ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย…..
การเป็นนักคิดที่สวนทางกับอุดมการณ์และประเพณีกระแสหลักของสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิดที่ถูกกล่าวถึงว่ามีความปราดเปรื่องอย่างมากทั้งด้านวรรณกรรม ปรัชญา ภาษาศาสตร์ และการเมือง และมักถูกกล่าวถึงในบทบาทของ ‘ขบถ’ ผู้ท้าทายกลุ่มคนชั้นสูง ซึ่งเป็นบทบาทด้านการเมืองเป็นสำคัญ
ในวาระครบรอบการจากไปของจิตร ภูมิศักดิ์ ผู้เขียนได้ค้นคว้าหนังสือเก่าและเอกสารเก่า และพบว่าบทบาทของจิตรนั้น นอกจากฝีมือการประพันธ์ร้อยกรองที่หาคนเทียบยากแล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ ยังได้สร้างผลงานด้านศิลปะไว้อย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการเป็นผู้วิจารณ์ภาพยนตร์
จิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ เป็นบทบาทที่จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่เคยถูกกล่าวถึงเลย แต่ในความเป็นจริงเขาเป็นนักวิจารณ์ศิลปะ วิจารณ์หนังสือ รวมทั้งวิจารณ์ภาพยนตร์ด้วย ในเอกสารหลายแห่งระบุว่าจิตรใช้นามปากกาว่า มูฟวี่แมน หรือ มูวี่แมน เมื่อเข้าทำงานกับ อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ที่หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ราว พ.ศ.2497 โดยเขียนวิจารณ์หนังสือและภาพยนตร์ในแนวมาร์กซิส (ซึ่งหาได้น้อยมากในเมืองไทย)
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ผู้เขียนกำลังสืบค้นเอกสารหลักฐานในยุคนั้น ก็พบว่างานวิจารณ์ภาพยนตร์ของจิตรได้ซุกซ่อนอยู่ในหนังสือรวมเล่มของจิตรที่ผู้เขียนอ่านมาตั้งแต่ยังเด็กนั่นเอง ที่เห็นได้ชัดมีอยู่สองเล่มคือ กวีการเมือง และ ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน (ใช้นามปากกา ทีปกร)
ในเล่ม กวีการเมือง จิตรได้เขียนถึงภาพยนตร์เรื่อง ศรีปราชญ์ (สร้างโดยบริษัทนำไทยภาพยนตร์ ปีที่สร้างยังไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่นำไทยภาพยนตร์ได้ดำเนินการด้านภาพยนตร์อยู่ราว พ.ศ.2498-2499) โดยบทความแรกเน้นด้านเนื้อหาชื่อว่า ภาพยนตร์เรื่องศรีปราชญ์และข้อน่าคิด จิตรวิเคราะห์เนื้อหาภาพยนตร์ในเชิงการค้นหาว่าศรีปราชญ์ได้ท้าทายต่อขนบประเพณีไทยและศักดินาอย่างไร และบทความที่สองเน้นด้านรูปแบบและศิลปะ ชื่อ ภาพยนตร์เรื่องศรีปราชญ์อีกครั้ง ที่ผู้เขียนตื่นเต้นเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการค้นพบว่าจิตรใส่ใจต่อสื่อภาพยนตร์อย่างมาก ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นสื่อใหม่พอสมควร และวิจารณ์เทียบเคียงกับสื่อเก่าในเชิงสุนทรียศาสตร์การดนตรี มีความเข้าใจ ‘ธรรมชาติ’ ของสื่อภาพยนตร์ในระดับที่หยิบมาท้าทายกับสื่อพื้นบ้านด้วย ดังที่จิตรเขียนไว้ว่า
“การสร้างภาพยนตร์ มิใช่การนำเอารสนิยมแบบละคร หรือ ยี่เกมายัดเยียดให้แก่ประชาชน หากเป็นการนำประชาชนออกไปสู่รสนิยมใหม่แบบภาพยนตร์ที่แท้จริง ฉะนั้นการตลกโปกฮาก็ดี การแสดงท่าทางต่างๆ ก็ดี จึงควรขยับออกมาจากที่เคยเกินจริง เพื่อให้เข้ามาสู่ความสมจริง ทั้งนี้อาจจะทำได้ทีละน้อยตามลำดับขั้น และนี่แหละคือหน้าที่ของนักสร้างและกำกับภาพยนตร์” (กวีการเมือง, 2517 หน้า113)
แม้ว่าในหนังสือนี้จะเห็นแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งไม่ชัดเจนนัก แต่ในหนังสือ ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน จิตรแสดงถึงแนวคิดในการวิจารณ์ภาพยนตร์ชัดเจนดังนี้
“ภาพยนตร์ที่เผยแพร่วัฒนธรรมของจักรวรรดินิยมตะวันตก และการเต้นรำยั่วกามารมณ์และเพลงลามกในชุดร็อคแอนด์รอลและกาลิบโซใหม่เอี่ยม ฯลฯ เหล่านี้เป็นศิลปะที่รับใช้จักรวรรดินิยมโดยตรง” (ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน, 2531 หน้า142)
จิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะนักแปล และนักวิจารณ์ศิลปะ
ในส่วนนี้ ผู้เขียนขอหยิบยกหนังสือที่เป็นผลงานของจิตร ขึ้นมาสำรวจและแนะนำแง่มุม พร้อมทั้งเบื้องหลังที่หลายคนอาจจะไม่รู้
คนขี่เสือ (ผลงานแปล-เขียนโดย Bhabani Bhattacharya)
He Who Rides a Tiger ฉบับแปลที่อยู่ในมือผู้เขียนนี้ เป็นฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ.2530 โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า งานชิ้นนี้จิตรแปลไว้นานแล้วแต่ต้นฉบับกระจัดกระจายไม่เคยถูกตีพิมพ์รวมเล่ม จนกระทั่งสำนักพิมพ์ดอกหญ้าได้เกิดโครงการผลิตชุดชุมนุมนิพนธ์ขึ้นมา ทางสำนักพิมพ์ไม่ได้บอกกล่าวว่าไปรวบรวมต้นฉบับเหล่านั้นมาจากใครบ้าง แต่ที่แน่ๆ ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ ทางสำนักพิมพ์ได้กล่าวว่า พี่ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ พี่สาวคนเดียวของจิตร เป็นผู้คัดลอกต้นฉบับของจิตรด้วยลายมือลงในสมุดขนาดแปดหน้ายกเป็นจำนวน 14 เล่ม ซึ่งต้นฉบับตอนนั้นก็เหลืองเก่ากรอบบอบบางหมดแล้ว การคัดลอกจากลายมือของจิตรจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ความเพียรพยายามครั้งนี้กินเวลาไปสี่เดือนกว่า จึงถือได้ว่างานแปลเล่มนี้นอกจากผู้แปลที่มีความสามารถแล้ว ผู้รวบรวมและผู้คัดลอกยังเป็นผู้ที่มีความเพียรอย่างยิ่ง
ความดีความงามของหนังสือเล่มนี้ ไม่อาจจะกล่าวได้หมดเท่ากับการนั่งลงอ่าน เพราะยิ่งอ่านก็ยิ่งตกเข้าไปร่วมรู้สึกทุกข์ทนกับ กาโล และลูกสาว จันทรเลขา ที่เผชิญกับชะตากรรมในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ผลประโยชน์ อำนาจที่กดขี่และต่อสู้กัน
คนขี่เสือ เป็นนิยายที่กระชากเอาหน้ากากของสังคมที่เคลือบด้วยมายาคติของวัฒนธรรมประเพณีอันยาวนาน
เผยถึงมนต์ดำของกิเลสมนุษย์ที่ทั้งยอมจำนน ท้าทาย และ ต่อสู้กับ ‘เสือร้าย’ ที่เป็นทั้งสังคมของตน และ จิตใจของตน
ความลุ่มลึกของผู้เขียนนั้นประเมินค่ามิได้ เพราะนิยายที่เขียนมาร่วม 40 ปีเล่มนี้มีความเป็นสากลและทันสมัยทุกกาล ส่วนผู้แปลนั้น มีความชาญฉลาดด้านการใช้ภาษาและความรอบรู้ด้านปรัชญา สังคมศาสตร์ และภาษา ทำให้อรรถรสในการอ่านทุกครั้งเต็มไปด้วยความรู้สึกสนุก ตื่นเต้น และอิ่มเอม ยิ่งอ่านในวัยที่มากขึ้น ยิ่งพบเจออรรถรสและอรรถประโยชน์ที่แหลมคม
แม่ (ผลงานแปล-เขียนโดย Maxim Gorky)
แม็กซิม กอร์กี้ เจ้าของผลงานเรื่องนี้เป็นนักประพันธ์ชาวรัสเซีย โดยเก็บข้อมูลจากบ้านเกิดตัวเองในช่วงปี ค.ศ.1902 ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดินขบวนของคนงานรัสเซียที่ซอร์โมโว ในวันกรรมกร การต่อสู้ขององค์การจัดตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตย (พรรคบอลเชวิค) เป็นเรื่องของ ปาเวล กรรมกรหนุ่มและแม่ผู้ทนทุกข์ และร่วมต่อสู้ในชะตากรรมของเหล่ากรรมกร จนนำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ.1905 ซึ่งประชาชนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
เช่นเดียวกับงานแปลเรื่องคนขี่เสือ แม้เรื่องราวของ ‘แม่’ จะห่างไกลจากสังคมไทยมากและมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนชั้นแรงงานที่แตกต่างจากไทย แต่สำนวนการแปลก็ยังคงความเป็นสามัญ อ่านง่าย และลึกเข้าไปถึงจิตวิญญาณความรู้สึก การเลือกใช้คำไทยและวางประโยคของจิตรเรียบง่ายอย่างมาก แต่สะเทือนใจไปกับชะตากรรมของแม่ ที่โดนทำร้ายจากผัวและเจ้าหน้าที่ทหาร
แม้งานเล่มนี้จะมิได้ลุ่มลึกในเชิงกิเลสหรือความซับซ้อนของมนุษย์เหมือนงานเรื่องคนขี่เสือ ที่ได้รับอิทธิพล ‘ความเป็นตะวันออก’ เต็มที่ แต่การเชิดชูอุดมการณ์ของชนชั้นแรงงาน และ ‘ความเสียสละของแม่’ ซึ่งเป็นหญิงยากจนสามัญคนหนึ่ง ก็ทำให้เป็นผลงานยิ่งใหญ่ และได้รับการแปลเผยแพร่ไปหลายสิบภาษาและได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิคของโลกตลอดกาลเล่มหนึ่ง
เบื้องหลังของการแปลเล่มนี้ยิ่งน่าประหลาดใจ ที่จริงแล้วเรื่องนี้มีผู้แปลสองท่าน คือ จิตร ภูมิศักดิ์ และ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ที่แปลร่วมกับวิริยาภา (นักแปลมืออาชีพ) ฉบับของจิตร ภูมิศักดิ์ นั้นกว่าจะได้รวมเล่มตีพิมพ์ครั้งแรกก็คือ พ.ศ.2521 โดยสำนักพิมพ์เกิดใหม่ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่จิตรเสียชีวิตไปแล้วถึง 12 ปี
เป็นผลงานแปลที่เกิดขึ้นระหว่างถูกขังในเรือนจำลาดยาว ราวปีพ.ศ.2501 ด้วยข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยไม่มีการไต่สวนคดีถึง 6 ปีเศษ
เช่นเดียวกับผู้เขียน กอร์กี้ก็เขียนงานนี้ในระหว่างที่ลี้ภัย ระหกระเหิน และถูกจองจำเพราะคดีการเมือง
และก็เช่นเดียวกันอีกกับ ศรีบูรพา ที่แปลเล่มนี้ระหว่างต่อสู้คดีการเมืองและหลบหนีภัย แต่แปลไม่สำเร็จก็ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศจนถึงแก่กรรม
หากกล่าวถึงแรงบันดาลใจของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ทำงานแปลที่มีความหนาราว 500 หน้าเรื่องนี้จนสำเร็จ ท่ามกลางชีวิตทุกข์เข็ญ และ เผชิญกับภัยการเมืองตลอดเวลา น่าจะเป็นความผูกพันกับแม่ของตนเองอย่างลึกซึ้ง
พี่ภิรมย์-พี่สาวคนเดียวของจิตร เขียนเล่าไว้ว่า จิตรเป็นเด็กที่ซนมากและรักผูกพันใกล้ชิดกับแม่ “แม้ในยามถูกจับกุมคุมขัง คุณแม่เป็นคนเดินสาร นำบทประพันธ์ ข้อเขียน บทความของน้องจิตรไปให้บุคคลต่างๆ และสำนักพิมพ์ หรือแม้กระทั่งไปขอยืมหนังสือบางเล่มมาให้”
ด้วยเหตุนี้เอง เป็นไปได้อย่างมากว่า จิตรมีแม่ในชีวิตจริงที่ดลบันดาลให้เกิดพรสวรรค์ด้านศิลปะทางอักษรศาสตร์ การใช้คำที่ตรงกับความรู้สึก สื่อสารง่าย และสะเทือนใจได้เสมอ
ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน (ใช้นามปากกา ทีปกร)
หนังสือเล่มนี้ จริงๆ แล้วเป็นข้อเขียนที่จิตรเขียนขึ้นในเวลาต่างๆ กัน ประกอบด้วยบทความสี่ชิ้น ตั้งแต่ พ.ศ.2498 และถูกรวมเล่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2500 ในห้วงเวลานั้นการศึกษา ‘ศิลปะ’ ของสังคมไทยก็คงไม่ต่างจากการศึกษาแขนงวิชาอื่นๆ ที่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดกระแสหลัก หากไม่รับมาจากต่างประเทศคือเป็นศิลปะที่นิยมความสมบูรณ์แบบ สวยงามวิจิตรตระการตาแล้ว ก็ต้องเป็นศิลปะที่เกี่ยวโยงกับเจ้านายชั้นสูงหรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลสูงในสังคม รวมทั้งมีทุนทรัพย์ในการสร้างสรรค์งานศิลปะวิจิตรตระการตาได้
งานหนังสือชิ้นนี้ได้ตั้งคำถามถึงปรากฎการณ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วยบทความสี่ชิ้นได้แก่
- อะไรหนอที่เรียกกันว่าศิลปะ? และที่ว่าศิลปะเป็นของสูงส่งนั้น มันสูงส่งเพราะความซับซ้อนศักดิ์สิทธิหรือไฉน
- ที่ว่า ‘ศิลปะเพื่อศิลปะ’ นั้น คืออย่างไรกันแน่หนอ
- ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ ความหมายของมันโดยแท้จริงเป็นไฉน
- ศิลปะเพื่อประชาชน การต่อสู้ของประชาชน
บทความทั้งสี่ชิ้นนั้น จิตรเองได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือว่า “มันได้ทำหน้าที่ตอบปัญหาทางศิลปะตามลำดับก่อนหลังเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ คือเริ่มตั้งแต่ปัญหา ศิลปะคืออะไร ศิลปะสูงส่งอย่างไร ศิลปะบริสุทธิ์มีจริงหรือไม่ ศิลปะเพื่อศิลปะมีความหมายอย่างไร และ ความหมายและบทบาทของศิลปะเพื่อชีวิตเป็นเช่นไร”
ผลงานเกี่ยวกับความรู้ทางศิลปะชิ้นนี้ ได้ค้นคว้าทฤษฎีทางศิลปะและแนวคิดของนักปรัชญาไว้หลายคน ที่โดดเด่นก็คือ ค้านท์ และ ลีโอ ตอลสตอย การตั้งคำถามในเชิงสุนทรียศาสตร์ ตั้งแต่ความงามคืออะไร ไปถึงศิลปะคืออะไร ได้ถูกเขียนผูกโยงไปถึงปรัชญาและศิลปินในสำนักต่างๆ ที่ว่าด้วยภววิสัย จิตนิยม และสังคมนิยม
แม้จะเป็นหนังสือว่าด้วยปรัชญาที่เกี่ยวโยงกับศิลปะ แต่จิตรเขียนและถ่ายทอดได้แจ่มชัดและอ่านง่ายจนน่าฉงน รวมทั้งได้เขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ไว้เล็กน้อย ซึ่งข้อเขียนในเล่มนี้เองที่ทำให้เราได้เห็นมุมมองของจิตร ในด้านสื่อภาพยนตร์ซึ่งเป็นสื่อยุคใหม่ในช่วงนั้น
กวีการเมือง
เป็นผลงานรวมข้อเขียนและกวีนิพนธ์ของจิตร โยนธิน มหายุทธนา ได้เขียนไว้ในคำนำแนะนำหนังสือว่า เป็นผลงานที่เขียนขึ้นระหว่างอยู่ในเรือนจำ และได้ลักลอบส่งผลงานออกมาพิมพ์ในหนังสือ ประชาธิปไตย ประมาณ พ.ศ.2507 และถูกจัดพิมพ์อีกครั้งในวารสาร เศรษฐกร พ.ศ.2514
คุณูปการของหนังสือเล่มนี้ คือการแสดงความปราดเปรื่องในการประพันธ์โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร้อยกรองทุกประเภทด้วยภาษาที่ทรงพลัง สื่อสารง่าย และเห็นภาพได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีบทความที่แสดงถึงจุดยืนทางศิลปะและการรับใช้สังคม รวมทั้งการวิจารณ์ศิลปินที่รับใช้ศักดินา และวิจารณ์ดนตรีไว้อีกด้วย
จิตรเป็นบุคคลธรรมดา เป็นสามัญชนที่ปราดเปรื่อง ผลงานด้านศิลปะของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นเรื่องที่น่าค้นหาอย่างยิ่ง
ประหลาดตรงที่ผลงานรวมเล่มนั้นเจ้าตัวไม่มีโอกาสได้เห็นเลย และยิ่งประหลาดที่คนที่ปราดเปรื่องเป็นปัญญาชนเช่นนี้ มีการสื่อสารและการแปลด้วยภาษาที่สื่อสารอ่านง่ายมาก
อย่างไรก็ตาม ผลงานของจิตรสามารถถูกวิจารณ์ได้เฉกเช่นกับผลงานของคนอื่น ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงในลักษณะเชิดชู ยกย่องจนเกินความจำเป็น ที่สำคัญขอให้วิจารณ์อย่างมีหลักฐาน มีหลักการ ศึกษาชีวิตและผลงานของจิตรให้ถ่องแท้ อย่าฉวยไปสร้างภาพชั่วครั้งชั่วคราว โดยที่ในชีวิตจริงไม่เคยเข้าใจ คำว่า ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อสังคมเลย