เรื่องราวในหนังแทบทั้งหมดของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ไม่เคยหนีไปจากบริบทของสังคมไทยร่วมสมัย
แม้จะเลือกพูดถึงมันอย่างอ้อมๆ หากแต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ เขาจัดวางตัวละครลงไปในเนื้อของสังคมการเมืองไทยอย่างชัดเจน—สังคมที่กำลังอยู่ในภาวะสับสน มืดมน คลุมเครือ และเต็มไปด้วยความสงสัยในสิ่งที่เป็นอยู่
เราอาจจะเคยเห็น กลุ่มวัยรุ่นที่ตั้งคำถามอย่างเข้มข้นกับความเป็นไทย โดยมีพื้นหลังเป็นเหตุการณ์คืนวันสลายการชุมนุมใน ‘ตั้งวง’ รวมถึงเรื่องราวช่วงรัฐประหาร 2557 เมื่อลูกสาวนายพลที่กำลังจะแต่งงาน เผชิญกับความสับสนหลังกลับไปค้นหาอดีตของตัวเองผ่านเรื่อง ‘Snap…แค่ได้คิดถึง’
เช่นเดียวกับ ‘Where We Belong’ ผลงานกำกับเรื่องล่าสุดของเขา ที่ได้ เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ และ มิวสิค—แพรวา สุธรรมพงษ์ สองสมาชิกจากวง BNK48 มาเป็นนักแสดงหลักของเรื่อง เขาตั้งใจที่จะให้เด็กสาวทั้งสองช่วยสะท้อนถึงภาวะความแปลกแยกที่คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยกำลังเผชิญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
เรามีนัดคุยกับคงเดชในออฟฟิศแห่งหนึ่งใจกลางย่านทองหล่อ วันนี้ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ฝนตกหนักราวกับพายุกำลังถล่มใส่กรุงเทพฯ สำหรับคงเดชแล้วภาพสังคมไทยใน Where We Belong ก็คงจะมืดหม่นไม่ต่างกันมากนัก
วัยรุ่นยุคนี้ถูกทำให้แบกโลกไว้หนักจนเกินไป
ความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับสังคมใดๆ ก็ตามที่ห้อมล้อมตัวเองอยู่ คือประเด็นที่ติดแน่นอยู่กับตัวคงเดชมาตลอดหลายปี
แม้มันจะเป็นประเด็นที่เขาสนใจมาตลอด แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ใช้หนังเรื่องใดช่วยสื่อสารมันออกไปได้จริงจังเท่ากับ Where We Belong
“เราไม่เคยรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของอะไรเลย เราไม่เคยรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของวงการอะไรมาโดยตลอด หรือเขียนหนังสือก็ไม่รู้สึกว่าเป็นนักเขียน เคยมีวงดนตรีก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักดนตรี ทำหนังสตูดิโอก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของหนังประเภทนั้น
“มันก้ำๆ กึ่งๆ อยู่ตลอดเวลา เราไม่ได้ Fit in กับสิ่งต่างๆ สักเท่าไหร่มานานมากแล้ว ทั้งกับครอบครัว กับพ่อแม่พี่น้องด้วยก็ตาม เรารู้สึกว่าเขาไม่น่าเข้าใจเราเท่าไหร่ อาจจะด้วยวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป จนถึงทุกวันนี้พ่อแม่เราก็ยังไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่”
เมื่อได้รับติดต่อมาจาก BNK48 ที่ให้โอกาสเลือกสมาชิกในวงไปร่วมโปรเจ็กต์หนังเรื่องใหม่ คงเดชจึงพบว่า มันคือจังหวะที่เหมาะสมที่สุดแล้วที่ Where We Belong จะเกิดขึ้นมา
“มันเป็นประเด็นที่อยู่กับเรามา 4-5 ปีแล้ว แต่เราไม่ได้นำมาใช้เป็นพล็อตหนังเลย คำนี้มันเป็นคำที่พูดถึงความรู้สึกไม่ Fit in ที่เกิดขึ้นกับเรามาทั้งชีวิต เราไม่เคยหยิบสิ่งนี้มาทำเป็นพล็อตหนังอย่างจริงจังเลย ก่อนหน้านี้ก็จะเป็นเรื่องของหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่อายุมากกว่านี้ ซึ่งเราเคยเขียนๆ ไว้แหละ แต่ก็ลืมๆ มันไป
“จริงๆ ตอนแรกไม่ได้คิดคอนเซ็ปต์อะไร ได้แต่โจทย์ว่าคุณต้อม (จิรัฐ บวรวัฒนะ ผู้บริหารวง BNK48) เขาอยากทำหนังที่ BNK48 เล่น แต่จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ โจทย์ที่แน่ๆ คือต้องใช้ใครสักคนจาก BNK48 ซึ่งเป็นเด็กสาว เราก็เลยมานั่งคิดใหม่ได้ว่า จริงๆ แล้วเด็กสาววัยนี้น่าจะมีความรู้สึกกับคำว่า Where We Belong มากเป็นพิเศษด้วยซ้ำ เพราะว่าเพิ่งเรียนจบ หรือด้วยชีวิตที่กำลังเคว้งคว้าง”
เขาเลือกให้ เจนนิษฐ์ รับบทเป็น ‘ซู’ เด็กสาวที่กำลังตัดสินใจเดินทางจากบ้านเกิด ไปสู่เมืองต่างประเทศที่เธอคิดว่ามันน่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า ส่วนมิวสิค รับบทเป็น ‘เบล’ เพื่อนสนิทที่พร้อมช่วยเหลือซูได้ทุกอย่าง
แม้ว่าลักษณะนิสัยของซูและเบลจะต่างกัน คนหนึ่งรักตัวเอง คิดถึงตัวเองเป็นหลัก ขณะที่อีกคนมองเห็นคนอื่นมากกว่าตัวเอง ทว่า ทั้งสองตัวละครนี้ก็มีจุดร่วมที่สำคัญ คือการเป็นวัยรุ่นภายใต้เงื่อนไขที่พวกเธอไม่สามารถเลือกชีวิตของตัวเองได้มากนัก และต้องเผชิญกับคำถามใหญ่ที่ว่า ชีวิตของเราเป็นของเราเองแค่ไหน
“เรามีคำถามใหญ่ครอบลงไปในหนังอีกชุดหนึ่ง มันคือการตั้งคำถามว่า เราเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองอย่างสมบูรณ์แค่ไหน แม้แต่ร่างกายของเรา เราเป็นเจ้าของมันจริงๆ แค่ไหน”
คงเดช เชื่อว่า ชีวิตวัยรุ่นในยุคสมัยนี้ ก็ไม่ต่างจากเบลและซูเสียเท่าไหร่ ชีวิตวัยรุ่นที่หลายสิ่งหลายอย่าง เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของคนอื่น
“เพราะเราอยู่ในประเทศแบบนี้ที่มีคนตัดสินใจแทน แม้กระทั่งทรงผมของเด็กนักเรียนก็จะมีคนคิดให้ว่าแบบไหนมันดีที่สุด แม้แต่ร่างกายเรา บางทีก็ไม่ใช่ของเรา”
ไม่ใช่แค่ชีวิตที่ (ถูกทำให้) เลือกไม่ได้ หากยังรวมถึงการถูกทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยก คงเดชเชื่อว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้สภาพสังคมที่ความขัดแย้ง และสื่อโซเชียลมีเดียกำลังมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นอย่างรุนแรง
“เพราะสมัยก่อนสื่อไม่ได้เยอะขนาดนี้ แต่ทุกวันนี้ไถหน้าจอไปก็เจอเรื่องเยอะไปหมด แล้วเป็นเรื่องคอขาดบาดตายทุกเรื่องเลยนะ อาจจะเพราะว่า มีความคิดเห็นพ่วงตามมาด้วยแหละ เมื่อสื่อมันตามมาพร้อมกับความเห็นที่ท่วมเข้ามา ความเห็นเหล่านั้นมันบั่นทอนกันได้โดยไม่รู้ตัว
“เราถูกทำให้ตัวเองโดดเดี่ยวมากขึ้น คือบางทีเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับฝ่ายนี้ แล้วเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับอีกฝ่ายเหมือนกัน แต่เราต้องนิยามตัวเองว่าเราเป็นอะไรหรือเป็นฝ่ายไหน ซึ่งจริงๆ แล้ว มันควรจะเลือกกันเป็นเรื่องๆ ไปรึเปล่า สมัยก่อนเราก็สามารถดีลกับเรื่องแบบนี้ได้ คือดูข่าวแล้วมาคุยกันได้ แต่สมัยนี้สำนักข่าวมันเยอะมาก แล้วเต็มไปด้วยความเห็น คือการแสดงความคิดเห็นมันเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วนะ แต่การบริโภคความคิดเห็นไปด้วย มันหนักมากนะ
“เราคิดว่ามันคือความรู้สึกร่วมสมัยที่มากขึ้น ยิ่งกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่โลกทั้งใบมันมากองตรงหน้ามากขึ้น มันเกิดความรู้สึกที่อ่อนไหวกว่าเดิมขึ้น เด็กเพิ่งจบใหม่ๆ ฝีมือดีๆ เขาก็ไม่ได้รับความสนใจ ถูกทำให้คิดว่าเก่งเท่าไหร่ก็เก่งไม่พอ ซึ่งจริงๆ คนรุ่นเราไม่เคยมีอะไรแบบนี้นะ โลกมันเล็กลงมา แต่กลายเป็นว่ามันอัดแน่นมากในความรู้สึก ชีวิตทั้งชีวิตมันกองอยู่ตรงหน้าคนรุ่นใหม่มากขึ้น มันทำให้เขารู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยวมากขึ้น ความพยายามที่จะหาที่ๆ เป็นของเรา หรือพยายามสร้างพื้นที่ สร้างกลุ่มสร้างก้อนระหว่างกัน มันเลยเป็นสิ่งที่ร่วมสมัย”
คงเดชยืนยันว่า ในช่วงวัยรุ่นเขาเองก็เคยเจอภาวะสับสนและตั้งคำถามต่ออนาคตของตัวเอง เมื่อมาถึงยุคนี้ รูปแบบมันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
“มันเป็นการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เราคิดว่ามันเป็นความรู้สึกแบบที่รับมือไม่ทัน ต่อให้มีเวลาก็รับมือไม่ทันอยู่ดี เพราะทุกอย่างมันเข้าในโลกของเขาเร็วและเยอะมาก คือในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรื่องแม่งเยอะกว่า 20 ปีที่ผ่านมาอีกนะ
“ยุคของเราตอนเป็นวัยรุ่นมันก็สับสน วัยรุ่นยุคนี้แบกโลกไว้หนักกว่ายุคเราเยอะ ยิ่งมองไปก็ยิ่งสิ้นหวัง ตัวเราเองก็เป็นคนที่มองมนุษย์แบบสิ้นหวังอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นคนที่ Feel Good เราเลยยิ่งรู้สึกว่าการเป็นวัยรุ่นยุคนี้มันหนักว่ะ”
ชีวิตวัยรุ่นกับการแบกรับความคาดหวัง
อย่างที่เขาอธิบายไว้ว่า ประเด็นหลักที่ Where We Belong ต้องการชวนพวกเราตั้งคำถามคือชีวิตของเรานั้น เราเป็นเจ้าของจริงๆ แค่ไหน หนึ่งในปัจจัยสิ่งนำไปสู่ประเด็นดังกล่าว คือการต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความคาดหวังของครอบครัว คนรอบข้าง กระทั่งความคาดหวังที่วัยรุ่นมีต่อตัวเอง
“หนักสุดที่คือการคาดหวังกับตัวเอง แล้วก็รู้สึกผิดหวังกับตัวเองได้ง่ายขึ้น เพราะการบริโภคความคิดเห็น และการท่วมของข้อมูล รวมทั้งการถูกเปรียบเทียบตลอดเวลา เช่น เพื่อนที่เรียนจบพร้อมกัน แต่เขาได้ทำอะไรมากกว่าเราซึ่งสมัยก่อน เวลาเราเรียนจบ เราก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกเลย
“มายุคนี้คือ มันคือการหมกมุ่นในแบบที่มีคนนับล้านมาเปรียบเทียบกับเรา คือต่อให้เก่งในประเทศ ก็ยังมีเก่งที่สุดในต่างประเทศอีก มันก็เลยเจ็บปวดและผิดหวังได้ตลอดเวลา”
เมื่อมาคุยกันถึงตรงนี้ เรากับเขาเห็นตรงกันว่า สุดท้ายแล้วการเป็นวัยรุ่นในยุคสมัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะกับการที่พวกเขากำลังอยู่ภายใต้เงื่อนไขชีวิตที่มากมาย
“เพราะแบบนี้รึเปล่า คำพูดประมาณว่า จงเป็นตัวของตัวเอง มันเลยไม่ได้ทำให้อะไรๆ มันดีขึ้นได้” เรายิงคำถามนี้ออกไปเพื่อชวนเขาคุยต่อ
“ใช่ เพราะผู้ใหญ่ยังไม่ได้เป็นตัวของตัวเองเลย เงื่อนไขมันเยอะเกินไป และเราก็มีชีวิตอยู่อย่างนี้กันมาตลอด คำพูดประเภทนี้เป็นการคอยไว้ให้กำลังใจตัวเอง แต่มันไม่มีสิ่งนั้นอยู่จริง นี่ก็คือทัศนคติที่เรามีกับโลกนี้นะ ซึ่งพูดไปเรื่อยๆ ก็จะสิ้นหวังเรื่อยๆ” คงเดช ตอบพร้อมกับหัวเราะให้กับความดาร์คของตัวเขาเอง”
แม้ว่าจะดาร์คมากแค่ไหน และชีวิตอาจเลือกไม่ได้ตามที่ต้องการขนาดนั้น คงเดชยังเชื่อมั่นในคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน แม้มันจะมีส่วนทำให้เราไม่สามารถเลือกชีวิตของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ก็ตามที “ตราบใดที่เราไม่ได้อยู่คนเดียว และยังต้องยึดโยงกับคนอื่นอยู่ ไม่ว่ายังไงเราก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของตัวเองได้อย่างแท้จริง คือฟังดูแล้วก็หนักมากนะ”
ยิ่งคุยไปความมืดหม่นก็เริ่มปกคลุม ไม่ใช่แค่ประเด็นที่เขากำลังอธิบาย เพราะยังรวมถึงบรรยากาศภายนอกที่ท้องฟ้ายิ่งมืดครึ้มมากขึ้นกว่าเดิม
“เมื่อเป็นอย่างนี้ หนังที่ออกมามันจะสิ้นหวังไหม” เราถาม
“ต้องลองไปดูเอง” เขาหัวเราะเสียงดัง “หนังมันก็ไม่ได้เบา อาจจะเห็นภาพโปรโมทที่มันทัชคนหน่อย แต่จริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นความรู้สึกของเด็กร่วมสมัย แต่มันก็เป็นแบบนี้ เราก็ผ่านความเจ็บปวดมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันไม่ได้หมายความว่า ถ้าเราแก่แล้วเราจะไม่เจอกับความเจ็บปวดอีก เราเลยอยากรู้มาก ว่าเจนนิษฐ์กับมิวสิคจะพูดถึงหนังยังไงบ้างเวลาที่เราไม่อยู่ เช่น สนุกหรือเศร้ายังไงบ้าง”
ซูและเบล : การทำงานร่วมกับ BNK48
ถ้าว่ากันด้วยตัวเนื้อเรื่อง Where We Belong ขับเคลื่อนด้วยบทของซูที่เจนนิษฐ์เล่นเป็นหลัก คงเดชวางบทให้ซูคือภาพตัวแทนของคนที่หมกมุ่นกับตัวเองเป็นส่วนใหญ่
“เราโฟกัสให้ซูเป็นตัวละครหลักที่สุดของเรื่อง ซึ่งซูก็จะเป็นคนที่หมกมุ่นกับตัวเอง มีเหตุผลของตัวเองที่ต้องคิดต้องทำสิ่งต่างๆ ความทุกข์ของซูจะเป็นแบบที่ถามตัวเองว่า จะมีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่นี้ไปได้อีกนานแค่ไหน หรือต้องทนกับสิ่งที่เรามีอยู่นี้จริงๆ เหรอ”
ส่วนเบลที่รับบทโดยมิวสิค คือตัวละครที่เห็นแก่คนอื่นมากกว่าตัวเอง ซึ่งก็มีความเศร้าในฐานะของคนที่สนใจคนอื่นจนเกินไปด้วยเหมือนกัน
“เบลเป็นคนที่เห็นแก่คนอื่น คือเห็นแก่ตัวเองน้อย พอเป็นแบบนั้นก็จะมีความเศร้าอยู่คือแบกความรู้สึกไว้ และทนแบกมันไปเรื่อยๆ นึกออกไหม ขณะที่คนเห็นแก่ตัวก็จะพยายามดิ้นรนแล้วก็หนีไป หรือหาที่ไหนสักที่ที่มันจะดีขึ้น ซึ่งที่นั่นเราก็รู้ว่าไม่มีอยู่จริง เบลจะเป็นคนที่มองคนอื่นมากกว่าตัวเองเสมอเลย ซึ่งก็มีความทุกข์ที่ต้องแบกรับนะ แต่มันปฏิเสธตัวเองไม่ได้ก็เพราะตัวเองเป็นคนแบบนั้น
คงเดชตั้งใจให้ซูและเบล เป็นตัวละครที่พยายามถ่วงดุลกันและกัน เมื่อหนึ่งคนให้ความสำคัญกับตัวเอง และอีกคนเข้ามาช่วยให้กับมองแต่ตัวเองนั้นลดลง บทของเบลในเรื่องนี้จึงสำคัญไม่แพ้ซูเลย
“ในชีวิตเราจะเป็นอย่างนี้เสมอนะ เมื่อเราเห็นแก่ตัวมากๆ มันจะมีใครสักคนที่เห็นแก่คนอื่น และจะมาคอยบาลานซ์อยู่ ซึ่งเราก็สนใจความสัมพันธ์ของเด็กผู้หญิงที่แต่ไหนแต่ไรมา เพื่อนผู้หญิงด้วยกันที่คนหนึ่งรักอีกคนมากกว่าอีกคน แล้วไม่ว่ายังไงก็ไม่สามารถรักอีกคนไปได้มากกว่านี้ ส่วนอีกคนทำให้ได้ทุกอย่าง ซึ่งเราสนใจและอยากบันทึกความรู้สึกแบบนี้
“ความสัมพันธ์ของมนุษย์มักจะเป็นแบบนี้เสมอนะ ด้วยภาวะและเงื่อนไขชีวิตที่ต่างกัน แต่ละคนก็ทำได้ดีที่สุดได้ไม่เท่ากันอยู่ดี”
เมื่อถามว่า ทำงานกับสมาชิกทั้งสองจากวง BNK48 เป็นอย่างไรบ้าง ผู้กำกับที่นั่งอยู่ตรงหน้าแทบจะตอบออกมาในทันที
“โคตรดีเลย คือตอนได้รับโจทย์ก็คิดว่า หาเด็กที่เล่นแล้วรอดก็พอ เพราะใน 50 กว่าคนต้องมีคนที่เล่นได้บ้างแหละ แล้วเราก็ไม่รู้จักใครเป็นพิเศษเลย เรารู้จัก BNK48 แบบมวลรวม รู้จักแค่เฌอปรางที่เคยผ่านหูมาบ้าง เรามาเริ่มทำความรู้จักเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมันก็เป็นข้อดีนะ เราเข้าไปแคสเลยทีละคนที่หลังเธียร์เตอร์ของ BNK48 แล้วแต่คิวที่เขาว่าง”
“เราไม่รู้เลยว่าแต่ละคนเป็นยังไง เราใช้วิธีทำความรู้จักกับเขาแบบที่แคสติ้งจริงๆ ที่เอาเด็กสาวที่ไหนไม่รู้มานั่งคุยเรื่องชีวิตกัน ไม่ได้ให้แสดงอะไรมากขนาดนั้น อาจมีให้ด้นบ้าง แต่มันเป็นการด้นบทหลังจากที่เรานั่งคุยกันไปสักพักแล้ว ทั้งเรื่องชีวิตวัยรุ่น สิ่งที่เขาแบกเอาไว้ หรือปมเรื่องเพื่อน และอีกต่างๆ นานา มันก็ทำให้เราได้รู้จักเด็กเหล่านี้ในแบบที่ไม่มีภาพอื่นมาบดบังก่อน เราเลยเห็นมิวสิคกับเจนนิษฐ์แบบที่เป็นตัวเองจริงๆ ไม่ใช่ มิวสิคหรือเจนนิษฐ์ BNK48”
สิ่งที่คงเดชประทับใจจากการทำงานร่วมกับมิวสิคและเจนนิษฐ์ คือการใช้เวลาพูดคุยกับพวกเธอในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่ง—ที่ไม่ใช่ไอดอล BNK48 ซึ่งชวนให้นึกถึงประโยคที่ทั้งคู่เคยบอกกับเราในบทสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า นี่คือบทที่พวกเธอได้เป็นตัวของตัวเองจริงๆ (หรือการสลัดภาพลักษณ์ไอดอลทิ้งไปซะ ตามคำอธิบายแบบเจนนิษฐ์)
“สองคนนี้เป็นคนที่เราคุยนานเป็นพิเศษตั้งแต่ตอนแคสติ้ง ซึ่งอินเนอร์ออกมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เราเห็นความเป็นซูและเบลตั้งแต่ตอนนั้นเลย เราเห็นความไม่พอใจ และการพยายามจัดการชีวิตต่างๆ นานา ซึ่งนี่คือต้นทุนที่สำคัญมากของทั้งสองคน ตอนแรกก็กังวลกับมิวสิค ที่ไม่เคยเล่นอะไรมาก่อน ส่วนเจนนิษฐ์เองก็ไม่ได้เล่นมานานแล้ว แต่พอเริ่มแสดงกัน เราโคตรเซอร์ไพรส์เลยนะ”
เมื่อเดินทางมาถึงท้ายบทสัมภาษณ์ โดยส่วนใหญ่แล้วการพูดคุยกับผู้กำกับ มักจบลงด้วยช่วงคำถามบังคับ เช่น อยากฝากอะไรให้กับคนที่กำลังจะไปดูหนังบ้าง ซึ่งครั้งนี้เราก็ขอเดินตามขนบแบบนั้นเช่นกัน
“หนังเราคงไม่ได้ป้อนคำตอบ หรือคำคมอะไรให้กับคนดูหรอก แต่คิดว่าคนดูจะได้รับรู้ความรู้สึกร่วมสมัยอะไรบางอย่าง มันคือความรู้สึกของการไม่ Belong ต่อโลกนี้และสิ่งที่แต่ละคนต้องเลือก
“ช่วงนี้อาจจะรู้สึกอินได้มากหน่อย กับคำถามที่ว่าเราได้เลือกไหม เราได้เลือกจริงรึเปล่า หรือเราเลือกไม่ได้เพราะเขาเลือกให้เรามาแล้ว
“ไม่ก็ถูกเขาแกล้งทำเป็นว่าให้เราได้เลือก”
อ่านบทสัมภาษณ์ มิวสิคและเจนนิษฐ์ จากหนังเรื่องนี้ได้ที่ : https://thematter.co/pulse/where-we-belong-bnk48-interview/78967