“ถึงบรรดาคนขาว นี่คือลิสต์ชุดฮาโลวีนที่ยอมรับได้—โจรสลัด นางพยาบาลสุดเอ็กซ์ ประธานาธิบดีคนไหนก็ได้จาก 43 คนที่ผ่านมา ส่วนอันดับหนึ่งของชุดฮาโลวีนที่ยอมรับไม่ได้—ฉัน”
นี่คือประโยคที่ Samantha White (Logan Browning) ใช้เริ่มต้นรายการวิทยุ ‘Dear White People’ ซึ่งกระจายเสียงในมหาวิทยาลัยวินเชสเตอร์ มหาวิทยาลัยไอวีลีค (สมมติ) แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
ที่เธอพูดเช่นนั้นเป็นเพราะมีกลุ่มนักศึกษาผิวขาวจัดงาน ‘black face party’ โดยชักชวนให้ผู้มาร่วมงานทาสีดำให้ทั่วหน้า (ชวนให้นึกถึงการแสดงตลก Minstrel Show ที่นักแสดงผิวขาวทาหน้าเป็นสีดำเพื่อล้อเลียนคนผิวสี โด่งดังในต้นศตวรรษที่ 19) ซึ่งทำให้เหล่าคนผิวสี รวมทั้งคนผิวขาวตรรกะดีในมหาวิทยาลัยโกรธขึ้ง
แซมเป็นนักกิจกรรมตัวท็อปที่นักศึกษาเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกันที่ทุกคนในมหาวิทยาลัยต้องรู้จัก เพราะเธอเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขาก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่เหตุผลที่มีน้ำหนักมากกว่าน่าจะเป็นเพราะที่นี่มีนักเรียนผิวสีอยู่เพียง 2% ของนักเรียนทั้งหมด แถมทุกคนยังถูกจับให้อยู่รวมกันในหอพักเดียว พอเกิดเหตุการณ์ black face party แซมจึงปลุกกระดมให้ผองเพื่อนร่วมหอลุกขึ้นมาประท้วงกับอธิบการบดีและทางมหาวิทยาลัย
ดูไปไม่กี่นาทีเราก็รู้แล้วว่าซีรีส์จากปลายปากกานักเขียนบท Justin Simien จะหยิบยกประเด็นหนักหน่วงอย่างการเหยียดเชื้อชาติมาตีแผ่ แต่ถึงอย่างนั้นซีรีส์ก็วางตัวเป็นคอเมดี้ที่ครบรสทั้งเรื่องความรัก (หลายเส้าซะด้วย) ความนก และมิตรภาพ เพราะตั้งแต่ EP แรก เราก็ได้รู้เรื่องหักมุมที่ว่า แซมแอบมีแฟนเป็นคนผิวขาว ซึ่งเมื่อเพื่อนๆ รู้ก็ช็อกไปตามๆ กัน โดยเฉพาะชายหนุ่มที่ตามจีบแซมมาตั้งแต่ปีหนึ่งอย่าง Reggie Green (Marque Richardson) ที่ต้องอกหักดังเป๊าะ
แต่ละตอนของซีรีส์จะเล่าเรื่องผ่านตัวละครหนึ่งตัว ดังนั้นเราจึงได้ทำความรู้จักตัวละครทุกตัวอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นจุดที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เพราะคนดูจะไม่เห็นตัวละครเป็นแค่กลุ่มคนผิวสี แต่จะได้สัมผัสความเป็นมนุษย์แต่ละคน ได้เห็นตัวตนและความคิดอันเป็นปัจเจก ได้เห็นอดีตเบื้องหลังที่ก่อร่างสร้างบุคลิกพวกเขาขึ้นมา รวมทั้งได้เห็นความพยายามในการหาที่ยืนของตัวเองในสังคมที่เชิดชูคนขาว
เราได้รู้จัก Lionel Higgins (DeRon Horton) นักศึกษาที่เขียนให้กับหนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัย ผู้เป็นเกย์แต่ไม่กล้าเผยตัว (คิดภาพว่าแค่เป็นคนผิวสีก็โดนเหยียดแล้ว ถ้าเผยตัวว่าเป็นเกย์ก็อาจโดนเหยียดในเหยียดเข้าไปอีก) Troy Fairbanks (Brandon P. Bell) ชายหนุ่มที่ภายนอกดูเพียบพร้อม แต่ลึกๆ แล้วมีปมที่อยากพิสูจน์ตัวเองกับพ่อผู้เป็นอธิการบดี และ Colandria ‘Coco’ Conners (Antoinette Robertson) หญิงสาวนักไต่เต้าทางสังคมผู้ใส่วิกเพื่อปกปิดผมที่หยิกตามธรรมชาติของเธอ—ตามธรรมชาติของคนผิวสี
ด้วยความแตกต่างหลากหลายของแต่ละตัวละคร เราจึงได้เห็นฉากที่พวกเขาทุ่มเถียงกันเอง เพราะต่างคนต่างตีความการเรียกร้องสิทธิหรือการทำกิจกรรมของคนผิวสีต่างกัน เช่น ทรอยกับโคโค่มองว่าควรแก้ไขระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากแซมและเรจจี้ที่คิดว่าทุกคนควรดับเครื่องชนออกไปประท้วงเดี๋ยวนี้เลย หรือด้านไลโอเนลก็ต่อสู้ด้วยตัวหนังสือตามแบบที่เขาถนัด นอกจากนี้การถกเถียงยังไปไกลถึงขั้นแบ่งพรรคแบ่งพวกระหว่างคนผิวสีที่ ‘ตื่นรู้’ แล้ว และคนที่ยังไม่ ‘ตื่นรู้’ เป็นการเสียดสี ‘อวิชชา’ (ignorance) ที่แม้แต่คนผิวสีเองก็ยังต้องก้าวผ่าน
ในฐานะคนไทยที่ดูแล้วอดเปรียบเทียบกับดูสถานการณ์บ้านตัวเองไม่ได้ เราชอบที่ซีรีส์นี้แสดงให้เห็นสิทธิเสรีภาพในการคิด การเขียน การพูด ไม่ว่าคุณจะเชื่ออะไร เลือกฝั่งไหน คุณก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของคุณออกมา จะออกมาเดินประท้วงเลยก็ไม่ผิด แต่ด้วยพื้นเพความเป็นอเมริกันที่ทุกคนมีฟรีสปีชเป็นสิทธิพื้นฐาน ตัวซีรีส์จึงหันไปเสียดสีเรื่องที่ทุกฝ่ายต่างก็เรียกร้องอะไรบางอย่าง ป่าวประกาศอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องนั้นจะเล็กหรือใหญ่ จะสำคัญหรือแค่จิ๊บจ๊อย จนทำให้การต่อสู้ของชาวแอฟริกัน-อเมริกันดูด้อยค่าลงไป ราวกับเป็นแค่เสียงเล็กๆ เสียงหนึ่งในบรรดาคลื่นเสียงที่เซ็งแซ่
จริงอยู่ที่ Dear White People เป็นเรื่องแต่ง แต่มันก็มีเงาความจริงซ้อนทับอยู่ ยกตัวอย่างกรณี black face party ซึ่ง Simien เล่าไว้ในบทความ Why did I named it “Dear White People?” ว่า ตอนแรกเขากลัวว่าปาร์ตี้นี้จะเสียดสีรุนแรงเกินไป จึงตัดมันออกจากบท แต่ไม่กี่เดือนต่อมาเขาได้อ่านบทความเกี่ยวกับปาร์ตี้ล้อเลียนคนผิวสีซึ่งจัดขึ้นที่ University of California San Diego เขาจึงใส่มันกลับเข้ามาในบทตามเดิม “…มันเป็นจุดไคลแม็กซ์ที่เหมาะสม และผมสามารถเล่ามันโดยอิงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง” และขอกระซิบไว้แบบไม่สปอยล์ว่า อีกหนึ่งไคลแม็กซ์ของเรื่องก็มีเค้าโครงจากเรื่องจริงอันน่าหดหู่ไม่แพ้กัน
แม้ประเด็นการเหยียดเชื้อชาติจะดูเข้ากับสถานการณ์ใน Trump’s America ตอนนี้สุดๆ แต่ความจริงแล้ว Simien เริ่มเขียนบทเรื่อง Dear White People ตั้งแต่ปี 2007 และสร้างมันเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2014 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับทั้งแง่ดีและแง่ลบ (คนขาวสาย Alt-Right กล่าวหาว่าเขาสนับสนุน reverse racism—การเหยียดคนผิวขาว และ white genocide—ความเชื่อที่ว่าชนชาติอื่นๆ พยายามจะลบคนผิวขาวออกไปจากโลก)
Simien พา Dear White People เวอร์ชั่นภาพยนตร์ไปฉายและจัดเสวนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเหล่านักศึกษามากๆ เข้า เขาก็ยิ่งอยากจะเล่าเรื่องนี้ให้ลึกลงไปอีก กว้างออกไปอีก จึงเป็นที่มาของเวอร์ชั่นซีรีส์ที่เพิ่งเปิดตัวใน Netflix เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง
ถ้านับจากวันเขียนบท Dear White People มีอายุครบ 10 ปีแล้ว แต่เรื่องเล่าของมันยังคงเป็นจริง ยังคงเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของคนผิวสีในอเมริกา ยังคงทันยุคทันเหตุการณ์
เช่นนี้ หากมองในแง่คุณภาพและคุณค่าต่อผู้ชม Dear White People สามารถขึ้นแท่นเป็นหนังและซีรีส์คลาสสิกได้เลยทีเดียว แต่หากมองในแง่สิทธิเสรีภาพ การต่อสู้ หรือสภาพชีวิตของคนผิวสี—มันน่าเศร้าที่มนุษยชาติไม่ก้าวไปไหนเลยเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว