จะเป็นยังไง ถ้าผู้พิพากษาจากนรกลุกขึ้นมาพิพากษามนุษย์บนโลก? แถมผู้พิพากษาของเราก็สวยสับ มั่นใจ และจัดการคนร้ายได้อย่างถึงใจ ด้วยวิธีการการลงทัณฑ์แบบส่งตรงจากยมโลก
นี่คือเรื่องราวการขึ้นมาตัดสินคดีบนโลกมนุษย์จาก The Judge from Hell ซีรีส์เรื่องใหม่สุดเท่ ที่เอาปกรณัมคือกรีก และความเชื่อเรื่องนรกจากวรรณคดีสำคัญอย่าง Divine Comedy และตำนานปีศาจ ขึ้นมาเป็นซีรีส์แนวสืบสวนเหนือธรรมชาติ ครั้งนี้เราได้ผู้พิพากษาสาว ‘คังพินนา’ รับบทโดยพัคชินฮเย (Park Shin Hye) ที่แท้จริงแล้วคือจัสติเทีย (Justitia) เทวีแห่งความยุติธรรม ซึ่งในเรื่องนี้วาดให้เป็นปีศาจที่ทำหน้าที่ตัดสินบาปของดวงวิญญาณมนุษย์เพื่อส่งไปยังนรกขุมต่างๆ
ตัวเรื่องจึงมีความน่าสนใจจากการเปิดประตูนรก ประตูสำคัญที่ดันเต้ จาก Divine Comedy เดินทางผ่านประตูดังกล่าวที่สลักคำว่า ‘Abandon all hope, ye who enter here.’ ความสนุกหนึ่งของเรื่องนี้คือการให้เทวีแห่งความยุติธรรมเป็นหนึ่งในปีศาจ ด้วยภารกิจจากการตัดสินผิดพลาดของเธอ ปีศาจแห่งการพิพากษาต้องขึ้นมาจัดการ และส่งดวงวิญญาณคนบาปที่ฆ่าคนตายไปยังนรกที่เรียกว่า เกเฮนนา ซึ่งตัวเรื่องค่อนข้างนำแนวคิดเรื่องความยุติธรรม การสำนึกบาป และเปิดเปลือกความเป็นมนุษย์ ผ่านการใช้สายตาของความเป็นปีศาจสาวสุดสวยได้อย่างน่าสนใจ
ความน่าสนใจที่สุดของ The Judge from Hell คือการแปลงตำนานเกี่ยวกับนรกขึ้นมาแฝงตัวบนโลกมนุษย์ นอกจากเทวีจัสติเทียแล้ว เรายังได้เห็นกลุ่มปีศาจที่ทำหน้าที่อยู่ในนรกด้วย ซึ่งครั้งนี้เหล่าปีศาจจะรับภารกิจสำคัญในการจัดการ และทำให้การพิพากษาคนบาปเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยหลายชื่อเป็นชื่อที่เราคุ้นเคย เช่น วาลัค (Valak) ปีศาจจากซีรีส์ The Nun ปีศาจบาอัล(Baal) ที่ก็อาจจะเคยได้ยินจากตำนานต่างๆ หรือไพมอน (Paimon) ราชาแห่งความรอบรู้ ที่คาดว่าเก็นชินอิมแพกต์นำไปตั้งเป็นชื่อตัวละครหลัก
เพื่อความสนุกในการติดตามกระบวนการพิพากษาของนรกบนโลก The MATTER จึงชวนไปรู้จักที่มาของเหล่าตัวละครจากนรก จากตำนานกรีกถึงตำราว่าด้วยตำนานปีศาจในคริสต์ศาสนา
Justitia เทวีแห่งความยุติธรรม – ผู้ถือตาชั่งและดาบ
ในเรื่อง ปีศาจที่เข้าสิงร่างคังพินาชื่อว่า จัสติเทีย โดยมีลักษณะมาจากเทวีแห่งความยุติธรรมหรือเทวี Justitia ตามความเชื่อแบบโรมัน เทวีแห่งความยุติธรรมมีที่มายาวนานเชื่อมโยงตั้งแต่สมัยอิยิปต์และกรีกโบราณ เช่นการถือตาชั่ง ซึ่งสัมพันธ์กับการพิพากษาด้วยตาชั่งในสมัยอิยิปต์โบราณ เทวีแห่งความยุติธรรมจึงเป็นภาพที่เราเห็นโดยทั่วไป เป็นตัวแทนของศาลยุติธรรม และการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งเทวีดังกล่าวจะถือดาบไว้ในมือหนึ่ง และอีกมือหนึ่งชูตาชั่ง ดวงตาทั้ง 2 ข้างถูกปิดไว้เพื่อประกันความยุติธรรมที่เธออำนวย
อันที่จริงเทวีแห่งความยุติธรรมเวอร์ชั่นเกาหลีฉบับปีศาจ ค่อนข้างเลือดร้อนและเอาแต่ใจ ดาบในมือที่เอาไว้ประหัตประหารคนบาป จริงๆ คือใช้แทงคนตาย และส่งไปยังนรกที่เรียกว่า เกเอนนา
Valak ปีศาจระดับประมุข – สามารถบอกตำแหน่งสมบัติและให้พลังในการควบคุมงู
วาลัค หรือ แวแลค เป็นชื่อปีศาจที่คนรักหนังสยองขวัญ โดยเฉพาะแฟรนไชส์เดอะ คอนเจอริ่ง (The Conjuring) จะคุ้นหูเป็นอย่างดี สำหรับวาลัคในฉบับเกาหลีค่อนข้างลดความน่ากลัวลง กลายเป็นผู้ช่วยลูกน้องของจัสติเทียที่คอยจัดการเรื่องต่างๆ รวมถึงการรองรับอารมณ์และมือเท้าของจัสติเทียด้วย ทว่าวาลัคนี้เป็นปีศาจที่ค่อนข้างสำคัญ ซึ่งถูกกล่าวถึงในตำราปีศาจเก่าแก่ชื่อ กุญแจย่อยของโซโลมอน (The Lesser Key of Solomon) ตำราลึกลับว่าด้วยไสยเวทและภูตผีปีศาจ โดยกล่าวถึงกษัตริย์โซโลมอนที่ทรงปราบและกักขังปีศาจ 72 ตนไว้ หนังสือเล่มนี้จะวาดวงเวทย์ที่ใช้ผนึกปีศาจตนต่างๆ ในขณะเดียวกันตำรามือเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับการอัญเชิญปีศาจต่างๆ มาใช้งานด้วย
วาลัค เป็นปีศาจลำดับที่ 62 นอกจากตำรากุญแจย่อยของซาโลมอน แล้ว วาลัคยังถูกกล่าวถึงในอีกหลายตำราศาสตร์ว่าด้วยปีศาจ โดยทั่วไปวาลัคจะถูกอธิบายว่า เป็นเด็กชายที่นั่งอยู่บนมังกร 2 หัว ซึ่งในตำราจะทั้งวาดตราและระบุชั้นยศของปีศาจ และจะลดหลั่นกันไปจากชั้นราชา (King) ไปจนถึงชั้นประมุข (President)
วาลัคถือเป็นปีศาจชั้นประมุข มีกองทัพปีศาจในปกครอง 30 กองพัน (legion) และปีศาจส่วนใหญ่มักจะมอบอะไรบางอย่างให้กับผู้อัญเชิญได้ ทั้งยังสามารถบอกตำแหน่งของทรัพย์สมบัติ รวมถึงให้พลังในการควบคุมภูตผีและงูแก่ผู้อัญเชิญ ในซีรีส์เรื่องนี้ วาลัคจึงน่าจะล้อมากับแฟรนไชส์เดอะ คอนเจอริ่ง และความเชื่อเรื่องที่ปีศาจมักจะเลียนเสียงสิ่งต่างๆ ได้
Bael ราชาแรกของนรก – มี 3 หัวและให้พลังการล่องหนแก่ผู้อัญเชิญ
บาอัล เป็นปีศาจลำดับที่ 1 เป็นผู้ปกครองแรกของนรก และเป็นผู้ปกครองแห่งทิศตะวันตก บาอัลเป็นปีศาจที่มี 3 หัว ประกอบด้วยคางคก บุรุษ และแมว ทั้งยังเป็นราชาที่มีสุ้มเสียงหยาบกระด้าง แต่กลับมีวาจาที่เรียบร้อยสวยงาม ในนิรยานุกรม (Dictionnaire infernal) วาดภาพบาอัลไว้ว่า มี 3 หัว สวมมงกุฎ และมีร่างเป็นแมงมุม บาอัลบัญชาการกองทัพปีศาจ 66 กองพัน และมีอำนาจคือการล่องหน ผู้ใดที่อัญเชิญบาอัลจะได้รับพลังของการล่องหนดังกล่าว
ชื่อของบาอัลแต่เดิมเป็นเทพเจ้าสูงสุดที่บูชาในแถบตะวันออกกลาง โดยเฉพาะดินแดนแถบคานาอัน บาอัลจึงเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเป็นเทพเจ้าสูงสุด อย่างไรก็ตาม คำว่า บาอัล ในกลุ่มภาษาเซมิติก ยังมีความหมายว่า ผู้ครอบครอง (Owner) หรือนาย (Lord)
ในซีรีส์เรื่องนี้ บาอัลเป็นปีศาจสูงสุด ทำหน้าที่อย่างเย็นชาและเคร่งครัด โดยจะปรากฏร่างพร้อมขาแมงมุมซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับตำนานปีศาจในคริสต์ศาสนา
Paimon เจ้าแห่งศาสตร์และศิลป์ – สามารถแลกเปลี่ยนสิ่งที่ต้องการกับผู้อัญเชิญ
ไพมอนเป็นปีศาจชั้นราชา (King Paimon) มีปีศาจใต้บัญชา 200 กองพัน ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นปีศาจที่ซื่อสัตย์ต่อลูซิเฟอร์มากที่สุด โดยไพมอนค่อนข้างเป็นปีศาจที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์และศิลป์ต่างๆ ผู้อัญเชิญไพมอนจะสามารถขออะไรจากไพมอนก็ได้ แต่ไพมอนก็จะขอบางอย่างจากผู้อัญเชิญเพื่อแลกเปลี่ยนกัน
ไพมอนถือเป็นปีศาจแห่งความรอบรู้ เป็นผู้สอนสรรพวิชา ทั้งปรัชญา ศาสตร์และศิลปะต่างๆ ทั้งยังสามารถบอกความลับของสรรพสิ่ง ทั้งในผืนดิน ในสายลม และบนผืนน้ำ ซึ่งรูปลักษณ์ของไพมอนนั้น คือราชาที่ปรากฏตัวบนหลังอูฐ มีกองดนตรีติดตามหลัง และมักปรากฏตัวพร้อมกับเสียงดนตรี
Gremory ปีศาจผู้เล่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคต – มักปรากฏโฉมเป็นสตรีและทำให้สตรีหลงรักได้
เกรโมรีเป็นปีศาจชั้นดยุค มีปีศาจในปกครอง 26 กองพัน เกรโมรีมักปรากฏในรูปลักษณ์ของสตรี หรือปรากฏตัวบนหลักอูฐ และสวมมงกุฎต่างเข็มขัดไว้ที่บริเวณเอว มีจุดเด่นคือการบอกเรื่องราวต่างๆ ทั้งจากอดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคตได้ และมีความสามารถในการค้นหาสมบัติ และจุดเด่นที่สุดคือความสามารถในการทำให้สตรีตกหลุมรักได้โดยเฉพาะสาวพรหมจรรย์
ในซีรีส์เรื่องนี้ เกรโมรีทำผิดพลาดที่ปล่อยให้ดวงวิญญาณผู้พิพากษาหลุดรอดไปจากนรกได้ เธอจึงถูกส่งมาร่วมรับโทษกับจัสติเทีย ซึ่งร่างมนุษย์ที่เกรโมรีมาสิงก็มีชีวิตที่ทรหดไม่ต่างกับนรก คือเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ หลายจุดของเรื่องจึงเน้นเปรียบเทียบว่าโลกมนุษย์นั้นทรมานไม่ต่างจากนรก
Seire ปีศาจผู้ไม่ชั่วร้าย – ปรากฏเป็นตัวหนุ่มรูปงามนั่งอยู่บนม้ามีปีก
ในซีรีส์จะมีปีศาจอีก 2 ตน คือ แซร์ และแดนทาเลียน ซึ่งค่อนข้างเป็นปีศาจลำดับไม่สูงนัก ในซีรีส์ ปีศาจทั้ง 2 ตนนี้ เป็นหน่วยเก็บกวาดหลักฐานที่จัสติเทียทิ้งไว้ในการพิพากษาและสังหารคนบาปบนโลกมนุษย์ แซร์ หรือเซียร์ เป็นปีศาจชั้นเจ้า (Prince) ปกครองปีศาจ 26 กองพัน โดยสามารถมอบความสมปรารถนาให้กับผู้อัญเชิญ บันดาลความอุดมสมบูรณ์ ช่วยค้นหาสมบัติหรือของที่ถูกขโมยไป ทั้งนี้แซร์เป็นปีศาจที่ไม่ชั่วร้ายเท่าไหร่ ซึ่งมักปรากฏรูปเป็นชายหนุ่มรูปงามบนม้ามีปีก ในบางตำราอย่าง Pseudomonarchia Daemonum ก็ไม่จัดแซร์ไว้ในทำเนียบปีศาจ
Dantalion ปีศาจแห่งความรู้ – สามารถอ่านใจและเผยความลับและบันดาลใจผู้อื่นได้
ดันทาเรียนเป็นปีศาจชั้นดยุค ในบางตำรา เช่นตำราของโซโลมอน ถือเป็นปีศาจที่ทรงพลัง มีกองทัพในปกครอง 36 กองพัน เป็นปีศาจลำดับที่ 71 จาก 72 ของโซโลมอน โดยพลังของดันทาเรียนนั้น คือการสอนศาสตร์ ทั้งศิลปะและศาสตร์อื่นๆ ทั้งยังมีความสามารถในการรู้ความนึกคิดและสามารถเปลี่ยนเจตจำนงของผู้คนได้ สามารถบันดาลความรัก บันดาลความปรารถนา และพาผู้คนไปยังโลกที่ตัวเองต้องการ อย่างไรก็ตาม ดันทาเรียนปรากฏในหลายรูปลักษณ์ มีใบหน้าของสารพัดชายและหญิง บางภาพวาดภาพก็ให้ภาพปีศาจตนนี้ถือหนังสือ และเป็นปีศาจที่ไม่ปรากฏในตำรา Pseudomonarchia Daemonum เช่นเดียวกับปีศาจแซร์
อ้างอิงจาก
the-demonic-paradise.fandom.com