“เรื่องของนิโกรในอเมริกา คือเรื่องของชาติอเมริกา แน่ละว่า มันไม่ใช่เรื่องที่สดสวย”
I Am Not Your Negro เป็นสารคดีที่พูดถึงประเด็นการมีอยู่ของคนผิวสีในอเมริกา การถูกตัดและเมินเฉยถึงการมีอยู่ของกลุ่มคนชาวนิโกร ซึ่งหลายครั้งความรู้สึกเหล่านั้นถูกเปลี่ยนไปเป็นความรุนแรง นำมาซึ่งความสงสัยที่ว่า พวกเขามีตัวตนอยู่ส่วนไหนในความเป็นชาติของอเมริกา
สารคดีนี้ได้นำเอาส่วนหนึ่งของจดหมายที่นักเขียนผิวสี นาม เจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin) เขียนถึงเอเจนซี่ของเขาในปี ค.ศ. 1979 เพื่อบอกเล่าถึงโปรเจกต์หนังสือเล่มใหม่ชื่อ Remember This House ซึ่งเขาต้องการจะเขียนเพื่อระลึกถึงเพื่อนทั้งสามคนของเขาที่ถูกลอบสังหาร และในสามคนนั้นแน่นอนว่ามีบางชื่อที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดี นั่นคือ เมดการ์ อีเวอร์ส, มัลคอล์ม เอกซ์, และมาติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์
เจมส์ บอลด์วิน ได้ลาจากโลกนี้ไปเมื่อปี ค.ศ. 1987 และปล่อยให้หนังสือ Remember This House ของเขาถูกทิ้งร้าง เหลือไว้เพียงร่างต้นฉบับเพียง 30 หน้า แต่อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับสารคดีอย่าง ราอูล เพ็ค (Raoul Peck) นั้น ไม่ต้องการให้ปณิธานของเจมส์สูญสลายหายไป ราอูลจึงเลือกที่จะสานต่อความตั้งใจนั้น แล้วถ่ายทอดมันออกมาในรูปแบบสารคดี โดยมีน้ำเสียง (voice over) ของ แซมูเอล เอล. แจ็คสัน นักแสดงผิวสีชื่อดังระดับฮอลลีวู้ด คอยดำเนินเรื่อง
“ถ้ามีคนขาวสักคนพูดว่า ‘มอบเสรีภาพให้ผม ไม่งั้นก็ฆ่าผมซะ’ โลกคนขาวจะปรบมือให้
แต่ถ้าคนดำพูดประโยคเดียวกันนั้นบ้าง
เขาจะถูกพิพากษา และได้รับการปฏิบัติราวอาชญากร
และจะถูกทำทุกวิถีทาง เพื่อให้นิโกรเลวๆ นี่เป็นตัวอย่าง จะได้ไม่มีใครกล้าทำแบบมันอีก”
เมื่อหนี้สินถึงเวลาต้องจ่ายคืน
ทุกอย่างเริ่มต้นที่จดหมายฉบับแรก น้ำเสียงอันโศกเศร้าของแซมูเอลอ่านจดหมายที่เจมส์เขียนถึงเอเจนซี่ บอกเล่าถึงความรู้สึกเสียใจจากการเสียชีวิตของเพื่อนรักของเขา เมดการ์ อีเวอร์ส ชายหนุ่มนิโกรนิสัยดี ที่ถูกผลักให้เป็นจำเลยต่อภาวะแบ่งแยกสีผิวในอเมริกา
ในขณะนั้นเจมส์ยังใช้ชีวิตเป็นนักเขียนอยู่ในประเทสแถบยุโรป เขาเลือกที่จะต่อต้านผิวการเหยียดผิวผ่านงานเขียน และคอยสนับสนุนเพื่อนร่วมอุดมการณ์อยู่ห่างๆ แต่ด้วยการจากไปของเพื่อนรัก ทำให้เขารู้สึกเป็น ‘หนี้’ ภาระติดค้างที่เขาไม่ได้ชำระจากการละทิ้งการต่อสู้เรื่องสีผิวร่วมกันกับเพื่อนในดินแดนอเมริกา และไม่ได้มีแค่เขาเพียงคนเดียวที่ต้องจ่าย แต่ยังรวมไปถึงชาวอเมริกันผิวขาวที่ต้องชดใช้ ‘หนี้’ ในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ด้วย
“คนขาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่ผมเจอ ไม่ได้ชิงชังนิโกรเลย เรื่องนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่มันคือความเพิกเฉยต่างหาก คุณไม่รู้ว่าอีกด้านของโลกเกิดอะไรขึ้น เพราะคุณไม่ต้องการรับรู้”
ความเกลียดชังไม่ใช่ปัญหา ที่สำคัญกว่าคือความเพิกเฉย
สารคดีนำเนินต่อ ในจุดที่เจมส์เลือกกลับมายังอเมริกา เขาได้พบเจอกับ มัลคอล์ม เอกซ์ (Malcolm X) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวอเมริกันมุสลิมผิวดำ แม้ทั้งสองจะอยู่ฝั่งเดียวกัน แต่พวกเขาแตกต่างในแนวคิดและวิธีการ มัลคอล์มมีแนวคิดว่าการเฝ้ารอให้คนอเมริกันผิวขาวเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคนดำนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ การจะต่อสู้ให้ชนะในศึกของหารเหยียดผิว คนดำไม่ควรนิ่งเฉย และต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างให้คนผิวขาวตระหนักถึงเรื่องนี้
เจมส์เห็นต่างในเรื่องนี้ เขามองว่าคนดำไม่จำเป็นต้องต่อสู้เลย และสงครามการเหยียดผิวนี้จะไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ หากคนอเมริกันผิวขาวตระหนักถึงการมีอยู่ และยอมรับความเป็นคนของคนผิวสี สิ่งนี้ไม่ใช่แค่ลักษณะทางกายภาพของสีผิวที่แสดงออกมาภายนอกที่คนขาวต้องยอมรับ แต่รวมถึงความคิดด้วยที่ต้องเปลี่ยน ความ ‘ชิงชัง’ นิโกรในคนขาวไม่ได้มีนัยสำคัญมากเท่ากับการที่คนขาวไม่เคยได้ ‘รับรู้’ เรื่องราวของคนดำ เพราะชีวิตของทั้งสองฝั่งถูกแบ่งแยกกันชัดเจน สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา
แม้ทั้งสองคนจะมีความเห็นที่ต่างกัน แต่ทั้งคู่ก็เคารพในความคิดเห็นของกันและกัน และร่วมงานด้วยกันหลายครั้ง และเมื่อถูกฆาตกรรมของ มัลคอล์ม เอกซ์ ข่าวการจากไปครั้งนี้ได้พาให้เจมส์ต้องสัมผัสกับความโศกเศร้าอีกครั้ง และการตายของเพื่อนครั้งนี้เป็นเหมือนการตอกย้ำถึงจุดประสงค์ที่เขาเลือกกลับมาอเมริกา
“พวกเขาเคยต้องใช้เราเก็บฝ้าย และตอนนี้พวกเขาไม่ต้องการเราแล้ว พวกเขาจะฆ่าเราทิ้งให้หมด”
นิโกรคือประวัติศาสตร์ คือชนชาติแห่งอเมริกา
เมื่อมาถึงจุดนี้เราจะได้ภาพกว้างของมุมมองที่เจมส์ต้องการจะสื่อ ความรู้สึกแปลกแยกที่คนนิโกรในอเมริกาไม่อยากรับแต่ต้องเผชิญ เจมส์ต้องการให้เราเห็นถึงการ ‘เพิกเฉย’ อันร้ายแรงที่คนขาวสร้างไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แม้ในอดีตคนดำจะเป็นเพียงทาส ถูกจำกัดขั้นอยู่ที่แค่ชนชั้นแรงงาน แต่คนเหล่านี้ก็คือส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างประเทศอเมริกา แม้จะเคยเป็นเบี้ยล่าง ทั้งนี้พวกเขาก็เป็นเบี้ยตัวสำคัญที่ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้
“มีหลายครั้งที่คุณนึกสงสัย ว่าบทบาทของคุณในประเทศนี้คืออะไร และอนาคตแบบไหนที่คุณมีที่นี่ คุณจะประนีประนอมได้อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ คุณจะสื่อสารอย่างไรกับคนขาวที่ไม่สนใจไยดี ไม่ยั้งคิด และโหดร้าย”
การไม่ยอมรับถึงการมีอยู่ของคนดำถือเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับเจมส์ เพราะนี่เป็นเหมือนการปฏิเสธเพื่อนร่วมชาติ การขับไสไล่ส่งพี่น้องด้วยกันเอง การทำลายปฏิสัมพันธ์ที่มิอาจปฏิเสธได้ ถ้าคนผิวขาวเลือกที่จะทำร้ายและฆ่าคนดำ นั่นก็เท่ากับพวกเขาฆ่าคนในครอบครัวขอตนเอง
และแน่นอน แม้ว่า มาติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ เพื่อนผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนดำ ของเจมส์จะเป็นอีกคนถูกลอบสังหาร ไม่ว่าความหนักอึ้งในความโศกเศร้าจะคอยทับถมและลดทอนเรี่ยงแรงในการต่อสู้เพื่อนิโกรของเจมส์มากแค่ไหน เขาก็ยังคนแน่วแน่ในความคิดของเขาเสมอ ว่าเขาเลือกที่จะเป็นคนของชาติอเมริกา ไม่ใช่นิโกรของชาติอเมริกา
“สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องทำคือ เสาะหาด้วยสำนึกในจิตใจว่า ทำไมพวกเขาถึงจำเป็นต้องมี ‘นิโกร’ ตั้งแต่ต้น
ผมไม่ใช่นิโกร ผมเป็นมนุษย์ แต่ถ้าคุณคิดว่าผมเป็นนิโกร นั่นแปลว่าคุณต้องการให้ผมเป็นแบบนั้น…
คุณคนขาวต่างหากที่สร้างคำนี้ขึ้นมา และคุณต้องหาคำตอให้พบว่าเพราะอะไร และอนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับคำตอบนั้น”
สารคดีได้นำพาเราไปสัมผัส ‘ความเป็นคนดำ’ ในหลากหลายแง่มุมผ่านตัวละคร เรื่องเล่า รูปภาพ ฟุตเทจ และเสียงเพลง ที่ตัดสลับไหลเข้ามาในหัวคล้ายความทรงจำ จนเราแทบจะรู้สึกว่า เราคือนิโกรคนหนึ่ง เราจะได้ยินเสียงของแซมูเอลนักพากษ์ผิวดำ ได้ยินเสียงเพลงแจ๊ซ และมีภาพขาวดำที้เน้นย้ำถึงความแตกต่างของเฉดสี ที่สื่อถึงความชัดเจนในประเด็นของการแบ่งแยกสีผิว จะจะรับรู้มุมมองของคนดำผ่านเรื่องราว โดยเฉพาะความคิดของเจมส์ บอล์ดวิน
ณ จุดสุดท้าย แม้เราจะไม่ได้เป็นนิโกรและอยู่ในอเมริกา แต่เราจะได้รับรู้ เข้าใจ และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคนนิโกรได้ เพราะคำว่า ‘นิโกร’ เป็นเหมือนคำที่ใช้เรียกคนที่ถูกสังคมส่วนใหญขับไสไล่ส่ง ทั้งๆ ที่คนคนนั้นไม่ได้เต็มใจ แน่นอนว่าเรื่องราวเช่นนี้ไม่ได้เกิดกับที่อเมริกาแค่ประเทศเดียว