กุ๊กไก่—ภาวดี คุ้มโชคไพศาล มีผลงานในวงการบันเทิงไทยมาแล้วมากมาย ทั้งการแสดงโฆษณา นักแสดงนำในเอ็มวี รวมถึงซีรีส์ต่างๆ
หลายคนน่าจะจำเธอได้จากเอ็มวีเพลง ‘หนัก’ ของวง Seal Pillow รวมถึงเพลง ‘นักเลงคีย์บอร์ด’ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ตลอดจนผลงานการแสดงที่ดังทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างบทบาทของ ‘เยลลี่’ ในซีรีส์ ฮอร์โมนส์ 3
เมื่อเร็วๆ นี้เราเห็นชื่อของเธอปรากฎบนหน้าข่าวอีกครั้ง หลังจากที่กุ๊กไก่ตัดสินใจออกมาเดินตามเส้นทางของตัวเอง ในฐานะนักแสดงอิสระ
จริงอยู่ที่เราเคยรู้เรื่องราวของกุ๊กไก่กันมาอยู่บ้าง แต่เราเชื่อว่าบทสัมภาษณ์นี้จะทำให้ทุกคนได้เห็นกุ๊กไก่ในอีกมุมหนึ่ง
น่าจะเป็นครั้งแรกที่เราได้รับรู้ว่าเส้นทางการเป็นนักแสดงของกุ๊กไก่ ต้องแลกมาด้วยสุขภาพจิต-สุขภาพใจมากมายหลายอย่าง และมันก็ทำให้เป็นบทเรียนชีวิตครั้งสำคัญที่เธอได้เข้าใจในโลกของการทำงาน และการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่
(หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้มีเนื้อหาบางส่วนที่เกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง)
รู้มาว่าชีวิตกุ๊กไก่อยู่กับเรื่องโฆษณาตั้งแต่เด็กๆ
ที่บ้านเราทำป้ายโฆษณาอยู่แล้ว เป็นรับออกแบบ ผลิต พวกป้ายงานโฆษณาต่างๆ แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นนักแสดงเลย ตอนแรกคิดแค่ว่า ถ้าจบนิเทศมาก็คงมาช่วยสานต่อสิ่งที่มีอยู่ เพียงแต่ว่าตอนที่เราเลือกสายเข้าไปเรียนคือเลือกสายโฆษณา ตอนจะเลือกโฆษณาก็รู้สึกว่ามันอาจจะซ้ำเดิมกับที่มีอยู่ ที่เราเรียนที่เราเข้าใจอยู่ เราก็เลยเลือกเรียนฟิลม์เพื่อที่เราจะเอาไปต่อยอดอะไรได้บ้าง รวมถึงได้เข้าใจโปรดักชั่นหรืองานโปรดักชั่นโฆษณาต่างๆ ด้วย
พอมาได้เรียนฟิลม์จริง ทำให้สายการดูหนังต่างไปจากเดิมไหม
ช่วงขณะที่เรียนพวกวิชาวิจารณ์ภาพยนตร์ หรือว่าเรียนอื่นๆ ก็จะมีช่วงที่ดูหนังไม่เหมือนเดิม มีช่วงที่รู้สึกอึดอัดเหมือนกัน สมมติว่าเราดูจิบิของเราอยู่ดีๆ แล้วเรารู้สึกว่าจิบิมันน่ารักนะ มันให้แรงบันดาลใจการออกไปใช้ชีวิต หรือว่าแม่มดกิกิในจิบิ มันเป็นเหมือนการก้าวผ่านของเด็กผู้หญิงคนนึงจากที่เคยอยู่ใน comfort zone ออกไปใช้ชีวิต เดินทางในเส้นทางชีวิตของตัวเอง เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเส้นทางชีวิตแบบนั้น
พอเราเรียนวิชาสัญญะมาเราก็จะรู้สึกว่า มันใส่อะไรมาบ้างนะ ตรงนี้มันแปลว่าอะไร คือคิดเยอะกว่าปกติหน่อย (หัวเราะ) เหมือนปกติเราไปยืนแล้วเราก็ให้งานศิลปะทำงานกับจิตใจเรา เราก็จะไปยืนเฉยๆ แต่ว่าอันนี้เหมือนเราต้องมองแล้วยื่นหน้าเข้าไปมองอีกว่าเขาใช้สีน้ำมันตรงนี้เพราะอะไร อะไรแบบนี้
ประสบการณ์แบบนี้มันทำให้กุ๊กเปลี่ยนไปไหม
พอเรียนจบมาเราก็ค่อยๆ หล่อหลอมมันกับชีวิตปกติของเรามากขึ้น เราก็จะมองสิ่งต่างๆ ในหลายๆ แง่มุม กลายเป็นว่าหนังที่เราชอบมากๆ เราก็จะไปดูซ้ำ 2-3 ครั้งอะไรแบบนี้ เพราะว่ารอบนึงเราดูในเวลาที่เราเป็น เราดูแล้วเอ็นจอยในแบบที่เราโอเค เราปล่อยให้มันทำงานกับเราแบบสบายๆ อีกรอบนึงเราแบบ เห้ย มันดีเราลองกลับไปดูอีกรอบในแบบที่ตั้งใจดูว่าเราพลาดอะไรไปบ้าง เรามองพลาดดีเทลเล็กๆ น้อยๆ อะไรบางอย่างไปรึเปล่า
แล้วการมองเห็นความหมายในสิ่งที่มันดูเรียบๆ ง่ายๆ จากในหนัง มันติดมาในการมองโลกของเราด้วยรึเปล่า
ติดมาเหมือนกันนะ คือไม่รู้ว่าอันนี้มันเชื่อมโยงกันไหมนะ ก็อาจจะรู้สึกว่าเรื่องเล็กน้อยมันเชื่อมโยงกับว่าความสัมพันธ์ในครอบครัว สมมติว่าพ่อโกรธเรามาก เรากับพ่อทะเลาะกัน แต่พ่อก็จะไม่มีทางพูดดีกับเราแต่พ่อก็จะใช้คำพูดว่า กินอะไร ตกลงจะกินอะไร อะไรแบบนี้ เราก็จะรู้สึกว่าเราเข้าใจข้อความนั้นนะ เขาก็ซ่อนข้อความไว้ว่า ยอมคุยด้วยแล้ว คือเหมือนยอมง้อแล้วนะ แต่เป็นวิธีที่พ่อเลือกใช้เพราะพ่อเลือกที่จะใช้วิธีอ่อนหวานหรือพูดดีๆ ไม่เป็น มันก็จะเป็นเหมือนเรื่องดีเทลเล็กๆ น้อยๆ
แล้วกับชีวิตการงานล่ะ
บางทีเราต้องทำความเข้าใจตัวละคร อย่างถ้าเป็นสมัยเด็กเราก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมตัวละครที่มีความลับเก็บซ่อนอยู่ ถึงพูดความลับออกไปไม่ได้ ตอนเด็กๆ เราก็จะไม่เข้าใจว่า ก็แค่แบบอกไปเรื่องก็จบแล้วทำไมบอกไม่ได้ แต่พอเราโตขึ้นแล้วเราจะต้องไปเป็นตัวละครนั้นๆ เราก็จะเข้าใจว่ามันบอกไม่ได้เพราะว่ามันมีความสัมพันธ์ที่มันกระอักกระอ่วนมาก ถ้าบอกไปมันไม่มีทางเหมือนเดิม อาจจะเพราะว่าเราเห็นเลเยอร์ของตัวละครมากขึ้น ทั้งความละเอียดอ่อน ความรู้สึกบางอย่างที่ไม่ได้ง่ายเหมือนที่เราเข้าใจ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นต้นทุนของการได้เรียนฟิล์มมา
เริ่มต้นมาทำงานในวงการโฆษณาได้ยังไง
เริ่มต้นมาจากถ่ายงานโฆษณาเพราะว่ากุ๊กมีไปแคสโฆษณาตั้งแต่อายุ 17 ปี ยังไม่เข้ามหาลัย ตอนนั้นเป็นงานโฆษณาของค่ายโทรศัพท์หรือของกินนี่แหละ พอเราก็เริ่มเรียนฟิล์ม อาจารย์ที่สอนตอนนั้นก็รู้ว่า อ้าวเด็กคนนี้เป็นเด็กที่มีผลงานและทางการแสดงพอได้อยู่นะ เขาก็เลยมาชวนว่าจะมีเอ็มวีอันนี้นะ (เพลงหนัก-Seal Pillow) อยากลองมาเล่นไหม เราก็เลยโอเคเพราะว่าเอ็มวีมันไม่เหมือนโฆษณา การแสดงมันต่างกัน เราก็เลยรู้สึกโอเคไปมีโอกาสก็ไปหมด
หลังจากเราเล่นเอ็มวีของ Seal Pillow พี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ก็ชวนไปเล่นเอ็มวีเพลงนักเลงคียบอร์ดของพี่แสตมป์ (อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข) ช่วงประมาณปี 2
ในแง่การแสดงเราจริงจังมากเพราะว่าเวลาไปแคสโฆษณา ตั้งแต่อายุ 17 มันมีออกมาให้เห็น 2 งาน แต่ในความเป็นจริงกุ๊กไปแคสเป็นร้อยๆ งาน และในทุกๆ ครั้งที่ไปแคส พอเข้าห้องแคสติ้งเขาก็จะวิจารณ์และให้คำแนะนำเรื่องการแสดงของเราว่า ตรงนี้ยังไม่ดีนะ ตรงนี้เธอยังไม่สวย ตรงนี้เธอนู่นนี่นั่นนะ มันก็ค่อนข้างหล่อหลอมว่า ถ้าสมมติเราจะมาเล่นงานโฆษณาเราจะต้องแอคติ้งยังไงเขาถึงจะชอบ คำว่าหันซ้ายของเขาคือหันซ้าย 45 องศา มันจะลงดีเทลหรืออะไรแบบนี้ มันก็จะเป็นเรื่องยิบๆ ย่อยๆ งานเอ็มวีก็เหมือนกัน
พอได้มาเล่นกับ Seal Pillow ก็ทำความเข้าใจใหม่ ไม่ได้เป็นจังหวะโบ๊ะบ๊ะหรือเป็นจังหวะหันแบบจังหวะโฆษณาอะไรแบบนี้ ถ้าเป็นเอ็มวีสมัยก่อนก็ค่อนข้างธรรมชาติหรือว่าไม่ได้แฟนตาซีอะไรขนาดนี้ แต่สมัยนี้มันหลากหลายมากนะ เอ็มวีเป็นเหมือนเอาอะไรหลายๆ อย่างมารวมกัน
กุ๊กไก่ในช่วงเวลานั้นเป็นเด็กมหาลัยแบบไหน
แต่งตัวอินดี้ๆ เพราะว่าเป็นศิลปากรมั้ง สไตล์การแต่งตัวก็จะไม่ได้หวานๆ จะเป็นแบบฮิปสเตอร์ เสื้อตัวใหญ่ๆ กางเกงยีนส์เอวสูง อะไรประมาณนี้ นิสัยก็เป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร และตั้งใจเรียนปกติ ทำให้ดี ทำได้เท่าไหนเท่านั้น
ทำไมถึงเลือกที่จะไม่จริงจังขนาดนั้น
จริงๆ เราเป็นคนจริงจังกับการเรียนจนถึงประมาณ ม.4 ก่อนหน้านั้นคือจริงจังมากจนเครียด และต้องไปหาหมอทุกครั้งที่มีการสอบปลายภาค เพราะว่าเมื่อเราจะเครียดมาก ร่างกายก็จะอ่อนแอจนสักพักก็จะติดเชื้อ ติดเชื้อแบบเชื้อไข้หวัด สมมติว่าปีนี้มีไข้หวัดสายพันธ์เอ สายพันธ์บี กุ๊กก็จะติดมันครบทุกสายพันธ์เพราะว่าเครียด พอเครียดเสร็จแล้วก็จะเหมือนไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มันดีพอรึยัง ก็จะอ่านหนังสือเยอะพอรึยัง เราทำอะไรแบบนี้พอรึยัง ก็จะเครียดๆๆ แล้วก็จะอ่อนแอ พอไปข้างนอกก็เจอมลภาวะมันก็ทำให้ติดเชื้อง่ายอีก ก็เลยติดเชื้อไปหาหมออีก ก็เลยมาเลิกจริงจังตอน ม.4 เพราะว่าเจอวิชาฟิสิกส์และเป็นวิชาเดียวที่ไม่ว่าจะพยายามขนาดไหนก็คือไม่รู้เรื่อง
เราเคยเป็นเด็กที่เรียนได้เกรดดีนะ แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราเรียนเก่ง เรามีความกดดันตัวเอง ซึ่งพ่อแม่ก็ไม่ได้คาดหวังนะ เราคาดหวังกับตัวเองมากกว่า เราแค่รู้สึกกับตัวเองว่าอยากได้ไม่ต่ำกว่า 3.5 อะไรแบบนี้ในวิชานี้นะ เหมือนสมัยเรียนตอนเด็กๆ มันจะเรียนไม่หล่นไปจากที่ 1-10 ของลำดับห้อง เราก็เลยอาจจะติดเป็นนิสัยว่าอันดับของตัวเราต้องไม่หล่นลงไป
ติด Top 10 ของห้องตั้งแต่ชั้นไหน
ติดมาตั้งแต่เด็กเลย อาจจะเพราะเราติดอยู่ในตารางไม่เกิน 10 มาตลอด เราก็เลยรู้สึกว่าเป็นความเคยชินที่เราก็ต้องไม่หล่นลงมานะ ซึ่งจริงๆ มันก็หล่นลงมาได้ (หัวเราะ) ก็เคยหล่นนะ หล่นลงมาที่ 15 แล้วก็ร้องไห้ แม่ก็ถามว่าร้องไห้ทำไม คงเป็นเพราะว่าเป็นคนที่ไม่เคยแพ้มาก่อน จริงๆ ชีวิตเราควรจะแพ้เราจะได้รู้ว่าเราจะรับมือกับความพ่ายแพ้ยังไง เด็กๆ เหมือนแค่ไม่รู้จักวิธีบาลานซ์ว่าจริงๆ แล้วจากการทำให้เราเก่งได้ เราต้องลองแพ้ก่อน
จากนั้นก็มาถึงตอนเลือกคณะเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย
เราไม่ได้เลือกเรียนฟิล์มเป็นอันดับแรก ตอนนั้นพอเรียนเลข ครูก็จะชอบบิ้วต์ เราอยู่เอกเลขด้วย ครูฝ่ายคณิตศาสตร์ก็จะชอบบอกว่า เธอจะต้องเรียนบัญชีนะ ต้องเรียนสถิตินะ เพราะครูบอกว่า มันเป็นแบบหนทางสูงสุดของการเป็นเด็กเอกเลข
เราเองก็เลือกบัญชีไป เพราะรู้สึกว่ามันก็เป็นอาชีพที่ดี เพียงแต่ว่าการแข่งขันตอนนั้นมันสูงมาก เราก็ไม่ติดเพราะเราก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนขนาดเพื่อนๆ ท้อเลยสอบไม่ติดบัญชีจุฬาฯ ไม่ติด stat จุฬาฯ และก็บังเอิญว่าตอนนั้นที่เลือกอันนี้ไว้ เพราะว่าเราเลือกแค่ว่าเราเรียนอะไรมาบ้าง เราก็เลือกสี่อันนี้ไป อันสุดท้ายที่เราเลือกก็เป็นอันที่น่าจะเชื่อมโยงกับชีวิตที่บ้าน ชีวิตตัวเอง แล้วบังเอิญว่าลูกพี่ลูกน้องเราทุกคนเรียนนิเทศหมดเลย ก็เลยแบบลองเลือกสักอันที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับที่เราเรียนมาทั้งหมดเลย แล้วก็ติดอันนั้นแหละ
ที่บอกว่าเลือกสายบัญชี แปลว่าลึกๆ แล้วเรามีความชอบว่าอยากเข้าคณะนี้รึเปล่า
ไม่นะ ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าสอบเข้าได้ เรียนจบมหาลัยพอ ค่อยว่ากัน รู้แค่ว่าถ้าเรียนไม่จบมหาลัย คุณภาพชีวิตที่เป็นอยู่จะไม่ดี
พอกุ๊กไก่ทำงานมาตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว มันต้องบาลานซ์ชีวิตมากกว่าคนอื่นไหม
บาลานซ์มากๆ จำได้ว่าตอนที่ทำธีสิสสุดท้ายแล้วมันมีงานซีรีย์ฮอร์โมนฯ เข้ามาพอดี เรื่องมาลีด้วย และจิปาถะอีกเยอะ เราถึงขั้นต้องโทรไปคุยกับอาจารย์ว่าทำยังไงได้บ้าง ขออาจารย์ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะขอขยับอะไรบางอย่างออกไปก่อน รวมถึงเรื่องธีสิส
ตอนนั้นทำธีสิสเกี่ยวกับอะไร
ในหนังธีสิส ตัวละครแสดงเป็นนักแสดงที่ไปแคสและเล่นหนังเรื่องนึง ที่เกี่ยวกับคนโดนลักพาตัวและกักขังไว้ พล็อตธีสิสของกุ๊กคือ ตัวละครนี้ยังแสดงและทำได้ไม่ดี จนต้องเล่นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จนทีมงานเริ่มเหนื่อยเริ่มมีภาวะกดดัน แม่ก็เริ่มรู้สึกว่าทำได้ไม่ดีเพราะว่าเราไม่ดีรึเปล่า ก็ยิ่งกดดันก็ยิ่งแรงขึ้นๆ เริ่มทำยังไงก็ได้สร้างสภาวะในบ้านให้เป็นแบบที่ตัวเองเล่นอยู่เพื่อที่ตัวเองจะได้เข้าใจ แต่กลายเป็นว่าถ้าเราอยู่แบบนั้นเราก็จะกลายเป็นแบบนั้น ตัวละครมันยิ่งลึกเหมือนโดนคำสั่งไว้ ถ้าไม่บาลานซ์ดีๆ ชีวิตก็จะดิ่งชีวิตปกติก็จะรู้สึกแบบนั้น
แล้วในหนังธีสิสนั้น เรื่องราวมันคลี่คลายไปในทางไหน
ไม่ได้คลี่คลาย มันจบด้วยฉากที่ตัวละครกินกุญแจเข้าไป เพื่อสื่อว่า สุดท้ายแล้ว เมื่อเรารู้สึกว่าไม่ดีพอ เราก็ออกมาจากความรู้สึกนั้นไม่ได้ จมดิ่งไป ถึงแม้ว่าคนร้ายจะยื่นให้เราออกแต่เราก็ไม่ออกมาเอง
ทำไมถึงเลือกเรื่องราวนี้มาทำเป็นธีสิส
ในยุคสมัยนั้น มีหลายๆ คนรู้สึกการเป็นนักแสดงมันก็คืออาชีพที่ดีแล้ว ได้เงินและมีชื่อเสียง อยู่ในสปอตไลท์ ใครได้นักแสดงก็คือชีวิตดีไปเลย แต่เราอยากจะเสนอแง่มุมที่ว่า การเป็นนักแสดงมันก็ต้องแลกบางอย่างด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะแลกสภาพจิตจากการแข่งขันและหน้าที่
การแข่งขันที่ว่าคือยังไง อธิบายให้ฟังได้ไหม
มันมีอยู่หลายๆ ครั้งที่เราไม่ได้งาน เราก็ดาวน์ คนใกล้ตัวเราก็ถามเราทำนองว่า “ทำไมกุ๊กไม่ได้งานอีกแล้ว เพราะกุ๊กแสดงไม่ดีรึเปล่า” ซึ่งมันส่งผลกระทบกับสภาวะจิตใจเรานะ ทำให้เราต้องแลกการเป็นนักแสดงกับสภาวะจิตใจมากๆ เพราะการเป็นนักแสดงก็ไม่ใช่ว่ามีงานทั้งปี คนที่มีงานทั้งปีหรือคนที่ดังๆ เป็นแค่เหมือน 1 เปอร์เซ็นต์ของนักแสดงจริงๆ ทั้งหมดในประเทศ แล้วอีกที่เหลือคือเขาไม่ได้มีงานแบบนั้น หลายๆ คนพอไม่ได้งานบ่อยๆ เข้า เขาก็จะกลับมารู้สึกว่า ที่ไม่ได้งานเพราะเขาทำดีไม่พอ เขาก็จะคิดแต่ว่า เขาดีไม่พอ เขาดีไม่พอ จนเขารู้สึกกดดันกับตัวเอง
แล้วกุ๊กเคยรู้สึกแบบนั้นด้วยรึเปล่า
ใช่ เราเคยรู้สึกเราดีไม่พอ ก็เลยรู้สึกว่าอยากถ่ายทอดสิ่งนี้ให้คนได้เห็น สำหรับเราแล้ว เราต้องกล้ำกลืนไปกับบทบาทด้วยในบางครั้ง ในบางครั้งเราเป็นตัวในบทบาทเราดูไม่ออก ไม่มีใครรู้ บางคนไม่เข้าใจ หรือเราไม่ได้งานก็ไม่มีใครเข้าใจเรา กระทั่งคนในครอบครัว ยังถามกุ๊กเลยว่า ที่เขาไม่รับเราไปแสดง เพราะกุ๊กแสดงไม่ดีรึเปล่า พอกลับไปบ้านแล้วเจอคำนี้ เรารู้สึกว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่
กลายเป็นความรู้สึกที่สะสมไปเรื่อยๆ
กลายเป็นว่าเรารู้สึกว่าเราสวยไม่พอ เราถามกับตัวเองว่า เพราะเราสวยไม่พอเหรอ เราไม่สวยรึเปล่า หรือว่าเราแสดงยังไงเราก็ไม่สวย เราสวยสู้คนนี้ไม่ได้ หรือเวลามีงานแสดงหลายๆ ครั้งเขาก็จะเลือกตาม beauty standard ที่มีอยู่ในสังคม มันส่งผลให้เรากลับมารู้สึกกับตัวเองว่า เราดีไม่พอ เราขาใหญ่ เราคอยาว เราผมไม่ยาวดูไม่สวย เราไม่สาวดูเด็กเกินไปรึเปล่า เล่นยังไงก็เลยดูไม่น่าเชื่อถือ คือเราเองคิดไปล้านแปดอย่างเลย
มันเป็นสิ่งที่เราได้ฟังจากคำพูดคนอื่นรึเปล่า
มันถูกพูดมาจากคนอื่น แล้วเราก็เก็บมาคิด ซึ่งจริงๆ กุ๊กก็รู้สึกว่ามันไม่ดีเลย มันเป็นคำพูดที่เอาความคิดของตัวเองมาใส่คนอื่น แล้วก็พูดแต่ว่าแบบนี้มันดีนะ ต้องเป็นแบบนี้ๆ
จำจุดที่ตัวเองรู้สึกดาวน์ที่สุดได้ไหม เอาที่สะดวกใจจะเล่านะ
จำได้ๆ มันเป็นเหมือนในหนังเลย เราจับแขนตัวเองแล้วก็แบบดึงเนื้อตัวเองขึ้นมา แล้วเราก็รู้สึกว่า เนื้อหนังเรามันไม่ดี ร่างกายเรามันไม่ดี ไม่สวยงาม เราอยากจะดึงมันออกไป
ตอนนั้นเรารับมือกับมันยังไง
ตอนนั้นก็เลยไปหานักจิตบำบัด เขาจะต่างจากจิตแพทย์ตรงที่ว่าจิตแพทย์มีสิทธิ์ที่จะจ่ายยาให้ยาได้ แต่ว่านักจิตบำบัดเขาบำบัดด้วยวิธีอื่นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ยา บวกกับช่วงนั้นทำธีสิสแล้วธีสิสมันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือทำขึ้นเพื่อตัวเองนั่นแหละ
เราก็ไปหานักจิตบำบัด คือตอนแรกติดต่อเขาไปว่าเราทำธีสิสเราต้องการคำปรึกษาเพราะว่าตัวละครเรามีอาการ depressed แล้วเราอยากจะเข้าใจจริงๆ ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นหรืออะไรขนาดนั้น ก็เลยไปเริ่มต้นคุยจากการสัมภาษณ์เขาว่าตัวละครเป็นแบบนี้ๆ นะ มัความคิดเห็นยังไงบ้าง หรือว่าการที่คนเป็นแบบนี้มันมีจริงๆ ไหม คุยนานมาก และอาจจะเป็นนิสัยของเขา พี่เขาก็เริ่มถามเราถามชีวิตเราเป็นยังไง เราก็เลยเล่าเรื่องตัวเองทั้งหมดให้เขาฟัง เราก็พูดกับเขาว่าตัวหนังมันเชื่อมโยงกับเรายังไง
ถ้าย้อนกลับไปมองในตอนนั้น คิดว่าตัวเองได้แลกสิ่งสำคัญอะไรไปกับการเป็นนักแสดงบ้าง
หนักที่สุดก็คือสภาพจิตใจตัวเอง เราแลกมันมาด้วยการจงเกลียดจงชังตัวเอง ความไม่พอใจสักอย่างเลยที่เป็นตัวเอง ซึ่งมันสะสมมาเรื่อยๆ จริงๆ มันเริ่มมาจากการเข้าไปแคสงานโฆษณานะ เราเคยคิดว่าเราดีพอ คิดว่าเราก็โอเคนะไม่งั้นเขาจะเรียกเราไปแคสทำไม แต่เมื่อเวลาผ่านไป สมมติว่าเราไปแคส 500 งาน เราจะได้แค่ 5 งานอะไรแบบนี้ มันเริ่มตั้งคำถามจนมันเกิดเป็นก้อนดำๆ แบบนี้ ก้อนที่แคะไม่ออก และถ้าเราวิ่งหนีมัน มันก็จะยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ จนเราต้องแงะก้อนนั้นออกจนได้เห็นว่าจริงๆ แล้วมาจากอะไร มาจากคำพูดคนอื่น มาจากตัวเราที่ใส่ใจคำพูดคนอื่น
กุ๊กไก่ได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องเหล่านี้บ้าง
ได้เรียนรู้เยอะมาก เข้าใจสัจธรรมชีวิตมากขึ้น มีสติมากขึ้น เราได้เรียนรู้การให้อภัยตัวเอง ให้อภัยคนอื่น เป็นไปได้ไหมที่เราจะถึงจุดที่ไม่ให้อภัยตัวเองและไม่ให้อภัยคนอื่น อะไรแบบนี้ เราว่าถึงจุดนึงเราก็ให้อภัยตัวเองไม่ได้ในการทำผิดบางครั้ง หรือบางทีเราให้อภัยตัวเองได้ บางทีเราให้อภัยคนอื่นแบบนี้ไม่ได้
การให้อภัยตัวเองที่ว่าหมายความว่าอะไร
หมายถึงการให้อภัยตัวเองที่ทำร้ายตัวเอง เหมือนว่าเราทำร้ายตัวเองแล้วผ่านไปสักพักนึงแล้วเราจะมานั่งมองว่า เรามันไม่ดี ทำไมเราถึงทำร้ายตัวเอง
เมื่อก่อนก็คือ เราใช้เล็บขูดแขนตัวเองจริงๆ แล้วมันก็มีเป็นหนังกำพร้าออกมาแบบนั้นเลย มันเกิดขึ้นจากการไม่พอใจในตัวเอง จริงๆ ก็ดุเดือดเหมือนกันเนอะ แต่ถ้าลืมมัน หรือทำเป็นเหมือนมันไม่เคยเกิดขึ้นไม่พูดถึงอีกเลยมันก็จะยิ่งเป็นก้อนที่ใหญ่มากในใจเรา เราต้องเผชิญหน้าและพูดกับมันว่าเราเคยทำ เราทำเพราะอะไรและตอนนั้นเรารู้สึกยังไง และเราได้เรียนรู้จากมันแล้ว
กุ๊กไก่บอกตัวเองยังไง ในเวลาตอนที่เราเรียนรู้ตัวเองแล้วว่าไม่เป็นไร
สมมติเริ่มต้นบอกคนนึงว่าเรารู้แล้ววันนึงเราจะบอกตัวเองว่าเราดีขึ้น เราทำได้ ใน ณ โมเมนต์นั้นที่เราเพิ่งบอกและเราบอกได้ไม่นาน พอเราบอกก็จะเหมือนมีตัวร้าย-ตัวดี ตัวขาว-ตัวดำ อยู่ในหัวเราคอยบอกว่า ไม่จริงหรอกที่พูดเพราะสุดท้ายก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม ก็จะตีๆกันอยู่ในหัว มันต้องใช้ปัจจัยภายนอกด้วย เช่น พ่อแม่ ครอบครัว เพื่อน เราต้องค่อยๆ ปรับ
สมมติคนรอบข้างเราเพื่อนเราบางคน toxic มาก ไม่เลิกพูดสักทีว่าเราล้มเหลว เลิกคบมันถ้าพูดดีๆ กับมันแล้วมันไม่เลิกฟังเราก็เลิกคบมันซะ ชีวิตจะดีขึ้น เริ่มตัดคนออกจากชีวิต เริ่มมองว่าใครไม่ดี ว่าสิ่งที่คนนี้เขาพูดเพราะเขาเอามาตรฐานของเขาเป็นหลัก เราไม่จำเป็นต้องมีเขาในชีวิตก็ได้
ซึ่งกว่าจะถึงจุดที่สามารถตัดอะไรที่ Toxic ไปได้ มันต้องผ่านจุดที่เสียดายในความสัมพันธ์ไหม
ไม่ใช่เสียดายนะ แต่เราจะโทษตัวเอง ถ้าคนที่เป็นแบบกุ๊ก จะเป็นคนที่มองว่าตัวเองไม่ดีสักอย่างเลย เราจะไม่โทษเขาเลย สิ่งที่เราจะโทษคือเราจะโทษแต่ตัวเอง เราจะโทษว่าเราทำตัวไม่ดีรึเปล่า เราเป็นเพื่อนที่ไม่ดีกับเขารึเปล่า เขาถึงทำแบบนี้ สุดท้าย เราก็ได้พ่อแม่นี่แหละที่มาเตือนสติเราว่า อะไรแบบนี้คือไม่ดี คือคนดีๆ ที่ไหนเขาจะพูดแบบนี้กับเรา
แต่การจะกล้าตัดความสัมพันธ์ที่แย่ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เราเจ็บปวด มาก ร้องไห้แล้วร้องไห้อีก ร้องไห้จนน้ำตารวมกันเป็นบ่อน้ำ สุดท้ายก็คิดว่า ถ้าจะตัดก็คือต้องตัดทุกการสื่อสารไปเลย มันก็เป็นผลกับที่ตอนนั้นเราพยายามตัดเขา เราก็รู้สึกเกลียดเขาที่เขาพูดไม่ดีกับเรา เราก็เริ่มห่างจากเขาไปก็จะเริ่มรู้สึกดีขึ้นว่า เราหยุดเกลียดเขาแล้วเพราะมันไม่ได้มีเรื่อง เขาไม่ได้มาพูดไม่ดีกับเราแล้ว ก็ค่อยๆ ดีขึ้น
เชื่อว่าหลายๆ คนก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ากุ๊กไก่ต้องผ่านเส้นทางที่โหดมากแบบนี้ รู้สึกยังไงบ้างพอผ่านเส้นทางนี้มาได้
เรารักตัวเองมากขึ้น แต่ใช้เวลานานมากเลยนะ กุ๊กก็เพิ่งจะกล้าพูดว่ารักร่างกายตัวเองได้จริงๆ น่าจะประมาณ 3-4 ปีที่แล้วเอง ไม่นานเลย คือกุ๊กคบกับไมเคิล (ไมเคิล-ศิรชัช เจียรถาวร) แล้วก็เป็นช่วงที่พอจบมหาลัย ก็จะเริ่มแยกกับเพื่อนไปทำงาน ทีนี้ที่เหลืออยู่เนี่ยคือคนที่เรารู้สึกสบายใจที่เราอยากจะเก็บความสัมพันธ์กับคนที่เหลือนี้ไว้อยู่ แล้วก็มีครอบครัว เริ่มหางานทำ
แล้วก็เจอแฟนที่ดีอย่างไมเคิล ด้วยความที่อยู่กับไมเคิล เขาก็เป็นดารามาตั้งแต่เด็ก ผ่านจุดที่ดังมากๆ จุดที่ออกไปจากบ้านก็จะมีแต่คนกรี๊ดๆ จนถึงทุกวันนี้ที่คนก็จำได้แต่ไม่ได้กรี๊ดขนาดนั้น แต่ว่าอ๋อคนนี้เป็นนักแสดง เขาก็จะเหมือนแชร์สิ่งเหล่านี้ให้เราฟังว่าสุดท้ายการเป็นนักแสดงที่กุ๊กเป็นอยู่ไปดังถึงจุดนั้นมันก็คือดัง แต่สุดท้ายแล้วกลับมามีชีวิตปกติมันก็ไม่มีอะไร สุดท้ายแล้วความสุขที่เราต้องการจริงๆ มันก็ไม่ได้กินไปถึงตรงนั้นได้
ความสุขเกิดขึ้นจากจิตใจเราเองว่าเราพอใจในตัวเองแค่ไหน ดังนั้นเป็นเหมือนความโชคดีของชีวิต การเลือกคนมาอยู่รอบๆ ข้างเรามันเลยสำคัญมากๆ กลายเป็นว่าทุกคนเลย ณ ตอนนี้ที่อยู่รอบข้างเราเขาค่อยๆ หล่อหลอมให้เราดีขึ้น ส่วนคนที่บอกเราว่า นมเล็ก คอยาว เราไม่สวย เราขาใหญ่ เราก็ไม่สนใจแล้ว สังคมก็พัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ได้ชอบแต่ลูกครึ่งแล้วเนอะ คนหมวยๆ ก็มาเดินแบบได้ ไม่จำเป็นต้องผอม คนอ้วนก็มีแฟชั่นโชว์ได้ เนี่ยโลกมันก็พัฒนาไปด้วยในขณะเดียวกัน มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่านี่สิโลกที่ผู้หญิงจะมีความสุขมากขึ้น
เมื่อก่อนเวลาพูดว่าเราสวย จะพูดแค่ว่าเราสวยยังรู้สึกว่าโกหก ยังมีเสียงในหัวว่าเราโกหกไม่ได้รู้สึกจริงๆ ว่าเราสวย เรายังรู้สึกอยู่เลยว่าเราขาใหญ่ยังรู้สึกอยู่เลยว่าคอยาว แต่ทุกวันนี้บอกกับตัวเองว่าเราสวย สมมติว่ามีคนมาพูดกับเราว่าคอยาว เราก็จะบอกกลับไปว่า ก็มันเป็นร่างกายเรา
เรื่องการงานที่จะออกจาก ‘นาดาว’ เพื่อมาเดินในเส้นทางตัวเอง ได้คุยกับค่ายไว้นานแล้วรึเปล่า
ใช่ค่ะ ก็ปกติที่ค่ายถ้าสมมติน้องคนไหนจะหมดสัญญาก็เป็นปกติที่เขาจะเรียกเขาไปลองคุยว่าปีที่ผ่านมาหรือ 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ร่วมงานกันมาเป็นยังไงบ้าง แล้วมันใกล้จะหมดสัญญาแล้วน้องๆ มีความรู้สึกว่ายังไง ชีวิตเป็นยังไง ตอนนี้ยังแฮปปี้เอ็นจอยกับสิ่งที่เป็นอยู่รึเปล่า เราก็หมดสัญญาพร้อมๆ กันกับไมเคิลก็ได้คุยกันก็เลยออกพร้อมกัน แต่จริงๆ ก็คือคุยกับทุกคนเลย คุยกับพี่ๆ ทีมงานในบริษัทฯ คุยกับน้องๆ ด้วยแล้ว
รู้สึกยังไงตอนที่เราจะก้าวเท้าออกมาจากค่ายที่เราอยู่มาหลายปี
ไม่ได้กลัวอะไรเลยนะ อาจจะเป็นเพราะว่ากุ๊กเข้าไปในบริษัทนาดาวเพราะว่าอยากจะร่วมงานทำงานโฆษณาหรือส่วนที่เป็นซีรีส์ที่กุ๊กได้เล่น กุ๊กก็สบายใจก็คือว่าทีมงานทุ่มเทมากๆ ก็เลยอยากจะทำงานกับคนที่ทุ่มเทมากๆ ก็เลยทำ ก่อนหน้านี้ก็ทำงานอยู่แล้วพอที่จะออกมา มันเลยเป็นความรู้สึกที่ว่าโอเคมันออกในฐานะแค่กระดาษ แต่ถามว่าเรารู้จักเขาเหมือนเดิมไหมก็รู้จักเหมือนเดิม เราออกมาแล้วเราก็ไปทำสิ่งที่ทำอยู่คือมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปเลย เราก็ยังเป็นนักแสดงเหมือนเดิม เราก็ยังรับงานเหมือนเดิมๆ พี่ๆ ที่ทีมแคสติ้ง เอเจนซี่ ฝ่ายขายงานก็เหมือนเดิม
แต่สิ่งที่มันเปลี่ยนไปอาจจะเป็นตัวตน คือสมมติว่าเราอยู่ในนาดาว สิ่งที่นาดาวมองเราหรือขายเราให้กับลูกค้าก็จะแบบน้องเราเป็นเป็นคาแรคเตอร์ประมาณนี้ แล้วเรารู้สึกว่าเราอายุเท่านี้แล้วมันเลยจุดที่เราจะเป็นลักษณะประมาณนี้แล้ว
ทุกคนที่นาดาวน่ารักมาก ดูแลเราเหมือนเป็นลูกหลานคนนึง เพียงแต่ว่าเราก็จะรู้สึกว่าเราเลยตรงนั้นไปแล้ว เราเหมือนต้องขยับเพื่อเป็นการหาบทใหม่ให้ชีวิต มันก็เลยเป็นความรู้สึกประมาณนั้นมากกว่า ความรู้สึกเหมือนกิกิที่ออกจากบ้านแม่แล้วไปหาเมืองใหม่ของตัวเอง
พูดแบบนี้ได้ไหมว่า เส้นทางที่โหดมากๆ ที่กุ๊กไก่ได้เจอมา มันหล่อหลอมให้เราแข็งแกร่งขึ้น
จริงๆ เราก็มักจะเจอแบบสอบถามที่ว่าถ้าให้ย้อนกลับไปแก้ไขอดีต 5 ปีที่แล้วได้จะแก้อะไร อยากบอกกับตัวเองว่าอะไร ถึงจุดนึงก็คือกุ๊กเขียนไปว่า ถ้าบอกกับตัวเอง 5 ปีที่แล้วก็คือทำต่อไป ถ้าจะทำอะไรก็ทำแบบนั้นแหละไม่ต้องเปลี่ยนใจ มันเหมือนเอฟเฟคผีเสื้อกระพือปีก (butterfly effect) ถ้าวันนั้นเราไม่ได้กระพือปีก เราก็คงไม่ได้บินมาอยู่ตรงนี้ มหาสมุทรก็คงไม่ได้เป็นคลื่นแบบนี้ ทุกการตัดสินใจมีผลต่อปัจจุบันหมด ถ้าเราแฮปปี้กับปัจจุบันแล้วอดีตเราไม่ต้องไปอยากเปลี่ยนมัน
ส่วนถ้าเป็นเรื่องอนาคตกุ๊กรู้สึกว่ากุ๊กเชื่อว่าตัวเองจะมีความสุข และดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง