พล็อตล้ำ ซีจีภาพอลังการ เนื้อหาพูดถึงสังคม การเมือง หรือกฎหมาย ใครที่เป็นแฟนซีรีส์เกาหลีกันมา น่าจะเห็นว่า วงการละครของประเทศนี้ มีงบ มีทุน มีบุคลากร ที่ทำให้คุณภาพของซีรีส์ไม่หยุดพัฒนา
แต่ท่ามกลางพล็อตเรื่องแปลกใหม่ที่หลายๆ คนมักมองว่าเกาหลีใต้ทำประเด็นสะท้อนสังคมได้ดี เราอาจจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายของตัวละครในซีรีส์เกาหลี ที่ทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่ตัวละครชาย หรือหญิง แต่เริ่มมีการให้บทบาทกับตัวละครหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ มากขึ้นเรื่อยๆ และยังพยายามทำประเด็นนี้ ให้เป็นเรื่องปกติในสังคม และตัวละครเหล่านี้ก็เป็นตัวละครปกติทั่วๆ ไป เช่นกัน
ในเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง Pride Month นี้ The MATTER จึงอยากชวนไปดู พัฒนาการของซีรีส์เกาหลี ในการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ และในความเป็นจริงที่วงการบันเทิงยังคงมีในการกีดกันประเด็นเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน
LGBTQ+ ในซีรีส์เกาหลี ที่เริ่มจากหญิงแต่งชาย
กระแสความฮิตของซีรีส์เกาหลี เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงหลังปี 2000 ซึ่งด้วยสังคม บริบทต่างๆ ในช่วงนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะยังไม่เห็นตัวละคร LGBTQ+ หรือการพูดถึงประเด็นนี้ในซีรีส์เกาหลีเลย แต่ซีรีส์ที่เรียกได้ว่าพูดถึง LGBTQ+ อย่างโดดเด่นมากขึ้น คือ Coffee Prince (2007), Personal Taste (2008) และ You’re beautiful (2010)
พล็อตเรื่องสมัยนั้น ไม่ได้พูดถึง หรือมีตัวละคร LGBTQ+ ออกมาโต้งๆ แต่มักเป็นไปในแนวหญิงแต่งชาย ปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อเหตุผลบางอย่าง แต่แล้วเรื่องราวมากมายก็เกิดขึ้น จนความรักก่อตัว ทำให้ตัวพระเอกเกิดความสับสนว่าตนนั้นชอบผู้ชาย (ที่แท้จริงแล้วคือผู้หญิง) หรือไม่ อย่างใน Coffee Princeและ You’re beautiful ไปจนถึงพล็อตความเข้าใจผิดของนางเอก ว่าผู้ชายเป็นเกย์แบบใน Personal Tasteทำให้เธอยอมรับเขามาอยู่อาศัยด้วย เพราะคิดว่าอย่างไรเขาก็ไม่ได้มีรสนิยมทางเพศชอบผู้หญิง
ในยุคสมัยนั้น หลายคนอาจไม่ได้คิดถึงว่า การแต่งหญิงเป็นชาย หรือความสับสนในตัวเองของเหล่าตัวละครที่เกิดขึ้นในซีรีส์ คือการสอดแทรกประเด็น LGBTQ+ ทั้งในยุคสมัยนั้นยังมีประแสหนึ่งที่เกิดขึ้นมา คือ โกชมีนัม (꽃미남) ที่แปลตรงตัวภาษาเกาหลีว่า หนุ่มดอกไม้ ซึ่งหมายถึงผู้ชายที่ดูมีความซอฟต์มาสคูลีน ซอฟต์หวาน อ่อนโยน หรือมีรสนิยมชอบแต่งหน้า ใช้เครื่องสำอาง หรืออาจะเรียกได้ว่าผู้ชายหน้าสวยก็เป็นได้ ซึ่งโกชมีนัมนี้ ก็เป็นลักษณะของคาแร็กเตอร์ที่ปรากฏตัวในซีรีส์ยุคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะตัวละครของ ฮวังแทคยอง พระเอกเรื่อง You’re beautiful
ด้วยวัฒนธรรม K-POP และไอดอลบอยแบนด์ ที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น บวกกับกระแสซีรีส์เกาหลี ที่สร้างภาพลักษณ์ผู้ชายแบบโกชมีนัมขึ้นมาในยุคนี้ มีงานวิจัยที่ว่า เพราะผู้คนมักจะชื่นชมโกชมีนัมในสื่อ และจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโกชมีนัม พวกเขาจึงยอมรับอัตลักษณ์เกย์ในวัฒนธรรมสมัยนิยมของเกาหลีมากขึ้น และสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการรักร่วมเพศในเกาหลีค่อนข้างจะได้รับการยอมรับจากหนุ่มสาวชาวเกาหลี และสามารถใช้โกชมีนัม เป็นวิธีผสมผสานเกย์ หรือ LGBTQ+ เขากับสังคม
นอกจากซีรีส์แล้ว ในยุคทศวรรษ 2000 เอง ยังมีภาพยนตร์มากมาย ที่พูดถึง และฉายภาพของ LGBTQ+ ต่อสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น The King and the Clown (2005), Antique (2008) และ A Frozen Flower (2008) ซึ่งควอนจองมิน ศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์ใน Portland State University พูดถึงปรากฏการณ์ของผู้หญิงที่เป็นเพศตรงข้าม ที่จินตนาการถึงร่างกายของเกย์ว่าเป็นส่วนที่ทำให้ภาพยนตร์เหล่านี้เป็นกระแส และภาพยนตร์เหล่านี้ ล้วนแต่มีองค์ประกอบที่คล้ายกันของ ‘หนุ่มหล่อ’ ในบริบทของการรับบทคาแร็กเตอร์ LGBTQ+
ตัวละคร LGBTQ+ ที่มีพื้นที่ในละครมากขึ้น
แม้ว่าจะมีการให้บทบาทตัวละคร และพื้นที่ของ LGBTQ+ มากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีการใช้บทบาทของ LGBTQ+ เป็นตัวตลกอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการให้ตัวละครชายแท้ แอ๊บแต่งตัวเป็นผู้หญิงหรือเกย์ เพื่อปลอมตัวทำภารกิจ หรือเป็นตัวตลกในฉากนั้นๆ แต่ถึงอย่างนั้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น ที่เราเห็นซีรีส์เกาหลี ให้บทบาทตัวละคร LGBTQ+ ที่ไม่ได้ยัดเยียดภาพจำความเป็นตุ๊ดแต๋ว ผิดปกติ หรือมีคาแร็กเตอร์แปลกกว่าคนอื่นๆ แต่คือคนธรรมดาๆ ที่มีชีวิต มีทางเลือก และมีความรัก ความชอบในแบบของพวกเขา
สำหรับผู้เขียน ซีรีส์เรื่องแรกที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นคือ Be Melodramatic (2019) ของช่อง JTBC ซีรีส์ที่นำแสดงโดยตัวหลักของผู้หญิง 3 คน ที่หนึ่งในนั้น มีน้องชายเป็นเกย์ ฮโยบง เป็นตัวละครเกย์ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตปกติอย่างเป็นธรรมชาติของเขา ที่มีครอบครัว มีการงาน และมีคนรัก แต่ก็มีฉากที่แสดงให้เห็นถึงสังคมเกาหลี ที่ยังเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน หลังจากที่ฮโยบง และแฟนหนุ่มถูกไล่ออกจากร้านอาหาร เพียงเพราะพวกเขาคือคู่รักเพศเดียวกัน
หลังจาก Be Melodramatic ก็มีซีรีส์อีกที่พูดถึง LGBTQ+ มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Itaewon Class (2020) ที่หนึ่งในตัวละครหลัก ฮยอนอี คือผู้หญิงข้ามเพศ และต้องก้าวข้ามความกลัวในการประกาศว่าเธอคือผู้หญิงทรานส์ หรือในซีรีส์ Love In Contract (2022) นอกจากเรื่องราวหลักที่ดำเนินไปแล้ว ยังมีการเล่าเรื่องประกอบในการต่อสู้ของ กวังนัม ที่บทบาทของเขาสะท้อนให้เราเห็นความยากลำบากในการใช้ชีวิตในฐานะเกย์ในสังคม รวมไปถึงประเด็นที่ชายแท้ ยอมเป็นเพื่อนกับเกย์ด้วย
แม้แต่ในละครซากึก หรือแนวย้อนยุคเอง ก็มีการพูดถึงประเด็นนี้เช่นกัน กับ Under The Queen’s Umbrella (2022) ที่นำเสนอภาพการต่อสู้ของหนึ่งในองค์ชาย ที่มีรสนิยมทางเพศชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิง และที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ยอมรับตัวตนของตัวเองเนื่องจากตำแหน่งของเขาในฐานะเจ้าชาย และการยอมรับของแม่ในการรับมือ และปกป้องลูกชาย
ไม่เพียงแค่ตัวละครชาย แต่เกาหลียังเสนอภาพของ Girl’s love เช่นกัน กับคาแร็กเตอร์ครูประถม โชฮี ใน Home town cha cha cha (2021) ที่แอบชอบเพื่อนผู้หญิงของเธอมายาวนาน และต้องปิดบังความรู้สึกไว้ เพราะพยายามแก้ไขความเจ็บปวดจากประสบการณ์ที่แม่ของเธอไม่ยอมรับตัวตนของเธอ แต่สุดท้ายเพื่อนสาวของเธอก็ยอมรับ และยังคงเป็นเพื่อนกับเธอ หรือใน Nevertheless (2021) ที่แม้เนื้อเรื่องหลักจะเป็นความสัมพันธ์ของชายหญิง แต่ก็มีคู่รักหญิงหญิงที่เปิดเผย ระหว่าง ยุนซอลกับซอจีวาน ที่เริ่มจากเพื่อนสนิท และกลายเป็นคนรักในเวลาต่อมาด้วย และ Mine (2021) ซีรีส์ที่ตีแผ่ชีวิตของเหล่าคนรวย หรือแชบอลของเกาหลี ซึ่งมีตัวละครเลสเบี้ยนอย่าง จองซอฮยอนเป็นตัวหลักด้วย
Queerbaiting การขายความ queer ให้เป็นสินค้า
ถึงการให้บทบาทตัวละคร LGBTQ+ และสะท้อนให้เห็นความลำบาก หรือชีวิตของพวกเขาผ่านซีรีส์ แต่ก็ยังมีซีรีส์เกาหลีบางเรื่องเช่นกัน ที่ใช้ประโยชน์ตัวละคร LGBTQ+ เพื่อการดึงดูดความสนใจของคน แต่กลับทำให้ประเด็นทางเพศเป็นเรื่องตลก หรือแค่ต้องการขายซีนนั้นให้เหล่าผู้ชม
มินิซีรีส์ปี 2017 เรื่อง The Boy Next Door ที่นำแสดงโดย ชเวอูชิก และจางกียง ซีรีส์สั้นตอนละ 5-7 นาที ซีรีส์เบาสมอง ตลก และดูได้คลายเครียด เรื่องราวของสองหนุ่มโสดที่มีเหตุต้องย้ายมาอยู่ด้วยกันด้วยความบังเอิญ และมีฉากตลก ขบขัน ทำให้คนเข้าใจผิด และชี้นำว่าพวกเขาทั้งคู่คือคู่รัก โดยที่ในตอนจบนั้นเป็นแบบปลายเปิด ไม่มีการสรุปว่า พวกเขากลายเป็นคู่รักแบบที่ถูกเข้าใจผิดหรือไม่ แม้ว่าในซีรีส์จะมีฉาก come out และสนับสนุนการยอมรับตัวตนออกมาสั้นๆ แต่จากฉากต่างๆ ที่เรียกเสียงฮา สร้างความขบขัน และชี้นำให้คนเข้าใจผิดในความสัมพันธ์ของตัวละคน ในมุมนึงก็ถูกวิจารณ์ และมองว่าเป็นซีรีส์ที่ขายความ Queerbaiting เช่นกัน
อีกเรื่องที่มีฉากสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ชมคือ ซีรีส์ยอดฮิตอย่าง Vincenzo ที่มีฉากของตัวละคร ทนายวินเซนโซที่ต้องแกล้งกันเป็นเกย์เพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ ซึ่งในฉากนั้นก็ส่งผลให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชม โดยหนึ่งในผู้ที่รับชมฉากนี้ ทวิตว่า เกิดความรู้สึกหลากหลายปนกันในตอนที่ดูฉากนี้ และการเห็นตัวละครเกย์เป็นผู้ที่ทำร้ายคนอื่น ทำให้เกิดความรู้สึกถึงการ homophobic หรือการเกลียดกลัวเกย์ หรือคนร่วมเพศด้วย
นอกจาก Vincenzo แล้ว ก็ยังมีซีรีส์ของ Netflix ที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง Squid Game ที่มีตัวละครเกย์ ที่ต้องการร่วมเพศกับพนักงานเสิร์ฟ ซึ่งก็ถูกมองว่าทำให้ภาพของ LGBTQ+ เป็นไปในทางลบ และสร้างภาพตัวร้ายที่เป็นเกย์ และอาจเพิ่มความรู้สึก homophobic ให้กับผู้ชมได้
เราเห็นการส่งเสริม LGBTQ+ ที่เพิ่มมากขึ้นในวัฒนธรรมป๊อปของเกาหลี ไม่ว่าจะเพลง ไอดอล หรือซีรีส์ที่ดูเปิดกว้างมากขึ้น ไปจนถึงในเชิงสังคม ที่คนมีความเข้าใจ LGBTQ+ มากขึ้น โดยจากบทความในปี 2021 มีการรายงานผลสำรวจโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเกาหลี ว่าชาวเกาหลีใต้ 7 ใน 10 คนเชื่อว่าการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่ม LGBTQ+ เป็นเรื่องผิด และ 9 ใน 10 สนับสนุนการออกกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ในความเป็นจริง กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติก็เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเลื่อนการอนุมัติมาอย่างยาวนาน และล่าสุดยังถูกเลื่อนการพิจารณาออกไป แม้ว่าจะมีการยื่นคำร้องทางออนไลน์เพื่อสนับสนุนกฎหมายนี้มากกว่า 100,000 ฉบับในปี 2021 รวมไปถึงการจัดงาน Queer Parade ในปีนี้ ที่ในตอนแรก กลุ่มผู้จัดถูกปฏิเสธการให้สถานที่จัดงานที่บริเวณ City hall ซึ่งเป็นสถานที่จัดในทุกๆ ปี และให้พื้นที่แก่กลุ่มศาสนา ในการจัดคอนเสิร์ตในวันนั้นแทน ก็ยังแสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติ และไม่ยอมรับ LGBTQ+ ที่ยังมีอยู่ในสังคมเกาหลี
โดยนักเคลื่อนไหวสิทธิ LGBTQ+ ชาวเกาหลีคนนึงก็ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้เช่นกัน ว่าถึงแม้เราจะเห็นภาพตัวละคร LGBTQ+ ที่มากขึ้น ในวงการโทรทัศน์ แต่การเลือกปฏิบัติก็ยังคงมีอยู่
“ฉันไม่คิดว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว แต่ฉันรู้สึกว่ามีการแสดงภาพ LGBTQ+ ที่ตลกขบขันน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากสังคมระมัดระวังเกี่ยวกับการเหมารวมทางเพศ มากกว่าความเกลียดชังที่มีต่อชน LGBTQ+ ที่ลดน้อยลงไปในสังคม”
อ้างอิงจาก
Murell S. (2019). ‘Portrayals of “Soft Beauty”’ Analyzing South Korean Soft Masculinities in Media and in Real Life
https://www.spieltimes.com/tv-shows/new-love-playlist-evolution-of-lgbtq-in-k-drama/#.ZHmS2S8RpQI