เมื่อวาน (3 ก.ย.) บ้าน 13 หลังในชุมชนป้อมมหากาฬเพิ่งถูกรื้อถอนไป เนื่องด้วยกทม.ต้องการปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณแนวกำแพงเก่า โดยเปลี่ยนชุมชนเป็นสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2540) แม้จะเป็นการกระทำที่ ‘ว่ากันตามกฎหมาย’ แต่ก็น่าเสียดายที่ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้จะหายวับไปอย่างง่ายดาย
ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นชุมชนหนึ่งที่เปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานและเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ (แม้ว่าในสถานการณ์ตอนนี้อาจจะเข้าไปเดินชมไม่ได้แล้วก็ตาม) นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงกันยังมีชุมชนนางเลิ้ง ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ และชุมชนบ้านบาตร ที่เราสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่า นอกจากแลนด์มาร์คอย่างวัด วัง และห้าง ที่เรียงรายเต็มกรุงเทพมหานครเมืองฟ้าอมรของเราแล้ว ‘ชุมชน’ ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบหนึ่งเหมือนกัน เราจึงอยากชวนทุกคนไปสำรวจ 4 ชุมชนนี้อย่างคร่าวๆ ผ่านตัวหนังสือและรูปถ่าย ถ้าติดใจก็แวะเวียนไปเที่ยวเองได้เลย 🙂
นางเลิ้ง…ย่านบันเทิงแต่เก่าก่อน
หลายคนอาจจะรู้จักนางเลิ้งจากบรรดา ‘กล้วยแขก’ สูตรเด็ดของเอี๊ยมสีต่างๆ แต่ชุมชนเก่าแก่อายุเหยียบร้อยนี้ยังมีของดีอีกเพียบ เป็นต้นว่า วัด 2 แห่งที่เป็นเสมือนศูนย์กลางของชุมชน ได้แก่ วัดสุนทรธรรมทาน (แค นางเลิ้ง) และวัดโสมนัสราชวรวิหาร แต่ในสมัยก่อนหน้า ย่านที่เต็มไปด้วย ‘ตุ่มอีเลิ้ง’ จนได้ชื่อว่านางเลิ้ง นั้นไม่ได้โด่งดังจากวัดแต่อย่างใด ทว่าขึ้นชื่อลือชาในฐานะแหล่งบันเทิงของเมืองบางกอก!
เริ่มต้นที่ โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี ซึ่งเปิดให้บริการในพ.ศ.2461-2536 ในช่วงที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด มีผู้คนหลั่งไหลมาดูหนังที่อาคารไม้ 2 ชั้นแห่งนี้มากถึง 3-400 คนต่อวัน โดยในช่วงนั้นหนังยังเป็นหนังเงียบ ไม่มีการพากย์เสียง มีเพียงแตรวงที่จะเล่นประกอบฉากบางฉากเท่านั้น และนักแสดงยอดฮิต (#ผัวแห่งชาติ) ในยุคนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘มิตร ชัยบัญชา’ ซึ่งเป็นชาวชุมชนนางเลิ้งคนหนึ่งนี่เอง (ปัจจุบันอัฐิของเขาเก็บอยู่ที่วัดสุนทรธรรมทาน (แค นางเลิ้ง) วัดประจำชุมชนนางเลิ้งนั่นเอง)
โดยโรงภาพยนตร์เฉลิมธานีนั้นตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับ ตลาดนางเลิ้ง ตลาดบกแห่งแรกของไทย ซึ่งแต่ก่อนนั้นมีศักดิ์เทียบเท่ากับสยามแสควร์ของวัยรุ่นยุคนี้เลยทีเดียว ทุกวันนี้ในตลาดมีของกินอร่อยๆ เพียบ นับเป็นแหล่งบันเทิงลิ้นอย่างแท้จริง โดยของเด็ดประจำตลาดมีทั้งก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ไส้กรอกปลาแนม ข้าวเกรียบปากหม้อ และขนมไทยนานาชนิด ถ้าอยากไปชิม #ต้องเล็วนะ เพราะราวบ่าย 2 ตลาดก็เริ่มวายแล้ว
เดินจากตลาดทะลุวัดแค นางเลิ้งมานิดนึง จะเจอเข้ากับ บ้านนราศิลป์ ฐานทัพใหญ่ของคณะโขนซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยทุกวันนี้คณะนราศิลป์ก็ยังรับงานแสดงโขนตามที่ต่างๆ รวมทั้งรับทำเครื่องโขนทุกชนิด ซึ่งเราสามารถเดินเข้าไปชื่นชมเครื่องโขนเหล่านี้ในบ้านได้เลย ถ้าโชคดีก็จะเจอช่างฝีมือนั่งทำงานอยู่ด้วย
ใกล้ๆ กันนั้นคือ บ้านเต้นรำ ซึ่งในยุค 60s เป็นแหล่งรวมตัวของหนุ่มสาวมาพบปะสังสรรค์และเต้นรำกันบนฟลอร์ไม้ ทุกวันนี้บ้านเต้นรำเปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์และโรงเรียนสอนเต้นรำ (ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย!) รวมทั้งเป็นเสปซในการจัดนิทรรศการต่างๆ ด้วย
ถัดมาอีกหน่อยคือ ตรอกละคร อันเป็นที่ตั้งของคณะละครชาตรีหลายคณะ โดยในวันที่ไปเราได้ดูตัวอย่างการรำซัดชาตรีจากคณะจงกล โปร่งน้ำใจ ซึ่งเปิดสอนละครชาตรีให้เด็กๆ ในชุมชนกันแบบฟรีๆ ด้วยความตั้งใจจะสืบสานศิลปะเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เอาไว้ ละครชาตรีนับเป็นละครชาวบ้านแบบหนึ่งที่ผสมผสาน ‘โนรา’ เข้ามาด้วย ผู้รำจึงสวม ‘เทริด’ แบบทางใต้ด้วย เสน่ห์ของละครชาตรีอยู่ที่ผู้รำเป็นคนร้องบทละครด้วยตัวเอง ประกอบกับดนตรีจากวงปี่พาทย์ เกิดเป็นการแสดงที่สนุกสนานและมีชีวิตชีวา ไม่เชื่องช้าน่าเบื่ออย่างนาฏศิลป์ไทยที่หลายคนติดภาพ
ป้อมมหากาฬ…พิพิธภัณฑ์มีชีวิต
หลายคนอาจเคยเดินผ่านแนวกำแพงสีขาวข้างๆ สะพานผ่านฟ้าลีลาศโดยไม่รู้ว่าข้างในมีชุมชนเก่าแก่ซ่อนตัวอยู่ โดยประวัติศาสตร์ของชุมชนข้างป้อมนี้สืบเสาะไปได้ไกลถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งข้ารับใช้ในวังตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นชุมชน เรือนไม้ทรงไทยภาคกลางหลายหลังที่ยังคงตั้งอยู่คือหลักฐานยืนยันความเก่าแก่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ตรอกพระยาเพชรฯ’ ตามชื่อเจ้าพระยาเพชรปาณี (ตรี) ผู้ก่อตั้งวิกลิเกแห่งแรกของสยาม
ในประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวเราขึ้นมาหน่อย ชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งค้าขายดอกไม้ไฟ และแหล่งรวมตัวของช่างฝีมือทำกรงนกเขาชวา รวมทั้งมีช่างฝีมือปั้นเศียรพ่อแก่ที่ตั้งใจส่งต่อศาสตร์และศิลป์นี้ต่อไปให้เด็กในชุมชน จากกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น ชุมชนได้ตั้งใจปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ เข้าไปเดินเล่นข้างใน โดยมีชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่เป็นมัคคุเทศก์ อย่างไรก็ดี เราไม่แน่ใจนักว่า หลังการไล่รื้อเมื่อวาน สภาพข้างในชุมชนเป็นอย่างไร และงานฝีมือต่างๆ ยังอยู่ให้เราเข้าไปเยี่ยมชมหรือไม่
วังกรมฯ…แหล่งรวมช่างเย็บจีวร
ชุมชนวังกรมฯ เรียกว่าเป็น ‘อัญมณีที่ซ่อนอยู่’ อย่างแท้จริง เพราะเราผ่านไปมาย่านนั้นหลายรอบ แต่ก็ไม่รู้ว่าข้างในมีชุมชนที่รวมช่างฝีมือเย็บผ้าไตรสำหรับพระสงฆ์ ซึ่งมีทั้งจีวร สบง อังสระ รวมทั้งสัปทนหรือร่ม นอกจากนี้ชุมชนแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ วังสีขาวขนาดย่อมอันเป็นที่มาของชื่อชุมชนนั่นเอง
อีกหนึ่งของดีประจำชุมชนที่พลาดไม่ได้คือบัวลอยไข่หวานเจ้าเด็ดของป้าจัน ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่ไข่หวานแบบไข่แดงเยิ้มๆ ให้รสชาติเค็มมันตัดกับรสหวานของบัวลอยและน้ำกะทิ
บ้านบาตร…ชุมชนที่ก้องกังวานไปด้วยเสียงตีบาตร
บ้านบาตรคือชุมชนสุดท้ายในประเทศไทยที่ยังสืบสานศาสตร์ของการทำบาตรแบบแฮนด์เมดซึ่งมีกระบวนการซับซ้อน เริ่มต้นจากนำแผ่นเหล็กรูปเครื่องหมายบวกมาดัดให้โค้งงอ นำแผ่นเหล็กอีก 4 แผ่นมาประกอบ จากนั้นนำไปเชื่อมด้วยความร้อน ก่อนจะนำไปผ่านกระบวนการตี เจียร บ่มเพื่อให้ออกมาเป็นรูปทรงและสีสันต่างๆ ตามต้องการ โดยกว่าจะเสร็จ 1 ลูกนั้นต้องใช้เวลาราว 1 สัปดาห์
ถ้าถามว่าบาตรแฮนด์เมดต่างจาก ‘บาตรปั๊ม’ หรือบาตรที่ผลิตจากโรงงานอย่างไร ต้องลองเคาะดูแล้วจะพบว่าบาตรทำมือนั้นให้เสียงกังวานใสคล้ายระฆัง และในแง่การใช้งานนั้น บาตรของบ้านบาตรจะแข็งแรงทนทานกว่า การันตีว่าใช้ได้เกิน 1 ชั่วอายุคนแน่นอน
จากที่ไปเที่ยวมาทั้ง 4 ชุมชนนี้ เราอาจจะไม่ได้เก็บข้อมูลมาแน่นเปรี๊ยะเป็นเด็กหน้าห้อง หรือถ่ายทอดทุกแง่มุมของชุมชนได้อย่างหมดจด แต่ก็อยากชวนให้ทุกคนได้ลองไปสัมผัสวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนด้วยตัวเอง เผื่อว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน
เพราะเราเชื่อว่าเมืองคงไม่ใช่เมืองที่สมบูรณ์หากขาดชีวิตชีวาจากผู้คน
Cover Illustration by Namsai Supavong
ขอบคุณข้อมูลและทริปดีๆ จาก Trawell Thailand