ผู้นำที่ดีคืออะไร และผู้นำแบบไหนที่ประชาชนอยากได้ ?
*คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญมากๆ ของซีรีส์
คำถามยอดฮิตในปรัชญาการเมือง ก็หนีไม่พ้นของการเลือกผู้นำ ว่าผู้นำแบบไหนเหมาะจะปกครองบ้านเมือง และจะเป็นผู้นำแบบไหนที่จะให้ประชาชนเลือก ในซีรีส์เกาหลีเรื่อง Designated Survivor 60 days ทางช่อง tvN และ Netflix ที่เพิ่งออนแอร์ตอนจบไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่อง ที่ถกเถียงถึงภาวะความเป็นผู้นำ อำนาจ และคนดี ในระบอบการเมืองตลอด ตั้งแต่ตอนแรก ยันตอนจบ
Designated Survival เป็นซีรีส์ของฝั่งอเมริกา ที่ตอนนี้ออกฉายไปแล้ว 3 ซีซั่น (ส่วนตัวแล้ว ไม่เคยดูของออริจินัลมาก่อน) ในเวอร์ชั่นรีเมคของเกาหลีใต้ ก็มีโครงเรื่องที่คล้ายคลึงกับของต้นฉบับ ซึ่งตัวเรื่องเล่าถึงเหตุระเบิดที่รัฐสภา ที่ทำให้ผู้นำประเทศ และรัฐมนตรีเสียชีวิตทั้งหมด เหลือเพียงรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ที่เผอิญไม่ได้อยู่ในที่แห่งนั้น จึงต้องมารับหน้าที่ ‘รักษาการประธานาธิบดี’ ของประเทศในสภาวะฉุกเฉิน สืบหาตัวมือวางระเบิด และประคับประคองสถานการณ์บ้านเมืองที่วุ่นวาย ให้ผ่านพ้นไปถึงช่วงเลือกตั้งใหม่ให้ได้
แต่ในเวอร์ชั่นนี้ ก็ยังใส่ความเป็นเอเชีย การเมืองระหว่างประเทศในแถบคาบสมุทรเกาหลี ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีเหนือ และญี่ปุ่น มาเป็นส่วนประกอบด้วย
ซึ่งแม้จะฉายผ่านช่องเคเบิ้ลของเกาหลีใต้ แต่ว่าในตอนจบของซีรีส์ก็ถือว่าทำเรตติ้งได้สูง มียอดผู้ชมเฉลี่ย 6.2% และสูงสุดที่ 7.9 % ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของตัวซีรีส์เองด้วย ท่ามกลางตอนจบที่ทำเอาหลายคนลุ้นว่า เป็นการจบแบบปลายเปิด ให้เดาต่อกันเอง หรือจะมีภาค 2 แบบเวอร์ชั่นออริจินัลหรือไม่
*คำเตือนอีกครั้ง!!! : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญมากๆ ของซีรีส์
การเมืองเรื่องของอำนาจ
การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ และเมื่อยิ่งอยู่ในระบอบการเมืองก็ยิ่งต้องการอำนาจ
สิ่งนี้พิสูจน์ให้ผ่านตัวละครหลักอย่าง รักษาการประธานาธิบดี พัค มูจิน ซึ่งในตอนแรก เขาเป็นเพียงรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม จากการแต่งตั้งของรัฐบาล น้องใหม่ในวงการการเมือง ไม่เคยผ่านการลงเลือกตั้ง ไม่ได้ต้องการไต่เต้าในตำแหน่งทางการเมือง วันๆ เอาแต่วัดค่าฝุ่น ดูแต่นโยบายสิ่งแวดล้อม กลับต้องมากลายเป็นผู้กุมอำนาจที่ใหญ่สุดของประเทศ เหนือประชาชน และกองทัพ
ในตอนแรกๆ เราจะเห็นความสับสน ความงุนงง และความไม่เคยชินในการใช้อำนาจของรักษาการพัค ที่ต้องกลายมาเป็นผู้นำ ตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ อย่างการยิงขีปนาวุธ และการเริ่มตอบโต้ทำสงคราม ตั้งแต่วันแรกของการรับตำแหน่ง ทั้งในช่วงแรก เมื่อพูดถึงอำนาจในการบริหาร รักษาการพัคเอง ก็เป็นคนพูดออกมาว่า “ผมไม่ใส่ใจเรื่องพรรค์นั้น”
แต่ในตอนเดียวกัน เรากลับเห็นรักษาการพัค ที่ได้เริ่มรู้จักการใช้อำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้เขาจะเพิ่งบอกไปว่า ไม่ใส่ใจ แต่เขาก็เห็นว่าในการเป็นผู้นำ การจะออกคำสั่ง หรือนโยบาย ต่างก็ต้องใช้อำนาจในฐานะผู้นำ เพื่อให้มันออกมาได้สำเร็จ
ทั้งในจุดหนึ่งของเรื่อง เรายังเห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของรักษาการพัคเอง ที่จากเดิม เขาแค่ต้องการอยู่ในตำแหน่งนี้ให้ครบ 60 วันตามหน้าที่ เขาเริ่มคิดถึงการอยู่ในอำนาจต่อ และมีแผนลงสมัครชิงตำแหน่ง ปธน. ด้วย หรือแม้ในตอนจบของเรื่องเอง เขาก็เห็นว่าการจะแก้ปัญหาประเทศอย่างเรื่องฝุ่นไม่ได้ทำได้แค่ภาคประชาชน ลดการใช้รถยนต์เท่านั้น แต่จะแก้ได้จริงโดยใช้อำนาจทางการเมือง และการออกนโยบาย
ซึ่งจริงๆ แล้ว เขาอาจจะไม่ใช่คนที่ไม่ใส่ใจเรื่องอำนาจ แต่เขาไม่เคยได้มี หรือใช้มันต่างหาก
ถึงอย่างนั้น ในโลกแห่งความเป็นจริง เราได้เห็นผู้นำที่หลงระเริง เสพติดในอำนาจ จนกลายเป็นผู้นำแบบอำนาจนิยม ในซีรีส์เรื่องนี้ ก็ยังให้เราได้เห็นความเข้มแข็งของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ที่ถึงแม้ พัค มูจิน จะเป็นรักษาการปธน. ที่มีอำนาจสูงสุด และเป็นผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุดด้วย แต่ในการออกคำสั่ง หรือกฎหมายใดๆ รักษาการ พัค และทีมเลขานุการ ต่างก็ต้องให้มีการตีความอำนาจของ ปธน. ผ่านทางรัฐธรรมนูญอีกที ว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่เขาได้รับมีอยู่แค่ไหน
รวมถึงการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ที่มีอำนาจในการถ่วงดุลรัฐบาล ซึ่งเราก็ได้เห็นการทำงานของ ส.ส. ยุนชานคยอง ที่แม้เธอจะดูเหมือนช่างแย้ง คอยทักท้วง และจับผิด รัฐบาลสมัยก่อนและรักษาการพัค แต่ในยามที่พัค มูจิน ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เขาเองก็ยังวานให้ฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ คอยตรวจสอบฝั่งรัฐบาลของเขาเอง ซึ่ง ส.ส. ยุนก็บอกกับ พัค มูจินว่า นั่นเป็นสิ่งที่เธอทำมาตลอดอยู่แล้ว ในฐานะฝ่ายค้าน
“การคอยเป็นหูเป็นตาดูผู้มีอำนาจ เป็นสิ่งที่ฉันเคารพยึดถือที่สุดในฐานะนักการเมือง” – หัวหน้าฝ่ายค้าน ยุน ชานคยอง
ทั้งในระบอบประชาธิปไตย อำนาจ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่กับแค่ ‘ผู้นำ’ หรือนักการเมืองฝ่ายเดียว ซึ่งแม้ในซีรีส์เรื่องนี้จะเล่าเรื่องของผู้มีตำแหน่งในทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ตัวละครอย่าง ‘ประชาชน’ ไม่ได้มีบทบาทสำคัญ หรือเป็นหลัก แต่เรากลับเห็นการพูดถึง ผลโพลคะแนนความนิยมของประชาชน ความคิดเห็นของสาธารณชน ที่แสดงให้เห็นว่าเหล่า ‘ผู้นำ’ ในเรื่องยังต้องสนใจอำนาจของประชาชน ในการตรวจสอบ และเลือกพวกเขาเข้ามา
รัฐในอุดมคติของ VIP
รัฐ และการเมืองในอุดมคติ ต่างก็เป็นสิ่งที่เหล่านักปรัชญาการเมือง พยายามออกแบบระบอบ และการเมืองที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเพลโต อริสโตเติล ขงจื้อ หรือแม้แต่มาร์กซิสต์ และระบอบคอมมิวนิสต์เอง ใน Designated Survivor 60 days เราก็เห็นความพยายามของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกหนุนหลังโดยบุคคลสำคัญ หรือ VIP ในการพยายามสร้างสังคมการเมืองในแบบที่พวกเขานั้นต้องการ
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจากเหตุระเบิดรัฐสภา ที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน ท่ามกลางความคลุมเครือว่า ผู้ก่อเหตุเป็นใคร และต้องการอะไรจากเหตุครั้งนี้ ?
VIP มีสมาชิกผู้คอยเชื่อฟัง และทำตามอยู่ในทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ หน่วยข่าวกรอง ไปถึงบุคคลในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งคอยทำหน้าที่ชักใยเรื่อง และเหตุการณ์ให้เป็นไปตามรัฐอุดมคติที่พวกเขาวางไว้ เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขาทั้งในทางอำนาจ และเศรษฐกิจ
ทั้งเริ่มจากการก่อเหตุระเบิด อย่างที่เลขาทำเนียบฯ ฮันซึงจู หนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดกล่าวว่า “อำนาจที่น่าเกรงขามที่สุดคือการใช้ความกลัว และความหวาดผวา” เพื่อให้ประชาชนเชื่อง และเชื่อฟังผู้ปกครอง ไปจนถึงการเลือกตั้งที่วางตัวผู้ชนะไว้อยู่แล้ว โดยพวกเขาตัดสินเองว่านี่คือ ‘วิธีการปกครองที่เหมาะกับประเทศนี้’ และเชื่อว่านั้นคือความรักชาติในแบบของตัวพวกเขาเอง โดยคิดว่า ประชาชนไม่ควรมีส่วนร่วมตัดสินการเมืองในอุดมคติด้วย
ซึ่งวิธีการนี้ ต่างก็เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำในหลายๆ ประเทศคิด และออกแบบ โดยเชื่อเช่นกันว่า ประเทศของพวกเขา เหมาะสมกับวิธีนี้
ทหารที่ไม่เล็งปืนใส่ประชาชนตัวเอง
“ช่วงเวลาที่อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพ คือตอนที่เราเล็งปืนใส่ประชาชนตัวเอง” – นายพลอี กวานมุก
เกาหลีใต้เอง เป็นประเทศนึงที่ผ่านประวัติศาสตร์เคยมีการทำรัฐประหาร และรัฐบาลจากการทำรัฐประหาร ในเรื่องนี้ ก็ได้สะท้อนให้เห็นความไม่ต้องการกลับไปอยู่ในจุดเดิมที่ประเทศตกอยู่ภายใต้ผู้นำทหาร
การเข้ามาอยู่ในตำแหน่งรักษาการ ปธน. ของพัค มูจิน เป็นสถานการณ์ที่เขาไม่ได้ตั้งตัว หลังเข้าไปอยู่ในตำแหน่งนี้ไม่ถึง 1 วัน เขามองว่าตัวเองทำไม่ได้ และอยากลาออก แต่หนึ่งในเหตุผล ที่เขายังอยู่ในตำแหน่งนี้ เพื่อให้ฝ่ายบริหารไม่ขาดหาย และไม่ให้กองทัพที่มีอำนาจชัดเจนยึดตำแหน่ง ซึ่งนั่นจะหมายถึง ‘การรัฐประหาร’
นอกจากนี้ เรายังเห็นภาพการปกป้องกองทัพ ในแบบที่ไม่ใช่แค่การปกป้อง ไม่ให้คนภายนอกวิจารณ์ หรือโจมตี แต่เป็นการปกป้องเกียรติ โดยการยับยั้งการรัฐประหารของทหาร ด้วยฝีมือของนายพลทหารเอง ซึ่งสิ่งนี้ เกิดขึ้นได้ เพราะนายพลผู้นั้น ไม่ได้มองถึงประโยชน์ของกองทัพเป็นสำคัญ แต่มองถึงโครงสร้าง และระเบียบของประเทศ อย่างที่รักษาการพัค พูดกับนายพลอี กวานมุกว่า
“กฎหมาย และระเบียบของประเทศนี้ สำคัญกว่าศักดิ์ศรีส่วนบุคคล คุณต้องอยากให้ลูกหลานเรา จดจำว่ากองทัพนั้น น่ายกย่อง”
ผู้นำที่ดี
‘ผู้นำที่ดีและมีคุณธรรม’ เป็นอีกหนึ่งประเด็น ที่เรื่องนี้นำเสนอ จากลักษณะที่สำคัญของ พัค มูจิน ที่เมื่อกลายมาเป็นผู้นำ และนักการเมืองแล้ว สิ่งที่เขาเลือกทำหลายอย่าง เป็นสิ่งที่เหล่าเลขานุการทำเนียบ ผู้สื่อข่าว หรือฝ่ายค้าน ไม่คาดคิดว่าเขาจะเลือกทำ ไม่ว่าจะเป็นการบอกความจริงกับประชาชน ไม่โกหก หรือเลือกต่อรองในแบบที่ทุกฝ่ายวิน-วิน มีแต่ผู้ชนะ และไม่มีผู้แพ้ ซึ่งหลายครั้ง ทำให้คนมองว่า เขาไม่ใช่ ‘นักการเมือง’
แต่สุดท้าย คาแรคเตอร์คนดี ที่ซื่อสัตย์ของพัค มูจิน กลับกลายเป็น ผู้นำในแบบที่ใครหลายๆ คนต้องการ ที่เหล่าเลขานุการทำเนียบได้ขอให้รักษาการพัค ลงชิงตำแหน่ง ปธน. จริงๆ เพราะเห็นถึงความเป็นไปได้ ในการชนะเลือกตั้ง และการสร้างการเมืองแบบใหม่ โดยความเชื่อว่าจะสร้างโลกที่ดี ได้ด้วยผู้นำที่ดี รวมไปถึงกลายเป็นตัวเต็ง ที่นักการเมืองคนอื่นๆ ไม่คิดว่าจะสู้ได้เลยด้วย
ซึ่งแม้ว่าจะผ่านการดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีไปใน 60 วัน ตามหน้าที่ และเขาไม่ได้ลงชิงตำแหน่งอย่างที่วางแผนไว้ แต่ความเป็นคนดีของ พัค มูจิน แบบที่ไม่เคยเห็นในทางการเมืองมาก่อน ก็ยังทำให้ใครหลายคนเฝ้าหวังว่า เขาจะกลับมาลงชิงตำแหน่ง ปธน. และมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง
Designated Survivor 60 Days ยังพูดถึงความหวังในประเทศ แม้จะผ่านวิกฤติการณ์ที่ดูเลวร้าย และสาหัส แต่ยังมีคนรุ่นใหม่บางส่วนที่เชื่อว่า ประเทศยังไม่หมดหวัง และสังคมที่ดียังสร้างใหม่ได้ ผูกโยงกับการมีผู้นำที่ดี ซึ่งน่าสนใจว่า ตัวละครผู้นำที่ดีอย่าง ‘พัค มูจิน’ หากอยู่ในการเมืองของโลกจริงแล้ว เขาจะยังเป็นคนดีเสมอต้น เสมอปลาย แบบในซีรีส์ไหม หรือเขาจะถูกมอง และกลายเป็นนักการเมืองแบบที่คนอื่นๆ ไม่เคยคิดว่าเขาจะเป็น