อุดรธานีไม่ได้มีแต่ทุ่งบัวแดง แต่กำลังจะเบ่งบานด้วยดอกปทุมมาด้วย
อุดรธานี จังหวัดเศรษฐกิจใหญ่แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเซอร์ไพรส์เราในช่วงเกือบจะปลายฝนต้นหนาวนี้ ด้วยการเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวทุ่งไม้ดอกแห่งใหม่ “ปทุมมาห้วยสำราญ” ดอกปทุมมาสายพันธุ์ใหม่ ที่นำสายพันธุ์มาจากภาคเหนือ แต่ใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์จากงานวิจัย จนสามารถเป็นพันธุ์ที่ยืนต้นท่ามกลางสายฝนได้ กับความฝันอยากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้ตลอดทั้งปี
ขอเล่าแบ็กกราวน์สั้นๆ หน่อยละกัน เราอาจจะคิดว่าแหล่งปลูกและส่งออกไม้ดอกที่สำคัญของประเทศไทยมีแค่ในโซนภาคเหนือเท่านั้น อันที่จริง บ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ แห่งอุดรธานี ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งเพาะปลูกไม้ดอกที่สำคัญ โดยเฉพาะดอกเบญจมาศซึ่งออกดอกดีในช่วงฤดูหนาว โดยนอกจากจะเพาะปลูกเพื่อขายหัวพันธุ์และดอกส่งออกแล้ว ชุมชนยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมสวนเบญจมาศ ถ่ายรูปรีวิวกันทุกฤดูหนาว หารายได้ได้หลายแสนบาทต่อป
แต่เพราะว่าข้อจำกัดดอกเบญจมาศจะออกดอกเบ่งบานแค่ฤดูหนาวเท่านั้น ดังนั้นโจทย์สำคัญของชุมชนในตอนนี้ก็คือ การหารายได้ทางอื่นในฤดูอื่น และการสร้างชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ “ยั่งยืน” และครบวงจร ตลอดทั้งปี
แล้ว ‘ดอกปทุมมา’ และ ‘เทคโนโลยีงานวิจัย’ ก็อาจจะเป็นคำตอบของโจทย์ยากนี้
เมื่อชุมชนจับมือกับวิทยาศาสตร์
“ห้วยสำราญเราเป็นหมู่บ้านปลูกไม้ดอกไม้ประดับส่งตลาดอยู่แล้ว เราได้จัดงานไม้ดอกไม้ประดับปีที่แล้ว ผู้ว่าฯ อุดรเขาก็มองว่าหมู่บ้านห้วยสำราญควรจะเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ก็เลยคิดกันว่าจะเอาปทุมมามาเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ทางกลุ่มเราเลยทดลองปลูกจากแม่พันธุ์ 1,000 หัว และหาสายพันธุ์ที่มันสวยมาลง” ลุงบุญแถม ยอดแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปลงใหญ่ แห่งชุมชนห้วยสำราญ เล่าให้ฟังถึงที่มาของทุ่งดอกปทุมมา ที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุดรธานี
คนไทยทั่วไปคุ้นเคยกับดอกปทุมมาในชื่อดอกกระเจียว ซึ่งเป็นพืชวงศ์ขิง เจริญเติบโตและออกดอกได้ดีในฤดูฝน ทำให้เกษตรกรมักจะปลูกในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม และจะให้ดอกในราว 40-50 วันต่อมา จากนั้นก็จะเก็บหัวพันธุ์ในฤดูหนาวช่วงธันวาคม เพื่อใช้ปลูกในฤดูถัดไป
ปัจจุบันปทุมมาในประเทศไทยมีกว่า 30 สายพันธุ์ ซึ่งปทุมมาไทยเป็นดอกไม้ที่ได้รับความสนใจจากตลาดไม้ดอกไม้ประดับแหล่งใหญ่ของโลกอย่างเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างมาก แต่เพื่อให้เป็นจุดเด่นของบ้านห้วยสำราญ นักวิจัยไบโอเทคจากสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้เข้ามาปรับปรุงสายพันธุ์ปทุมมาด้วยเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และได้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาช่วยปรับแลนสเคป (Landscape) ของพื้นที่ ให้เหมาะสมกับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสมบูรณ์
ได้ออกมาเป็น ‘ปทุมมาสายพันธุ์ห้วยสำราญ’ ซึ่งเป็นความหวังของกลุ่มชาวบ้าน ที่อยากจะทำให้หมู่บ้านกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ
ความพิเศษของปทุมมาสายพันธุ์ห้วยสำราญ แน่นอนว่ายืนต้นทนฝนเป็นอันดับหนึ่ง ความสวยงามคือกลีบดอกหนา สีสีชมพูไล่เฉดแต้มแดงปนน้ำตาล ก้านช่อดอกแข็งแรง แตกหน่อ 3-4 หน่อต่อหัวพันธุ์ ทำให้เหมาะกับการเป็นไม้กระถางและไม้ประดับแปลง
ตอนนี้ทางชุมชนเริ่มลงดินเพื่อเปิดการท่องเที่ยวไว้ราวหนึ่งไร่ ในอนาคตลุงบุญแถมบอกว่า พยายามจะขยายให้ถึง 500-600 ไร่ ใช้ประโยชน์จากดอกปทุมมาเพิ่มเติมในการผลิตสินค้าชุมชนใหม่ๆ เช่น สบู่ นำสีมาสกรีนเสื้อชุมชน นำมาประกอบอาหาร ฯลฯ เพื่อให้สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี และสร้างอาชีพให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ท่องเที่ยวชุมชน = ท่องเที่ยวยั่งยืน ?
ตอนนี้บ้านห้วยสำราญเปิดพื้นที่สวนดอกปทุมมาให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมแล้ว เบื้องต้นจนถึงปลายเดือนตุลาคมนี้ ลุงบุญแถมบอกว่า เป็นการทดลองทำการท่องเที่ยว ซึ่งก็ยังมีอีกหลายอย่างมากที่จะต้องทำให้เป็นระบบ ไม่ว่าจะเรื่องค่าเข้าชม ห้องน้ำสำหรับบริการนักท่องเที่ยว
แผนของชุมชนก็ไม่ได้หมดลงแค่เพียงทุ่งดอกปทุมมาเท่านั้น ลุงบุญแถมและกลุ่มหมู่บ้านอยากจะทำให้ห้วยสำราญเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบครบวงจร มีโฮมสเตย์ของชาวบ้านรับรองนักท่องเที่ยว สร้างจุดชมวิวให้นักท่องเที่ยวมีจุดถ่ายภาพมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณอ่างเก็บน้ำของหมู่บ้าน ที่มีวิวต้นไม้สีเขียวแนวยาวเป็นฉากหลัง น่าจะเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำได้ หากจัดการดีๆ – ลุงบุญแถมหวังไว้อย่างนั้น
“วัยรุ่นอยู่ในหมู่บ้านเยอะ แต่ไม่ได้มีงานรองรับมากนัก ถ้าเราทำตรงนี้ก็คิดว่าสร้างอาชีพให้พวกเขาได้ และน่าจะดึงคนรุ่นใหม่ให้กลับบ้านมาทำงานร่วมกันได้ด้วย” ประธานวิสาหกิจชุมชน บอกเล่า
ในระยะหลัง โมเดลที่กลุ่มชุมชนรวมตัวกันจัดการการท่องเที่ยว ต้อนรับนักท่องเที่ยวเอง เริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น ชุมชนชากแง้ว ชลบุรี ที่นำจุดขายความเป็นจีนโบราณมานำเสนอนักท่องเที่ยว, หรือชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9 จังหวัดยะลา ที่ให้คนในชุมชนพานักท่องเที่ยวเที่ยวป่าฮาลาบาลา อะเมซอนแห่งประเทศไทย และร่วมทำกิจกรรมกับคนในชุมชน
ภาครัฐมีการกำหนดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2561-2565 เพื่อพัฒนาทักษะและทรัพยากรมนุษย์ในชุมชน โดยคาดหวังว่าการท่องเที่ยวชุมชนจะกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวที่หมุนเวียนในระบบปีละเกือบ 2 ล้านล้านบาท ให้ชาวบ้านได้โดยตรง
การท่องเที่ยวโดยชุมชน ถูกให้ความหมายว่าเป็นการการท่องเที่ยวที่บริหารจัดการโดยชุมชน และเป็นการท่องเที่ยวที่พัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำเสนอทรัพยากรหรือภูมิปัญญาของพื้นถิ่น โดยรักษาสมดุลระหว่าง รายได้ วัฒนธรรม และการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือพูดง่ายๆ ก็คือรักษาความ ‘ดั้งเดิม’ ของชุมชนให้ได้มากที่สุด
ใจความสำคัญก็คือ คนในชุมชนเจ้าของบ้าน และนักท่องเที่ยวคือเพื่อน ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
ซึ่งเทรนด์การท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดชุมชนได้รับความนิยมมากขึ้นในหลายปีให้หลัง ข้อมูลของ Expedia สำรวจว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเลือกจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว เป็นแหล่งชุมชนท้องถิ่นในเมืองรอง เช่น สกลนคร นครพนม น่าน มากขึ้น และมีอัตราการท่องเที่ยวลักษณะนี้ เพิ่มกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
และ Airbnb สำรวจเทรนด์การท่องเที่ยวในประเทศไทย ปี 2562 พบว่า 84% ของนักท่องเที่ยวต้องการท่องเที่ยวแบบใช้ชีวิต เหมือนคนท้องถิ่นและใช้จ่ายไปกับร้านอาหารในชุมชนมากที่สุด โดยคิดเป็นเงินกว่า 1.7 พันล้านบาท
หลายชุมชนสามารถทำได้สำเร็จ แต่หลายชุมชนก็ไม่ ซึ่งชุมชนห้วยสำราญก็ขอพนันความฝันไว้กับดอกปทุมมาในวันนี้