที่มาและที่ไปของวิชาที่เรียกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) ทั้งในไทยและในบริบทของสังคมโลก โดยในเล่มแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ คือ ส่วนแรกประกอบด้วยปาฐกถา เรื่องที่ตั้งของไทยในยุคบูรพาภิวัฒน์ : ที่ตั้ง การพัฒนาและการต่างประเทศ และส่วนที่สองคือการรวบรวมบทความทางวิชาการ และบทสัมภาษณ์
โลกในศตวรรษที่ 21 : กรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ = The world in the 21 st century: Analytical framework of international relations / จุลชีพ ชินวรรโณ
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปตลอด ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็คงต้องปรับตามให้ทันกับความเร็วนั้น โดยเฉพาะในบริบทศตวรรษที่ 21 ที่เทคโนโลยีการสื่อสารได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมถึงความท้าทายรูปแบบใหม่ๆ ที่แต่ละประเทศต้องเผชิญ
หนังสือเล่มนี้ ซึ่งเขียนโดย ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย ได้พาเราไปสำรวจถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้แสดงบนเวทีระหว่างประเทศที่เป็นรัฐ และไม่ใช่รัฐในมิติต่างๆ ในแง่ของความร่วมมือ และความขัดแย้งต่างๆ ตลอดจนแนวคิดที่จะช่วยเราเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ