ใครที่ติดตามวงการแฟชั่นอยู่แล้วคงไม่มีทางไม่รู้จักเธอคนนี้ หรือคนที่ไม่ได้ฝักใฝ่แฟชั่นนักก็คงเคยเห็นเธอผ่านตาอยู่ดี เพราะสาวน้อยคนนี้ถือเป็นอีกดาวรุ่งพุ่งแรง ทั้งในวงการนางแบบ และได้ชิมลางงานแสดงจนโด่งดังไปเรียบร้อยแล้ว giraffe เองก็หลงเสน่ห์เธอคนนี้ไปด้วย จนต้องชวนมาพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตการเรียนและการทำงาน รวมถึงมุมมองเรื่องต่างๆ ที่เธอเรียนรู้และก้าวผ่านบางอย่างไปได้ในวัย 19 ปีเท่านั้น
เชื่อว่าวินาทีนี้หลายคนต้องเคยเห็นผลงานของนางแบบสาวหน้าเก๋ ออกแบบ—ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง บางคนอาจเห็นเธอจากภาพถ่ายสตรีทลุคในนิตยสารแฟชั่น บางคนอาจเห็นเธอผ่านงานโฆษณาสักชิ้นหนึ่ง หรือบางคนอาจรู้จักเธอจากบทบาทของนักบาสโรงเรียนผู้ถูก cyberbullying ในหนังสั้น Thank you for sharing ของ เต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ และในเวลาเดียวกัน หันไปอีกด้านก็เห็นเธอเฉิดฉายในมาดนางพญาบนรันเวย์ของแบรนด์ไฮเอนด์ในทุกๆ แฟชั่นวีค
และนอกจากใบหน้าเอเชียนลุค ผิวสีน้ำผึ้ง กับส่วนสูง 176 เซนติเมตรของเธอแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนมักสะดุดเสมอคือชื่อ ‘ออกแบบ’ ที่เคยถูกมองว่าเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งแท้จริงเป็นชื่อจริงที่พ่อของเธอตั้งให้ ตามอาชีพวิศวกรของเขา
ออกแบบเข้าวงการนางแบบตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสตรีวิทยา จากคำชักชวนของรุ่นพี่ที่ว่า “ลุคแบบนี้โมเดลลิ่งชอบแน่ๆ” และผลก็เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันเธอคือนางแบบสาวสุดฮ็อตที่ทุกแบรนด์ต้องการตัว และเมื่อได้สัมผัสกับงานดีไซน์บนเวทีแฟชั่น เธอจึงเลือกเรียนต่อที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกนิทรรศการศิลป์ ในขณะนี้ก็อยู่ชั้นปีที่ 3 แล้ว
การประกอบอาชีพพร้อมๆ กับที่เรียนไปด้วย แง่หนึ่งทำให้เธอเติบโตขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกแง่มุมที่สร้างความอึดอัดใจให้เธอด้วยเช่นกัน และออกแบบก็ได้บอกเล่ามันอย่างคนที่ได้ก้าวผ่านจังหวะนั้นของชีวิตมาแล้ว อาจเพราะหนทางข้างหน้ายังมีเรื่องราวให้เธอต้องคิดและทำอีกมายมาย หรืออีกอย่างหนึ่ง—เธอเป็นเด็กที่เข้มแข็งกว่าคนอื่นๆ จนบางครั้งถูกมองเป็นความแข็งกร้าว แต่ท้ายที่สุดการเติบโตจากประสบการณ์การทำงานก็ทำให้เธอก้าวผ่านปัญหานั้นมาได้แล้วอีกเช่นกัน
ตลอดการพูดคุย สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือรอยยิ้มแสนจริงใจ และลักยิ้มเล็กๆ ที่ทำให้นางแบบหน้านิ่งคนนี้ดูน่ารักสมวัยอย่างที่เธอเป็น โดยปราศจากเครื่องสำอางและเสื้อผ้าที่ถูกดีไซเนอร์จัดวางให้ เด็กสาวหน้าหมวยในชุดเรียบๆ ง่ายๆ นั่นเองที่ทำให้เรารู้จักเธอมากขึ้น ทั้งในฐานะเด็กหญิงผู้เคยโดนเพื่อนแกล้ง ดาวเด่นแห่งโรงเรียนหญิงล้วน เด็กศิลปะสุดติสต์ รวมถึงในฐานะนางแบบคนหนึ่ง ที่ทำให้เราเข้าใจความเป็นเธอ รวมถึงเข้าใจการดำเนินชีวิตในวงการนางแบบมากขึ้น
ชื่อ ‘ออกแบบ’ เคยทำให้รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนบ้างไหม
ก็รู้สึกแปลกแยกอยู่นะคะ ในตอนเด็กๆ เพราะเพื่อนคนอื่นเขาจะชื่อปกติกัน แล้วก็มีคนหาว่าเราตั้งชื่อเอง ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากรู้สึกแย่ (ยิ้ม)
ผ่านปัญหาตรงนั้นมาได้ยังไง
มันไม่เชิงว่าผ่านไปได้ จริงๆ มันเป็นเรื่องที่เก็บเอาไว้ในใจ แต่ตอนนั้นเราแค่รับฟัง แล้วก็ไม่ได้ไปบอกเพื่อนว่าเราไม่ได้เมคชื่อขึ้นมาใหม่นะ เพราะรู้สึกว่าพูดไปเขาคงไม่ฟังอยู่ดี ตอนนั้นรู้สึกอ่อนแอนะคะ ตอนเด็กๆ เราอ่อนแอมาก โดนเพื่อนแกล้งก็ไม่ตอบโต้ แต่จะเก็บไว้ ที่บ้านจะไม่รู้เลย ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเราถึงไม่บอก
อายุเท่าไหร่ถึงเลิกเก็บเรื่องนี้มาเป็นอารมณ์
โห นานเหมือนกันนะ ประมาณ ม.4-5 เลย ถึงจะปล่อยมันไปได้ พอโตขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเจอเพื่อนชื่อแปลกมากขึ้น บางคนชื่อปริ๊นเซสอะไรแบบนี้ เราก็ดีใจที่เจอคนชื่อแปลกเหมือนกัน แต่ตอนเข้าวงการใหม่ๆ ก็มีกังวลเรื่องนี้นะคะ เราเลยลงรูปสูติบัตรตัวเองให้คนได้เห็น โดยปิดข้อมูลอื่นๆ ไว้ ให้เห็นแต่ชื่อตอนเกิด ว่าเราชื่อนี้จริงๆ ตอนเด็กใช้เป็นชื่อจริงด้วย ซึ่งเราไม่ได้พูดอธิบายบ่อย และตอนนี้ก็ไม่ได้สนใจว่าคนเข้าใจเรามากขึ้นไหม แค่รู้สึกว่าเราอยู่ของเราปกติดีกว่า เขาจะเข้าใจยังไงมันไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เราเสียใจแล้วล่ะ
ตอนเล่น Thank you for sharing คิดว่าอะไรที่ทำให้เชื่อมโยงกับตัวละครนั้นได้
สำหรับบทรุ่นพี่ที่กินขี้มูกใช่ไหมคะ ตอนที่ตัวละครโดน bully เยอะๆ เราก็เชื่อมโยงจากตอนที่โดนเพื่อนแกล้งตอนเด็กแหละค่ะ บวกกับความที่เราเรียนอยู่โรงเรียนหญิงล้วน ที่จะมีเรื่องของความขี้อิจฉากันเยอะ เราก็จำความรู้สึกตรงนั้นมาใช้
ตอนเรียนเป็นเด็กป๊อปอยู่แล้ว?
ไม่เลยค่ะ ไม่ป๊อปเลย แต่พอได้มาเป็นนางแบบ เพื่อนเห็นว่าเราลง Cheeze ก็จะมีคนมาเพ่งเล็ง แล้วเกิดคำถามว่า หน้าตาแบบนี้เป็นนางแบบได้ไง ซึ่งเคยมีครั้งหนึ่งที่รุ่นน้องด่าเราในห้องน้ำแล้วเพื่อนอึอยู่เลยได้ยินพอดี จังหวะเหมือนในละครเลย (หัวเราะ) เพื่อนก็ออกมาด่าให้เรา
ดูเหมือนว่าโรงเรียนหญิงล้วนสร้างความอึดอัดให้ออกแบบอยู่เหมือนกัน แล้วถ้ามีลูกจะให้เรียนหญิงล้วนไหม
ให้เรียนนะคะ เพราะท้ายที่สุดมันทำให้เราเข้มแข็งขึ้น บรรยากาศนั้นมันทำให้เราก้าวต่อได้อย่างมั่นใจ ตอนอยู่หญิงล้วนก็จะแบ่งกันเป็นกลุ่ม ใครอยู่กลุ่มที่คนเยอะกว่าก็ชนะ ซึ่งถ้าคุณผ่านตรงนั้นไปได้ก็จะได้เรียนรู้เรื่องสังคมเยอะมาก ใช้คำว่า มากได้เลย
ในขณะที่ตัวละครซึ่งถูก bully เลือกย้ายโรงเรียน ออกแบบเคยคิดแบบนั้นหรือเปล่า
เคยอึดอัดจนอยากย้ายนะคะ แต่พอรู้สึกแบบนั้นก็มีอีกความรู้สึกหนึ่งงอกขึ้นมา คือเราจะย้ายทำไม ในเมื่อเราไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วเราต้องหนีอะไร สู้เรียนต่อให้จบดีกว่า ถึงคนรอบตัวจะถือเป็นสภาพแวดล้อมที่กดดันเราก็จริง แต่มันไม่ได้ทำให้ตัวเราดีขึ้นหรือแย่ลง มันเป็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก แล้วเราก็แค่ต้องปรับจิตใจภายในของเราว่าเราต้องคิดใหม่นะ นี่เรามาเพื่อเรียนไม่ใช่เหรอ
สำหรับวัยรุ่นคนอื่นๆ อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งแปลกแยกจากสังคมได้มากที่สุด
เราคิดว่าเป็นเรื่องความคิดของเขาเองด้วยนะ เช่น อยู่ดีๆ วันหนึ่งเราอาจจะรู้สึกเหงา ไม่มีใคร ทั้งที่เราก็มีเพื่อนรอบตัว แล้วเราก็คิดอยู่นั่นแหละว่าทำไมเราถึงโดนทอดทิ้งขนาดนี้ ทั้งที่จริงๆ อาจไม่มีอะไรเลย มันจะมีคนที่คิดแบบนี้อยู่ค่ะ ซึ่งมุมมองความคิดแบบนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกแปลกแยก แต่คนที่โดนจริงๆ ก็มีนะ เชื่อว่าทุกโรงเรียนมีแบบนี้ และเราก็อาจจะปรับที่ใจเราก็ได้ หรือจะปรับตัวเองให้เข้ากับคนอื่นก็อาจจะได้ แต่อีกแง่ออกแบบเชื่อว่าสถานการณ์แบบนี้คือการคัดคนออก หมายถึงว่ามันจะเห็นเลยว่าใครที่อยู่กับเราจริงๆ ใครที่เป็นเพื่อนแท้
ในสังคมที่โตขึ้นกว่าในโรงเรียน ยังคงเจอปัญหาแบบนี้หรือเปล่า
พอเข้ามาอยู่ในสังคมจริงๆ ก็จะมีเรื่องของการฟังความข้างเดียว ออกแบบว่านี่คือประเด็นหลักที่ใครบางคนจะถูกกันออกไปเป็นคนวงนอก เพราะพอเราฟังข้อมูลจากแค่ฝั่งเดียว ทุกคนก็จะหันเหไปทางคนเพียงคนเดียว แล้วภาพที่เห็นจริงๆ เลยคือฝ่ายที่สองมักจะเป็นคนถูกทอดทิ้ง
คล้ายกับว่าใครเล่าก่อนได้เปรียบ?
ใช่ ใครแต่งเรื่องก่อนได้เปรียบ และมันอยู่ที่ว่าเราฟังแล้วทำยังไง บางคนฟังแล้วเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วส่งต่อทันที แต่บางคนอาจจะฟังแล้วพักเอาไว้ มันอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ คุณลองไปถามอีกคนหนึ่งสิว่าจริงๆ แล้วเรื่องมันเป็นยังไง ฝั่งนี้เจออะไรมาบ้าง แล้วอีกฝั่งเจออะไรบ้าง ซึ่งถ้าคนที่โดนแบบนั้นเป็นคนที่รู้จักหรือเป็นเพื่อน เราคงไปถามเลยว่าความจริงเป็นยังไง ไม่ใช่ไปฟังจากคนนั้นคนนี้แล้วมาสรุปเอา ข้อนี้ออกแบบเคยโดนมากับตัว คือมีคนไปพูดถึงเราในแบบที่ไม่ใช่เรา เราก็คิดเอาว่าจะไปสนทำไมกับคนที่เขาไม่ได้สนใจเข้ามาถามเรา นั่นแปลว่าเขาไม่ได้แคร์เรา และพอเห็นว่าใครที่เขาฟังแล้วไม่ตรอง เราก็ได้รู้ว่าเขาเป็นคนยังไงในระดับหนึ่ง
แล้วปัญหาอื่นๆ บนโลกนี้ คิดว่ามีอะไรอีกบ้างที่เกิดขึ้นเพราะการฟังความข้างเดียว
ถ้าจะมองออกไปกว้างๆ อย่างเช่นผู้อพยพชาวต่างชาติที่เขาถูกมองว่าเป็นพวกชอบปล้น ชอบขโมย เป็นโจร ข่มขืน นั่นเป็นภาพจำจากเรื่องเล่าเรื่องเดียว แต่เราเคยไปคุยกับเขาจริงๆ ไหมว่า เขาอยู่กันยังไง เขาคิดยังไง หรืออะไรที่กดดันเขาอยู่ เราเอาแต่ฟังจากข่าว แต่ไม่ได้ไปสัมผัส ซึ่งข่าวในบ้านเราเนี่ย การปลอมแปลงข่าวมันมีค่อนข้างเยอะเลยนะ ซึ่งมันทำให้เกิดความเข้าใจผิดเยอะมาก
หลายคนมองว่าวงการนางแบบคือมายา มันจริงไหม
จริงๆ มันอยู่ที่เราเลือกจะอยู่กับใครมากกว่าค่ะ คนที่เป็นมายาก็มีจริงๆ แต่ถามว่าเราต้องเลือกที่จะไปอยู่กับเขาไหมล่ะ? เราก็เลือกอยู่กับคนที่เขาไม่ได้เป็นมายาสิ คนที่น่ากลัวก็ไม่เห็นต้องไปยุ่งกับเขาเลย
การเข้าวงการแฟชั่นตั้งแต่เด็กทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปแค่ไหน
ออกแบบรู้สึกว่าเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยค่ะ คนรอบตัวก็รู้สึก นี่คือจากเพื่อนบอกมาเมื่อช่วงประมาณ ม.5 เพราะเรานิ่งขึ้น กับเพื่อนก็คุยกันได้ปกตินะ แต่แค่พอเราเจอสังคมข้างนอกแล้วมาเจอเพื่อน เราก็ไม่อยากใช้คำว่าเพื่อนเด็ก แต่ปัญหาในโลกจริงๆ หรือความคิด วิธีการทำงานของผู้ใหญ่ที่ได้เจอ มันทำให้เรานิ่งขึ้นไปโดยอัตโนมัติ
ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีไหม
มีทั้งดีและไม่ดีค่ะ เพราะมันก็กดดันเรา และทำให้เสียช่วงเวลาของความเป็นเด็กไปด้วย เราไม่ได้เล่นกับเพื่อนเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้ไปร้องคาราโอเกะ เดินเขาดิน หรือไปดรีมเวิลด์กับเพื่อนอย่างที่เคยทำ ต้องไปทำงานแทน โอเค มันไม่ได้ทำให้ชีวิตเรายากหรอก แต่เราเซนซิทีฟที่เพื่อนมองว่าเราเปลี่ยนไป แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เราทำได้แค่บอกว่า ถ้าแกได้ไปเจออีกโลกหนึ่ง เช่น ไปทำงานหรือเข้ามหาวิทยาลัยก็ตาม แกจะเข้าใจเราเอง ซึ่งตอนนี้เพื่อนก็เข้าใจออกแบบแล้วนะ (หัวเราะ)
พอมาเรียนคณะศิลปกรรม สังคมเปลี่ยนไปไหม
เวลาอยู่ในคณะมันจะชิลล์มาก เราเจอเพื่อนที่เรียนด้วยกันตลอด พูดอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ อย่างตอนทำงานเราก็ต้องรู้จักวางตัวหน่อย แต่ที่ศิลปกรรม เราได้เจอผู้คนอีกแบบหนึ่ง มันเป็นทางเลือกที่รู้สึกว่าเราเลือกไม่ผิด ในแง่ของการเจอเพื่อน เรารู้สึกดีที่ได้มาเจอผู้คนที่นี่ ออกแบบจะเคยได้ยินคำพูดที่บอกว่า เพื่อนมหาวิทยาลัย ให้ตายยังไงก็ไม่สนิทเท่าเพื่อนมัธยม ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่จริงอ่ะ เพราะเพื่อนที่คณะตอนนี้เราก็คุยกันได้ทุกเรื่อง ปรึกษาได้ทุกอย่าง เขาก็รับฟังและพร้อมจะช่วยเหลือเราตลอด เหมือนกับเพื่อนมัธยม ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหนหรือเจอกันน้อยแค่ไหน พอได้กลับมาเจอกันทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม
ถ้าตอนนั้นไม่ได้เข้าวงการ คิดว่าตอนนี้ตัวเองจะทำอะไรอยู่
ก็คงอยู่คณะจิตวิทยาค่ะ ก่อนหน้านั้นอยากเข้าคณะจิตวิทยามาก ซึ่งตอนมัธยมออกแบบเรียนสายวิทย์นะ แล้วเราติวฟิสิกส์ เคมี ชีวะ มาตั้งแต่ ม.ต้นเลย แล้วก็เรียนหนักขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี อัดวิชาแน่นมาก
เสียดายไหมที่ไม่ได้ใช้ผลของความทุ่มเทตรงนั้นสักเท่าไหร่
ไม่เสียดายนะคะ ถ้ามีอะไรให้เสียดายก็เสียดายเงินที่เสียไปมากกว่า เพราะคุณแม่จ่ายค่ากวดวิชาไปเยอะมาก (หัวเราะ) แต่ไม่เสียดายเลยที่เลือกทางนี้ เพราะการได้เข้ามาทำงานนางแบบถือว่าเป็นโชคดีของเรา มันทำให้เราได้ทำงานหลากหลายมาก
งานเยอะแบบนี้ออกแบบแบ่งเวลาให้กับการเรียนยังไง
ถ้าช่วงไหนที่ส่งการบ้านไม่ทัน เราจะไม่รับงานเลยค่ะ เพราะเราไม่สามารถทำทุกอย่างพร้อมกันได้ ก่อนหน้านั้นจะมีช่วงหนึ่งที่เราทำงานทุกวัน แล้วก็ต้องส่งการบ้านด้วย ก็ต้องปั่นตอนกลางคืน นอนตอนหกโมงเช้า ตื่นแปดโมงไปเรียน ส่งงานเสร็จก็ออกไปทำงานต่อ แล้วกลับมาทำการบ้าน มันวนอยู่อย่างนี้จนร่างกายเราพัง แม่เลยบอกว่า แม่ขอให้หยุดรับงานนะ ให้ร่างกายหนูกลับมาเหมือนเดิมหน่อยได้ไหม ขอเอาสุขภาพก่อน แล้วพอเราลองหยุดรับงานก็รู้สึกสุขภาพดีขึ้นมากจริงๆ เพราะตอนนั้นเราโหมทุกอย่างเข้ามาในการกระทำทุกวินาทีของเรา ซึ่งมันไม่โอเค เราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงาน แต่เราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตและเรียนรู้
แต่จะมีบางคนที่มองว่าน้ำขึ้นก็ต้องรีบตัก แล้วกลับมาเรียนทีหลัง
หรือบางคนอาจจะเลือกเรียนอย่างเดียว จริงๆ พ่อกับแม่บอกเราไว้ตั้งแต่ตอนแรกๆ ที่ทำงานแล้วนะ ว่าอย่าจับปลาสองมือ แต่เรามีเซนส์อะไรก็ไม่รู้ที่บอกว่าเราทำได้ แล้วก็จะพามันผ่านไปให้ได้ทั้งคู่ แล้วเราก็ทำมาตลอด นี่ปี 3 แล้วยังรู้สึกว่าทำได้ดี ปีที่ 4 ก็น่าจะราบรื่นเหมือนกัน ไม่น่าจะมีการเรียนปีที่ 5 เกิดขึ้นแน่นอน (ขำ)
หลังเรียนจบวางแผนอะไรไว้บ้าง
คงไปเรียนภาษาก่อนค่ะ เพราะเป็นคนโง่ภาษา แต่ดันอยากสอบมาร์เก็ตติ้ง อยากสอบ IFM (Institut Français de la Mode) ที่ปารีส แล้วทุกอย่างก็ต้องใช้เงินตัวเองเลยต้องเก็บตังค์ ออกแบบเบนมาสนใจเรื่องการตลาดก็ตอนที่ได้ลองเรียนวิชาการเรียนรู้ทั่วไปในมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องไปเรียนวิชาต่างคณะ ที่ออกแบบสนใจคือ VM หรือ Viral Marketing ซึ่งอยู่ภายใต้การตลาดอีกทีหนึ่ง ดังนั้นถ้าเรียนการตลาดก็จะเข้าใจทุกอย่างใน VM แล้วก็ได้เข้าใจเรื่องอื่นๆ ด้วย เอาไปใช้กับการทำงานได้หลายสายด้วย
เรากำลังไปได้ดีในทางนี้ ทำไมถึงมองทางอื่นเผื่อไว้มากมาย
เพราะงานนางแบบมันมีทางตันค่ะ ส่วนเราต้องก้าวต่อไป พูดตรงๆ ว่าเราไม่ได้มองงานนี้เป็นงานหลักในชีวิต มันไม่มีใครทำได้อยู่แล้ว ทุกคนก็รู้ นี่เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเลือกที่จะเรียนไปด้วย แต่มันจะมีคนที่มองว่า ก็ทำงานให้สุดๆ ไปก่อน หมดทางแล้วค่อยไปเรียนก็ยังไม่สาย แต่เราคิดว่า อ้าว แล้วช่วงว่างระหว่างที่คุณทำงานอยู่ คุณใช้อะไรล่ะ มันอาจจะช้าไปไหมสำหรับการเรียนรู้ กว่าจะไปเริ่มเรียนใหม่ตอนนั้น คุณก็เสียอะไรไปเยอะเหมือนกันนะ
ออกแบบมีไอดอลในใจไหม
เรียกว่าคนที่ชื่นชอบดีกว่า ในวงการนางแบบมีหลายคนเลยค่ะ เราชอบการวางตัวของพี่สิ (พิชญ์สินี ตันวิบูลย์) ชอบการทำงานของพี่เอเลี่ยน (กัญญณัท บำรุงพงษ์) ซึ่งเขาสอนเราเยอะมาก เราเองก็รับสิ่งที่พี่เขาสอนได้มาก หรือในแง่อื่นๆ เช่นพี่หลิน (มชณต สุวรรณมาศ) ก็จะเป็นคนที่คอยรับฟังปัญหาชีวิตและเรื่องดราม่าของเราเรื่อยๆ เวลามีอะไรเราก็จะไปปรึกษาเขา หรือ จิงจิง (วริศรา ยู) ก็จะให้คำปรึกษาเรื่องความรักอะไรแบบนี้ค่ะ
คุณสมบัติสำคัญของการเป็นนางแบบคืออะไร
จริงๆ ทั่วๆ ไปก็คือรูปร่าง หน้าตา และการโพสต์ การเดินแบบนั่นแหละค่ะ แต่เรื่องการวางตัว การพูดจา มารยาททางสังคม การเข้าหาผู้ใหญ่มันก็สำคัญเหมือนกัน ส่วนในเรื่องการทำงานก็จะมีคนที่บอกว่านางแบบคือไม้แขวน ซึ่งก็ใช่ และที่จริงนางแบบคือโปรดักต์ก็ได้ สำหรับการพรีเซนต์เสื้อผ้า แต่อย่างที่มาถ่ายวันนี้ เราจะไม่ใช่โปรดักต์หรือไม้แขวน แต่ตัวงานจะเป็นเรื่องของอารมณ์ เป็นการแสดงระหว่างการถ่ายรูป ซึ่งหลายครั้งพลังของออกแบบก็มาจากเสื้อผ้าและการบิลด์ของทีมงานด้วยนะ
ตลอดเวลาที่ทำงานมาทำให้เข้าใจวงการนางแบบมากน้อยแค่ไหน
จนถึงตอนนี้ก็เข้าใจมากขึ้นนะคะ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะมาก และเราก็ไม่ได้คิดว่าต้องเข้าใจให้มาก แต่ค่อยๆ ซึมซับไปเรื่อยๆ ดีกว่า หรือที่เคยคิดว่าเข้าใจ เราอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ แต่ที่ได้เรียนรู้คือ การเลือกใช้นางแบบมันจะเป็นไปตามเทรนด์โลก เช่น พอฝั่งสหรัฐฯ ใช้นางแบบหมวย ทุกคนก็จะใช้หมวยกันทั้งปี หรือปีที่ผ่านมาฝั่งโน้นกลับมาใช้ฝรั่ง แบรนด์ไทยเกือบทั้งหมดก็จะใช้ฝรั่ง ซึ่งถ้าจะพูดถึง diversity ในวงการแฟชั่นไทยจะยังไม่ค่อยมี อาจจะมีนางแบบผิวสีบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นการยอมรับขนาดนั้น แล้วก็ไม่ยอมรับ plus size ด้วย ยังติดเรื่องรูปร่างนางแบบค่อนข้างเยอะ เขายังไม่ค่อยยอมรับเรื่องความสมส่วน เขาอยากได้สูงมากๆ ผอมมากๆ ซึ่งนั่นก็อาจเป็นความชอบส่วนตัวของดีไซเนอร์ด้วยค่ะ
แบบนี้มองว่าวงการนางแบบสร้างมาตรฐานความงามที่ทำให้ผู้หญิงคนอื่นอยู่ยากไหม
บางส่วนมันเกิดจากการที่คนไม่พอใจในสิ่งที่มีอยู่ด้วยนะ หรือจะพูดถึงคนที่เห็นภาพว่านางแบบต้องผอมมากๆ จนถึงขั้นอดอาหาร เรามีส่วนทำให้คนเลือกที่จะอดอาหาร จะบอกว่าไม่ใช่นะคะ นางแบบไทยไม่ใช่นางแบบรัสเซีย นางแบบไทยกินบุฟเฟต์บ่อยมาก หรือบางคนกินข้าว 4 กล่อง แล้วเราก็ต้องออกกำลังกายเยอะทดแทน คนที่กินไปเยอะก็ต้องใช้กรรมเยอะ ต้องมีวินัย มันมีสิ่งที่ต้องแลกมา ดังนั้นใครที่อยากทำตามมาตรฐานนี้เชื่อว่าก็ต้องแลกมากับความยากลำบากเหมือนกัน มันเป็นหนทางที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ทางที่แย่นะคะ สำหรับคนที่อยากจะเป็นตามภาพที่วงการแฟชั่นวาดเอาไว้
สัมภาษณ์โดย ฉัตรวี เสนธนิสศักดิ์ ในคอลัมน์ Face – Giraffe Magazine ฉบับที่ 49 Alienation