ภาพยนตร์เป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยความที่สามารถหาชมได้ง่าย แถมมีเรื่องใหม่ๆ เข้าฉายอย่างต่อเนื่อง แม้ราคาตั๋วจะสูงอยู่บ้างในช่วงหลังแต่ก็ยังพอรับไหวในช่วงต้นเดือน ในฝั่งออนไลน์ก็มีทั้ง Blog และ Facebook Fanpage ที่รีวิวหนังและแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นๆ เพิ่มมากขึ้น
ในทางกลับกัน หนังไทยกลับมีรายได้หดหายลง อย่างในปี 2015 ที่ผ่านมา รายได้ลดลงเหลือเพียงราว 500 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 13 ของรายได้ทั้งหมดของปีที่มีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งคนทำหนังไทยมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มากขึ้น กับอีกส่วน คือ โรงหนังให้เวลาหนังไทย หนังอิสระ หรือหนังสเกลเล็กๆ น้อยลงเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้กลุ่มคนทำงานหนังไทยจึงพยายามรวมตัวกันและหาทางแก้อีกครั้งหนึ่ง โดย กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ ได้ออกจดหมายเชิญสื่อมวลชนเพื่อแถลงข่าวในหัวข้อ “ยื่นข้อเรียกร้อง เร่งพาหนังไทยออกพ้นวิกฤติการณ์” ที่จะจัดงานขึ้นในวันที่ 11 มกราคมนี้ เป้าหมายหลักของพวกเขาก็คือการใช้มาตรการจากพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติช่วยแก้ไข ทั้งการให้เปิดกองทุนสำหรับการจัดทำหนังไทย การลดภาษีให้กับผู้จัดทำภาพยนตร์ให้มากขึ้น หรือการเจรจากับภาคเอกชนให้ยกเลิกการเก็บค่าบำรุงบางประการออกไป
ประเด็นหลักสำคัญที่ถูกยกมาพูดถึงในครั้งนี้ก็คือการให้บังคับใช้ มาตรา 9 (5) ของ พรบ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อให้สัดส่วนการฉายของภาพยนตร์ไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวันฉายขั้นต่ำให้ภาพยนตร์ที่ถูกสร้างและผลิตในประเทศ หรือมีการกำหนดจำนวนนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศไปเลยก็ได้เช่นกัน
การกำหนดสัดส่วนของภาพยนตร์นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกในหลายประเทศ เดิมทีในญี่ปุ่น อังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส ก็เคยตั้งกำแพงนี้ไว้หนาแน่น ก่อนจะค่อยๆ ลดลงไปตามความแข็งแรงของวงการ ส่วนประเทศที่ยังใช้ระบบนี้อยู่ก็อย่างเกาหลีใต้ ที่ก็เพิ่งปรับเปลี่ยนกำหนดวันฉายขั้นต่ำของหนังในประเทศเป็นเวลา 79 วัน และยังมีแนวโน้มที่จะขอโควต้าวันฉายให้กับหนังเฉพาะทาง (หรือหนังอาร์ต) อีกด้วย
ที่กรีซเอง ก็มีกำหนดวันฉายหนังในประเทศขั้นต่ำเป็นเวลา 28 วัน ส่วนในสเปนนั้นให้เวลายืนโรงสำหรับการฉายหนังในประเทศ 73 – 91 วัน ด้านบราซิลใช้วิธีการออกกฤษฎีกาเพื่อกำหนดโควต้าหรือข้อควบคุมไปตามแต่ละปี
หรือถ้าขั้นสุดก็คงไม่พ้นประเทศจีนที่มีโควต้าให้นำเข้าหนังต่างประเทศที่ไม่มีดาราหรือการถ่ายทำในจีนเข้าฉายเพียงปีละไม่เกิน 34 เรื่องต่อไป (ช่วงหลังเราจึงเห็นหนังหลายเรื่องที่มีดาราจีนและถ่ายทำบางฉากในจีนมากขึ้นเพื่อจะได้ไม่ต้องติดโควต้านี้) วงการภาพยนตร์ของแต่ละประเทศยังมีความพยายามที่จะพัฒนาวงการของตนเองทั้งในด้านโปรดักชั่น และด้านบทเพิ่มขึ้นด้วย
ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของผู้ชมที่มีเสียงตอบรับค่อนข้างชัดเจนว่า การที่พวกเขาอุดหนุนหนังไทยน้อยลง ส่วนหนึ่งก็เพราะหนังไทยมาในฟอร์มเดิมๆ มากเกินไป ตัวอย่างเช่นหนังแนวผี-ตลก-พระ ที่ปีหนึ่งๆ นั้นมีการเข้าฉายเป็นจำนวนมาก หลายเรื่องใช้เวลาถ่ายทำกันแค่ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น หรือบางเรื่องก็ฉายเป็น One Day Event ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าลงทุนไปมากทั้งที่ใช้งบจากบุคลากรอื่นๆ แล้วตัวเองแทบไม่ได้เสียทุนทรัพย์เท่าใด และถ้ามองย้อนไปยังหนังหลายๆ เรื่องที่ผ่านการคิด วิเคราะห์ รวมถึงสร้างอย่างตั้งใจก็สามารถกวาดรายได้มหาศาลในไทยไปไม่น้อย
อีกปัญหาหนึ่งก็คือการแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่หลายครั้งเจ้าของหรือผู้ดูแลลิขสิทธิ์ไม่สามารถส่งเรื่องเพื่อดำเนินคดีนี้ได้โดยง่าย ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ ดังนั้นการแก้ปัญหาวงการหนังไทยซบเซานี้ คงจะต้องแก้ไขปัญหาจากหลายทางๆ เพื่อให้คุณภาพของวงการภาพยนตร์ไทยสูงเพิ่มมากขึ้น แบบที่ฝรั่งเศสหรือเกาหลีใต้ทำได้มาแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก