หลายคนคงเห็นดราม่าที่มีคนไปจับโป๊ะบล็อกเกอร์คนหนึ่งที่ลงรูปการเดินทางท่องเที่ยวไปตลอดเวลา แต่ความจริงแล้วเธออาจไม่ได้ไปไหนไกลเกินกว่าโปรแกรมตัดต่อภาพ และเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้นเพราะการฉะกลับอันร้อนแรงของบล็อกเกอร์สาว
น่าสนใจว่าทำไมใครๆ ก็อยากเป็นบล็อกเกอร์ โดยเฉพาะบล็อกเกอร์ด้านการท่องเที่ยว เรื่องทำเงินได้มันแน่อยู่แล้ว แต่ถึงขนาดเป็นอาชีพเลยได้ไหม ไปหาคำตอบกัน
ทราเวลบล็อกเกอร์เป็นอาชีพได้มั้ย
ในต่างประเทศนั้น ‘บล็อกเกอร์’ สามารถเป็นอาชีพได้แล้ว ถึงขั้นสื่อหลายเจ้าแนะนำแนวทางการเป็นทราเวลบล็อกเกอร์เพื่อสร้างรายได้เสียด้วยซ้ำ ข้อแนะนำของพวกเขาเสนอให้บล็อกเกอร์ต้องมีความรู้มาก อ่านมาก และอย่าหวังหารายได้จากการบอกเล่าถึงสถานที่เที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ให้รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อย่างเช่น การได้เขียนบทความ, ได้ออกหนังสือ, ได้รับว่าจ้างให้ถ่ายรูป, การไปเป็นที่ปรึกษาหรืออาจารย์สอน, การรับสินค้ามาโฆษณา (กรณีนี้ Buzzfeed แนะนำว่าให้จริงใจในการรีวิวและควรใช้งานสินค้าตัวนั้นด้วยตัวเองด้วย)
นอกจากนี้เรายังเห็นกลุ่ม ‘Blogger Coach’ ที่เปิดคอร์สเก็บค่าสอนวิชาให้เหล่าคนที่อยากผันตัวเองไปเป็นทราเวลบล็อกเกอร์ด้วย
ส่วนที่ไทยอาชีพบล็อกเกอร์ก็กำลังโต PR Agency รวมถึง สถานพักแรม สถานท่องเที่ยว หลายแห่ง จ้างวานบล็อกเกอร์ที่มักเขียนเรื่องการท่องเที่ยวให้ไปพักผ่อนเพื่อโปรโมตกันเยอะเลย
ว่าด้วยรายได้ของทราเวลบล็อกเกอร์
ราคาค่างวดในการจ้างทราเวลบล็อกเกอร์ชาวไทยเท่าที่มีคนยอมแย้มราคาให้เราฟังอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทขึ้นไปต่อหนึ่งงาน และราคานี้ยังไม่รวมค่าที่พักกับค่าเดินทางแต่อย่างใด
ส่วนต่างประเทศ Forbes เคยกล่าวถึง Nomadic Matt นักท่องเที่ยวมืออาชีพชาวอเมริกันที่มาเที่ยวเมืองไทยแล้วก็เทิร์นตัวเองเป็นทราเวลบล็อกเกอร์ ว่าสามารถสร้างรายได้สูงถึง 3,000 ดอลลาร์ ต่อเดือน จากเว็บไซต์ของเขาเอง แต่ถ้าเป็นทราเวลบล็อกเกอร์ทั่วไปที่ไม่ดังมาก รายได้ต่อเดือนอยู่ที่ราว 150 – 2,000 ดอลลาร์ ซึ่งก็ถือว่ารายได้ไม่แย่เลยทีเดียวกับงานที่ได้เดินทางตลอดเวลา
หากคุณสามารถขยายตลาดได้อย่างที่ Johnny Ward เคยเขียน Blog ชื่อ One Step 4 Ward ก่อนที่จะเล็งเห็นลู่ทางแล้วผันตัวไปเปิดบริษัท Digital Media สำหรับทราเวลบล็อกเกอร์ ทำให้ Step 4Ward Media สร้างรายได้ราว 30,000 ดอลลาร์ต่อเดือนเลยทีเดียว
หากจะมีข้อเสียก็ตรงที่แทบทุกเจ้าบอกตรงกันว่า การทำงานแบบนี้นั้นไม่ต่างอะไรกับการพร้อมทำงาน 24 ชั่วโมง เพราะคุณไม่สามารถบอกคนที่อยากจ้างคุณว่าต้องติดต่อเวลาไหนได้บ้าง ถือเป็นข้อเสียที่ต้องแลกมานิดนึงล่ะ
ทราเวลบล็อกเกอร์ 5 แบบ 5 สไตล์
The MATTER ลองจำแนกบล็อกเกอร์ออกเป็น 5 หมวดอย่างคร่าวๆ เผื่อใครชอบแนวไหนก็ไปติดตามกันได้ จะมีอะไรบางนั้น ไปดูกัน
1. สายเปย์
ทราเวลบล็อกเกอร์สายนี้เรียกได้ว่า ไปเที่ยวไหนก็ขอเสพสุทรียภาพทุกรูปแบบของสถานที่นั้นๆ เที่ยวทั้งทีก็ต้องเที่ยวให้ถึง ทุ่มเงินพักผ่อนในที่สบายๆ กินอาหารอร่อยๆ แต่ก็มีความลุย ออกไปร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นในท้องถิ่น ถ่ายรูปก็จัดเต็มด้วยกล้อง DSLR เต็มรูปแบบ หรือไม่ก็ใช้โดรนถ่ายจากมุมหวือหวาเพื่อเก็บภาพความงามของสถานที่ท่องเที่ยว
แน่นอนว่าการท่องเที่ยวแบบนี้ต้องใช้ทุนค่อนข้างมากสักหน่อย แต่เราก็มีนักเดินทางหลายๆ คนที่ยินดีจ่ายเงินเพื่อให้การเดินทางครบรส บล็อกเกอร์สไตล์นี้ก็อย่าง JAJATANTI (Instagram, Facebook) หรือของต่างประเทศก็คู่รักคู่เที่ยวอย่าง Lauren Bullen (Gypsea_Lust, Instagram, Facebook) กับ Jack Morris (Instagram)
2. สายประหยัด
ใช่ว่าทุกคนจะทุนหนา ทราเวลบล็อกเกอร์กลุ่มนี้จึงเน้นวิธีประหยัดเข้าว่า หาที่พักเป็นโฮสเทลบ้าง โฮมสเตย์บ้าง หรือไม่ก็โรงแรม 2-3 ดาวราคาไม่แพงแต่อยู่ได้อย่างสบายใจ พวกเขาหาที่กินดื่มราคาไม่แพง และเซ็ตงบประมาณในการเดินทางให้ไม่มากจนเกินไป แต่ยังได้บรรยากาศกับอรรถรสของสถานที่ท่องเที่ยวแบบเต็มเปี่ยม (แต่ไม่ใช่ว่าโบกรถขอติดไปด้วยแล้วก็ขอกินฟรีด้วย ไม่โอเคเนอะ) สนใจติดตามสไตล์การท่องเที่ยวโทนนี้ The Walking Back Pack น่าจะตอบโจทย์ได้
3. สายลุย
สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งไม่ได้เดินทางเข้าไปได้ง่ายๆ บางแห่งต้องบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย หุงข้าวหม้อสนาม คิดอยากจะไปก็หิ้วเป้สะพายกระเป๋าแล้วลุยโลด หากให้นึกทราเวลบล็อกเกอร์แบบลุยๆ (แถมไปไกล) ก็คงไม่พ้น มินท์ I Roam Alone ลุยไม่ลุยเธอก็เคยเขียนถึงความรู้สึกท้ายทริปลุยๆ ไว้ในหนังสือ ‘มิตรภาพระหว่างเส้นทางสายไซบีเรีย’ ว่า
‘เหนื่อย’ คือ ความรู้สึกแรกของเช้าวันนี้…
ขณะกำลังดื่มชาอยู่ที่โต๊ะอาหาร ฉันรู้สึกเหมือนตัวกำลังจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ…
ส่วนตอนนี้ ฉันไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ฉันปวดไปทั้งตัวโดยเฉพาะหลัง ปวดถึงขนาดที่ว่านั่งเฉยๆก็ยังจะทนไม่ได้…
4. สายกิน
ในขณะที่หลายคนตัดสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ บล็อกเกอร์กลุ่มนี้กลับมีเป้าหมายตรงกันข้าม พวกเขาไม่ได้เดินทางไปหาแลนด์มาร์กใหม่ๆ หลายทีก็เที่ยวมันในที่ฮิตๆ แต่จะเดินกันอย่างละเอียด เพื่อหา…ของกินสุดอร่อยในโซนนั้น ตัวอย่างบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวกินดื่มแบบนี้ เรานึกถึง ว่านน้ำ (เว็บไซต์, Facebook) นักชิมระดับที่รายการ Iron Chef Thailand ยังต้องเชิญไปเป็นกรรมการ
5. สายโฟโต้ช้อป
หรือถ้าจะเรียกว่าสายมโนก็ไม่ผิดนัก อันนี้น่าจะเป็นบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวที่ชวนปวดขมับสุด ซึ่งสายนี้ก็มีทั้งคนที่ตัดต่อแล้วบอกว่า เออ นี่ตัดต่อนะ เพื่อโชว์ฝีมือการใช้โปรแกรม และที่ไม่ได้บอกอะไร คิดไปเองกันทำไมว่าฉันไปจริงๆ ว้าย ไม่ได้บอกว่าไม่ได้ตัดต่อซะหน่อย
เอาเข้าจริงแล้วการจะมีอาชีพเป็นทราเวลบล็อกเกอร์ ก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ทุกอาชีพ
คือซื่อสัตย์และจริงใจกับงานของตัวเองเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก